ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ร.๕

หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ร.๕

รัชกาลที่ 5 เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีชักผ้าแพรคลุมเปิดพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2451 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2547
ผู้เขียน
ไกรฤกษ์ นานา
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า พระบรมรูปทรงม้า ร.๕ เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย สร้างขึ้นในประเทศฝรั่งเศสระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง ถึงแม้จะไม่ใช่เหตุผลหนึ่งของการเสด็จประพาสยุโรปก็ตามที

ถ้าจะว่าไปแล้ว “ตำนาน” เรื่องพระบรมรูปทรงม้า เป็นเพียงคำบอกเล่าของคนรุ่นหนึ่ง ที่โยง “การเสด็จประพาสยุโรป” ครั้งหลัง พ.ศ. ๒๔๕๐ กับงานพระราชพิธี “รัชมังคลาภิเษก” พ.ศ. ๒๔๕๑ เข้าไว้ด้วยกันโดยบังเอิญ ถึงกระนั้นก็ตามพระบรมรูปทรงม้าก็ “มิใช่เหตุบังเอิญ” ที่ถูกสร้างขึ้นมา มันเป็นพระราชประสงค์ที่ทรงกะการไว้นานมาแล้ว แต่กลายเป็นความประจวบเหมาะที่ประชาชนอยากมีส่วนร่วมด้วยต่างหาก ประเด็นหลังนี้สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นเสมอมา

ข้อมูลเก่าที่กำกวมและยังหาคำอธิบายไม่ได้ คือความเชื่อที่ว่า “แรงบันดาลใจ” ของการสร้างพระบรมรูปทรงม้า อาจจะเกิดจากการที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จไปทอดพระเนตรอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงม้า ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ในฝรั่งเศส ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งหลัง อันว่าอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่เป็นปัญหานี้ รัชกาลที่ ๕ ทรงพบเห็นมานาน ๑๐ ปีก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ก็ไม่มีหลักฐานบ่งบอกว่าโปรดเป็นพิเศษประการใด ในทางตรงกันข้าม รัชกาลที่ ๕ กลับทรงสรรเสริญพระบรมรูปทรงม้าคิงวิกเตอร์ เอมมานูเอล ในอิตาลีอย่างเปิดเผย เฉพาะอย่างยิ่งพระบรมรูปที่มิลาน ตรัสชมว่า “งามอย่างยิ่ง” (ไกลบ้าน : ฉบับที่ ๑๗ ลวท. ๒๓ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๖) พระบรมรูปทรงม้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้เป็นฐานความคิดในการสร้างพระบรมรูปทรงม้าในกรุงเทพฯ ได้

พระบรมรูปทรงม้า พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ หน้าพระราชวังแวร์ซายส์ ในฝรั่งเศส

 

นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องการเรี่ยไรเงินเพื่อสร้างถาวรวัตถุ ในโอกาสที่รัชกาลที่ ๕ ทรงครองสิริราชสมบัติมาครบ ๔๐ ปี ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเรี่ยไรเพื่อก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าโดยเฉพาะ เพราะในขณะที่คณะกรรมการงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกบอกบุญเรี่ยไรในตอนแรกนั้น “ยังไม่มีข้อสรุป” ว่าควรจะสร้างสิ่งใดแน่ เนื่องจากโครงการพระบรมรูปทรงม้า มิได้เกี่ยวข้องกับงานรัชมังคลาภิเษกโดยตรง ดังที่จะอธิบายต่อไป

ความขัดแย้งเรื่องแรงบันดาลใจ และสาเหตุการสร้างพระบรมรูปทรงม้าที่แท้จริงดำเนินต่อมาเกือบ ๑ ศตวรรษ

หลักฐานใหม่ที่สามารถเผยความลับทั้งหมด บัดนี้พบแล้วว่ามีจริงๆ มันเป็นคำอธิบายที่ซ่อนอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ รวม ๗ ฉบับด้วยกัน ที่ทรงมีถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) บนเรือซักซัน ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป เริ่มต้นด้วยฉบับที่ ๑ ระบุถึงความคิดเรื่องพระบรมรูปทรงม้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๔๕๐) ความว่า…

