การจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย ดูวิทยาการและคติเรื่องน้ำของคนในอดีต
ภาพวาดของชาวตะวันตกแสดงภาพกรุงศรีอยุธยาประมาณรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง ในฤดูน้ำหลากที่น้ำท่วมพื้นที่โดบรอบ เหลือแต่เพียงเกาะเมือง
“พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน… เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนาม ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ประเทสไทยมีฝนตกหนัก ถึงหนักมาทั่วประเทศ พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มมากขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาค… และฝนที่ตกสะสมอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณอันดามัน ทะเลมีคลื่นลมแรงความคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง…”
ข้อความลักษณะข้างต้นนั้น เรามักได้ยินกรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเตือนอยู่เสมอๆ ในช่วงฤดูฝน
ฤดูฝนที่มาพร้อมกับ น้ำท่วม, ลมแรง, คลื่นสูง ฯลฯ ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินได้ ดังที่มีข่าวเกี่ยวกับภัยพิบัติเหล่านี้ให้เห็นอยู่เป็นประจำในช่วงดังกล่าว
แล้วในอดีตที่ผ่านมา ผู้คนในยุคนั้นจัดการเรื่องนี้อย่างไร
สิทธารถ ศรีโคตร นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร บทความชื่อ “น้ำท่วม ทำเลที่ตั้ง และการจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย” (ศิลปวัฒนธรรม, มกราคม 2555) ว่า
เริ่มจาก “กรุงศรีอยุธยา” เมืองหลวงในพื้นที่ลุ่มน้ำ ดังที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา)ทรงพระราชนิพนธ์“เพลงยาวนิราศเสด็จไปตีเมืองพม่า” ตอนหนึ่งว่า “…บริเวณอื้ออลด้วยชลธี ประดุจเกาะอสุรีลงกา…”
ที่กล่าวว่า “บริเวณอื้ออลด้วยชลธี” ด้วยในเกาะเมืองอยุธยาในยามฤดูน้ำหลากนั้น ภายนอกเกาะน้ำจะเอ่อท่วมเป็นบริเวณกว้างคล้ายกับทะเล แต่ภายในเกาะเมืองน้ำจะไม่ท่วม ประดุจเป็นเกาะกลางทะเล ดังเช่นที่เปรียบเปรยไว้ว่า “ประดุจเกาะอสุรีลงกา”
ที่เป็นเช่นนี้เนื่องด้วย ตัวเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยา ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ศัพท์ทางภูมิศาสตร์ เรียกว่า “สันดินธรรมชาติริมลำน้ำ” (Natural Levee) เป็นที่ดอนที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งเป็นเวลานานนับร้อยๆปี ซึ่งตั้งอยู่สูงและน้ำจะไม่ท่วม
นอกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว เมืองโบราณหลายๆเมืองในสมัยก่อน ก็นิยมสร้างอยู่ในพื้นที่สันดินธรรมชาติริมลำน้ำนี้ เช่น เมืองพิมาย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองกำแพงเพชร เมืองพิษณุโลกสองแคว เมืองพิชัย เมืองฝาง เมืองหริภุญชัย เมืองนครลำปาง เวียงกุมกาม เวียงเชียงแสน ฯลฯ เป็นต้น
ศูนย์กลางของกรุงศรีอยุธยา คือ ส่วนที่เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ประมาณ 5,500 ไร่ โดยมีลำน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก กรุงศรีอยุธยาได้ถูกออกแบบให้เป็นเมืองน้ำ ผังเมืองที่สวยงามและสมบูรณ์แบบของกรุงศรีอยุธยา เพราะแม่น้ำหลัก 3 สาย จะพัดพาเอาตะกอนดินนำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ผืนดินรอบๆ
แต่ทว่าในฤดูน้ำหลากนั้น ปริมาณน้ำจะมีมากเกินความจำเป็น ดังนั้นการสร้างและวางผังเมืองของกรุงศรีอยุธยา จึงได้รักษาโครงสร้างแนวแม่น้ำลำคลองของเดิมตามธรรมชาติเอาไว้ จากนั้นจึงขุดคูคลองเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวเหนือใต้ให้เป็นแนวตรงเชื่อมต่อกับแม่น้ำลำคลองที่มีอยู่เดิมตามธรรมชาติ จนทำให้เกิดเป็นเครือข่ายคลองโยงใยกันทั้งในและนอกกำแพงเมือง ทำให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง กระแสน้ำเหนือที่ไหลหลากลงมา จะไม่ไหลเข้าท่วม-ปะทะทำลายเมืองโดยตรง แต่กลับระบาย ออกไปจากตัวเมืองได้โดยเร็ว
