ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ไกลบ้าน “ฉบับราษฎร์” เขียนดีจนได้คำนิยมจากรัชกาลที่ 5

ไกลบ้าน “ฉบับราษฎร์” เขียนดีจนได้คำนิยมจากรัชกาลที่ 5

พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาธส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 บนเรือพระที่นั่งมหาจักรี

 

เมื่อพูดถึง “ไกลบ้าน” มักถึงพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หากยังมีหนังสืออีกเล่มที่ชื่อ “ไกลบ้าน” เหมือนกัน เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสด็จประพาสยุโรปของพระพุทธเจ้าหลวงเช่นกัน แต่ผู้เขียนเป็นมหาดเล็กคนหนึ่งที่มีโอกาสเสด็จฯ ในครั้งนั้น

นอกจาก “คนเขียน” แล้ว ไกลบ้านทั้ง 2 เวอร์ชั่นต่างกันอย่างไร

พระราชนิพนธ์ไกลบ้านเป็นหนังสือที่รวบรวมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล คราวเสด็จประพาสยุโรปใน พ.ศ. 2450  มีจำนวนทั้งสิ้น 43 ฉบับ ในช่วงเวลา 8 เดือน

ไปรษณียบัตรพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 5 ถ่ายที่สตูดิโอเมืองฮอมบูวร์ก มีวางจำหน่ายขณะที่ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่นั่น (ภาพจาก ของสะสมของคุณไกรฤกษ์ นานา)

 

ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน อธิบายตำนานหนังสือเรื่องไกลบ้าน ว่า นอกจากจะพระราชทานมายังเจ้าฟ้านิภานภดลแล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตมาให้ผู้อื่นได้อ่านอีกบ้าง ผู้ที่ได้อ่านเห็นว่า เรื่องเสด็จประพาสซึ่งดำรัสเล่ามาในพระราชหัตถเลขามีสาระความรู้ต่างๆ จึงได้กราบบังคมทูลไปว่า ถ้ารวบรวมพิมพ์ขึ้นเป็นหนังสือก็จะเป็นประโยชน์มาก จึงได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาตอบกลับมาว่า จะพิมพ์ก็ได้แต่จะต้องตัดข้อความซึ่งไม่ควรโฆษณาออกเสียบ้าง เมื่อเสด็จฯ กลับจะทรงตรวจทานต้นฉบับให้พิมพ์ เรียกว่าเรื่อง “ไกลบ้าน” โดยมีการพิมพ์ 5 ครั้งคือ

ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2450 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้อำนวยการจัดพิมพ์เพื่อจำหน่าย ณ ร้านหลวงในงานไหว้พระประจำปี ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2466 เนื่องในงานฉลองพระชันษาของพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฎ ผู้เป็นพระชนนีของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล

ครั้งที่ 3  พ.ศ. 2479 พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยานารี

ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2536 พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นางทองทัพ พานิชพัฒน์ ต.ช.

ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2537 พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอกสันติภาพ หมู่มิ่ง ป.ช.,ป.ม.,ท.จ.

ส่วนไกลบ้าน “ฉบับราษฎร์” หรือ “จดหมายเหตุเสด็จประพาสยุโรป” นั้น เขียนแบบบันทึกการเดินทาง ตั้งแต่วันแรกที่เสด็จออกจากพระนคร (27 มีนาคม พ.ศ. 2449) ไปจนถึงการรับเสด็จที่เมืองสมุทรปราการ พระราชพิธีประเวศพระราชมณเทียร และการรับเสด็จที่กรุงเทพมหานคร รวม 47 ตอน หนังสือ 1 ชุดมี 2 เล่ม คือ เล่ม 1 และเล่ม 2 พิมพ์โดยกระแสพระบรมราชโองการจำนวน 1,000 เล่ม โดยโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ พ.ศ. 2450 วางจำหน่ายสำหรับคนทั่วไปในราคาเล่มละ 6 บาท

หม่อมเนรนทรราชา หรือ ม.ร.ว.สิทธิ์ สุทัศน์ (ภาพจาก http://www.vajiravudh.ac.th)

 