ถึง พระยาสุขุม

“…หนังสือฉะบับนี้มีความมุ่งหมายที่จะอธิบายโทรเลขนั้นให้แจ่มแจ้ง คือพระยาสุขุมจะนึกได้ว่ามีความคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งค้างอยู่ช้านานว่าจะเอาเงินที่ข้าราชการเรี่ยรายในการทำบุญแซยิดอายุครบ ๕๐ อันมีเหลืออยู่นั้น ก่อสร้างเป็นซุ้มประตู ที่ต้นถนนเบญมาศ อันต่อกันกับถนนดวงตะวัน และถนนราชดำเนินนอก เพื่อจะให้เป็นซุ้มประตูสำหรับวังสวนดุสิต ความคิดอันนี้ได้คิดเมื่อครั้งพระยาสุริยาเป็นเสนาบดี มีหน้าที่สามคนร่วมกัน คือพระยาสุริยา กรมหลวงนริศร กรมดำรง ถึงได้วาดอย่างขึ้นดูบ้างแล้ว แต่ก็เลยติดค้างอยู่ตามเคย มาภายหลังพระยาสุริยาคิดเห็นว่าน่าจะหล่อ “พระบรมรูปขี่ม้า” ตั้งบนหลังซุ้มนั้น แต่ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำรูป ก็ระงับมาอีก…”

สยามินทร์

(จากซ้ายไปขวา) พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค) “ต้นคิด” เรื่องพระบรมรูปทรงม้า บนซุ้มประตูวัง, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) แม่กองผู้ติดตั้งพระบรมรูปทรงม้า, สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์คำจารึกที่พระบรมรูปทรงม้าถวาย แต่รัชกาลที่ ๕ ไม่โปรด จึงต้องแก้ไขใหม่ทั้งหมด

 

ข้อมูลใหม่ที่พบนี้ลบล้างความสงสัยที่ค้างคาใจผู้คนมานาน ความจริงที่เก็บงำไว้ถูกเปิดเผยขึ้นในที่สุด เมื่อ รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำรัสถึงเจ้าพระยายมราชอย่างเงียบๆ ตรัสสั่งงานเกี่ยวกับโครงการใหญ่ส่วนพระองค์ที่ไม่ค่อยมีใครรู้ แต่ดำเนินมานานกว่า ๓ ปีแล้ว ในอันที่จะปั้นพระบรมรูปในลักษณะที่ “กำลังทรงม้า” เพื่อทำเป็นซุ้มประตูทางเข้าพระราชวังดุสิตที่สร้างขึ้นใหม่ อันพระราชวินิจฉัยเดิมมีอยู่ว่า จะทรงใช้เงินบริจาคที่เหลือจากงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕๐ พรรษา ที่รวบรวมได้ ๕ ปีก่อนหน้านั้น (พ.ศ. ๒๔๔๖) และมิได้เกี่ยวกับงานรัชมังคลาภิเษกที่เตรียมกันนั้นเลย (พ.ศ. ๒๔๕๑) จึงเป็นคนละเรื่องกันตั้งแต่ต้น และรู้เฉพาะบุคคลใกล้ชิดที่อยู่วงในเพียง ๒-๓ คนเท่านั้น
หนึ่งในบุคคลที่มีส่วนรู้เห็นมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแนวความคิดแปลกใหม่นี้ คือพระยาสุริยานุวัตร์ ท่านผู้เป็นต้นคิดคนแรกนี้เป็นใครมาจากไหน ในที่สุดกลายเป็นบุคคลที่ถูกลืมจากโครงการดังกล่าว เพราะมีเหตุให้ต้องวางมือไปอย่างกะทันหันเสียก่อน ทำให้เรื่องขาดตอนลงจนต่อแทบไม่ติด เป็นเหตุให้ตัวเอกของเรื่องสาบสูญไปด้วยอย่างไร้ร่องรอย

สำเนาพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๕ เล่าเรื่อง “กำเนิดพระบรมรูปทรงม้า”

 

พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค) เป็นบุตรพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ไต่เต้าจากมหาดเล็กวิเศษ (เวรฤทธิ์) ในปี พ.ศ. ๒๔๑๙ กระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๓๐ จึงถูกส่งออกไปเป็นผู้ช่วยทูตสยามประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ในอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยา และได้เลื่อนขึ้นเป็นอัครราชทูตสยามประจำประเทศฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และรัสเซีย ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระปิยมหาราช เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระยาสุริยานุวัตร์ได้มารับเสด็จที่เมืองเวนิส และได้ตามเสด็จไปในประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด จึงเป็นผู้หนึ่งที่รู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับพระบรมรูปทรงม้าเป็นอย่างดี

พ.ศ. ๒๔๔๖ พระยาสุริยานุวัตร์กลับมากรุงเทพฯ และได้รับแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ทว่าในปีถัดมาท่านจำเป็นต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแทนพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

พระบรมรูปทรงม้าพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอล ที่เมืองมิลาน อิตาลี เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ ๕ มากกว่าอนุสาวรีย์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ หน้าพระราชวังแวร์ซายส์

 

ในระหว่างที่เป็นเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการเพียงไม่กี่เดือนนี่เองที่เป็นตอนสำคัญ เพราะภารกิจของท่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จนไม่มีผู้ใดบันทึกความต่อเนื่องไว้ทัน “ข้อพิสูจน์” เดียวอยู่ตรงที่ในหลวงตรัสว่า “ความคิดที่จะหล่อพระบรมรูปทรงม้า” คิดเมื่อพระยาสุริยาฯ เป็นเสนาบดี แต่ก็ทำไม่สำเร็จ เผอิญถูกย้ายไปเสียก่อน จนกระทั่งเจ้าพระยายมราชเข้ารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการแทน จึงได้รับคำแนะนำจากรัชกาลที่ ๕ ให้ไปปรึกษากับพระยาสุริยานุวัตร์ เกี่ยวกับความคิดเดิมซ้ำดูอีกที เพื่อ “สานต่อ” โครงการเก่าให้เสร็จ ความคืบหน้าเรื่องพระบรมรูปทรงม้า จึงถูกหยิบยกขึ้นมารื้อฟื้นใหม่นับจากนี้ แต่ก็คงถูกเก็บเป็นเรื่องภายในต่อไปอีก โดยที่คนภายนอกไม่อาจทราบได้เลยในเวลานั้น

จะเห็นได้ว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นเป็นความสมพงศ์ ในการบรรลุจุดประสงค์เดิม ระหว่างการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ซึ่งทรงตั้งพระทัยที่จะหาโอกาสหล่อพระบรมรูปทรงม้า ให้แล้วเสร็จเสียที เป็นเหตุให้มีลายพระราชหัตถเลขาถึงจรูญ (ม.จ.จรูญศักดิ์ กฤดากร) อัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสคนต่อมา ให้สืบหาโรงหล่อทางยุโรปอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ทรงมอบหมายให้เจ้าพระยายมราช เตรียมจัดหาสถานที่เพื่อติดตั้งพระบรมรูปทรงม้า ไปพลางๆ ในกรุงเทพฯ

ความเคลื่อนไหวนับจากนั้น มีขึ้นอีกใน ๒ เดือน หลังจากพระราชหัตถเลขาฉบับแรก บอกเล่าความก้าวหน้าในการออกแบบพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะอุปสรรคจากระยะทางที่ห่างไกลกัน

(ฉบับที่ ๒)

วิลลาสตูร์ดซา เมืองบาเดนบาเดน

๙ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

…เรื่องมอนยุเมนต์ (Monument แปลว่าอนุสาวรีย์) นั้น ยังไม่อยากจะโต้เถียงด้วยดีไซน์ประการหนึ่งประการใดเลยเพราะอยู่ไกลกัน แต่เป็นที่พอใจที่แกไปพัดเอาความคิด (หมายถึงทางกรุงเทพฯ แจ้งข้อมูลที่ถามไป-ผู้เขียน) กว้างแคบมาได้ เท่านี้ก็พอที่จะคิดเรื่องทำรูปอยู่แล้ว ได้ส่งไปให้จรูญเป็นหลักคิด…