กรุงศรีอยุธยามีประตูเมืองทั้งสิ้นรวม 99 ประตู โดยที่เป็นประตูน้ำที่เป็นจุดเชื่อมต่อของคลองภายในกำแพงเมืองกับแม่น้ำหลักทั้ง 3 สายทั้งสิ้น 20 ประตู ในตัวเมืองนั้นคูคลองสายหลักมากกว่า 10 สายถูกขุดขึ้นใหม่ทั้งในแนวเหนือ–ใต้ และตะวันออก–ตะวันตก แบ่งซอยพื้นที่ภายในตัวเกาะเมืองออกเป็นแปลงสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่น้อยจำนวนมาก แต่ละแปลงใช้เป็นเขตวัด เขตวัง และที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระเบียบสัดส่วน ขนานไปกับแนวคูคลองก็คือ ถนน ซึ่งสร้างเป็นถนนดินและถนนอิฐ โดยมีสะพานจำนวนมากสร้างข้ามคลองเหล่านี้ มีทั้งสะพานไม้ สะพานก่ออิฐ รวมทั้งสิ้นกว่า 30 สะพาน
ส่วนพื้นที่นอกเกาะด้านนอกกำแพงเมือง เป็นที่ราบน้ำท่วมถึง (Floodplain) ซึ่งลุ่มต่ำและปีหนึ่งๆจะมีน้ำท่วมขังสูงเป็นเวลานานถึงกว่า 4-5 เดือน หลังฤดูน้ำหลากใช้เป็นพื้นที่สำหรับเกษตรกรรมมีโดยมีลำคลองธรรมชาติ และคลองขุดชักน้ำเข้าไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตรกรรมอย่างทั่วถึงสองฝั่งน้ำ บริเวณริมลำน้ำทั้งสายหลักสายรองจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวอยุธยา ซึ่งจะปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มๆ สลับไปกับแนวกลุ่มบ้านเรือน ก็จะมีวัดวาอารามคั่นอยู่เป็นพักๆ ส่วนพื้นที่เบื้องหลังของพื้นที่อยู่อาศัย ก็คือ ทุ่งกว้างสำหรับทำการเกษตรกรรมและใช้เป็นท้องทุ่งรับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก
อนึ่ง ในกรณีของเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยานั้น นอกจากพื้นที่ตั้งจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็น “สันดินธรรมชาติริมลำน้ำ” ซึ่งเป็นที่ดอนริมลำน้ำตามธรรมชาติแล้ว ชาวอยุธยายังได้ขุดคันดินสูงกว่า 2-3 เมตร เสริมเป็นพนังกันน้ำก่อนที่จะปักเสาไม้ระเนียดด้านบนคันดินเพื่อใช้ประโยชน์เป็นกำแพงเมืองอีกประการหนึ่ง และต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทรงสร้างกำแพงเมืองอย่างใหม่ด้วยการก่ออิฐถือปูนทับลงบนคันดิน เพื่อให้กำแพงแข็งแรงพอที่จะทนทานต่อแรงกระแทกจากกระสุนปืนใหญ่อันเป็นเทคโนโลยีสงครามรูปแบบใหม่ได้
ด้วยเหตุนี้ในจดหมายเหตุของโยส เชาเตน ผู้อำนวยการสถานีการค้าชาวฮอลันดา ที่เข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงระบุว่ากำแพงเมืองอยุธยาก่อด้วยอิฐหนา ซึ่งตามหลักฐานทางฝ่ายไทยระบุว่า กำแพงกรุงศรีอยุธยานั้นมีความหนา 6 ศอก หรือราว 3 เมตรมีความสูงกว่า 3 วา หรือราว 6 เมตร ความสูงราว 6 เมตรของกำแพงเมืองนั้น สันนิษฐานว่าน่าจะรวมความสูงคันดินรอบเกาะเมืองที่สร้างมาแต่เดิมไปด้วยอีกราว 2-3 เมตร รวมกับความสูงของกำแพงก่ออิฐที่สูงอีกราว 4 เมตรนั่นเอง
แต่ทว่าในปีใดหากมีน้ำเหนือไหลหลากลงมามากเกินไป จะมีการประกอบพระราชพิธีที่เรียกว่า “พิธีไล่น้ำ” บางครั้งก็เรียกว่า “พิธีไล่เรือ เถลิงพิธีตรียัมพวาย” พิธีนี้ จะจัดขึ้นในเดือนอ้าย (ตกประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) อันเป็นฤดูน้ำหลาก พระมหากษัตริย์ต้องลงประทับเรือพระที่นั่ง พร้อมด้วยเจ้านายราชสำนัก และขุนนางผู้ใหญ่ ล่องตามลำแม่น้ำลงไปทางทิศใต้ เมื่อล่องเรือไปถึงสถานที่ที่กำหนดก็ทำพิธี
ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” บันทึกถึงเหตุการณ์ที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเรือพระที่นั่งในเวลาน้ำขึ้น “รับสั่งให้น้ำลด แล้วทรงพระแสงฟันลงไป น้ำก็ลดตามพระราชประสงค์” ด้วยเช่นกัน ที่ต้องมีพิธีเช่นนี้ก็เพื่อไล่น้ำที่ท่วมท้องทุ่งให้ราษฏรได้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในนาที่กำลังสุกพอดีเกี่ยว ซึ่งพิธีนี้จะทำกันเฉพาะในปีที่เกิดน้ำหลากลงมาก นับว่าเป็นพิธีที่สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎรในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก
แม้กรุงศรีอยุธยาจะตั้งอยู่บนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำทำให้น้ำไม่ท่วมในบริเวณเกาะเมือง แต่ไม่ใช่สำหรับทุกเมือง
เพราะต้องพิจารณาถึงสภาพของสันดินธรรมชาติริมลำน้ำ ว่ามีความคงตัวและสูงพอที่จะตั้งเมืองได้หรือไม่ เมืองโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุดที่ตั้งบนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำที่ไม่คงตัวและไม่สูงพอจนเกิดปัญหา น้ำท่วมซ้ำซากจนต้องละทิ้งเมืองไป ก็คือ “เวียงกุมกาม”
เวียงกุมกามเป็นเมืองโบราณที่พญามังราย ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1837 โดยโปรดสร้างเมืองในผังรูปสี่เหลี่ยมคางหมูมีความยาวประมาณ 850 เมตร ไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และกว้างประมาณ 600 เมตร ตัวเมืองยาวไปตามลำน้ำปิงสายเดิมที่เคยไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของเมือง และให้ขุดคูเวียงทั้ง 4 ด้านโดยให้ระบายน้ำจากแม่น้ำปิงให้เข้าขังในคูเมืองคล้ายคลึงกับแบบแผนของนครหริภุญชัย (ลำพูน)
ในสมัยโบราณตัวเวียงกุมกามจะตั้งอยู่บนฝั่งทิศตะวันตกหรือฝั่งเดียวกับเมืองเชียงใหม่ แต่เนื่องจากกระแสของแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทาง จึงทำให้เวียงกุมกามเปลี่ยนมาตั้งอยู่ทางฝั่งด้านตะวันออกของแม่น้ำดังเช่นปัจจุบัน เวียงกุมกามถือเป็นราชธานีของพญามังรายในระยะก่อนที่จะมีการสร้างเมืองเชียงใหม่ เวียงกุมกาม ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีระยะห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพียงประมาณ 5 กิโลเมตร
เวียงกุมกามที่ทรงสร้างขึ้นนั้น ตั้งอยู่บนสันดินริมธรรมชาติริมลำน้ำที่ยังไม่คงตัวและไม่สูงพอ จึงเกิดน้ำท่วมเมืองอยู่เสมอ ดังความในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 ที่กล่าวถึงสภาวะอุทกภัยที่เวียงกุมกามไว้ว่า “…ถึงยามกลางวรรษา (ฤดูฝน) น้ำท่วมฉิบหายมากนัก…”
ซึ่งหลังจากนั้น เราได้ทราบความจากจารึกวัดเชียงมั่น ในเมืองเชียงใหม่ และตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ว่า เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ พญามังรายจึงทรงต้องไปปรึกษาพระสหาย นั่นก็คือ พญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัย และ พญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา หลังจากทรงปรึกษากันกับพระสหายแล้ว จึงทรงตัดสินพระทัยละทิ้งเวียงกุมกาม ไปหาพื้นที่สร้างนครหลวงแห่งใหม่
ในที่สุดจึงได้พื้นที่ที่บริเวณเชิงเขาอุจฉุบรรพต (ดอยสุเทพ) เป็นที่ตั้งของนครหลวงแห่งใหม่นามว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ใน พ.ศ. 1839 และเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนายาวนานสืบต่อมา จวบจนราชอาณาจักรล้านนาถูกรวมเข้ากับสยามในสมัยรัตนโกสินทร์
อนึ่ง มีเรื่องราวปรากฏในพงศาวดารโยนกว่า พญามังรายแห่งหิรัญนครเงินยาง (เชียงราย), พญาร่วงแห่งเมืองสุโขทัย (ซึ่งน่าจะเป็น บุคคลที่ทางฝ่ายสุโขทัยเรียกว่า “พญารามราช” หรือ “พ่อขุนรามคำแหง”) และพญางำเมืองแห่งเมืองพะเยา เป็นสหายกันมาตั้งแต่ครั้งเดินทางจากหัวเมืองเหนือ มาศึกษาวิชาสำหรับกษัตริย์ ที่สำนักสุกทันตมหาฤๅษี ที่เขาสมอคอน แถบเมืองละโว้ (อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) อันเป็นเมืองศูนย์กลางของลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเมืองเชียงใหม่ เมืองสุโขทัย เมืองพะเยาเก่า (ปัจจุบันจมน้ำอยู่ใต้กว๊านพะเยา) นั้นมีแผนผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม คล้ายเมืองพระนครของเขมร ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะ ผู้อำนวยการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือ พญามังราย และผู้ให้คำปรึกษาในการสร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก็คือ พญาร่วงและพญางำเมืองนั้น ต่างล้วนแล้วแต่สำเร็จการศึกษาวิชาการสร้างเมืองมาจากเมืองละโว้ของเขมร ฉะนั้น เมืองของพระมหากษัตริย์ทั้งสามพระองค์ จึงสร้างตามแบบแผนการวางผังเมืองและการจัดการระบบชลประทานของเขมร นอกจากนั้น ทำเลในการสร้างเมืองทั้งสามยังตั้งอยู่บน “ลานตะพักลำน้ำ” (Terrace Deposits) บนที่ลาดเชิงเขา แบบเดียวกับเมืองพระนครอีกด้วย
