เหรียญพระนาคปรกหลังยันต์สิงห์ หลวงปู่สิงห์ วัดบ้านศรีสุข จ.มหาสารคาม
รหัส : c2155
ราคา : 400.00
หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร พระเกจิมหาสารคาม
คอลัมน์ มงคลข่าวสด
“หลวงปู่สิงห์ คัมภีโร” หรือ “พระครู สิริสุขวัฒน์” เจ้าอาวาสวัดศรีสุข และเจ้าคณะตำบลศรีสุข เขต 1 ต.ศรีสุข อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
เป็นพระเกจิเรืองนามแห่งเมืองตักกสิลา ปัจจุบันอายุ 84 พรรษา 64
กล่าวได้ว่า ท่านเป็นพระที่มีวัตรปฏิบัติน่ายกย่องและเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวอีสานตอนกลาง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อย เอ็ด
หลวงปู่สิงห์ สืบสายธรรมจากหลวงปู่เสาร์ สิริจันโท พระพี่ชายแท้ๆ ของท่าน ในห้วงนั้น หลวงปู่เสาร์ เป็นพระเกจิอาจารย์แห่งวัดศรีสุขเมืองมหาสารคาม มีชื่อเสียงโด่งดัง เนื่องจากเป็นพระเกจิอาจารย์ 2 พี่น้องผู้ทรงวิทยาคมเข้มขลัง
อัตโนประวัติ เกิดในสกุล เหล่าทับ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2469 ณ บ้านเลขที่ 8 บ้านศรีสุข ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหา สารคาม โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายสายและนางเคน เหล่าทับ ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ทำนาเหมือนชาวอีสานทั่วไป
หลังจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้มาทำไร่ทำนาช่วยครอบครัว แต่ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียน จิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรมเป็นที่ตั้ง
ครั้นเมื่ออายุได้ 21 ปีบริบูรณ์ ตัดสินใจ เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบท ณ วัดสระทอง บ้านทัน ต.นาสีนวล อ.กันทรวิชัย โดยมีพระอธิการชม โสภโณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการจุลฬา เขมิโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเสาร์ สิริจันโท เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า “คัมภีโร” แปลว่า ผู้มีความสุขุมรอบคอบ
ท่านได้เดินทางไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดกลางจังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะศึกษาพระปริยัติธรรม ในปี พ.ศ.2495 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนการแปลธรรมบทและศึกษาพระสูตร พระวินัยควบคู่กันไปกับการเรียนวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ โดยพระมหาโชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.9 และเจ้าคุณพระอุดมวิชาญาณ (สมณศักดิ์ในขณะนั้น) เป็นครูสอนกัมมัฏฐาน
ครั้นเมื่อศึกษาพระปริยัติธรรมและวิปัส สนากัมมัฏฐานจนแตกฉานแล้ว ท่านยังได้ศึกษาเพิ่มเติมวิชาแพทย์แผนโบราณที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จบหลักสูตรสาขาเภสัชกร และสาขาเวชกร โดยคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมารักษาโรคภัยไข้เจ็บญาติโยมในชนบทที่ห่างไกล
ในปี พ.ศ.2504 หลวงปู่สิงห์ เดินทางกลับมาตุภูมิเข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดศรีสุข ตามคำนิมนต์ของญาติโยม ช่วงนั้น หลวงปู่เสาร์พระพี่ชายของท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีสุข
นอกจากหลวงปู่สิงห์ จะขอฝากตัวเป็นศิษย์ศึกษาวิทยาคมจากหลวงปู่เสาร์ ท่านยังได้ช่วยงานปกครองและพัฒนาวัดแห่งนี้ เจริญรุ่งเรืองทุกด้าน
แม้จะมีงานศาสนกิจรัดตัว แต่ยามว่างท่านจะปลีกตัววิเวกออกเดินธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศโดยเฉพาะแถบเทือกเขาภูพาน รอยต่อ จ.กาฬสินธุ์ -จ.สกลนคร
ด้วยมีวัตรปฏิบัติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธา ภายหลังจากที่หลวงปู่เสาร์ มรณภาพลง ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีสุขว่างลง