สยามินทร์

ความคืบหน้าเพิ่มเติม มีขึ้นหลังจากที่โรงหล่อของพี่น้องตระกูลซูสแฟร์ (SUSSE Fres Fondeurs) ในปารีส ได้รับคัดเลือกให้เป็นที่หล่อพระบรมรูปแน่นอนแล้ว จึงได้เสด็จไปตรวจโรงหล่อครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นต้องรอให้นายช่างฝรั่งปั้นตัวอย่างที่จะใช้เป็นแบบขึ้นให้ทรงพิจารณา เพื่อให้ทอดพระเนตรก่อนใช้เป็นแบบหล่อจริง

(ฉบับที่ ๓)

เรืออัลเบียน (เมื่อเสด็จไปนอทแค็ป)

วันที่ ๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

…ว่าด้วยเรื่องรูปที่จะตั้งกลางถนนนั้น (แสดงว่าในระหว่างปั้นพระบรมรูปทรงม้า ยังมิได้กำหนดสถานที่จะติดตั้งแน่นอนในกรุงเทพฯ-ผู้เขียน) ได้ตกลงกันตามแบบหลังเป็นดีแล้ว กลับไปปารีสคราวนี้จะได้รู้เป็นแน่นอนตกลง ว่าช่างเขาจะทำอย่างไร จะบอกไปให้ทราบ (แสดงว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงปล่อยให้นายช่างฝรั่งเศสออกแบบสร้างให้ทั้งหมด-ผู้เขียน)…

พระราชหัตถเลขาต่อมา แจ้งความก้าวหน้าทางปารีส ซึ่งดำเนินไปมากแล้ว ถึงจุดที่เสด็จไปประทับเป็นแบบให้ปั้น แต่ทางเมืองไทยกลับขัดข้องในการจัดการเรื่องสร้างฐานที่จะติดตั้งพระบรมรูปทรงม้า จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราชปรึกษากับนายตามานโย วิศวกรชาวอิตาเลียนที่รับราชการอยู่ในกรุงเทพฯ นับเป็นครั้งแรกที่ชาวอิตาเลียนถูกเกณฑ์ให้มาช่วยกะการให้เรื่องนี้อีกแรงหนึ่ง

สยามินทร์

งานพิธีถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า ที่บริเวณลานพระรูป วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2474 (ภาพจาก หอสมุดวชิรญาณ จาก https://oer.learn.in.th)

 

(ฉบับที่ ๔)

สวนดุสิต

วันที่ ๖ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๖

ถึง พระยาสุขุม

วันนี้ได้รับโทรเลขจรูญฉะบับ ๑ ว่ารูปสเตชู (Statue แปลว่ารูปปั้น) นั้น ขนาดดังนี้ โดยยาว ๑-๙๐ เมเตอร์ กว้าง ๑-๒๕ สูงเกือบ ๕ เมเตอร์ น้ำหนัก ๖,๐๐๐ กิโลแกรม อยากจะทราบว่าดาบนั้นจะให้มือเกาะฤาจะห้อยอยู่กับสาย แลอยากจะทราบขนาดของที่ตั้งโดยเร็วที่สุดดังนี้

การที่ว่าเช่นนี้เพราะเหตุที่ผู้ทำนั้น ช่างปั้นรูปคนนายหนึ่ง ช่างปั้นม้านายหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจึงจะถึงช่างหล่อ ยังไม่ได้คิดไปถึงถานซึ่งเป็นงานของช่างก่อช่างศิลาเลย แต่รูปถานฤาขนาดถานก็ยังไม่ได้นึก

แต่ข้างฝ่ายเราออกจะนึกไม่ใคร่เป็น เกี่ยงให้เขาคิดหมายใจว่าเขาจะทำเป็นสเตชูแล้วเสร็จมาเหมือนตุ๊กตาทองแดงที่ซื้อๆ กันตัวหนึ่ง แต่ที่จริงการมันต่างกันหมด ถ้าจะให้เขากะมาให้เสร็จ จะบอกไปถึงจรูญให้หาช่างกะ เมื่อกะส่วนตัวแลถานได้กันแล้ว ให้จ้างเขาทำศิลาเสียให้เสร็จจะให้ช่าง ๓ คน ๔ คนอย่างไรก็ตาม สุดแต่ให้เขามอบหมายกันมาคุมให้สำเร็จเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งทั้งถานก็ทำได้ เพราะเราจะกะจะทำอย่างไรก็ต้องไปเอาศิลาฝรั่งมาทำทั้งนั้น

