ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ตามรอย “สำหรุดปาน” ผู้แสวงบุญจากสงขลาไปพม่า สู่นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง

ตามรอย “สำหรุดปาน” ผู้แสวงบุญจากสงขลาไปพม่า สู่นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555
ผู้เขียน
ดร. ภมรี สุรเกียรติ
เผยแพร่
วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2565

 

ประวัติความเป็นมา และเนื้อเรื่องโดยย่อของนิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง

นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง วรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ ต้นฉบับเดิมเป็นหนังสือบุดขาว สมบัติของพระครูเนียม อุตฺตโม อดีตเจ้าอาวาสวัดเขามีเกียรติ หมู่ที่ 4 ตำบลเขามีเกียรติ (เดิมชื่อ ตำบลพังลา) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 นางสาวชะอ้อน ธรรมกิรติ นิสิตวิชาเอกภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (มหาวิทยาลัยทักษิณ) เป็นผู้คัดลอกต้นฉบับไว้ และได้มอบต้นฉบับให้ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้ (สถาบันทักษิณคดีศึกษา)

อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่พระครูเนียม อุตฺตโม ได้มรณภาพเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2529 ต้นฉบับจริงได้สูญหายไปจากวัด ในปี พ.ศ. 2542 อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล ผู้ทำการปริวรรตได้พยายามสอบถามเรื่องนี้กับพระครูกิตติคีรีรักษ์ (ให้ สิริปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดเขามีเกียรติในเวลานั้น ท่านบอกว่าไม่เคยเห็นต้นฉบับของวรรณกรรม เรื่องนี้ อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล จึงได้นำฉบับคัดลอกของนางสาวชะอ้อน ธรรมกิรติ มาปริวรรตศึกษาวิเคราะห์ และทำเชิงอรรถอธิบายความ ตลอดจนตีพิมพ์เผยแพร่

จากการศึกษาของ อาจารย์ชัยวุฒิ พิยะกูล ได้ข้อสรุปว่าผู้แต่งนิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้งนี้ คือสำหรุดปาน ชีปะขาวชาวบ้านใหม่ ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา โดยแต่งจากประสบการณ์จริงที่ได้เดินทางไปนมัสการพระธาตุชเวดากอง เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า…

เจดีย์ชเวดากอง ภาพถ่ายราวปี คงศ. 1850-1900

 

สำหรับปีที่แต่งนั้น ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนเนื่องจากมิได้มีกล่าวไว้ในวรรณกรรม อาจารย์ ชัยวุฒิ พิยะกูล ได้พิจารณาจากการเขียน พบว่ามีอักขรวิธีใกล้เคียงกับปัจจุบันมาก และเมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์ในเนื้อเรื่อง จะเห็นได้ว่าตาสำหรุดปานเดินทางไปนมัสการพระธาตุเมืองย่างกุ้งหลังจากพม่าเสียเอกราชให้อังกฤษแล้ว คือหลังปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) และต้องเขียนขึ้นก่อนรัฐบาลไทยสร้างทางรถไฟสายใต้ในช่วง พ.ศ. 2452-61 เพราะในวรรณกรรมเรื่องนี้ มิได้กล่าวถึงเส้นทางรถไฟสายใต้ไว้ จึงสันนิษฐานได้ว่าวรรณกรรมเรื่องนี้น่าจะเขียนขึ้นประมาณปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จุดมุ่งหมายของการแต่งปรากฏชัดในเนื้อความ กล่าวคือ เพื่อบันทึกการเดินทางไปจาริกแสวงบุญนมัสการพระธาตุเมืองย่างกุ้ง และพระธาตุที่สำคัญต่าง ๆ ในเมืองพม่า เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ทั้งโดยการอ่าน การนำไปสวดให้ประชาชนฟัง ตลอดจนอนุญาตให้ชาวบ้านคัดลอกเพื่อนำไปอ่านด้วย…

นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ประกอบด้วยกาพย์ฉบัง 16 จำนวน 963 บท และกาพย์สุรางคนางค์ 28 จำนวน 79 บท แต่งเป็นลักษณะกลอนสวด อันเป็นที่นิยมในภาคใต้ เพื่อใช้อ่านให้ฟังเป็นหลัก บันทึกด้วยอักษรไทย ภาษาที่ใช้เป็นภาษาไทยกลางปนไทยถิ่นภาคใต้

