ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ค้นร่องรอยญาติอินจัน ปรากฏชายชื่อ “นายชู/ลุงบัด” ในสมุดภาพของทายาทแฝดสยาม

ค้นร่องรอยญาติอินจัน ปรากฏชายชื่อ “นายชู/ลุงบัด” ในสมุดภาพของทายาทแฝดสยาม

(ซ้าย) ภาพถ่าย อิน-จัน (ขวา) ภาพที่พบในสมุดภาพของลูกสาวคนหนึ่งของอิน-จัน ไม่มีคำบรรยายกำกับข้างหลังภาพ ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับกันยายน 2548

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548
ผู้เขียน
วิลาส นิรันดร์สุขศิริ
เผยแพร่
วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2564

 

…ตามประวัตินั้น อิน-จันมีพี่น้องท้องเดียวกันหลายคน แต่ส่วนใหญ่ถูกคร่าชีวิตไปเมื่ออหิวาตกโรคระบาดในแผ่นดิน รัตนโกสินทร์เมื่อปี พ.ศ. 2362 เหลืออยู่เพียงพี่ชายชื่อ น้อย และพี่สาวหรือน้องสาว (ต้นฉบับภาษาอังกฤษคือ “sister”) ซึ่งไม่ทราบชื่ออีก 1 คน

บันทึกของฝรั่งนามเจสซี เกรฟส์ (Jesse Graves) ซึ่งเป็นเพื่อนของอิน-จันเล่าว่า พี่ชายที่ชื่อน้อย มีลูกหลายคน และอาจมีฐานะยากจน ส่วนพี่/น้องสาวนั้นได้รับการเลี้ยงดูเป็นเมียน้อยของคนใหญ่คนโตในวัง แต่ไม่ระบุว่ามีลูกด้วยกันหรือไม่

บันทึกดังกล่าวบอกอีกว่า 5 ปีก่อนหน้าที่อิน-จันจะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) นั้น หนุ่มน้อย นายหนึ่งได้ไปเยี่ยมแฝดทั้งสองถึงบ้านในมลรัฐนอร์ทแคโรไลนา ความที่ผู้บันทึกเห็นว่าหน้าตาละม้ายคล้ายอิน-จัน (ตรงนี้คงเชื่อมากนักไม่ได้ เพราะฝรั่งมักเห็นคนเอเชียหน้าเหมือนกันไปหมด) และดูท่าทางเป็นหนุ่มที่มีฐานะดี จึงเดาว่าคงเป็นลูกของพี่/น้องสาวมากกว่าลูกของพี่ชาย บันทึกไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่านี้ ยกเว้นแต่ว่าหนุ่มคนนั้นชื่อ “นายชู”

ผมพยายามสืบเสาะหาเบาะแสของ “นายชู” เริ่มด้วย การติดต่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในสหรัฐที่เก็บบันทึกเอกสาร การเดินเรือของคนที่เดินทางจากประเทศต่างๆ มาสู่สหรัฐในช่วงนั้น แต่ก็ผิดหวัง เพราะไม่มีการแยกประเภทปูมบันทึก โดยอาศัยชื่อประเทศเป็นหลัก ถ้าต้องการรายชื่อผู้โดยสาร ก็ต้องทราบชื่อเรือ เป็นอันว่าหมดหนทาง

ในปี พ.ศ. 2546 ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานชุมนุม สังสรรค์ประจําปีของทายาทอิน-จันเป็นครั้งแรก ทายาทผู้หนึ่งได้นําสมุดภาพเก่าแก่เล่มหนึ่งมาให้ดู เป็นสมุดภาพมรดกที่ตกทอดมาจากลูกสาวของจัน เห็นแล้วก็ตาลุกเพราะมีรูปภาพเก่าแก่ประเภท “ซีดีวี” [1] เยอะมาก