เดี๋ยวนี้ขัดข้องข้อเดียวที่เรื่องซุ้ม ถ้าหากว่า เขากะมาส่วนสูง ซุ้มของเราต่ำไปจะเป็นความลำบากแก้ยาก จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องรู้เรื่องซุ้ม และซุ้มนั้นจะใช้ศิลาบ้างฤาไม่ศิลาจะต้องเหมือนกันกับถานฤาไม่ ช่างเราจะต้องคิดแลตัดสินเสียให้ตกลงก่อน จรูญก็เร่งจี๋นักขอให้ตอบโดยเร็วที่สุดซึ่งจะตอบได้ เพราะฉะนั้นขอให้คิดอ่านปฤกษามิสเตอร์ตามาโย เอาความตกลงให้ได้โดยเร็วที่สุด จะได้โทรเลขตอบข้อสำคัญที่เขาถาม แล้วจึงจะเขียนหนังสือต่อไป

สยามินทร์

เมื่อการก่อสร้างพระบรมรูปทรงม้าเป็นรูปธรรมขึ้น และกระแสข่าวความคืบหน้าถูกรายงานเข้ามาเป็นระยะ คณะกรรมการจัดงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก จึงปรึกษากันอย่างเร่งด่วน และได้ตกลงกันที่จะทูลขอพระบรมราชานุญาตเรี่ยไรเงินต่อสาธารณชนในเมืองไทย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เมื่อข่าวแพร่สะพัดไปในวงกว้าง เงินบริจาคก็เพิ่มเข้ามาอีกมาก จากงบฯ ขั้นต้นคำนวณอยู่ที่ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่สามารถรวบรวมได้ถึง ๑ ล้าน ๒ แสนบาท คณะกรรมการจึงมีมติให้ถวายเงินทั้งหมด และทูลขอพระบรมราชวินิจฉัยพระราชทานพระบรมรูปทรงม้านี้ ให้เป็นสัญลักษณ์ในงานรัชมังคลาภิเษก ซึ่งจะมีขึ้นในเวลาที่พระบรมรูปทรงม้าสร้างเสร็จพอดี รัชกาลที่ ๕ โปรดให้เป็นไปตามที่ขอทุกประการ

พระบรมรูปทรงม้า ณ ลานพระราชวังดุสิต สังเกตแผ่นจารึกหน้าอนุสาวรีย์ ก็เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕

 

๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบรมรูปทรงม้าถูกจัดส่งเข้ามาทางเรือถึงกรุงเทพฯ และได้รับการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อย ณ ลานพระราชวังดุสิต ตรงตำแหน่งซุ้มประตูที่ทรงตั้งพระทัยไว้แต่แรก ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ รัชกาลที่ ๕ จึงเสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีชักผ้าแพรคลุมเปิดพระบรมรูปทรงม้าอย่างเป็นทางการด้วยพระองค์เอง

นอกจากหลักฐานที่พบเกี่ยวกับพระราชดำรัส “เบื้องหลังการสร้าง” พระบรมรูปทรงม้าที่น่ารู้เหล่านี้แล้ว ยังพบเกร็ดนอกตำนานของตอนที่เกี่ยวด้วยคำจารึกด้านหน้าอนุสาวรีย์ที่ทุกคนมักจะมองข้ามอยู่เสมอ ตามที่เข้าใจกันว่าเป็น “คำถวายพระบรมรูป” ซึ่งนิพนธ์โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่เพียงผู้เดียว แท้ที่จริงมีความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น! หลักฐานใหม่ชี้ชัดภายหลังว่า มีความจำเป็นที่รัชกาลที่ ๕ จำต้องทรงยื่นพระหัตถ์มาช่วยแก้ไขขัดเกลาขึ้นใหม่หมด “เพื่อให้ดูดีขึ้น” แสดงให้เห็นถึงความเอาพระทัยใส่อย่างผูกพัน ถึงแม้จะได้พระราชทานพระบรมรูปทรงม้าให้เป็นสาธารณสมบัติเด็ดขาดแล้ว ก็ยังทรงพะวงห่วงใยไม่ทรงทอดทิ้ง เพราะทรงเป็นเจ้าศรัทธาผู้หนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการถ่ายทำมาตลอด แม้กระทั่งคำจารึกอันเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก็ยังทรงพิถีพิถันตรวจสอบด้วยพระองค์เองอย่างถี่ถ้วน…