จากหลักฐานที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีที่เวียงกุมกาม พบว่าเมืองนี้พบร่องรอยการอยู่อาศัยของผู้คนมาเป็นเวลานานก่อนการสถาปนาเมืองเชียงใหม่ และถึงแม้ว่าจะมีการสถาปนานพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่เป็นนครหลวงแล้ว เวียงกุมกามก็ยังคงมีผู้คน (อดทน) อาศัยอยู่ต่อมาอีกเป็นเวลานาน และเวียงกุมกามน่าจะยังคงสถานะความเป็นเมืองสำคัญอยู่
เพราะพบหลักฐานในเอกสาร “ชินกาลมาลีปกรณ์” ว่า ในปี พ.ศ. 2060 พระเจ้าติลกปนัดดาธิราช พระเจ้าเชียงใหม่ ก็ได้ทรงเสด็จมาสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดในเวียงกุมกาม และในปี พ.ศ. 2067 ก็ได้ทรงโปรดสร้างพระวิหารหลวงที่วัดกู่คำหลวงนี้เพิ่มเติมอีกด้วย นอกจากนั้นจากการกำหนดอายุโบราณสถานขนาดใหญ่หลายๆแห่งในเวียงกุมกามแห่งนี้ พบว่าล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นในช่วงเวลาหลังการสร้างเมืองไปแล้วแทบทั้งสิ้น โดยสันนิษฐานว่ายังคงมีการสร้าง ต่อเติม บูรณะสิ่งก่อสร้างในเวียงกุมกามต่อมาอีกไม่ต่ำกว่า 200 ปี ภายหลังจากที่เวียงกุมกามได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว
ภาพการขุดค้นทางโบราณคดีที่ซุ้มประตู-กำแพงแก้ว ณ วัดกู่ป้าด้อม ในเวียงกุมกาม ซึ่งแสดงให้เห็นชั้นทับถมที่เกิดจากน้ำท่วมที่ค่อนข้างสูงหากเทียบจากระดับพื้นใช้งานในปัจจุบัน
ซึ่งจากหลักฐานการวิเคราะห์ลำดับชั้นทับถมทางโบราณคดีภายในเวียงกุมกาม พบว่ามีชั้นดินทับถมที่เกิดจากน้ำท่วมหลายชั้น คาดว่าเวียงกุมกามคงจะล่มสลายลงเพราะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2101- 2317 ซึ่งตรงกับสมัยพม่าปกครองล้านนา ผลของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ครั้งนั้น ทำให้เวียงกุมกามถูกฝังจมลงอยู่ใต้ตะกอนดินหนาจนยากที่จะฟื้นฟูกลับมา จนกลายเป็นเมืองร้างไปในที่สุด สภาพวัดต่างๆ และโบราณสถานที่สำคัญเหลือเพียงซากวิหารและเจดีย์ร้างที่จมอยู่ดินในระดับความลึกจากพื้นดินลงไปประมาณ 1.80 – 2.00 เมตร
จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การสร้างเมืองเชียงใหม่นั้น ได้ถอยห่างจากสันดินธรรมชาติริมลำน้ำปิง ขึ้นไปอยู่บนลานตะพักลำน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมเมืองดังที่เคยเกิดขึ้นที่เวียงกุมกามนั้น ได้แสดงให้เห็นว่า นอกจากสันดินธรรมชาติริมลำน้ำแล้ว ก็ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ผู้คนในสมัยโบราณนิยมไปตั้งเมืองก็คือ บริเวณ “ลานตะพักลำน้ำ” (Terrace Deposits) ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ดอนสูง ถัดออกไปไกลจากลำน้ำ และที่ราบน้ำท่วมถึง (Floodplain Deposit) เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ ก็เช่น เมืองพระนครในกัมพูชา เมืองสุโขทัย เมืองเชียงใหม่ เมืองบางพาน เมืองทุ่งยั้ง เมืองเชียงใหม่ เมืองเสมา เมืองศรีเทพ และเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดีเกือบทั้งหมด
ที่ตั้งของเมืองโบราณนั้นแน่นอนว่าต้องตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของชาวเมือง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า แหล่งน้ำนั้นจะเป็น “แหล่งน้ำนิ่ง” เช่น หนอง บึง ทะเลสาบ หรือกระทั่งสระน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น หรือ “แหล่งน้ำไหล” ประเภท ลำน้ำ หรือ แม่น้ำ แต่ละวัฒนธรรมนั้นก็จะมีความนิยมต่างๆกันไป เช่น วัฒนธรรมเขมรนั้นไม่นิยมตั้งเมืองใกล้เคียงกับลำน้ำสายใหญ่ แต่จะนิยมขุดสระหรือ สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (บาราย) ขึ้นเพื่อใช้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค แทนการพึ่งพิงน้ำจากลำน้ำ