ส่วนใหญ่เป็นภาพของสมาชิกในครอบครัว มิตรสหาย รวมทั้งภาพทิวทัศน์ และบุคคลสําคัญต่างๆ ที่คงสะสมเมื่อครั้งอิน-จันเดินทางไปยุโรป ภาพเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีคําบรรยายกํากับจึงไม่รู้ว่าใครเป็นใครกันบ้าง หลังจากเปิดดูได้สักพักก็พบภาพ 2 ภาพซึ่งสะดุดตามากเป็นพิเศษ

ภาพแรก (รูปที่ 1) เป็นภาพชายหนุ่มหน้าจีน แต่งตัวอย่างฝรั่ง ดูดีมีฐานะ ส่วนภาพที่ 2 (รูปที่ 2) เป็นภาพของชายคนเดียวกัน ถ่ายคู่กับเด็กชายคนหนึ่ง ข้างหลังภาพมีข้อความเป็นลายมือกํากับว่า “นิกและลุงบัด” (“Nick and Uncle Bud” คําว่า “uncle” อาจหมายถึงน้า หรืออาก็ได้ แต่ในที่นี้จะขอเรียกว่า “ลุงบัด” ไป พลางๆ ก่อนจนกว่าจะพบหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่าเป็นอย่างอื่น)

ภาพที่ 1 – ภาพที่พบในสมุดภาพของลูกสาวคนหนึ่งของอิน-จัน ไม่มีคำบรรยายกำกับข้างหลังภาพ ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับกันยายน 2548

 

ความที่สมุดภาพเล่มนี้เคยเป็นสมบัติของลูกสาวคนหนึ่งของจัน จึงขอสมมุติว่า บุรุษผู้นี้คงมีความเกี่ยวดองเป็นญาติกับอิน-จันจริงๆ เพราะธรรมเนียมฝรั่งนั้น ไม่เหมือนธรรมเนียมของไทยเราที่เรียกใครต่อใครเป็นญาติไปหมด แม้ไม่เกี่ยวดองกันโดยสายเลือดก็ตาม ไม่ทราบว่าภาพทั้งสองนี้ถ่ายในประเทศสยามหรือไม่ เครื่องแต่งกายของ “ลุงบัด” ที่ต่างกันทําให้ตั้งสมมติฐานว่า น่าจะเป็นภาพที่ถ่ายในวาระต่างกันด้วย

ในปีถัดมา ระหว่างการเดินทางไปร่วมงานสังสรรค์ทายาทของอิน-จันเป็นครั้งที่ 2 ผมแวะไปยังหอจดหมายเหตุที่นอร์ทแคโรไลนา (North Carolina State Archives) เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ค้นไปค้นมาก็ได้พบไมโครฟิล์มม้วนหนึ่ง ซึ่งถ่ายจากสมุดภาพเล่มหนึ่งอีกเหมือนกัน แต่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มา เจ้าหน้าที่ของหอจดหมายเหตุเดาว่า คงเป็นไมโครฟิล์มที่ถ่ายไว้ในช่วงปี พ.ศ. 2513

ผมบอกไม่ได้แน่ว่า สมุดภาพที่เป็นต้นฉบับของไมโครฟิล์มม้วนนี้เป็นสมุดภาพเล่มเดียวกันกับที่ผมเคยเห็นในปีก่อนหรือไม่ แม้ว่ารูปส่วนใหญ่ในไมโครฟิล์มคล้ายกับรูปในสมุดภาพเล่มนั้นมาก แต่ก็มีหลายรูปที่ผมไม่เคยเห็น โดยเฉพาะภาพหนึ่ง (รูปที่ 3) ซึ่งพอเห็นแล้วก็บอกได้ว่า เป็นรูปของ “ลุงบัด” ยืนกับบุรุษอีกนายหนึ่งที่มีหน้าตาเป็นไทยมากกว่า ทั้งสองแต่งกายดีพอกัน

