ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วิถีของพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) นายทหารผู้กล้าวิวาทะโต้เถียงร.6

รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับราชองครักษ์ (ภาพจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพพระยาอนิรุทธเทวา)

ผู้เขียน รัชตะ จึงวิวัฒน์
เผยแพร่ วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

 

ในประวัติศาสตร์ไทยมีบุคคลไม่กี่รายที่กล้าคัดค้านพระเจ้าแผ่นดินแบบตรงไปตรงมา ยิ่งเป็นทหารด้วยแล้วยิ่งมีน้อยราย พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) เป็นตัวอย่างของคนกลุ่มน้อยที่กล้าประพฤติเช่นนั้น ซึ่งนอกจากจะไม่โดนลงโทษแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานรางวัลให้อีกด้วย แต่เมื่อกาลมาถึงยุคเปลี่ยนผ่าน พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) ที่มีประวัติค่อนข้างโลดโผนก็ต้องเจอกับเรื่องน่าหดหู่

พระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองและการทหารไทยหลากหลายเหตุการณ์ ในช่วงยุคต้นของการทหารเรือไทย ช่วงที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ ทรงประสงค์จัดการกรมพระธรรมนูญและข้อบังคับการลงโทษทหารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น มีพระประสงค์หาเนติบัณฑิตสักรายมาช่วยงาน ในบันทึกพระประวัติของพระองค์เรียบเรียงโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาบันทึกว่า

“…เมื่อได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงประพาสปราจีนบุรี มีหลวงสุทธิสารธำรง (มหาวิม พลกุล) ซึ่งเคยเป็นผู้พิพากษาอยู่ที่นั่นแต่ถูกปลดจากราชการ มาเฝ้าสมัครรับราชการทหารเรือ รับสั่งว่าจะถามไปทางกระทรวงยุติธรรมเสียก่อน ถ้ากระทรวงไม่ขัดข้องก็จะรับ เสด็จกลับแล้วก็ทรงสอบถามไปทางกระทรวงยุติธรรม ๆ ตอบมาว่าไม่ขัดข้อง เพราะถูกปลดเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว จึงทรงรับหลวงสุทธิสารธำรงมาอยู่กรมพระธรรมนูญทหารเรือ ภายหลังได้เป็นพระยาวินัยสุนทร…”

ที่เรียกนำหน้าว่า “มหา” ก็เพราะว่า ท่านเป็นเนติบัณฑิต เป็นทนายความ และมีบันทึกไว้ว่าท่านเป็นเปรียญ 5 ประโยค (บางแห่งว่า 6 ประโยค) อีกด้วย

ไม่เพียงแค่เชี่ยวชาญทางกฎหมายและมีชื่อเป็นตุลาการศาลทหารพิเศษสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีกบฏ ร.ศ. 130 จนถึงเรื่องทางธรรม พระยาวินัยสุนทรยังเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเขียนบทความตอบโต้กับเนื้อหาบทความพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทความในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ภายใต้นามปากกา “อัศวพาหุ” ครั้งหนึ่งทรงพระราชนิพนธ์ชื่อ “โคลนติดล้อ” เนื้อหาเปรียบเปรยพวกที่ขัดขวางความเจริญของบ้านเมืองว่าเหมือน “โคลน” ที่ติดล้อ “เกวียน”

ภายหลังมีผู้เขียนบทความชื่อ “ล้อติดโคลน” ตอบโต้ย้อนกลับทำนองว่า เกวียนเคลื่อนที่ตามผู้บังคับ และเป็นธรรมชาติของโคลนที่ต้องติดล้ออยู่แล้ว

ซึ่งผู้เขียนบทความ “ล้อติดโคลน” ก็คือพระธรรมนูญทหารเรือ “มหาวิม พลกุล” นั่นเอง ในหนังสือ “อนุสรณ์ ศุกรหัศน์” เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพเสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) มีเนื้อหาส่วนหนึ่งเล่าถึงบทความเหล่านั้นว่า ฝ่ายค้านผู้เขียนบทความท่านนั้นใช้นามปากกาว่า “ทุ่นดำ” บทความเขียนตอบโต้กันอยู่นาน โดยลักษณะเนื้อหาก็เป็นไปด้วยตามเหตุตามผลโดยหลักวิชาการ แต่ไม่สามารถหาต้นฉบับได้

การเขียนบทความตอบโต้กันนี้เป็นเรื่องที่แสนฮือฮาในสมัยนั้น เป็นผลให้เสนาบดีต้นสังกัดแสดงท่าทีเอาการเอางาน ทำเรื่องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลดพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) ออกจากราชการ แต่รัชกาลที่ 6 ไม่ได้ทรงกระทำเช่นนั้น แต่กลับทรงเห็นว่า พระยาวินัยสุนทรแตกต่างจากพวกสอพลอ พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า บุคคลลักษณะนี้สมควรเลี้ยงไว้ใช้ ทรงตรัสว่า ดีกว่าคนจำพวกที่เมื่อเห็นเจ้านายทำอะไรก็ชมว่าดีไปหมด การณ์ภายหลังยังพบว่าพระยาวินัยสุนทร ยังได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า พร้อมด้วยพานทองเป็นเกียรติยศ

ในหนังสือ “อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์” อ้างอิงคำบอกเล่าของนายรองเล่ห์อาวุธ (บรรดาศักดิ์เป็นมหาดเล็ก) ว่า ขณะพระยาวินัยฯ เข้าไปรับพระราชทานและทรงคล้องดวงตราให้พระยาวินัยสุนทร ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า

“นี่แสดงว่าข้ามิได้ผูกโกรธ หรือพยาบาทเจ้า ในการที่เจ้าเขียนหนังสือเล่นงานข้า แต่ข้าถือว่าเจ้าได้ช่วยข้าแสดงความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง เพื่อให้ดำเนินไปด้วยดี ข้าขอบใจ”

เนื้อหาต่อไปยังอ้างอิงคำบอกเล่าของนายรองเล่ห์อาวุธว่า สังเกตสีหน้าพระยาวินัยที่ “อิ่มเอิบจนน้ำตาคลอ เมื่อรับตราและพานทองแล้วมายืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผย ท่ามกลางพระบรมวงศานุวงศ์เสนามาตย์ราชบริพารต่างเพ่งสายตามารวมที่จุดเด่นคือ นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร ซึ่งสมัยนั้นนายพลยังนับตัวถ้วนอยู่”

แต่เมื่อครั้งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชะตากรรมของพระยาวินัยสุนทร ก็พลอยผกผัน ดังเช่นเมื่อเกิดกบฏบวรเดช หรือเรื่องราวในทางการเมืองอีกหลายเหตุการณ์หลังพ.ศ. 2475 ที่มีรายละเอียดอีกมาก มีโอกาสจะได้เขียนถึงในคราวต่อไป

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_38754

The post วิถีของพระยาวินัยสุนทร (วิม พลกุล) นายทหารผู้กล้าวิวาทะโต้เถียงร.6 appeared first on Thailand News.