ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 และเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชระหว่างทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 (AFP)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2530
ผู้เขียน
ส.พลายน้อย
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2562

 

จากบทความ พระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ศิลปวัฒนธรรม พฤษภาคม 2530

ตามพระราชประเพณีเดิมของไทย เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จผ่านพิภพ ก็ยังไม่ถือว่าเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ทรงเป็นแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน บัตรหมายในราชการก็ยังขานพระยศอย่างเดิม เครื่องยศบางอย่างเช่นพระเศวตฉัตรก็มีเพียง 7 ชั้น คำสั่งของพระองค์ก็ยังไม่เป็นพระราชโองการและจะเสด็จประทับอยู่เพียงที่ประทับซึ่งจัดถวายไว้ชั่วคราวก่อนเท่านั้น

ความเป็นพระมหากษัตริย์จะสมบูรณ์ถูกต้องตามพระราชประเพณีก็ต่อเมื่อทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว และการเสด็จขึ้นอยู่พระราชมนเทียรก็ต้องประกอบพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรเสียก่อน ฉะนั้นการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมนเทียรจึงทำต่อเนื่องในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเลยทีเดียว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามความหมายเดิมเห็นจะถือเป็นสำคัญอยู่ที่การทรงรับน้ำอภิเษก เพราะชื่อพิธีมีความหมายเช่นนั้น น้ำอภิเษกเป็นน้ำที่ได้พลีกรรมตักมาจากสถานศักดิ์สิทธิ์ในราชอาณาจักรไทยทั้ง 8 ทิศ โดยหมายว่าเป็นการอัญเชิญให้สมเด็จพระมหากษัตริย์ ทรงแผ่พระราชอาณาจักรปกครองประชาชนในทิศทั้ง 8 ในสมัยรัชกาลที่ 2 นิยมใช้น้ำจาก 9 แห่งคือ

แม่น้ำบางประกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
แม่น้ำสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่บางแก้ว แขวเมืองอ่างทอง
แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงส์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม
แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย
น้ำสระเกษ จังหวัดสุพรรณบุรี
น้ำสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี
น้ำสระคง จังหวัดสึพรรณบุรี
น้ำสระยมนา จังหวัดสุพรรณบุรี

ในรัชกาลปัจจุบัน การทำน้ำอภิเษกได้ตั้งพิธีทำถึง 18 จังหวัด และใช้น้ำจากสระและบึงถึง 70 กว่าแห่ง โดยถือเอาน้ำที่ใสสะอาด และมีประวัติอันเป็นมงคลหรือเคยใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษกมาแต่โบราณเท่านั้น

การถวายน้ำอภิเษกแบบเดิมราชบัณฑิตเป็นผู้ถวาย แต่ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้แทนของปวงชนเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย

อนึ่ง ตามราชประเพณีสรงพระมุรธาภิเษกมี 2 อย่าง คือถ้าวันใดทิศไหนเป็นสิริมงคลแล้ว เวลาสรงสมเด็จพระมหากษัตริย์จะทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศนั้น เพื่อสิริมงคลแด่พระองค์นี้อย่าง 1 และถ้าวันสรงจะเป็นวันใดก็ตาม เวลาสรงทรงแปรพระพักตร์สู่ทิศบูรพา ทั้งนี้เพื่อความสวัสดิสุขแก่ประชาชนโดยตรง นี้เป็นอีกอย่าง 1 ในพระราชพิธีสรงพระมุรธาภิเษกรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ปรากฏว่าเสด็จขึ้นมณฑปพระกระยาสนาน ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ แปรพระพักตร์สู่มงคลทิศบูรพา ทั้งนี้เป็นพระราชปฏิบัติเพื่อสวัสดิสุขของประชาชนโดยแท้

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับ น้ำสรงพระมูรธาภิเษกจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