(ซ้าย) ภาพที่ 2 – ภาพที่พบในสมุดภาพเล่มเดียวกันเป็นภาพชายคนเดียวกันกับรูปที่ 1 ถ่ายคู่กับเด็กชายคนหนึ่ง ด้านหลังภาพมีเขียนกำกับว่า “นิกและลุง (หรือน้าหรืออา) บัด” (ขวา) ภาพที่ 3 – รูปบุรุษชาวเอเชีย 2 นาย สแกนจากไมโครฟิล์มของ North Carolina State Archives บุรุษทางซ้ายเป็นคนเดียวกับ “ลุงบัด” ในรูปที่ 1 และ 2 ภาพนี้มีข้อความเขียนกำกับว่า “ญาติของอิน-จัน” ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับกันยายน 2548

 

รูปนี้คงเป็นรูปที่ถ่ายต่างวาระกับ 2 รูปข้างต้น เพราะกางเกงของ “ลุงบัด” เป็นคนละสี ที่น่าตื่นเต้นสําหรับผมคือ ภาพนี้มีข้อความภาษาอังกฤษกํากับใต้ภาพว่า “ญาติของอิน-จัน”

ถึงตรงนี้ คําถามที่ต้องถามอย่างไม่ต้องสงสัยคือ “ลุง บัด” คือ “นายชู” ที่กล่าวไว้ในบันทึกข้างต้น ใช่หรือเปล่า

หลังเสร็จจากการค้นหาข้อมูลที่หอจดหมายเหตุแล้ว ผมก็เดินทางไปร่วมงานสังสรรค์ทายาทของอิน-จันดังที่ตั้งใจไว้ โดยมีคําถามเรื่อง “นายชู” ค้างคาอยู่ในใจตลอดเวลาที่อยู่ในงาน ถามใครก็ไม่มีใครทราบ แต่ทุกคนก็อยากรู้ว่าตนมีญาติอยู่ที่เมืองไทยหรือเปล่า

ก่อนงานสังสรรค์เลิกรา ทายาทชายคนหนึ่งซึ่งผมเคยคุยด้วยเดินเข้ามาหาเพื่อบอกว่า เขานําเอกสารเก่าแก่ซึ่งเป็นมรดกตกทอดปีกใหญ่ติดมือมาด้วย และยินดีจะให้ดู คุยไปคุยมา ทายาทคนนี้เห็นว่าคงดูกันไม่เสร็จในวันนั้น เลยใจป้ำตัดสินใจให้ผมยืมเอกสารทั้งปึกกลับไปดูที่บ้าน

ผมใช้เวลาดูเอกสารเก่าปึกนั้นหลายสัปดาห์ ดูไปขนลุกไป เพราะไม่เคยนึกว่าตนเองจะได้มีโอกาสจับต้อง และอ่านจดหมายตลอดจนเอกสารที่เขียนขึ้นโดยแฝดสยามเลื่องชื่อคู่นี้

การได้อ่านเรื่องราวส่วนตัวซึ่งเจ้าของตั้งใจถ่ายทอดให้เพียงภรรยาและลูกๆ ที่รักของตนทราบความในใจ ทําให้อดรู้สึกไม่ได้ว่าตนเองเข้าใกล้อิน-จันไปอีกหน่อยหนึ่ง

ท่ามกลางเอกสารเหล่านั้น มีจดหมายภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง (รูปที่ 4) เขียนด้วยลายมือที่อ่านได้ไม่ยาก ความยาว 4 หน้ากระดาษขนาดย่อม น่าเสียดายที่สีหมึกของตัวหนังสือนั้นถูกกาลเวลาฟอกจนจางลงมาก ที่น่าเสียดายกว่านั้นคือ เป็นจดหมายที่ไม่สมบูรณ์ เพราะขาดหน้าที่ลงชื่อผู้เขียนไว้

สิ่งหนึ่งที่เรียกความสนใจของผมคือ คําขึ้นต้นจดหมายว่า “My very dear uncles” รวมทั้งสิ่งที่ช่วยให้ งานนักสืบของผมคืบหน้าไปอีกหลายก้าว นั่นคือที่อยู่และวันที่บนจั่วหัว