ในขณะที่ผู้คนในวัฒนธรรมทวารวดีนั้น จะตั้งเมืองอยู่ใกล้เคียงลำน้ำสายใหญ่ แต่ก็ไม่นิยมตั้งอยู่ริมลำน้ำสายใหญ่ แต่จะตั้งเมืองลึกเข้าห่างจากลำน้ำพอประมาณ ตรงบริเวณที่ดอนและมีลำน้ำสาขาที่จะใหญ่ลงแม่น้ำใหญ่ไหลผ่าน แล้วชักเอาน้ำที่ไหลจากลำน้ำสาขานั้นเข้ามาไหลวนในคูเมืองและภายในเมือง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคโดยไม่ต้องสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหมือนวัฒนธรรมธรรมเขมร หรือหากจะมีการขุดก็เป็นเพียงสระขนาดเล็กเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคภายในตัวเมือง เป็นต้น
ซึ่งในสมัยโบราณ การที่จะเลือกพื้นที่ตั้งเมืองอยู่ ณ บริเวณใดนั้น จะต้องมีการเลือกเฟ้นหาทำเทที่ดี มีสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ที่เหมาะสม โดยจะต้องพิจารณาถึงสภาพความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การเป็นชัยภูมิที่ดีในทางทหาร และที่สำคัญก็คือ ให้เมืองนั้นมีความปลอดภัยจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และไม่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูเเล้ง ซึ่งการดำเนินการเลือกหาพื้นที่ตั้งเมืองเพื่อให้ต้องตามคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นนั้น จะต้องกระทำกันอย่างละเอียดรอบคอบ และเฟ้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมจริงๆ เพราะการสร้างเมืองนั้น ไม่ทำกันบ่อยนัก และเมื่อสร้างเมืองเเล้วโดยมากก็จะไม่นิยมย้ายไปไหน ยกเว้นหากกรณีเมืองเกิดภัยสงครามหรือภัยธรรมชาติครั้งรุนแรงจนเมืองพังทลายเสียหายมาก ก็อาจจะมีการย้ายเมืองใหม่ได้
ในสมัยโบราณ โดยหลักการแล้วที่ดินทั้งมวลนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ ที่ดินว่างเปล่าใดๆในขอบเขตพระราชอาณาจักรก็สามารถไปสร้างเมืองได้หมดทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อจะสร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณ พื้นที่ใดนั้น ผู้มีอำนาจตั้งเมืองจะต้องพิจารณาดูสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆโดยละเอียด โดยที่พื้นที่ในการตั้งเมืองที่เหมาะสมนั้นหลักๆแล้วมีอยู่ 2 แบบแผน
กล่าวคือ การตั้งเมืองเมืองบนพื้นที่ดอนสูงริมลำน้ำ หรือ “สันดินธรรมชาติริมลำน้ำ” หรือไม่ก็ถอยไปตั้งเมืองบน “ลานตะพักลำน้ำ” อันเป็นที่ดอนที่อยู่ถัดจากที่ราบน้ำท่วมถึง ทั้งนี้จะตั้งเมืองที่ใดก็จะเป็นดุลพินิจ และประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ของผู้ที่มีอำนาจตั้งเมืองในสมัยโบราณ
ซึ่งถ้าพื้นที่สันดินธรรมชาตริมลำน้ำ มีความคงตัวและสูงมากพอก็สามารถตั้งเมืองได้โดยน้ำไม่ท่วมเช่น เมืองพิษณุโลก, เมืองพิชัย, เมืองกำแพงเพชร, เมืองฝาง เป็นต้น เมืองที่กล่าวมานี้จะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำที่สูงมาก (หากมิใช่ฤดูน้ำหลากต้องเดินลงบันไดไปตามตลิ่งไกลมากกว่าจะถึงระดับน้ำ) เมืองจึงยังตั้งอยู่ได้โดยน้ำไม่ท่วม จุดเด่นของเมืองที่ตั้ง ณ บริเวณนี้ คือ สามารถควบคุมเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ติดต่อทำการค้าขายทางน้ำได้สะดวกกว่า เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ ทั้งยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง เพราะได้น้ำจากแม่น้ำมาหล่อเลี้ยงเมือง
