ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ชาวสยามดื่มเบียร์ตั้งแต่เมื่อไหร่? จากเหล้าพื้นเมืองถึงบ.บุญรอด โดยพระยาภิรมย์ภักดี

ชาวสยามดื่มเบียร์ตั้งแต่เมื่อไหร่? จากเหล้าพื้นเมืองถึงบ.บุญรอด โดยพระยาภิรมย์ภักดี

ร้านขายเหล้าของคนจีน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหล้าโรง (ภาพจาก “สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ”)

ผู้เขียน
ดำ บ้านญวน
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2564

เครื่องดื่มประเภทของมึนเมานั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกวัฒนธรรมในโลก ในบางวัฒนธรรมมันทำหน้าที่ยารักษาโรค ในบางวัฒนธรรมก็ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่การทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ใช้ปลดปล่อยผู้คนออกจากโลกแห่งความจริงหรือใช้ในการสร้างความรื่นรมย์ในชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่มีร่วมกันในทุกวัฒนธรรม

เบียร์เป็นเครื่องดื่มมึนเมาประเภทหนึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน และว่ากันว่าเป็นเครื่องดื่มเมรัยที่เก่าแก่ที่สุดของโลก กำเนิดของเบียร์อาจเป็นสิ่งที่ได้มาเพราะโชคช่วยเพราะมันเกิดขึ้นจากการหมักตัวของธัญพืชและน้ำในยุคอารยธรรมเมโสโปเตเมีย จากนั้นเบียร์ก็ได้ถูกพัฒนากรรมวิธีในการทำมากขึ้นละซับซ้อนขึ้นเพื่อให้รสชาติที่ดีขึ้น ต่อมาในยุคอียิปต์นั้นเบียร์ยังถูกใช้ในพิธีกรรมและอยู่ในวัฒนธรรมการดื่มของกษัตริย์ฟาโรห์ นอกจากนี้เบียร์ยังเป็นยาที่สามารถรักษาอาการป่วยไข้ได้อีกด้วย (อุทิศ เหมะมูล: 2557)

สำหรับชาวสยามประเทศนั้น “เบียร์” ถือว่าเป็นเครื่องดื่มมึนเมาชนิดใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีการดื่มอย่างจริงจังมาไม่นานนี้เอง แต่กระนั้นเบียร์ก็ได้ปรากฏตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยมายาวนานพอสมควรแล้ว เอนก นาวิกมูล ค้นพบหลักฐานในจดหมายเหตุลาลูแบร์ บันทึกรายวันของบาทหลวง เดอ ซัวร์ซีย์ ซึ่งทั้งคู่เป็นชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในอยุธยาเมื่อสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จากหลักฐานของทั้งสองคนนั้นแสดงให้เห็นว่าเบียร์ในสมัยอยุธยาเป็นสิ่งที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและดื่มอยู่เฉพาะชาวต่างประเทศเท่านั้น เบียร์ในยุคดังกล่าวที่นำเข้ามาก็เป็นเบียร์จากฮอลันดาและในบันทึกรายวันของบาทหลวง เดอ ซัวร์ซีย์นี้ได้ระบุว่าเบียร์ที่ดื่มนั้นเป็น “เบียร์ญี่ปุ่น” เอนก นาวิกมูลได้ตั้งข้อสงสัยว่าคืออะไรกันแน่ เพราะในบันทึกของลาลูแบร์ กล่าวว่าเหล้าองุ่นของจีนญี่ปุ่นเป็นเพียงเบียร์ที่ผสมให้มีรสแรงเท่านั้น และอาจหมายถึงเหล้าหรือเบียร์ก็ได้ (เอนก นาวิกมูล, 2559: 189)

คนไทยนั้นนิยมดื่มเหล้าพื้นเมืองมากกว่าเครื่องดื่มเมรัยชนิดอื่นๆ ทั้งๆ ที่การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศนั้นจะนำมาซึ่งเมรัยหลากหลายชนิด เช่น ไวน์ วิสกี้ เหล้าพื้นเมืองที่คนไทยชอบดื่มนั้นโดยมากเป็นเหล้าต้มกลั่นโดยคนจีน มีคนจีนเป็นนายอากรสุรามากมาย แต่หากเป็นเหล้าต่างประเทศ นอกจากชาวตะวันตกที่นิยมดื่มแล้วก็มีเจ้านายหรือชั้นสูงเป็นผู้ดื่ม

ร้านขายเหล้าฝรั่งโดยเฉพาะ จะเห็นว่ามีเฉพาะเหล้าประเภทต่างๆ และบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าคู่กัน (ภาพจาก “สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ”)

 