“Lafayette College, Easton Pa, June 7, 1871”

ด้านซ้ายมือของจั่วหัวบนหน้าแรกของจดหมายนั้น มีข้อความเขียนออกตัวเรื่องการใช้ภาษาของเจ้าตัวไว้ในแนวตั้งว่า

“ผมรู้สึกละอายใจที่จะส่งจดหมายฉบับนี้ถึงน้า เพราะมันมีข้อผิดพลาคมากมาย”

เนื้อหาในจดหมายนั้นเล่าเรื่องที่ผู้เขียนจดหมายกําลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยแห่งนี้ ความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตของเขา และการศึกษาของชาวสยามในครั้งนั้น

ตาของผมลุกโพลงทันทีที่เห็นชื่อนายซู แล้วขนตามแขนก็ลูกตามด้วยอี-เมลของคุณไดแอนเป็นหลักฐาน ผูกเรื่องญาติของอิน-จันให้กระชับยิ่งขึ้น

พออ่านจบแล้ว ผมก็ไม่รอช้า รีบค้นหาเว็บไซต์ของวิทยาลัยลาเฟเยตต์ ในมลรัฐเพนซิลเวเนียทันที พบแล้วก็เขียนอี-เมล (สะกดตามต้นฉบับ – กองบรรณาธิการ) ติดต่อไปที่วิทยาลัยดังกล่าว โดยขอทราบว่าทางวิทยาลัยเก็บบันทึกการเรียนของนักศึกษาในช่วงปีนั้นหรือไม่ ถ้าเก็บ มีนักศึกษาจากประเทศสยามในบันทึกบ้างหรือเปล่า ผมตั้งใจไม่บอกชื่อนักเรียนจากสยามในจดหมายฉบับนั้น

วันถัดมาบรรณารักษ์ฝ่ายคอลเล็กชั่นพิเศษของห้องสมุด คือคุณไดแอน วินด์แฮม ชอว์ (Diane Windham Shaw) ก็เขียนตอบกลับมาว่า

“ขอบคุณค่ะที่สอบถามเกี่ยวกับนักเรียนจากสยามที่มาเรียนในวิทยาลัยลาเฟเยตต์ ในตอนต้นของช่วงปี ค.ศ. 1870 นักเรียนผู้นั้นชื่อนายชู ซึ่งเข้าเรียนจากปี ค.ศ. 1870-1872 (พ.ศ. 2413-2415) เขาเกิดในบางกอกเมื่อปีค.ศ. 1852 (พ.ศ. 2395) เมื่อมาเรียนที่วิทยาลัยลาเฟ เยตต์ เขาเป็นสมาชิกของสมาคมวรรณกรรมวอชิงตัน

หลังกลับบ้านแล้ว เขารับตําแหน่งผู้ช่วยผู้อํานวยการโรงเรียนนายร้อยของสยาม เขาเป็นร้อยโทในกองทัพสยาม เป็นผู้ตรวจการณ์สําหรับกระทรวงพื้นที่เชียงใหม่ และเป็นครูสอนเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสยามที่เชียงราย เขาเสียชีวิตที่นครสวรรค์ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) ดิฉันได้ลองพยายามหารูปแต่ไม่พบ ดิฉันจะค้นคว้าเพิ่มเติมให้หลังกลับจากพักร้อนค่ะ”

ตาของผมลุกโพลงทันทีที่ เห็นชื่อนายชู แล้วขนตามแขนก็ลุกตามด้วยอี-เมลของคุณไดแอน เป็นหลักฐานผูกเรื่องญาติของอิน-จันให้กระชับยิ่งขึ้น

นายชู ผู้นี้ไม่ใช่เพียงไปเยี่ยมอิน-จันตามบันทึกที่เล่าไว้ข้างต้นเท่านั้น แต่ยังเข้าเรียนที่วิทยาลัยในสหรัฐอีกด้วย ทว่าทําไมจึงเรียนแค่ 3 ปี

