ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.)

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เวลา 14.00 น. นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย นายเจนเจตน์ เจนนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ นายประทีป นทีทวีวัฒน์ ปลัดจังหวัดสมุทรปราการ หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามและเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ผ่านระบบ Video Conference ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม และมี คณะองคมนตรี ประกอบด้วย นายพลากร สุวรรณรัฐ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ นายจรัลธาดา กรรณสูต พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ นายอำพน กิตติอำพน และพลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง ร่วมสังเกตการณ์ ให้คำแนะนำ และข้อห่วงใย ในการประชุม ที่ห้องประชุม 1 อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าวว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์ในปี 2559 ทรงมีพระราชดำริว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งวาตภัย อุทกภัย ฝนแล้ง และภัยหนาว จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะองคมนตรี ขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เข้าสังเกตการณ์ในที่ประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อฟังการพยากรณ์ การเตรียมการจัดทำแผนช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ โดยหากระหว่างการประชุมท่านองคมนตรีซึ่งมีประสบการณ์จากการปฏิบัติราชการ รวมถึงประสบการณ์จากการลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน นำถุงพระราชทานไปมอบให้กับพี่น้องประชาชน และได้รับฟังปัญหาข้อมูลจากประชาชนมา จะได้นำเรียนในที่ประชุมนี้ได้ทราบด้วย อันจะยังประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน และคณะองคมนตรี ได้มอบข้อห่วงใยและให้กำลังใจทุกหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ในช่วงฤดูฝน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยและดูแลความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการนำเสนอภาพรวมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ช่วงฤดูฝนปี 2565 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำและกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และจะเป็นการติดตามผลการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ
“รัฐบาลโดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้น้อมนำพระราชแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานไว้ในกรณีอุทกภัย เพื่อให้หน่วยงานราชการถือเป็นแนวปฏิบัติในการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ได้น้อมรับมาปฏิบัติ โดยกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเตรียมมาตรการและแนวทางต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 รับทราบและเห็นชอบมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมรับมือในช่วงฤดูฝนปี 65 พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนด และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเน้นย้ำเตรียมความพร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้พร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน พร้อมจัดทำแผนเผชิญเหตุ กำหนดมาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งในเรื่องของการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ การดำเนินการเมื่อเกิดสถานการณ์ และการสำรวจฟื้นฟูภายหลังสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อบรรเทาผลกระทบของพี่น้องประชาชนให้กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขโดยเร็ว ซึ่งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับพื้นที่ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมความพร้อม เฝ้าระวัง ตามแผนเผชิญเหตุ เตรียมการระบายน้ำ การแจ้งเตือน และเมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัย ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ
จากนั้น เป็นการสรุปภาพรวมการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ของหน่วยงานกลุ่มพยากรณ์ กลุ่มบริหารจัดการน้ำ และกลุ่มสนับสนุนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานปริมาณฝนสะสมทั่วประเทศ ปี 2565 มีปริมาณฝน 557.3 มิลลิเมตร สูงกว่าค่าปกติ 52% (ค่าปกติ 336.0 มิลลิเมตร) โดยประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค. 65 และคาดว่าจะสิ้นสุดในกลางเดือนต.ค. 65 ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังภาวะฝนทิ้งช่วงบริเวณพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากในช่วงปลายเดือนมิ.ย. 65 – ก.ค. 65 และเฝ้าระวังผลกระทบจากปริมาณฝนสะสมรวมทั้งอาจมีพายุหมุนเขตร้อนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค. 65 – ก.ย. 65
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะผู้อำนวยการกองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง ได้รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยตั้งแต่ 13 พ.ค. 65 – 2 มิ.ย. 65 ได้เกิดอุทกภัยพื้นที่ 31 จังหวัด 103 อำเภอ 313 ตำบล 1,654 หมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการจัดการพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย โดยนำข้อมูลพื้นที่มีประวัติการเกิดอุทกภัยตั้งแต่ปี 54 – 63 ตามโครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ (Tambon Smart Team) ของกรมการปกครอง มาวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงอุทกภัยที่สำคัญ ในพื้นที่ 33,176 หมู่บ้าน/ชุมชน แบ่งเป็น พื้นที่เสี่ยงสูงมาก 2,914 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงสูง 9,908 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 20,354 หมู่บ้าน โดยจำแนกตามลักษณะเกิดอุทกภัยเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง 16,237 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง 10,481 หมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่เสี่ยงน้ำไหลหลาก/น้ำท่วมฉับพลัน 13,879 หมู่บ้าน/ชุมชน และสำหรับในด้านการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน ได้สั่งการทุกจังหวัดปรับปรุงแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับพื้นที่ พร้อมจัดระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยในทันที และประสานกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยให้กับพี่น้องประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง โดยจัดทีมติดตามประเมินสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแจ้งเตือนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ประชาชนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบ
ในช่วงท้ายของการประชุมฯ เป็นการนำเสนอการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในระดับพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร จังหวัดสุโขทัย พระนครศรีอยุธยา สุราษฎร์ธานี และจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งทุกพื้นที่ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ครอบคลุมทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ ด้วยการเฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลอย่างใกล้ชิดเพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ การเตรียมความพร้อมทั้งบุคลากร ยานพาหนะ การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สถานที่รองรับน้ำ ระบบระบายน้ำ การสำรวจและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์ รวมทั้งปรับปรุงแผนเผชิญเหตุให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และจะดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อวางแผนการป้องกันและบริหารสถานการณ์ในปีต่อไป







เครดิตข่าวจากเว็บไซต์ สมุทรปราการ https://www2.samutprakan.go.th/