ผู้เขียนคือ นายพันเอก หม่อมนเรนทรราชา (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) มหาดเล็กที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้จดบันทึกการเดินทางแต่ละวัน และยังมีหน้าที่พิเศษในฐานะราชเลขานุการ ให้เป็นผู้จัดเก็บและรวบรวมหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ตลอดการเสด็จฯ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน, การ์ดเชิญ และเมนูอาหารทุกมื้อที่มีผู้ทูลเชิญไป ฯลฯ หม่อมนเรนฯ ยังมีหน้าที่กราบบังคมทูลให้ทรงทราบความเป็นไป และประเด็นที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานเกี่ยวกับประเทศสยาม และพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงกระทำ ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จะติดตามการเสนอข่าว และความถูกต้องในการรายงานข่าวอย่างใกล้ชิด

จดหมายเหตุฯ ของหม่อมนเรน มีเอกลักษณ์พิเศษที่ “ไกลบ้าน” ไม่มี เช่น หยิบยกข้อมูลเฉพาะกิจกึ่งราชการซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของหม่อมนเรนฯ เช่น รายนามบุคคลที่ได้เข้าเฝ้า, กระแสพระราชดำรัส, ของพระราชทาน, ข่าวซุบซิบที่กำลังเป็นกระแสระหว่างผู้ตามเสด็จ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น

ความสามารถพิเศษของที่ปรึกษาราชการแผ่นดินชาวอเมริกัน ชื่อ เวสเตนกาด ที่บันทึกว่า “มิสเตอร์เวสเตนกาดต่างชวนกันยืนขึ้นกล่าวคำถวายไชยมงคล เปนภาษาอังกฤษแลไทย มิสเตอร์เวสเตนกาดนั้นกล่าวเปนภาษาไทย ฝ่ายกรมขุนสรรพสาตร์ จะทรงกล่าวเปนอังกฤษ ครั้นตกลงกันแล้ว มิสเตอร์เวสเตนกาดก็ยืนขึ้นพูดช้าๆ ชัดเจนได้ความดี สำนวนแลถ้อยคำถูกต้องหาที่ติมิได้ ทั้งข้อความที่กล่าวก็กะทัดรัด ไม่สั้นไปยาวเกินไป”

บันทึกเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับน้ำแร่ที่เมืองบาเดนบาเดนมีสรรพคุณรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำเนิรไปสรงน้ำร้อน เพื่อบำรุงพระโลหิตแลพระกำลัง วิธีจะอาบน้ำนั้น ก่อนอาบผู้อาบควรดื่มน้ำแร่เสียก่อน เสวยน้ำแร่ที่ตริงเก็นฮาล (ที่ดื่มน้ำ) ในน้ำนั้นมีธาตุต่างๆ ซึ่งแพทย์ว่าเปนยาบำรุงร่างกายอย่างดี มีอาการดูดโรคในกายตัวออกได้ ผู้ที่ร่างกายไม่สมบูรณ์มาดื่มแลอาบน้ำแร่ที่นี่ หายโรคหายภัยกลับไปเปนอันมาก”

รูปเหรียญเสมาเสด็จกลับ (ด้านหน้า-หลัง)

 

พยานหลักฐานที่แสดงว่าทรงรำลึกถึงอาณาประชาราษฎรของพระองค์อยู่เสมอ ก่อนเสด็จฯ กลับจึงโปรดให้สร้างเหรียญเสมาที่ระลึกไว้ให้ประชาชนที่เมืองไทยว่า “ทั้งมีน้ำพระหฤทัยเมตตากรุณา รักประชาราษฎรเปนอันยิ่ง คือมีพยานที่ควรอ้างอิงว่าได้ทรงสร้างเสมาไปเพื่อจะพระราชทานเปนของฝากแด่ดรุณราษฎรทั้งหลาย สิ้นพระราชทรัพย์เปนอันมาก อันไม่มีพระมหากระษัตราธิราชพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ประเทศหนึ่งประเทศใด จะได้ทรงแสดงความพระมหากรุณาเมตตาแก่ราษฎรดังเช่นนี้เลย” (เหรียญเสมานี้ บางทีเรียกเหรียญเสด็จกลับ ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ จารึกอักษรพระนาม ด้านหลังเขียนว่า เสด็จกลับจากยุโรป ร.ศ. 126 ทรงสั่งทำจากกรุงปารีส)

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว การออกหนังสือสักเล่มเป็นเรื่องโต แต่หนังสือของหม่อนนเรนทราชานั้นถือว่าเป็นเรื่องใหญ่โตมากๆ เพราะได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานคำนิยมให้ ดังนี้