เพื่อให้ทราบถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยย่อ จะขอสรุปพอให้ทราบขั้นตอนดังต่อไปนี้ หลังจากสรงพระมุรธาภิเษกและทรงรับน้ำอภิเษกคือน้ำที่ได้พลีกรรมจากที่ต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นแล้ว พระราชครูน้อมเกล้าฯ ถวายนพปฎลมหาเศวตฉัตร พระสุพรรณบัฏจารึกพระปรมาภิไธย เบญจราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ เครื่องขัตติยราชูปโภค และพระแสงราชศัสตราวุธ ตามลำดับต่อไปนี้

พระสังวาลพราหมณ์ธุรำ ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉียงซ้าย
พระสังวาลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉียงขวา
พระสังวาลพระนพ ทรงรับแล้ว ทรงสวมพระองค์เฉียงขวา
พระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงรับแล้ว ทรงสวม
พระแสงขรรค์ชัยศรี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะ
พระแส้จามรี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะ
พัดวาลวีชนี ทรงรับแล้ว ทรงวางไว้บนโต๊ะ
พระแส้หางช้างเผือก ทรงรับแล้ว ทรงวางบนโต๊ะ
พระธำมรงค์รัตนวราวุธ ทรงรับแล้ว ทรงสวมนิ้วหระหัตถ์ขวา
พระธำมรงค์วิเชียรจินดา ทรงรับแล้ว  ทรงสวมนิ้วพระหัตถ์ซ้าย
พระราชครูสอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวาย
พระแสงฝักทองเกลี้ยง ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
ธารพระกรเทวรูป ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป

ต่อจากนี้มีผู้เชิญพานพระขันหมากและพระสุพรรณศรีบัวแฉก ไปทอดบนโต๊ะเบื้องขวาพระที่นั่งภัทรบิฐ กับเชิญพระมณฑปรัตนกรัณฑ์และพระเต้าทักษิโณทกไปทอดบนโต๊ะเบื้องซ้ายพระที่นั่งภัทรบิฐ

พระแสงจักร ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงตรีศูล ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงหอกเพชรรัตน ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงดาบเชลย ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงธนู ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงดาบโล่ ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสโตง ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป
พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย ทรงรับแล้ว พระราชทานให้ผู้เชิญรับไป

พระราชครูวามเทพมุนี น้อมเกล้าฯ ถวายพระแสงขรรค์ชัยศรี

ต่อจากนี้พราหมณ์ถวายวิษณุมนต์ และพระราชครูถวายพระพรชัยมงคลด้วยมคธภาษาแล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทยว่า

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ปกเกล้าปกกระม่อม ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายขอถวายชัย ขอพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร อันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในสยามรัฐมหามณฑลนี้ ทรงชำนะทั่วปถพีดล ทรงชำนะเหล่าอริราชดัสกรทุกเมื่อ เทอญฯ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการตอบพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทยด้วยภาษาไทยว่า

“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

พระราชครูวามเทพมุนีรับพระบรมราชโองการด้วยภาษามคธแล้วกราบบังคมทูลเป็นภาษาไทยว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการ สุรสิงหนาท ประถมธรรมิกราชวาจา ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”

แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งน้ำทักษิโณทก ตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปกครองราชอาณาจักรไทย โดยทศพิธราชธรรมจริยา

เครื่องราชกกุธภัณฑ์

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงพระมรุธาภิเษกและทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว เจ้าพนักงานพระราชพิธีเชิญเบญจราชกกุธภัณฑ์ จากพระแท่นที่บูชาในพระราชพิธีมณฑลทีละสิ่งมามอบพระราชครูวามเทพมุนี ทูลเกล้าฯ ถวายดังได้กล่าวมาแล้ว (พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 และเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนที่ 1)