ผมรอการกลับมาของคุณไดแอนอย่างกระวนกระวาย หลังจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ ผมก็ได้รับอี-เมลจากเธออีกฉบับหนึ่ง เธอบอกมาว่า ค้นข้อมูลเพิ่มได้อีกนิดหน่อยดังนี้

“นายเป็นศิษย์ในความอุปถัมภ์ของศาสนาจารย์ทันตแพทย์ เอส. จี. แมคฟาแลนด์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีสังกัดคณะเพรสใบทีเรียน นายชูเป็นนักเรียนที่ขยันขันแข็งและเรียนดีตลอดช่วงปีแรก หลังจากนั้นสุขภาพสายตาทําให้ต้องเดินทางกลับสยาม”

ข้อมูลหลังนี้ทําให้เดาได้ว่า นายชูคงแวะไปเยี่ยมอินจันในปี ค.ศ. 1872 ก่อนเดินทางกลับสยามเป็นแน่

ผมพยายามอ้อนวอนให้คุณไดแอนค้นหาหลักฐานการสมัครเข้าเรียน ด้วยหวังว่าจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับชื่อบิดามารดา ที่อยู่ ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ เกี่ยวกับนายชู โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปถ่าย แต่คุณไดแอนก็ตอบกลับมาว่า ยังหาไม่พบ

แถมบอกด้วยว่า ทางวิทยาลัยเริ่มเก็บหลักฐานต่าง ๆ ของนักเรียนอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปี ค.ศ. 1872 ซึ่งเป็นปีที่นายชูเดินทางกลับแล้วเป็นอันว่าก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า “ลุงบัด” และ “นายชู” เป็นคนๆ เดียวกันหรือเปล่า และอาจไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำ ถ้าทางวิทยาลัยไม่ได้เก็บหลักฐานอื่น ๆ ไว้

อีกราวสัปดาห์หนึ่งเห็นจะได้ ผมได้รับอี-เมลจากคุณ ไดแอนอีกครั้งโดยไม่คาดฝัน เธอบอกว่าเธอพบรูปนายชูใน สมุดภาพนักศึกษาจากปี ค.ศ. 1871 และแนบมาพร้อมกับอี-เมลฉบับนี้ ผมดับเบิ้ลคลิกที่เอกสารแนบท้ายนั้นโดยลืมหายใจไปอีกหนึ่ง

ภาพที่ปรากฏขึ้นต่อหน้าทําให้ผมลืมหายใจไปอีกอึด หนุ่มน้อยตรงหน้าเป็นคนๆ เดียวกับ “ลุงบัด” และ “ญาติของอิน-จัน” อย่างปราศจากข้อสงสัย ยิ่งกว่านั้นใต้ภาพยังมีชื่อกํากับไว้ด้วยว่า “Nai Chu ’74” (รูปที่ 5 ก และ ข)

งานนักสืบขั้นต้นของผมลุล่วงลงด้วยดี แต่สิ่งที่ต้องการค้นหาต่อไปคือ มีทายาทของนายชูหลงเหลืออยู่ใน ขณะนี้หรือไม่ เด็กชายในภาพที่ 2 อาจเป็นลูกของนายชูก็เป็นได้ ผมได้ติดต่อไปที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพราะเดาว่าน่าจะเป็นโรงเรียนนายร้อยสยามตามบันทึกของวิทยาลัยลาเฟเยตต์ แต่ไม่ปรากฏว่ามีบันทึกเกี่ยวกับนายชู แต่อย่างใด ผมลองค้นเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาจารย์เอส.จี. แมคฟาแลนด์ ด้วย แต่เอกสารเท่าที่อ่านดูก็ไม่เอ่ยถึงลูก ศิษย์ที่ชื่อนายชูแม้แต่น้อย