“พระราชกระแสนำ”

ในการที่จะเขียนระยะทางไปเที่ยวประเทศยุโรป มีท่าทางที่จะเขียนได้หลายอย่าง ตั้งแต่เขียนจดระยะทางย่อ เช่น ทูตไปลอนดอนแลปารีศในรัชกาลที่ 4 ซึ่งนับว่าเปนจดหมายอย่างสั้นแลอย่างหลับตาเขียน นับแต่วัน คัดแต่บาญชีมาลง ไม่ต้องออกความคิดแลความเห็นกว้างขวางไปเพียงใด เช่นนั้นก็เปนการง่ายที่สุด ซึ่งผู้ใดๆ จะจด แต่น่าเสียใจว่าไม่ดีกว่าระยะทางทูตไปลังกา ซึ่งเขาจะไว้แต่โบราณ ถ้าหากว่าจะจดตามรูปนั้น การที่มาเที่ยวยุโรปจะไม่สู้แปลกกันเท่าใด รายงานคงจะคล้ายๆ กันไปหมด 

ถ้าจะแต่งให้พิสดารอาจจะทำให้กว้างขวางสักเพียงใดก็ทำได้ เหตุด้วยการสืบสวนหาหลักฐานแลเรื่องรายในประเทศยุโรปหาง่ายนัก ต้องการอย่างเดียวแต่เวลาแลความเพียร ซึ่งไม่ใช่ผู้มาตามเสด็จเช่นนี้จะสามารถทำได้ เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งจะจดหมายเหตุระยะทาง จึงจำต้องเลือกทางอย่างหนึ่งอย่างใดให้ตกลงมั่นใจเสียก่อนว่าจะเดิรทางไหน จดหมายระยะทางสองเที่ยวซึ่งได้ทำมาแล้ว ครั้งเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พระยาศรีฯ ได้ทำโดยเดิรทางอย่างจดหมายเหตุแท้ แต่ได้มีความอุสาหะพยายามอย่างยิ่ง ที่จะจดเหตุการณ์ทั้งปวงลงไว้โดยถ้วนถี่ แลเพื่อจะแก้จืดจางไม่ให้เหมือนระยะทางทูตแต่ก่อน จึงได้เพิ่มเติมข้อความกล่าวถึงประเทศต่างๆ อย่างพิสดารอีกเหมือนกัน จึงเปนการหนักมากในวิธีที่จะเรียงนั้นชั้น ๑ ทั้งเวลาที่จะได้ทำงานก็มีน้อย การจึงได้ค้างเขาไปจนถึงกรุงเทพฯ เมื่อถึงกรุงเทพฯ แล้วพระยาศรีฯ มีราชการมากขึ้น จดหมายเหตุระยะทางนั้นเลยค้างมาเปนช้านาน แต่ด้วยความอุตสาหของพระยาศรีฯ เป็นอย่างยิ่ง จึงได้พยายามทำให้สำเร็จลงได้ ไม่ค้างทีเดียว ดังเช่นคนเปนอันมากมั่นหมายว่าจะเปนเช่นนั้น

