ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ทำไมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทดลองใช้ครั้งแรกสมัย ร. 5 ไม่เวิร์ค ?

ทำไมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทดลองใช้ครั้งแรกสมัย ร. 5 ไม่เวิร์ค ?

รถไถ-คราดพลังไอน้ำ(ยังไม่ได้ต่อกับไถและคราด) ณ ทุ่งรังสิต สมัยรัชกาลที่ 5 พงศ. 2450 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

การเปิดประเทศภายหลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 4 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าทางการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่การส่งออกข้าว เมื่อความต้องการมากขึ้น กระบวนการผลิตก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน จึงเริ่มปรากฏการทดลองนำเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น เครื่องไถนา, เครื่องเกี่ยวข้าว ฯลฯ เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5

แต่เครื่องจักรที่สามารถเพิ่มผลผลิตกลับไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทยในเวลานั้น สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ สุวิทย์ ธีรศาศวัต ได้ค้นคว้าและเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีการเกษตร” (สนพ.มติชน, 2548) เนื้อหาส่วนหนึ่งของหนังสือมีดังนี้

การเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรไทย โดยเฉพาะการทดลองใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ประเภทเครื่องจักรกลการเกษตรในประเทศไทย ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 บริบทซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวช้าหรือเร็วมีทั้งปัจจัยโดยตรงและโดยอ้อมซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

1. กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการทำเกษตรได้ดี คือพื้นที่สองฟากคลองที่ขุดใหม่สมัยรัชกาลที่ 4-5 ส่วนมากตกเป็นของเจ้าขุนนาง คนรวย เช่น พื้นที่บริเวณคลองรังสิต คนเพียง 43 ราย หรือร้อยละ 6.2 ครอบครองพื้นที่ตั้ง 121,031 ไร่ หรือร้อยละ 51.32 โดยครอบครองรายละ 1,000 ถึง 17,945 ไร่ ทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่คือชาวนาต้องเป็นผู้เช่านา จากเจ้าขุนนาง คนรวย เมื่อเป็นผู้เช่านา จึงไม่กล้าปรับปรุงการผลิต เพราะผู้เช่าไม่มีความมั่นคงในการใช้พื้นที่

2. ชาวนาถูกขูดรีดมากเกินไป บ้างจากรัฐและนายทุน จากรัฐคือ การเข้าเดือนซึ่งแม้จะลดลงเหลือปีละ 3 เดือน ก็ยังเป็นภาระที่หนักหนามากสำหรับไพร่พลวง นอกจากนี้ยังถูกเก็บภาษีนานาชนิด ซึ่งสองสิ่งนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากรัชกาลก่อนๆ ส่วนการขูดรีดจากนายทุนก็คือ เจ้าของนา กับเจ้าของเงินกู้ เจ้าของนาขูดรีดผ่านระบบเช่านา ซึ่งขูดรีดตั้งแต่ร้อยละ 12.5 ถึง 50 ของผลผลิต ส่วนเจ้าของเงินกู้ที่ชาวนาต้องกู้มาลงทุน ชาวนาจะต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 37.5 ต่อปี หากเกิดภาวะฝนแล้งหนี้สินก็จะพอกพูนเป็นดินพอกหางหมู ยิ่งกว่านั้นชาวนาที่จ่ายหนี้เป็นข้าว เมื่อคิดเป็นเงินแล้วเขาต้องเสียดอกเบี้ยถึงร้อยละ 60-120 ต่อปี ผลจากการถูกขูดรีดดังกล่าวทำให้ชาวนาไม่มีผลผลิตส่วนเกินมากพอที่จะไปพัฒนาการผลิตของตนให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

3. ปัจจัยด้านประชากรและโรคระบาด สองสิ่งนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โรคระบาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในยุคนั้น โดยเฉพาะอหิวาต์ ไข้ทรพิษ ไข้ป่าหรือมาลาเรีย และกาฬโรค ทำให้ประชากรล้มตายลงคราวละมากๆ ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้นช้ามาก เมื่อประชากรน้อย แต่ในขณะนั้นพื้นที่ของประเทศมีมาก ความจำเป็นในการที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่จึงมีน้อย แต่ถ้าจำเป็นต้องเพิ่มผลผลิตก็ใช้วิธีขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปในที่ป่า

4. ปัจจัยด้านการขนส่ง ก่อนมีการสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 อุปสรรคอย่างยิ่งของการผลิตและการค้าคือค่าขนส่งที่แพงมาก แพงกว่าปัจจุบัน 27-40 เท่า แต่เมื่อมีการสร้างทางรถไฟค่าขนส่งถูกลงมาก ยังผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น สินค้าจากโคราชมาสระบุรีได้เพิ่มจากปีละ 1,800-2,400 ตัน เป็นปีละ 18,873-28,580 ตัน หลังจากสร้างทางรถไฟ ค่าขนส่งที่ถูกลงส่งผลให้การค้าขยายตัวทั้งสินค้าเข้าและออก

5. ปัจจัยด้านการค้า การค้าที่ขยายตัวนอกจากเป็นเพราะค่าขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศถูกลงแล้ว ยังเป็นเพราะความต้องการของตลาดต่างประเทศสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวในปี พ.ศ. 2407 ไทยส่งข้าวออก 2.4 ล้านหาบ พ.ศ. 2433 เพิ่มเป็น 8.1 ล้านหาบ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 237.5 ข้าวที่เคยเป็นสินค้าออกอันดับ 11 ก็กลายเป็นสินค้าออกอันดับ 1 ของไทย ใน พ.ศ. 2450 สินค้าออกข้าวมีปริมาณถึงร้อยละ 50 ของผลผลิตข้าวทั้งหมดของไทย ในเวลา 53 ปี (2400-2453) ปริมาณข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 15.4 เท่า ปริมาณข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเป็นผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร

6. นโยบายของรัฐ มีนโยบายอยู่ 2 เรื่องที่กระทบต่อการผลิตทางเกษตร นโยบายแรกคือ การยกเลิกการควบคุมการส่งออกข้าว ปล่อยให้มีข้าวออกโดยเสรีตามสนธิสัญญาเบาริ่ง นโยบายที่ 2 คือ การลดภาษีที่เป็นผลดีต่อชาวนาคือ ลดภาษีนำเข้าออกจากเกวียนละ 8 บาท เหลือเกวียนละ 4 บาท…นอกจากนั้นยังลดอากรสมพัตสรจากไร่ละ 1 บาท เหลือ 0.375 บาท อากรทุเรียน จากต้นละ 1 บาท เหลือ 0.375 บาท…ซึ่งการลดภาษีดังกล่าวล้วนต่อส่งผลดีต่อชาวนาในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ลดลง ผลผลิตส่วนเกินจึงน่าจะมากขึ้น

เกษตรกรในภาคกลาง สมัยรัชากลที่ 5 (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

การที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศสูงขึ้น มีผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ทำให้ชาวนาขายข้าวได้สูงขึ้น เป็นผลให้เกิดการขยายที่นา สำหรับเจ้าขุนนางและคนรวยที่เห็นว่ากิจการทำนาทำเงินได้ดี ก็พากันซื้อที่ดิน จับจองที่ดินเอามาให้ชาวนาเช่า บางรายก็ลงทุนทำนาเองโดยการจ้างลูกจ้างมาทำนา บางส่วนก็พยายามนำเครื่องจักรมาใช้ในการทำนา และทำไร่อ้อยเป็นครั้งแรก

กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2423 กัปตันฮิก ชาวอังกฤษ ได้นำเอารถไถมาใช้ไถไร่อ้อยในเมืองไทยเป็นครั้งแรก แต่ไม่มีใครนิยมทำตามเพราะต้นทุนของการใช้รถไถสูงกว่าการทำแบบเดิมมาก ต่อมาในราว พ.ศ. 2433-2434 พระยาสมุทบุรารักษ์ได้นำเครื่องจักรไถนามาใช้เป็นครั้งแรกที่สมุทรปราการ แต่ปรากฏว่าต้องใช้แรงคนมากเกินไป และยังต้องขุดคูให้เรือที่บรรทุกเครื่องจักรแล่นจึงเพิ่มต้นทุนและความยุ่งยากกว่าวิธีเก่าๆ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กันพระยาวิเศษได้ทดลองใช้เครื่องกว้านไถนาที่จันทบุรีแต่ไม่ได้ผล เพราะช้ากว่าเดิมและยังเสียเวลาขนเครื่องกว้านไปมา

ใน พ.ศ. 2448 หมอฮันส์ อดัมเซน (สัตวแพทย์) ได้ใช้เครื่องจักรไอน้ำไถนา แต่เครื่องเสียบ่อยคนจึงไม่นิยม ในช่วงเดียวกัน บริษัทกสิกรสยามของชาวเดนมาร์กได้นำเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน และปิโตรเลียมมาไถนา แต่เครื่องรวนบ่อยๆ เพราะอากาศเมืองไทยร้อนกว่าเมืองฝรั่ง

ใน พ.ศ. 2450 นายยัวเกนเซน นำรถไถนาไอน้ำมาทดลองไถได้รวดเร็วมาก วันละ (12 ชั่วโมง) 30-50 ไร่ แต่มีปัญหาน้ำหนักมากเกินไป (12.96 ตัน) เวลาไถต้องวิ่งบนรางเหล็กเพื่อป้องกันรถจมดิน ทั้งยังเปลืองเชื้อเพลิงมากและต้องใช้คนคุมเครื่องถึง 20 คน ในช่วงเดียวกัน ม.ร.ว. ถัด สีหศักดิ์สนิทวงศ์ และพี่น้องได้สั่งซื้อรถไถตีนตะขาบเข้ามาไถนาที่ทุ่งรังสิต แต่ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย จึงไม่มีใครนิยมใช้

นอกจากนั้น ยังมีการนำเครื่องจักรเกี่ยวข้าวมาทดลองใช้ แต่คนไม่นิยม เพราะเครื่องร้อนเร็ว เวลาเสียหาคนซ่อมและอะไหล่ยาก ค่าดูแลรักษาสูง

กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่คนไทยไม่นิยมใช้เครื่องจักรการเกษตร เพราะเครื่องจักรดังกล่าวซึ่งเคยใช้ได้ผลในเมืองฝรั่ง แต่ไม่ได้ผลในเมืองไทย เพราะอากาศร้อน เครื่องร้อนเร็ว เสียง่าย นอกจากนั้นดินก็ยังอ่อน จึงไม่เหมาะสำหรับเครื่องจักรซึ่งมีน้ำหนักมากเกินไป เรื่องอะไหล่หายากและช่างซ่อมก็หายาก ทำให้เสียค่าดูแลรักษามาก ไม่คุ้มกับการลงทุน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มีนาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_63785

 

The post ทำไมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทดลองใช้ครั้งแรกสมัย ร. 5 ไม่เวิร์ค ? appeared first on Thailand News.