จดหมายของนายชูเล่าเรื่องการเรียนหนักของเขา ความคิดเกี่ยวกับคุณภาพของนักเรียนนอกในสมัยนั้น ราย ละเอียดเล็กน้อยที่ขัดกับข้อมูลเรื่องปีเกิดของเขาอยู่บ้างคือ ตามประวัติที่วิทยาลัยเก็บไว้นั้น เขาเกิดในปี ค.ศ. 1852

ฉะนั้น ถ้าคิดหยาบๆ โดยไม่ทราบวันเกิดที่แน่นอนแล้ว เขาควรมีอายุ 19 ปีใน ค.ศ. 1871 แต่เนื้อหาในจดหมายบอกว่า เขาจะมีอายุ 25 ปี ในอีก 7 ปีข้างหน้า (นับจากปีที่เขียนจดหมาย) ทั้ง ๆ ที่เขาควรมีอายุ 26 ปี อย่างไรก็ตาม ความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยนี้ก็ไม่ได้ทําให้ความน่าสนใจของเนื้อหาในจดหมายลดน้อยลงแต่ประการใด

“ผมได้รับจดหมายของน้าหลายวันมาแล้ว ผมดีใจจนบอกไม่ถูกที่ได้รับ ผมอ่านซ้ำไปซ้ำมาหลายเที่ยว ผมรู้สึกเป็นพระคุณมากครับสําหรับรูปถ่าย ผมดีใจมากที่ได้เห็น ความละม้ายคล้ายคลึงระหว่างน้าและลูกชาย ผมรักเด็กน้อย (อัลเบิร์ต) คนที่ยืนอยู่ข้างๆ น้าเหลือเกิน ผมหวังว่าจะได้รูปอื่น ๆ นอกจากรูปนี้ด้วย น้าครับ ผมเกรงเหลือเกินว่าน้าจะคิดว่าผมลืมตอบจดหมายของน้าโดยสิ้นเชิง ผมเสียใจจริงๆ ที่ไม่มีโอกาสตอบจดหมายทันทีที่ได้รับ เพราะผมยุ่งมากกับการเรียน และแทบหาเวลาเขียนถึงใครไม่ได้ หรือแม้แต่จะทําอย่างอื่นนอกเหนือไปจากตํารา และตําราตลอดเวลา

เนื้อหาส่วนท้าย ๆ ของตํารับตําราของเรานั้นช่าง “แห้งแล้ง” เหลือเกิน และทําให้เราต้องใช้เวลาศึกษาตลอดเวลา เราเรียนมาขนาดนี้ได้อย่างไรกัน และขณะนี้เราเริ่มทบทวนและเตรียมตัวสอบกันแล้ว วิทยาลัยของเราจะปิดภาคการเรียนลง ในวันที่ 21 มิถุนายน ผมจะท่องจําวันละ 3 หน ผมอ่อนเพลียและต้องการพักบ้างจริงๆ

ผมรู้สึกอ่อนแอมากและดูซีดเซียว (ดูรูปของผมว่าผมซีดเพียงใด) เพราะผมไม่มีเวลาออกกําลังกายอย่างพอเพียง และไม่ได้ทําอะไรอย่างอื่น ยกเว้นเรียนตั้งแต่เช้าจรดค่ำ

น้าทราบไหมครับว่าผมไปโรงเรียนตั้งแต่อายุได้ 8 ขวบ ฉะนั้นผมจึงไม่เคยทํางานหนักเลย พ่อแม่ไม่ต้องการให้ผมทําอะไรนอกจากเรียนอย่างเดียว ท่านมีความทะเยอทะยานมากเกี่ยวกับการศึกษา และ ต้องการให้ผมกลายเป็นผู้ทรงภูมิชั้นแนวหน้าท่ามกลางชนชาวสยาม