เครื่องราชกกุธภัณฑ์แปลว่าของใช้อันเป็นเครื่องหมายความเป็นพระราชาธิบดี เป็นของมีมาแต่โบราณตรงกันบ้าง ต่างกันไปบ้าง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายถึงประเพณีราชาภิเษกอย่างโบราณในอินเดียไว้ใน “สาส์นสมเด็จ” ภาคที่ 20 ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเสด็จสรงราชาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินทรงราชาภรณ์ คือ อุณหิส Diadem ภูษาไหม และห่มผ้ารัตกำพล Crimson Mantle แล้วเสด็จขึ้นบัลลังก์ยืนอยู่บนหนังเสือซึ่งปูไว้ข้างหน้าราชสีหาสน์ ขณะนั้นปุโรหิตประกาศ (พระนาม) และพระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำสัตย์สาบานที่จะปกครองบ้านเมืองโดยธรรม แล้วจึงเสด็จขึ้นประทับบรราชสีหาสน์ พวกพระครูพราหมณ์ถวายน้ำมนต์และสวดถวายพร แล้วถวายราชสมบัติ (การถวายน้ำมนต์ ถวายพร และถวายราชสมบัติ ผู้แต่งเรื่องลงพิมพ์ว่าถวายเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จยืนอยู่หน้าราชสีหาสน์ เมื่อขึ้นประทับบนราชสีหาสน์ตอนนี้ไม่มีว่าทำอะไร จึงเห็นว่าผิด ที่ถูกนั้นต้องประทับราชสีหาสน์ก่อนจึงถวายน้ำมนต์ถวายพร และถวายราชสมบัติ)

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินรับราชสมบัติแล้ว เสด็จลงจากราชสีหาสน์ ออกไปข้างหน้า ขึ้นทรงรถแห่ไปในบริเวณราชวัง (พึงสันนิษฐานว่าเพื่อให้คนอยู่นอกมณฑลพิธีเห็นพระองค์เป็นมูลของเลียบพระนคร) แล้วเสด็จกลับเข้าไปประทับราชสีหาสน์อีกครั้งหนึ่ง (อาจจะเป็นเวลาอื่น) คราวนี้มีพราหมณ์ 5 คนแต่งมฤคจัมขัน Clad in Deer Skins เข้าไปถวายบังคม เจ้าแผ่นดินตรัสทักว่า “ดูกรพราหมณ์” O Brahmana พราหมณ์เหล่านั้นทูลตอบเรียงตัวว่า “พระองค์ก็เป็นพราหมณ์” You are also Brahmana, O King (น่าจะเป็นมูลที่พราหมณ์ถวายสายธุรำในพิธีราชาภิเษกของไทย) ต่อนั้นพวกรัฐมนตรีและบุคคลทั้ง 4 วรรณ (ที่อยู่ในโรงราชพิธี) พากันเข้าไปถวายบังคมทีละพวก ๆ จนหมด (เข้ารูปกับเสด็จออกท้องพระโรงตามประเพณีไทย) เป็นสิ้นกระบวนพิธีราชาภิเษกอย่างอารยันเพียงเท่านี้… พิจารณาดูก็ชอบกลหนักหนา ด้วยพิธีราชาภิเษกที่ไทยทำยังมีหลักเดิมอยู่ทุกอย่าง”

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์ และใช้ในพิธีบรมราชาภิเษก (ภาพจากหนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, ๒๕๓๐)

ตามที่ยกมากล่าวนี้มีอุณหิสคือมงกุฎเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ตรงกับไทยเพียงอย่างเดียว หลักฐานเกี่ยวกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของไทย มีในตำนานเรื่องพระร่วงสุโขทัย ซึ่งกล่าวว่า เมื่อมะกะโทให้ราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายพระร่วง เพื่อขอพระราชทานนามและเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้น พระร่วงได้พระราชทานนามให้ว่า พระเจ้าวาริหู (ฟ้ารั่ว) กับพระราชทานเครื่องราชกกุธภัณฑ์สำหรับกษัตริย์คือ พระขรรค์ 1 ฉัตร 1 พระมหามงกุฎ 1 ฉลองพระบาททอง 1 พัดวาลวีชนี 1 มีที่น่าสังเกตอีกแหางหนึ่งคือ แผ่นไม้จำหลักแสดงเครื่องราชกกุธภัณฑ์พบที่จังหวัดสุโขทัย ตรงกลางกระดานมีอักษรขอม อ่านว่าพระบรมราชโองการและมีรูปพระขรรค์ ธารพระกร พระแส้ อุณหิสหรือกรอบหน้า และฉลองพระบาท ซึ่งจะเห็นว่าตรงกับที่กล่าวไว้ในเรื่องพระร่วงข้างต้น

เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2326 ต้นรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาเพ็ชรพิไชย เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี พระยาราชสงครามและพระยาอุไทยมนตรี ได้พร้อมกันแต่งเครื่องการพระราชพิธีราชาภิเษกครั้งพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร เมื่อ พ.ศ. 2301 ได้กล่าวถึงเบญจกกุธภัณฑ์ว่ามี “พระมหามงกุฎ 1 พระขรรค์ชัยศรี 1 พัชนีฝักมะขาม 1 ธารพระกร 1 ฉลองพระบาท 1 เป็น 5 สิ่ง”

แต่เครื่องราชกกุธภัณฑ์ดังกล่าวได้สูญหายไปแต่ครั้งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ. 2310 นั้นแล้ว

และในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงจะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็คงจะจัดทำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไม่ทัน อาจจะถือแบบอย่างครั้งพระเจ้าบรมโกศที่ปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2276 ซึ่งไม่ถวายเบญจกกุธภัณฑ์ก็ได้ และตลอดรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็คงจะไม่ได้สร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นไว้แต่อย่างใดเลย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2493, AFP PHOTO / STR

 

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงอัญเชิญของเสนามาตย์ราษฎรทั้งหลาย เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติครอบครองสยามประเทศ ตั้งการพระราชพิธีปราบดาภิเษกโดยสังเขป เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2325 ก็ไม่มีเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ของเก่าอยู่เลย ต้องทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างรีบด่วน ดังปรากฏในหมายรับสั่งปี จ.ศ. 1144 (พ.ศ. 2325) ว่า

“เครื่องจะได้ทำขึ้นใหม่ (มี) พระไชยใหญ่ 1 พระไชนน้อย 1 แผ่นทองพระสุพรรณบัฏ 1 พระมหาสังวาล 1 พระมหาสังข์เงิน 1 พระมหาสังข์ทอง 1 พระมหามงกุฎ 1 ฉลองพระบาท 1 พัชนีฝักมะขาม 1 ธารพระกรง่ามนาก 2 ธารพระกรยอดทอง 1 ดอกจำปาทอง 1 ดอกพิกุลเงิน 1 ดอกพิกุลทอง 1 แผ่นทองรองเขียนรูปราชสีห์ 1 พระกลดด้ามเงิน 1 พระเต้าเงิน 1 พระเต้าทอง 1 ตั่งไม้มะเดื่อ 8 ท่อน้ำ (สหัสธารา) ดีบุก 1 พระแสงตรีศูล 1 พระแสงจักร 1 พระเสมาธิปัตย์ 1 พระฉัตรไชย 1 พระเกาวพ่าห์ 1 พระมหาธงไชย (ครุฑพ่าห์) 1 ธงไชยกระบี่ธุช 1 พระเต้าเบญจครรภ์ 1 พระสุวรรณปฤษฎางค์ทอง กลอนอินทรเภรี มโหระทึก พระมณฑปที่สรง 1 พระนามลงแผ่นทอง 1 (รวมเครื่องที่จะได้ทำขึ้นใหม่ทั้งหมด) 41 สิ่ง”

เข้าใจว่าสิ่งของต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จะได้ทำเสร็จเรียบร้อย ละเชิญเข้าถวายในพระราชพิธียรมราชาภิเษก เต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี เมื่อ พ.ศ. 2328

ในพระราชพงศาวดารได้กล่าวไว้ว่าพระมหาราชครูถวายเบญจกกุธภัณฑ์คือพระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ ธารพระกร พัดวาลวีชนี ฉลองพระบาท นับเป็นเครื่องเบญจกกุธภัณฑ์ชุดใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ เสด็จขึ้นสถิตเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังก์แวดล้อมด้วยมหาดเล็กเชิญเครื่องอิสริยราชูปโภคตามตำแหน่ง เสด็จออกมหาสมาคมพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ส.พลายน้อย.  (2530, พฤษภาคม).  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเครื่องราชกกุธภัณฑ์.  ศิลปวัฒนธรรม.  8(7): หน้า 16-21.

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_27308

The post พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 9 และเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ appeared first on Thailand News.