แต่บางครั้งสันดินธรรมชาติริมลำน้ำในบางบริเวณของลำน้ำบางสาย ก็ยังไม่คงตัวและไม่สูงพอที่จะตั้งเมืองได้โดยน้ำไม่ท่วม จึงมีความจำเป็นต้องขยับพื้นที่ตั้งเมืองขึ้นไปสู่ลานตะพักลำน้ำ ซึ่งเป็นที่ดอนที่ไกลลำน้ำออกไป โดยที่การตั้งเมืองในพื้นที่ลานตะพักลำน้ำดังกล่าว แม้จะความปลอดภัยจากการถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่ใน ก็ต้องมีการหาวิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ด้วยวิธีต่างๆ ตามแต่ภูมิประเทศจะอำนวย เพราะในฤดูเเล้ง ชาวเมืองจะเกิดภาวะขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำใช้ในการเกษตรกรรม
ดังนั้น เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำ บนที่ราบห่างไกลจากภูเขา จะนิยมขุดสระกักเก็บน้ำไว้ใช้ในตัวเมือง หรือชักน้ำจากลำธารสายรองที่จะไหลไปรวมกับลำน้ำสายใหญ่ให้ไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงเมือง เช่น กรณีเมืองนครปฐม หรือเมืองคูบัว เป็นต้น
นอกจากนั้น อีกวิธีหนึ่งก็คือ หากเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำนั้น ตั้งอยู่ใกล้กับภูเขา นิยมสำรองน้ำไว้ใช้ในเมืองด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือทำนบเพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากลำธารบนภูเขาไว้ ก่อนที่จะทดน้ำ ผ่านลำคลองเข้าไปหล่อเลี้ยงเมือง เช่น การสร้างทำนบพระร่วงหรือ “สรีดภงค์” ทดน้ำผ่านคลองเสาหอลงไปหล่อเลี้ยงเมืองสุโขทัย หรือการสร้างทำนบโบราณกั้นห้วยแก้วที่เวียงเจ็ดลิน นอกเมืองเชียงใหม่ เพื่อทดน้ำเข้าไปในตัวเมือง เป็นต้น
ทั้งนี้ก็เพื่อลดการพึงพาน้ำจากลำน้ำสายหลักนั่นเอง โดยที่ทำนบดังกล่าวจะสร้างไว้ในระหว่างซอกเขาที่อยู่ใกล้เคียงกับตัวเมือง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ ก่อนที่จะระบายผ่านลำคลองเข้าสู่ตัวเมือง ซึ่งทั้งเมืองสุโขทัยและเชียงใหม่จะชักน้ำจากจากทำนบให้ไหลลงคูเมือง เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำส่วนเกินก็จะใหลล้นออกนอกเมืองและถูกระบายลงลำน้ำสายใหญ่โดยที่ไม่ท่วมขังในเมือง กล่าวคือ เมืองสุโขทัยนั้นจะทดน้ำจากสรีดภงค์ลงคลองเสาหอ ระบายเข้าสู่คูเมือง จากนั้นระบายน้ำจากคูเมืองผ่านท่อน้ำดินเผาเข้าสู่ “ตระพัง” หรือ สระน้ำขนาดใหญ่กลางเมือง โดยให้ล้นจากตระพังหนึ่งไปยังตระพังหนึ่งเรื่อยๆ และระบายน้ำส่วนเกินผ่านท่อดินเผาลงสู่คลองแม่รำพัน และไหลลงแม่น้ำยมต่อไป
ท่อน้ำดินเผา (ท่อสังคโลก) ที่ใช้ในการทดน้ำจากคูเมืองเข้ามาสู่ “ตระพัง” กลางเมืองสุโขทัย ก่อนที่จะระบายออกสู่คลองแม่รำพัน ลงสู่แม่น้ำยมต่อไป
ส่วนในเมืองเชียงใหม่นั้น น้ำที่ไหลจากดอยสุเทพ ลงสู่ห้วยแก้ว จะถูกกักเก็บไว้ที่ทำนบเวียงเจ็ดลิน (ปัจจุบัน คือ “อ่างแก้ว” อยู่ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ก่อนที่จะชักน้ำผ่านคู น้ำจากทำนบเวียงเจ็ดลิน จะถูกพักไว้ในคันดินอีกระดับหนึ่งเพื่อกรองตะกอน ก่อนจะไหลลงมายังเมืองเชียงใหม่ตรงมุมกำแพงเมืองที่แจ่งหัวริน ระบายเข้าไหลวนรอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งน้ำส่วนเกินจะไหลล้นระบายออก ณ คูเมืองทางทิศเหนือ ไปลงลำน้ำแม่ข่า ก่อนระบายออกไปสู่แม่น้ำปิงต่อไป (ผังเมืองและระบบชลประทานของเมืองเชียงใหม่ที่คล้ายคลึงกันกับเมืองสุโขทัยเป็นอย่างมากเช่นนี้ น่าจะสามารถเป็นเครื่องยืนยันความถูกต้องของจารึกวัดเชียงมั่น เมืองเชียงใหม่ ที่ระบุว่าพญาร่วงเมืองสุโขทัย ได้เข้ามาช่วยในการสร้างเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี) ซึ่งนับเป็นความพยายามในการจัดการน้ำโดยไม่ฝืนกับธรรมชาติ เพื่อสร้างหลักประกันว่าชาวเมืองจะมีน้ำการใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง
นอกจากนั้น ในกรณีเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการรักษาปริมาณน้ำในห้วยแก้วให้มีมากอยู่เสมอเพื่อให้เพียงพอในการอุปโภคบริโภคของชาวเมืองเชียงใหม่ ถึงขนาดมีการตั้งกฎขึ้นโดยห้ามตัดต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่บนดอยสุเทพ ทั้งนี้เพื่อมุ่งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าอันเป็น แหล่งต้นน้ำที่จะไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงในตัวเมือง และยังมีความเชื่อกันอีกว่า หากตอนดึกสงัด เมื่ออยู่ในกำแพงเมืองเชียงใหม่แล้ว ไม่ได้ยินเสียงน้ำตกที่เชิงดอยสุเทพ ถือว่าบ้านเมืองจะวินาศล่มจม ซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพประการหนึ่ง
ถึงแม้เมืองที่ตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำนั้น แม้จะปลอดภัยจากน้ำที่เอ่อท่วมจากลำน้ำสายใหญ่ในฤดูน้ำหลาก แต่ทว่าหากเมืองนั้นตั้งอยู่บนลานตะพักลำน้ำใกล้ที่ลาดเชิงเขา เมืองนั้นอาจจะต้องประสบกับปัญหาน้ำป่าไหลหลากจากภูเขาที่อยู่ใกล้เคียงกับตัวเมืองไหลบ่าเข้าทำลายตัวเมืองได้ ซึ่งนี่นับเป็นปัญหาที่ใหญ่ไม่แพ้กันกับการเกิดน้ำหลากจากลำน้ำสายใหญ่เข้าท่วมเมืองเลยทีเดียว
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ผู้คนในสมัยโบราณก็ได้คิดค้นนวัตกรรมในการชะลอและเบี่ยงเบนเส้นทางการไหลบ่าของน้ำป่าที่ไหลหลากลงมาจากภูเขาที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองให้ไหลพ้นออกจากตัวเมือง หรือให้พ้นจากบริเวณที่ต้องการจะป้องกัน โดยการสร้างแนวคันดินเป็นทางยาวเพื่อบังคับน้ำที่ไหลบ่าจากภูเขาลงมาให้ไหล่เบี่ยงไปในทิศทางอื่นเพื่อให้พ้นจากแนวสิ่งปลูกสร้างและชุมชน ซึ่งในเมืองสุโขทัยนั้นปรากฏการสร้างคันดินบังคับน้ำดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาหลวงไหลเข้าท่วมเมืองนั่นเอง
และนอกจากที่เมืองสุโขทัยแล้ว ที่เมืองเชลียงเก่า ด้านนอกเมืองศรีสัชชนาลัย ก็ยังพบร่องรอยการสร้างคันดินบังคับน้ำในลักษณะคล้ายคลึงกันเพื่อป้องกันตัวเมืองจากน้ำป่าเช่นเดียวกัน เมืองเชลียงเก่านี้เป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนสันดินธรรมชาติริมลำน้ำยมที่คอดโค้ง โดยเชื่อมต่อกับที่ลาดเชิงเขาพระศรี อันเป็นบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้พื้นที่ในบริเวณนี้มีความเหมาะสมต่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เป็นอย่างมาก
ซึ่งได้ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่ได้จากหลุมขุดค้นทางโบราณคดี ณ วัดชมชื่น ในเขตเมืองเชลียงเก่า ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมในพื้นที่นี้มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย จนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ณ วัดชมชื่นแห่งนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่น่าสนใจบางประการ นั่นก็คือ ได้ปรากฏร่องรอยของชั้นดินที่เกิดจากการทับของตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมที่มีความหนาและทับซ้อนกันในหลายชั้นวัฒนธรรม แสดงให้เห็นว่า พื้นที่เมืองเชลียงเก่าแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้ง
แต่ปรากฏว่าพอถึงชั้นทับถมทางวัฒนธรรมในสมัยลพบุรีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 นั้น ชั้นดินตะกอนน้ำท่วมก็ได้หายไปและแทบไม่ปรากฏอีกเลย ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการปรากฏขึ้นของคันดินบังคับน้ำที่เป็นแนวยาวขนานไปกับลำน้ำยม ซึ่งช่วยเบี่ยงทิศทางน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากเขาพระศรี ให้ไหลลงแม่น้ำยมไปโดยไม่เข้าท่วมชุมชน ซึ่งเทคโนโลยีการสร้างคันบังคับน้ำในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจจะเกี่ยวข้องกับการแพร่เข้ามาของวัฒนธรรมเขมรในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี ได้ยืนยันผลลัพธ์ที่เกิดจากการสร้างคันดินบังคับน้ำดังกล่าวได้เป็นอย่างดีว่า สามารถช่วยทุเลา-บรรเทาปัญหาน้ำป่าไหลหลากลงท่วมเมืองเชลียงเก่าได้เป็นอย่างดี