แต่ทั้งสองไม่เห็นว่ามันเป็นอันตรายแค่ไหน! หลังจากที่เรียนจบในโรงเรียนที่สยามแล้ว ผมก็ต้องจากบ้านไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่น ตอนนี้ผมอยู่ในอเมริกา ต่อไปก็จะเป็นเยอรมนีและฝรั่งเศส แล้วจึงกลับบ้าน ผมจะเรียนจนกระทั่งอายุ 25 ปี หรืออีก 7 ปีข้างหน้า ผมจะจบการศึกษาจากวิทยาลัยแห่งนี้ในอีกประมาณ 3 ปี แล้วก็จะไปใช้เวลาที่เหลือในเยอรมนีและฝรั่งเศสจนอายุ 25 ปี

จากนั้นก็จะกลับบ้านและเริ่มต้น ‘ชีวิตใหม่’…ครั้งหนึ่ง ก่อนที่ผมมายังประเทศนี้ ผู้สําเร็จราชการ[3] ได้เสนอที่จะส่งเพื่อน ๆ และผมไปเรียนที่ลอนดอน (ประเทศอังกฤษ) โดยท่านจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ เพื่อนของผมได้รับเลือก แต่ผมไม่ได้ เพราะผมไม่ต้องการเงินของใคร หรือตกอยู่ใต้แอกของคนอื่น ๆ และตระหนักว่าเมื่อกลับสยาม ท่านจะให้ผมทํางานแทนท่าน โดยให้ค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อย ดังนั้นผมจึงเดินทางมาด้วยเงินของเราเอง และเมื่อผมกลับบ้าน ผมก็มีสิทธิทําในสิ่งที่ผมอยากทํา

ผมทราบดีว่าผู้สําเร็จราชการของเราต้องการให้ชาวสยามที่สามารถอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ทํางานให้ท่าน ท่านได้ส่งชายหนุ่มจํานวนมากไปยังโรงเรียนในอังกฤษ ชายหนุ่มเหล่านี้แต่ละคนใช้เวลาตั้งแต่ 2-3 ปี พร้อมด้วยเงินหลายพันเหรียญฯ แล้วจึงกลับบ้าน แต่พวกเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของตน นอกไปจากการอ่าน การเขียน การเล่นบอล การเต้นรํา และการดื่ม พวกเขาใช้เวลาถึง 3 ปีเชียวครับ แต่กลับไม่ทราบว่าเลขคณิต พีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา สรีรวิทยา และดาราศาสตร์คืออะไร

ผมหวังว่าผมจะสามารถสอนพวกเขาเหล่านั้นได้เมื่อผมกลับบ้าน บางครั้งผมรู้สึกดีใจมากที่ได้มายังประเทศนี้ ที่ซึ่งสอนให้ผมรู้จักดูแลตนเอง และรู้จักกระทําในสิ่งที่ถูกต้อง และหลีกเลี่ยงสิ่งชั่วร้าย เพราะพ่อแม่ต้องการให้ผมเป็นคนดีและมีประโยชน์ให้แก่พลเมืองของเราในอนาคต

หากผมไปเรียนที่อังกฤษเหมือนคนอื่นๆ ชีวิตของผมคงตกอยู่ในอันตรายจากสิ่งยั่วยวนใจ และติดนิสัยสํามะเลเทเมา ใช้เงินฟุ่มเฟือย และเสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระและการกระทําที่เปล่าประโยชน์…ตอนนี้ สิ่ง ที่ทําให้ท้อใจคือผมคิดว่าตนเองจะไม่”

ทั้งหมดข้างต้นคือเนื้อหาที่อยู่ในจดหมายซึ่งไม่สมบูรณ์ฉบับนี้ น่าเสียดายจริงๆ ว่าส่วนที่เหลือขาดหายไป ผมได้แต่หวังว่า หน้าจดหมายส่วนที่เหลือยังคงหลงเหลืออยู่ที่ไหนสักแห่ง และยังมีจดหมายฉบับอื่นที่นายชูเขียนถึงอิน-จันหลงเหลือมาให้อ่านกันอีกในวันข้างหน้า