(ฉบับที่ ๕)

สวนดุสิต

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

เรื่องคำจาฤกที่ได้วานให้ช่วยร่างไว้แต่แรก ร่างลงไปไม่ได้เป็นการแต่งอิตปิโสตัวเอง ครั้นเมื่อได้เห็นร่างซึ่งทำขึ้นไว้ มีใจความบริบูรณ์แล้ว แต่ถ้อยคำยังกระจัดกระจาย จึงได้รวบรวมข้อความเหล่านั้น ควรจะเรียกว่า ประพันธ์เข้าใหม่ ไม่ให้ผิดความเดิม…เพราะจะให้ปรากฏว่าสร้างในเวลาเจ้าของรูปอยู่

สยามินทร์

(ซ้าย) พระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ ๕ ที่โรงหล่อซูสแฟร์ ปารีส, (ขวา) อักษรจารึกที่ฐานด้านซ้าย สลักว่า (สร้างที่) โรงหล่อซูสแฟร์ ปารีส

 

ครั้นทรงแก้แล้วและส่งร่างกลับไปให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สรุปอีกที แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอพระทัย ถึงขนาดที่ทรงกริ้ว และทรงบริภาษกลับไปจนเกือบจะเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากพระบรมรูปทรงม้า สร้างในขณะที่ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ ข้อบกพร่องแม้เพียงเล็กน้อยก็ไม่ทรงยอมให้เกิดขึ้น ถ้ามีก็ต้องแก้ไขทันที ด้วยทรงเกรงว่าจะมีผู้ตำหนิติเตียนได้ในภายภาคหน้า

(ฉบับที่ ๖)

สวนดุสิต

วันที่ ๒ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗

ถึง พระยาสุขุม

ขอต่อว่า ว่าแกมาเกณฑ์ให้ช่วยแก้ร่างคำจาฤก เป็นการผิดคราวผิดสมัย ไม่มีผู้ใดอ่านเข้าใจ ฤาอ่านเข้าใจแต่ไม่เป็นที่พึงใจทำนองหนังสือ เพราะมันเป็นเสียงคนแก่พูดไป

อันลักษณที่กรมดำรงเรียงมานั้น เขาเรียกว่าผการาย อ่านจนตายก็จำไม่ได้ จึงได้แก้รัดเข้าเป็นร้อยแก้ว ซึ่งคนทุกวันนี้เข้าใจว่าเขียนลงไปว่ากระไรๆ ถ้าเป็นร้อยแก้วบ้างไม่เป็นบ้างเช่นนี้ อายผีสรางเทวดา ถ้าหากว่ามนุษย์จะไม่รู้ คงจะมีผู้ที่มีความรู้ยิ้มเย้ยเยาะบ้างเป็นแน่ เพราะฉะนั้นขอให้กระจายกลอนเสียให้หมดให้จงได้ แลเติมด้วยอะไรๆ ลงไปให้บริบูรณ์ ขอว่าสำนวนทำนองไหนให้เป็นทำนองนั้น ถ้าปนกันเลอะเทอะแล้วเห็นจะไม่เป็นการ

ขอต่อว่า ซึ่งให้กรมนเรศ (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงนครบาล) มาถามออฟฟิเชียรลิ ว่าจะยอมให้แก้ฤาไม่เช่นนี้ ไม่ใช่น่าที่ที่ควรจะตอบ กลายเป็นทรงร่างไปเท่านั้นเอง คราวนี้ถ้าถ้อยคำงุ่มง่ามอย่างไร เขาก็จะว่าเจ้าของท่านเรียงของท่านเอง เห็นไม่เป็นแก่นสาร แต่นี้อย่าได้ปฤกษาหารือกันต่อไป เลิกเท่านี้ที