หัวใจสำคัญที่ช่วยให้คนโบราณสามารถจัดการระบบชลประทานเพื่อบรรเทาความแห้งแล้ง หรือป้องกันการเกิดอุทกภัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นก็คือ ความเข้าใจในสภาพของพื้นที่ตั้งเมืองหรือชุมชนเป็นอย่างดี และวางมาตรการเพื่อรับมือกับธรรมชาติ โดยไม่เป็นการหักล้างต่อสู้กับพลังธรรมชาติ ไม่มองว่าธรรมชาติเป็นศัตรู หากแต่เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเข้าใจ ซึ่งทำให้ผู้คนในอดีตสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าจะประสบกับพิบัติภัยอันรุนแรงจากธรรมชาติมากเพียงใดก็ตาม
บรรณานุกรม
หนังสือ
จุฬลักษณ์ ดำริห์กุล. ศรีสัชชนาลัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม .กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2537.
“จดหมายเหตุโหร” : ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษกเล่ม 1. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542.
คำให้การชาวกรุงเก่า. นายพันตรี หลวงโยธาธรรมนิเทศ, ผู้ชำระและเรียบเรียง .นนทบุรี : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาราช, 2546.
นิคม มุสิกะคามะ, อเนก สีหามาตย์,บรรณาธิการ. ระบบชลประธานเมืองสุโขทัย . กรุงเทพฯ : หน่วยศิลปากรที่ 3
สุโขทัย กรมศิลปากร,2536.
ธวัช บุรีรักษ์, ผศ. ดร. ภูมิศาสตร์กายภาพ. กรุงเทพฯ : อักษรวัฒนา, 2520.
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธ์. อธิบายภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา 417 ปี แลหลังครั้งบ้านเมืองยังดี. กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น,
2544.
พระรัตนปัญญาเถระ. ชินกาลมาลีปกรณ์ . กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, 2540.
พิทยา ดำเด่นงาม,ว่าที่ร้อยตรี. “เขื่อนพญามังรายที่เวียงเชียงใหม่” วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2
เมษายน – มิถุนายน 2549.
พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. สุโขทัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2538.
เมนเดส ปินโต, เฟอร์เนา. รวมผลงานแปลเรื่องบันทึกการเดินทางของเมนเดส ปินโต. กรุงเทพฯ : สำนัก
วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2548.
ศิลปากร, กรม. มรดกวัฒนธรรมไทย สมัยพระนครทวารวดีศรีอยุธยา (พ.ศ. 1890-2310). กรุงเทพฯ : เอกสารประกอบการจัดทำหุ่นจำลองเมืองพระนครศรีอยุธยาตามแผนงานและโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา, 2542.
สรัสวดี อ๋องสกุล. ประวัติศาสตร์ล้านนา. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2551.
สหวัฒน์ แน่นหนา, บรรณาธิการ. โบราณคดีสามทศวรรษที่เวียงกุมกาม . กรุงเทพฯ : สำนักศิลปากรที่ 8
เชียงใหม่ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร, 2548.
สเคาเต็น, โยสต์. “จดหมายเหตุของโยสต์ สเคาเต็น” : ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพฯ :
กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2542), น. 258.
อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, เดวิด เค. วัยอาจ. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่. เชียงใหม่ : ซิลค์เวอร์มบุคส์, 2547.
ข้อมูลจากสื่อสารสนเทศน์
http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=printpage&artid=77
(วันที่สืบค้น 17 ตุลาคม 2554)
จารึกวัดเชียงมั่นด้านที่ 1 : ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) http://www.sac.or.th/databases/inscriptions (วันที่สืบค้น 17 ตุลาคม 2554)
ภาพถ่ายดาวเทียมจาก http://www.oknation.net/blog/print.php?id=131942 (วันที่สืบค้น 17 ตุลาคม 2554)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ: 11 กันยายน 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_38626
The post การจัดการน้ำในเมืองโบราณของไทย ดูวิทยาการและคติเรื่องน้ำของคนในอดีต appeared first on Thailand News.