สธ.สงขลา เตือนป้องกันโรคไข้เลือดออก คาดการณ์อาจจะมีการแพร่ระบาดปีนี้ หากประชาชนไม่เฝ้าระวังป้องกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ช่วงนี้ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดสงขลาเริ่มมีฝนตกเป็นระยะๆ ทำให้มีแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายมากขึ้นและยุงลายมีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น นอกจากโรคโควิด 19 ที่ประชาชนต้องระวังแล้วยังควรระวังโรคไข้เลือดออกอีกโรคหนึ่งด้วย เนื่องจากการคาดการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2565 นี้ คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะกลับมาระบาดอีกครั้ง หลังจากที่เงียบหายไป 2 ปี แต่การกลับมาระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ เกิดจากปัจจัยภูมิคุ้มกันหมู่ของประชาชนเริ่มต่ำลง โดยที่ภูมิต้านทานชั่วคราวที่เกิดจากการระบาดใหญ่ครั้งก่อนในประชาชนลดลง หากครัวเรือนยังไม่มีการจัดการขยะ ที่ถูกต้องและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายไม่ดีทำให้ยุงลายขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนยิ่งเสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกมากขึ้นด้วย โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสแดงกี่ มียุงลายเป็นพาหะ เมื่อยุงลายไปกัดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เชื้อจะฟักตัวในยุงประมาณ 8 -10 วัน และเก็บไว้ในต่อมน้ำลาย เมื่อยุงไปกัดคนที่ปกติ ก็จะปล่อยเชื้อเข้าไปในตัวคนทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออก ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรงมาก แต่ส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง โดยผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงอย่างเฉียบพลันและไข้จะสูงตลอดทั้งวันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร ต่อมาไข้จะลดลง ในระยะนี้ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะอาจเกิดอาการรุนแรง อาจมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ควรรีบพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที ทั้งนี้ โรคไข้เลือดออก มี 4 สายพันธุ์ เมื่อติดเชื้อสายพันธุ์ใดแล้วก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์นั้น แต่ก็มีโอกาสที่จะติดสายพันธุ์อื่น ๆ ได้อีก ซึ่งการติดเชื้อครั้งที่สองอาจรุนแรงกว่าครั้งแรก
สำหรับ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกจังหวัดสงขลา (ข้อมูล ตั้งแต่ 1 มค – 10 พค 65) พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 32 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 2.27 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 10 -14 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 5.99 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาอายุ 15-24 ปี (อัตราป่วย 4.67) และกลุ่มอายุ 0 – 4 ปี (อัตราป่วย 3.07) ตามลำดับ อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุดคือ อำเภอกระแสสินธุ์ อัตราป่วยเท่ากับ 6.41 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาสะเดา และคลองหอยโข่ง ตามลำดับ และอำเภอที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อำเภอสะเดา (7) หาดใหญ่ (7) เมือง (3) สะบ้าย้อย (3) สิงหนคร (3) ตามลำดับ
นายแพทย์สงกรานต์ ไหมชุม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งสำคัญของการป้องกันไข้เลือดออก คือ “ อย่าให้ยุงกัด และอย่าให้ยุงเกิด ” โดยเด็กเล็กควรนอนในมุ้ง , ทายาป้องกันยุงกัดก่อนไปโรงเรียน ในผู้ใหญ่ให้ทายาป้องกันยุงกัดก่อนออกไปทำงาน เช่น ไปกรีดยาง และควรสวมเสื้อแขนยาว , กางเกงขายาว นอกจากนี้ ต้องสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่บ้านตนเองทุก ๆ สัปดาห์ กำจัดขยะหรือจัดการภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยไม่ต้องรอให้มีน้ำขัง โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ อย่างต่อเนื่อง คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาด ให้โปร่ง โล่ง ไม่ให้เป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2) เก็บขยะเศษภาชนะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย 3) เก็บน้ำ ภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ รวมทั้งการใช้ทรายทีมีฟอสใส่ในน้ำใช้ การเลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัว การขัดล้างขอบภาชนะ เพื่อขัดไข่ยุงลายก่อนล้างภาชนะ และทำความสะอาดบ้านเรือนอย่างจริงจังทุกสัปดาห์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุกครัวเรือนต้องให้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการคัดแยกขยะต้นทางก่อนนำไปทิ้ง และกำจัดให้ถูกต้อง ขยะที่ย่อยสลายได้ อาจจะทำปุ๋ยอินทรีย์ หรือ นำไปฝังดิน ส่วนขยะที่ไม่ย่อยสลาย เช่น แก้ว กระเบื้อง พลาสติก ควรมีการนำกลับมาใช้ซ้ำ – มาใช้ใหม่ รวมทั้งนำไปจัดเก็บและทิ้งอย่างถูกวิธี ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นที่น้ำขังและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
ทั้งนี้ ในระยะนี้ หากมีคนในครอบครัวมีอาการไข้สูงลอย ให้สงสัยว่าอาจจะป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ให้ใช้ยาพาราเซตามอลในการลดไข้ ไม่ควรใช้ยาที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะอาจเสี่ยงต่อการทำให้เกิดเลือดออกได้ง่าย และเช็ดตัวลดไข้ควบคู่ไปด้วย หากรับประทานยาลดไข้แล้ว 2 วันอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปโรงพยาบาลทันที และควรไปพบแพทย์ตามนัดแม้ว่าไข้จะลงแล้ว เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง หากคนในครอบครัวเจ็บป่วย สามารถขอความช่วยเหลือจากสายด่วนนเรนทรสงขลา โทร 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูล
https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220518120121460
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More