สยามินทร์

พระบรมรูปทรงม้า เป็นประติมากรรมชั้นเลิศที่เกิดจากการวางแผน การรังสรรค์ การอนุรักษ์ดูแล ด้วยพระวิริยะอุตสาหะของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงกำกับดูแลด้วยพระองค์เองทุกขั้นตอน ถ้าไม่ได้เห็นพระบรมราชวินิจฉัยอันละเอียดลออถึงเพียงนี้ คงไม่มีใครเชื่อว่าพระองค์จะเป็น “แม่งานตัวจริง” หลังฉากทั้งหมด

รัชกาลที่ ๕ ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปทรงม้า ไปรษณียบัตร อายุ ๙๖ ปี พบในฝรั่งเศส

 

พระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายต่อไปนี้ เป็นฉบับที่กินใจที่สุด กล่าวคือได้ “ทรงพยากรณ์ไว้ล่วงหน้า” แล้วเกือบ ๑๐๐ ปีว่า ปูชนียสถานแห่งนี้จะเป็นที่สักการบูชาของพสกนิกรชาวไทยต่อไปในอนาคต และควรที่พสกนิกรของพระองค์จะได้แสดงความเคารพต่อพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ในลักษณะใด และจากพระพจนารถในฉบับสุดท้ายนี้เช่นกัน ที่ทรงแสดงความในพระทัย ซึ่งพระองค์ทรงปรารถนาจะได้เห็นแนวทางที่ชาวไทยควรปฏิบัติต่อสิ่งที่จะมาเป็นตัวแทนของพระองค์อย่างไรจึงจะดีที่สุด…

(ฉบับที่ ๗)

สวนดุสิต

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๘

ถึง เจ้าพระยายมราช

ได้รับหนังสือว่าด้วยการสมโภชรูป (พระบรมรูปทรงม้า) นั้นแล้ว

ไม่มีความสงไสยในความจงรักภักดีของพวกนี้ เชื่อแน่ว่าเขาจัดการได้สนุกนิ์

มีข้อที่ควรคิดอยู่อย่างเดียว แต่เพียงว่าปีแรกๆ สนุกนิ์มากนัก ปีหลังซึ่งเพียงแต่ซ้ำปีก็อาจจะชักจืดได้ ข้อสำคัญที่จะให้ยั่งยืนนั้น จะต้องเอาความนิยมต่อการสนุกนิ์ของราษฎรเป็นสำคัญอย่างเช่นเขาแห่เจ้า มีงิ้วงานปีเขาไม่จืดได้ฉันก็ทำนองนั้น ที่ว่านี้เทียบทางที่พวกเมืองเราเคยทำ ถ้าเทียบอย่างฝรั่งเขาก็มีกำหนดวันแต่งดอกไม้ปีละครั้ง เช่น หลอดบิกคอนสฟีล ใครๆ ก็พาดอกปริมโรสไปประดับจนเป็นกองอยู่รอบรูป การที่จะทำเป็นของราษฎร แต่เพราะเหตุที่มิวนิสิเปอล คือ เวลานี้เป็นกรมศุขาภิบาลเป็นเจ้าของสิ่งทั้งปวงที่สร้างขึ้น เป็นของสาธารณชนทั่วไป จึงต้องเป็นเฮียกง ฤามรรคนายก เอาเพียงเท่านั้น อย่าให้เดินไปถึงเป็นการหลวงเช่นกับเบิกใบศรีเงินทองไปตั้ง ฤาเครื่องนมัสการไปตั้งที่ที่ทำบุญ อย่าเกี่ยวกับกระทรวงวังเลย เช่นนั้นได้จึงจะดี

สยามินทร์

 

บรรณานุกรม

(๑) จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สยามพณิชยการ, ๒๔๗๙.

(๒) สำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม). พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช ๑๐ เมษายน ๒๔๘๒.

(๓) สำเนาพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแด่ พระยาสุริยานุวัตร์ (เกิด บุนนาค). พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาสุริยานุวัตร์ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๙.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 22 เมษายน พ.ศ.2560

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_8497

The post หลักฐานใหม่แย้งข้อมูลเก่า “เบื้องหลัง เบื้องลึก” ของสาเหตุการสร้าง พระบรมรูปทรงม้า ร.๕ appeared first on Thailand News.