ในช่วงรัชกาลที่ 4 เริ่มมีห้างร้านขายของและเสบียงอาหารจากตะวันตกมากขึ้นและเริ่มมีการสัญญาเรื่องสุรากับชาวตะวันตกอย่างเป็นกิจจะลักษณะ สันนิษฐานได้ว่าอาจจะมีเบียร์เข้ามาขายในสยามบ้างแล้วก็ได้ อย่างไรก็ตาม คำว่า “เบียร์” เริ่มปรากฏตัวต่อที่สาธารณะในหนังสือพิมพ์ The Siam Weekly Advertiser ฉบับวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2415) กล่าวว่า ห้างแรมเซขายเหล้าไวน์และ “เหล้าบีเออ” ซึ่งก็หมายถึง “เบียร์” นั่นเอง (เอนก นาวิกมูล, 2559: 190)

หลักฐานอีกแห่งหนึ่งเป็นโฆษณาของห้าง Keer & Co ถนนเจริญกรุง ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Siam Mercantie Gazette ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) หน้า 4 ลงเป็นภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่าจำหน่ายทั้งหมูแฮม ชีส เบคอน เนื้อ ปลา ผลไม้ “Wine, Beer and Sprit” นอกจากนี้ยังมีโฆษณาที่เกี่ยวกับเบียร์ตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์อีกหลายชิ้นในสมัยดังกล่าว (โปรดอ่านต่อใน เอนก นาวิกมูล: 2559)

หลักฐานต่างๆ เหล่านี้น่าจะช่วยแสดงให้เห็นได้ว่าชาวสยามเริ่มดื่มเบียร์มาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 มาแล้ว แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มอยู่ในหมู่คนรวยและชนชั้นสูงเพราะราคาของเบียร์นั้นแพงมาก ชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในสยามและมีฐานะดีนั้น “ยังขยาดไม่ค่อยกล้าซื้อ” (เอนก นาวิกมูล, 2559: 192) แต่เมื่อเริ่มมีการสร้างทางรถไฟเบียร์ก็มีราคาถูกลง

เบียร์ที่มีขายอยู่ในยุคนี้โดยมากจะเป็นเบียร์ที่นำเข้ามาจากตะวันตก หลังจากนั้นก็เริ่มมีเบียร์จากญี่ปุ่นเข้ามาขายด้วย เช่น ซัปโปโร อาซาฮิ เบียร์ตราอาทิตย์อุทัย และเบียร์กิริน (เอนก นาวิกมูล, 2559: 192)

เมื่อคนไทยเริ่มนิยมดื่มเบียร์มากขึ้น สถานที่ขายเบียร์ก็มีมากขึ้นตามลำดับทั้งห้างร้านต่างๆ ของคนไทยเช่น ห้างนายเลิศ ของพระยาภักดีนรเศรษฐ หรือในงานวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2458 ก็มีร้านที่นำสุราและเหล้าเบียร์มาขาย ต่อมา พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เกิดความคิดที่จะทำเบียร์ขึ้นในเมืองไทย จึงแสวงหาความรู้ในการทำเบียร์และขออนุญาตตั้งโรงต้มเบียร์ขึ้นบริเวณบางกระบือ  พระยาภิรมย์ภักดีได้ไปดูงานในโรงงานต่างประเทศและซื้อเครื่องจักรเข้ามาจนเปิดกิจการได้ในวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 เป็นบริษัทเบียร์ไทยแห่งแรก ฉลากรุ่นแรกๆ ที่ใช้เป็นตาว่าวปักเป้า ตราหมี และตราสิงห์

หลังจากพระยาภิรมย์ภักดีตั้งบริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ เพื่อผลิตเบียร์ เบียร์ต่างประเทศก็เริ่มเข้ามาตีตลาดในเมืองไทยมากขึ้น มีทั้งเบียร์ ซับโปโรจากญี่ปุ่น เบียร์ไทเกอร์จากมลายู ซึ่งมีราคาถูกและแอลกอฮอล์สูงกว่าเบียร์เดนมาร์กและเยอรมัน ในขณะที่ตลาดเบียร์ในประเทศไทยขยายตัวขึ้น ร้านขายเบียร์ประเภท “เบียร์ฮอล” ก็ผุดขึ้นตามลำดับ การดื่มเบียร์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยมาจนถึงปัจจุบันและกลายเป็นเครื่องดื่มที่ไม่จำแนกชนชั้นอีกต่อไป

 

อ้างอิง:

อุทิศ เหมะมูล. Writer’s taste ดื่มประวัติศาสตร์ จิบวิวัฒนาการ สำราญรสเบียร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุติ. 2557

เอนก นาวิกมูล. แรกมีในสยาม ภาค 2. 2 เล่ม. กรุงเทพฯ: แสงดาว. 2559

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มกราคม 2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_14492

The post ชาวสยามดื่มเบียร์ตั้งแต่เมื่อไหร่? จากเหล้าพื้นเมืองถึงบ.บุญรอด โดยพระยาภิรมย์ภักดี appeared first on Thailand News.