ในการที่มายุโรปคราวนี้ หม่อมนเรนทรรับน่าที่จดหมายเหตุด้วยความรู้สึกหนักใจเปนอันมากเปนธรรมดา เพราะเหตุว่าจดหมายที่ได้เขียนแล้วครั้งหนึ่ง จะต้องเขียนซ้ำอีกให้ดีได้นั้นไม่ใช่ของง่าย มันชวนแต่จะจืด ถ้าไปเขียนเอาอย่างกัน ตามทำนองคนแต่งหนังสือเขาเรียกว่าล้อ เช่น รายงานทูตไปฝรั่งเศส ล้อรายงานทูตไปอังกฤษ รายงานทูตฝรั่งเศสล้มทั้งยืน เพราะเหตุฉะนั้นไม่เปนตัวอย่างที่จะเดิรทางล้อกันเช่นนั้น หม่อมนเรนทรได้จับตั้งใจจะเขียนอย่างอื่น ซึ่งเห็นว่าความคิดเขาถูกต้อง คือไม่คิดตั้งใจจะเขียนสำหรับผู้ซึ่งเคยเห็นประเทศยุโรปแล้วจะอ่าน ทั้งไม่คิดตั้งใจจะเขียนให้ผู้ซึ่งไม่มีความรู้เลยอ่าน เพราะถ้าหากจะพยายามเขียนให้ผู้เคยเห็นอ่านคงจะเห็นว่าบกพร่องอยู่เปนอันมาก ถ้าจะเขียนให้ผู้ที่ไม่มีความรู้เลยอ่าน เวลาที่จะทำการไม่พอ คงยังรู้สึกว่าบกพร่อง ไม่แจ่มแจ้งอยู่เช่นนั้นเอง เขาจึงขับทางกลาง ที่ให้มีความรู้บ้าง ความรู้ที่ควรจะพึงสังเกตบ้าง พอที่ผู้ซึ่งได้ร่ำเรียนอ่อนๆ จะได้ประโยชน์ ความคิดเช่นนี้ก็เหมาะแก่เวลา เพราะเหตุที่มาเที่ยวครั้งนี้ มาเปนทางเงียบๆ ไม่ใช่ทางราชการมาก เหมือนอย่างรายงานพระยาศรีฯ ครั้งก่อน เปนมาเที่ยวโดยราชการแท้ๆ จะเรียงตามรูปนั้นก็เปนทางสมควรอยู่

ส่วนประโยชน์ที่ได้จากความคิดวางรูปหนังสือ ที่หม่อมนเรนทรได้ตั้งใจวางแบบลงนี้ คือทำได้เสมอไม่มีเวลาต้องคั่งค้าง ถึงไหนก็แล้วสำเร็จที่นั่น แต่การที่จะทำให้สำเร็จได้เช่นนี้ ไม่ใช่เพราะวางแบบลงถูกต้องอย่างเดียว ต้องใช้ความอุสาหเปนอันมาก ทนเดิรทางพลางเขียนหนังสือพลาง เปนความลำบากอย่างยิ่ง เพราะการเดิรทางในรถไฟก็เขียนหนังสือไม่ได้ ถ้ายิ่งไปรถม้าวันยังค่ำก็ยังจะต้องไปนั่งตั้งตาเขียนในเวลากลางคืนที่เหน็จเหนื่อยมา เพราะรุ่งเช้าจะต้องเดิรต่อไปอีก ในเรือที่เปนเวลาว่างควรจะเขียนได้มาก ก็ยังมีคลื่นลมรบกวน ซึ่งหม่อมนเรนทรทำจดหมายระยะทางสำเร็จได้ดังแบบซึ่งได้วางลงไว้เช่นนี้ ควรจะสรรเสริญความเพียรของเขาทั้งเปนเครื่องส่องให้เห็นความรู้แลความสังเกต ทั้งส่องให้เห็นน้ำใจที่เขามีความปราถนาดีเพียงใด แลมีความสามารถเพียงไร

เราขอรับรองว่า รายงานซึ่งหม่อมนเรนทรได้จดนี้ ได้จดลงโดยความถูกต้องเปนอันมาก เว้นไว้แต่ธรรมดาคนที่มีความคิดความเห็นย่อมต่างกันบ้าง ผู้ซึ่งเปนคนอ่านหนังสือย่อมสังเกตอัธยาไศรยของผู้แต่งหนังสือนั้นได้อยู่เปนธรรมดา เราไม่คิดเห็นว่าเพราะเหตุใดซึ่งจะต้องบังคับให้ ผู้เขียนหนังสือเปลี่ยนจากความเห็นของเขา เมื่อความเห็นนั้นไม่ได้มีโทษแลมีอันตรายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จึงขอแนะนำผู้อ่านทั้งปวงว่าหนังสือฉบับนี้ เปนหนังสือที่ควรอ่าน

วันที่ 4 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 126
เรือสักเสน
จุฬาลงกรณ์ ปร.

 

ข้อมูลจาก

ไกรกฤษ์ นานา.”ไกลบ้าน “ฉบับราษฎร์” ก็มี เขียนดีถึงขั้นได้คำนิยมจากรัชกาลที่ 5″,ศิลปวัฒนธรรม เมษายน 2552

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_25018

 

 

The post ไกลบ้าน “ฉบับราษฎร์” เขียนดีจนได้คำนิยมจากรัชกาลที่ 5 appeared first on Thailand News.