ในปี พ.ศ.2514 หลวงปู่สิงห์ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีสุขสืบแทนพระพี่ชาย ได้รับตำแหน่งปกครอง เป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะตำบลศรีสุข ตามลำดับ ระหว่างนั้นได้เข้ารับการอบรมโรงเรียนพระสังฆาธิการส่วนภูมิภาค ผ่านการอบรมหลักสูตรความมั่นคงของพระพุทธศาสนา และอบรมพระปริยัตินิเทศก์ เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับกุลบุตรเข้าสู่ร่มพระธรรมวินัยและความผาสุกของชุมชน
หลวงปู่สิงห์ รักษาศรัทธาของญาติโยมชาวมหาสารคามไว้อย่างเหนียวแน่น จนถึงปีพ.ศ. 2521 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ “พระครูสิริสุขวัฒน์”
พ.ศ.2526 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท และปี พ.ศ.2545 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม
หลวงปู่สิงห์ ยังให้ความสำคัญด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนในสำนักเรียนวัดศรีสุข ด้วยเล็งเห็นว่าการบวชเรียนถือเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ยากไร้ในชนบท ดังนั้น ท่านจึงส่งเสริมให้พระภิกษุ-สามเณรได้เรียนพระปริยัติธรรม รวมทั้งยังอบรมนักเรียนนักศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ชุมชนด้วย
ธรรมเทศนาที่หลวงปู่สิงห์พร่ำสอนเตือนใจญาติโยม เป็นหลักธรรมง่ายๆ คือ ในเรื่องไตรลักษณ์ หมายถึงลักษณะทั่วไปของสังขารทั้งปวง คือ 1.อนิจจัง คือความไม่เที่ยง มีเกิด มีดับ ทุกอย่างดำรงอยู่ชั่ว คราวเท่านั้น ไม่จีรังยั่งยืน
2.ทุกขัง ไม่มีอะไรคงที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเสมอ เช่น สังขารเมื่อทรุดโทรมผู้เป็นเจ้าของก็เดือดร้อนเพราะร่างกายเจ็บป่วย
และ 3.อนัตตา ไม่ใช่อัตตา คือไม่ใช่ตัวตน ไม่ยึด มั่นกับตนเกินไปทำให้หลงตน ทำให้ไม่รู้จักตนตามความเป็นจริง เช่นคิดว่าตนเป็นฝ่ายถูก ตนต้องได้สิ่งนั้นด้วยความยึดมั่นตน เองเกินไป สิ่งต่างๆ รวมทั้งร่างกายและจิตใจเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนทั้งสิ้น จึงควรดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท
หลวงปู่สิงห์ เป็นพระนักพัฒนา ตลอดเวลาที่ท่านปกครองวัดศรีสุข ได้ทำให้วัดแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังปรับปรุงภายในวัดให้มีความร่มรื่นสวยงาม ปลูกไม้ประดับร่มรื่นเต็มวัด ทำให้ทั่วบริเวณมีแต่ความสงบวิเวกเหมาะสำหรับเป็นสถานที่ปฏิบัติ
ในปี พ.ศ.2521 หลวงปู่สิงห์ ได้จัดสร้างเหรียญวัตถุมงคลที่โด่งดัง วงการพระเครื่องสารคาม เรียกขานวัตถุมงคลรุ่นนี้ ว่า “เหรียญสิงห์-เสาร์” จำนวนการสร้างไม่เกิน 1,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงผิวไฟ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่เสาร์ ด้านหลังเป็นรูปหลวงปู่สิงห์ ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงของนักสะสมนิยมพระเครื่องวัตถุมงคล
ตลอดชีวิต หลวงปู่สิงห์ ยังคงมีวัตรปฏิบัติดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือ การเดินจงกรมและนั่งสมาธิทุกวัน
แม้ท่านจะมีวัยล่วงเลยกว่า 84 ปี แล้วก็ตาม แต่ด้วยความศรัทธาของญาติโยม อันเปี่ยมล้น ในแต่ละวันจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศ เดินทางมา กราบนมัสการประพรมน้ำพุทธมนต์ขจัดปัดเป่าให้ทุกข์ภัยต่างๆ สลายคลายทุกข์ สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ทำให้ต้องคอยรับญาติโยมวันละเกือบร้อยคน แม้ท่านจะมีสังขารที่ชราภาพ แต่ก็หาได้ปริปากบ่นไม่ ยังคงรักษาศรัทธาญาติโยมมิมีเสื่อมคลาย
ช่วงบั้นปลายชีวิตของหลวงปู่สิงห์ สังขาร เริ่มโรยรา สุขภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ท่านตรากตรำจนเกินไป คณะศิษย์ได้จัดเวลาให้ญาติโยมเข้าไปกราบหลวงปู่ได้หลังฉันภัตตาหารเพล ส่วนภาคบ่าย งดรับกิจธุระ เพื่อให้ท่านได้มีเวลาพักผ่อนเจริญศีลภาวนา มีชีวิตที่สงบ เพราะท่านอยู่อย่างสงบกาย สงบวาจา ซึ่งปรากฏแก่สายตาผู้ที่ได้พบเห็นและสัมผัส
กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน แต่ความมุ่งมั่นทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาสำหรับหลวงปู่สิงห์ ยังคงปฏิบัติอยู่โดยมิรู้เหน็ดเหนื่อย
เหรียญพระนาคปรกหลังยันต์สิงห์ หลวงปู่สิงห์ วัดบ้านศรีสุข จ.มหาสารคาม พระดีมีคุณค่าน่าบูชาสะสม