สาระในจดหมายที่นํามาให้อ่านกันนี้แสดงให้เห็นว่า ครอบครัวของนายชูเป็นครอบครัวที่น่ายกย่องไม่น้อย เพราะมีความตั้งใจอบรมและให้การศึกษาแก่บุตรชาย เพื่อให้เติบใหญ่ขึ้นเป็นกําลังในการพัฒนาประเทศในช่วงที่ประเทศชาติ…

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความ “ญาติอิน-จันในเมืองไทยอยู่ไหน?” เขียนโดย วิลาส นิรันดร์สุขศิริ เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กรกฎาคม 2564

 

กิตติกรรมประกาศ

ขอขอบคุณ Diane Windham Shaw, Mark Tolbert และ Tom Atkins ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของ North Carolina State Archives ทุกท่านที่ช่วยอำนวยความสะดวก ขอขอบคุณ คุณทรงวุฒิ อภิรักษ์ขิต ที่ช่วยยืนยันว่าพระยาวินิจวิทยาการดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่-ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (ตำแหน่งเมื่อ 2548 – กองบรรณาธิการ)

เชิงอรรถ

[1] CDV หรือ Carte de Visite เป็นการ์ดขนาดประมาณ 4.5 x. 2.5 นิ้ว ริเริ่มโดยช่างภาพชาวฝรั่งเศส ประมาณปลายปี พ.ศ. 2397 (ค.ศ. 1854) เพื่อลดต้นทุนการผลิตรูปถ่ายราคาถูก นิยมใช้เพื่อผลิตรูปถ่ายของบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น พระราชินีวิกตอเรีย การ์ตชนิดนี้อาศัยโปรตีนอัลบูมินจากไข่ขาวเป็นส่วนประกอบ ว่ากันว่าร้านรูปแห่งหนึ่งใช้ไข่ไก่จํานวนครึ่งล้านฟองต่อปีเพื่อผลิตการ์ตดังกล่าว ในราวปลายปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) จึงเสื่อมความนิยมลง

[2] ในที่นี้ขอแปลคําว่า “uncle” เป็น “น้า” เพราะเชื่อว่า “นาย” หรือ “น้าบัด” นี้คือลูกพี่สาวของอิน-จัน

[3] คําภาษาอังกฤษที่นายชูใช้คือ “governor” จึงขอตีความว่าเป็นผู้สําเร็จราชการ ซึ่งในขณะนั้นคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งดํารงตําแหน่งผู้สําเร็จราชการจนกระทั่งปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) อย่างไรก็ตามการคาดเดานี้อาจไม่ถูกต้องก็ได้

เอกสารอ้างอิง

เรื่องของพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ จากเว็บไซต์ http:/www.dusitaramac.th/library/science/006.html และ http://www.geocities. com/thailandguyGunStory/colr25/colt25.htm และ http://www.lcbpolice.in.th/100years/Her%20Royal%20Highness%20the%20Princess%20Mother-1.htm

ส.ธรรมยศ. พระเจ้ากรุงสยาม (Rex Siamen Sium), พิมพ์ครั้งที่ 2. มติชน, 2547

เอนก นาวิกมูล. “นายชู เปรียญ ตอกเตอร์คนแรกของไทย” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 13 ฉบับที่ 636 วันที่ 9-15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 (ฉบับออนไลน์)

Coffin, Selden J. “Class of 1874” in Record of the Men of Lafayette : Brief Biographical Sketches of the Alumni of Lafayette College. Skinner & Finch, 1879. p.249.

Feltus, George Haws. Samuel Reynolds House of Siam. New York: Fleming H. Revel Company, 1924, p.221-224.

Hatch, Arthur D. Biographical Record of the Men of Lafayette, 1832-1948. Easton, PA : Lafayette College, 1948, p.97.

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_70953

 

The post ค้นร่องรอยญาติอินจัน ปรากฏชายชื่อ “นายชู/ลุงบัด” ในสมุดภาพของทายาทแฝดสยาม appeared first on Thailand News.