ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

แพทย์ผิวหนังเตือนแมลงมีพิษกัดต่อย แพ้รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

แพทย์ผิวหนังเตือนแมลงมีพิษกัดต่อย แพ้รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต

 กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เตือนแมลงมีพิษกัดต่อย แพ้รุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิต มาทำความรู้จักอาการแพ้รุนแรง ลักษณะของอาการ และข้อพึงระวังและสิ่งที่ต้องพึงระวัง พร้อมแนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการแพ้ หากมีความรู้ความเข้าใจในอาการของโรคสามารถเฝ้าระวัง จะช่วยลดโอกาสเกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

——————————————–

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากข่าวการเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นหลังการถูกมดตะนอยกัดของเด็กหญิงอายุ 11 ปี สร้างความตื่นตระหนกถึงความรุนแรงต่อการแพ้มด แมลง เกิดความสงสัยในอาการที่ต้องพึงระวังและอาการที่ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล รวมถึงแนวทางการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอาการแพ้ อาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) เป็นภาวะฉุกเฉิน ที่มีปฏิกิริยาภูมิไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น มักมีอาการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการแสดงในหลายระบบ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดเกิดจากอาหาร ได้แก่ อาหารทะเล นม ไข่ แป้งสาลี สาเหตุรองได้แก่ กลุ่มยาปฏิชีวนะ เช่น penicillin cephalosporin sulfonamide quinolone และ macrolides และสาเหตุที่มักพบร่วมได้บ่อย ได้แก่ แมลงในตระกูล Hymenoptera ได้แก่ มดมีพิษ เช่น มดคันไฟ มดตะนอย ผึ้ง ต่อหัวเสือ และแตน

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยที่อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ อายุ โดยพบความรุนแรงในผู้ใหญ่มากกว่าในเด็ก โรคประจำตัว เช่น โรคระบบหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ การรับประทานยาบางกลุ่ม อาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) มักเกิดในระยะเวลา 5-30 นาที หลังได้รับสิ่งกระตุ้นแพ้ โดยอาการแสดงที่พบได้บ่อยสูงสุด คือ อาการในระบบผิวหนัง ได้แก่ ผื่นลมพิษ(urticaria) อาการปากบวมตาบวม (angioedema) ซึ่งพบได้ 85-90% อาการรองลงมาที่พบ ได้แก่ อาการในระบบทางเดินหายใจเช่น หอบเหนื่อย หายใจเสียงหวีด ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เวียนศีรษะ เป็นลม ความดันโลหิตลดลง และระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง ตามลำดับ

ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวถึงการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ขั้นแรกให้ทำการดูแลปฐมพยาบาลเรื่องทางเดินหายใจ(airway) การหายใจ (breathing) ระบบไหลเวียนโลหิต (circulation) ร่วมกับรีบให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยยา ได้แก่ epinephrine antihistamine corticosteroid ยาพ่นขยายหลอดลม การให้สารน้ำทางเส้นเลือด เป็นต้น แนวทางการป้องกันการเป็นซ้ำเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยภาวะอาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) ควรได้รับความรู้ เพื่อให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และรู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการ รวมถึงการให้ผู้ป่วยอาการแพ้รุนแรง พกยาฉีด epinephrine ติดตัวเพื่อให้สามารถใช้รักษาพยาบาลได้รวดเร็ว เมื่อมีอาการแพ้รุนแรงเกิดขึ้น อาการแพ้รุนแรงหรือ anaphylaxis เป็นภาวะที่สามารถเฝ้าระวังและให้การรักษาได้หากมีความรู้ความเข้าใจในอาการของโรค และการให้การรักษาได้อย่างทันท่วงทีจะช่วยลดโอกาสเกิดความรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้

ข้อมูล 

https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220518122423468

 

Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More