เนื้อเรื่องโดยย่อ สำหรุดปาน ชีปะขาวที่อาศัยอยู่วัดบ้านใหม่ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พร้อมด้วยพระแก้ว พระเนียม บุตรชายทั้งคู่ที่บวชเป็นพระ และเด็กชายอินทอง รวมกัน 4 คน เดินทางจากวัดบ้านใหม่ อำเภอสะเดา ไปนมัสการพระธาตุที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า ทั้งหมดได้เดินทางจากวัดบ้านใหม่ไปเมืองไทรบุรีใช้เวลา 15 วัน พักที่วัดของหลวงพ่อดำที่ไทรบุรี 1 คืน จากนั้นนั่งเรือต่อไปยังเกาะหมาก หรือเกาะปีนัง พักที่วัดปูเหลาปิโกย เกาะปีนัง 3 คืน จากนั้นอาศัยโดยสารเรือสินค้าของฝรั่งเดินทางจากเกาะหมากไปยังเมืองย่างกุ้ง เดินเรือประมาณ 9 วัน

ที่เมืองย่างกุ้ง คณะสำหรุดปานได้พบพระไทยชื่ออิน เป็นชาวเมืองปัตตานีและคณะ ซึ่งเดินทางมาเพื่อนมัสการพระธาตุชเวดากองเช่นเดียวกัน ทั้งสองคณะได้พักร่วมกันที่เมืองย่างกุ้งเป็นเวลา 3 วัน จากนั้นเดินทางต่อด้วยรถไฟสายย่างกุ้ง-มัณฑเลย์ เพื่อไปนมัสการพระธาตุมุเตา หรือชเวมอดอ และพระนอน หรือชเวตาลียงที่เมืองหงสาวดีหรือเมืองพะโค และนั่งรถไฟต่อไปยังเมืองมัณฑเลย์ นมัสการพระมหามัยมุนีที่เมืองอมรปุระทางใต้ของเมืองมัณฑเลย์ พัก 2 คืน

พระธาตุมุเตา หรือชเวมอดอ ภาพถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1899

 

จากนั้นจึงนั่งรถไฟกลับเมืองย่างกุ้งเพื่อจะเดินทางกลับไทย ขากลับโดยสารเรือผ่านเมืองทวาย และแวะลงที่เมืองมะริด พักแรมที่วัดเขียน เมืองมะริด คณะของตาสำหรุดปานหมดเงิน บังเอิญพบคนพม่าได้ช่วยพายเรือไปส่งที่เมืองตะนาวศรี อาศัยที่วัดเมืองตะนาวศรี 1 คืน จาก นั้นเดินทางต่อโดยได้คนไทยช่วยนำทาง แต่แยกกันเพราะเรือเล็กเกินไป โดยให้พระเนียมกับเด็กชายอินทองลงเรือ ส่วนพระแก้วกับสำหรุดปานเดินทางบก นัดแนะให้พบกันที่บ้านทองหลาง วัดหมูกโพรง

เมื่อพบกันแล้วทั้งหมดได้เดินทางต่อไปยังวัดสิงขร พักอยู่ 4 วัน และขอให้ชาวบ้านนำทางไปส่งวัดเกาะหลัก เมืองปราณ พักที่วัดเกาะหลัก 2 วัน จากนั้นเจ้าอาวาสวัดเกาะหลักให้คนนำเรือไปส่งคณะสำหรุดปานที่วัดปากน้ำ เมืองหลังสวน คณะสำหรุดปานเดินทางต่อไปยังวัดแหลมทราย พักอยู่ 6 วัน จึงได้เดินทางกลับเมืองสงขลา

สำหรุดปานแยกขึ้นเรือมายังสงขลาก่อน ส่วนพระแก้ว พระเนียม และเด็กชายอินทองเดินทางบก 3 วันถึงเมืองไชยา เดินทางต่ออีก 3 วันถึงเมืองนครศรีธรรมราช ทั้งสามได้นมัสการพระบรมธาตุเมืองนคร พักอยู่ที่เมืองนี้ 2 วัน จึงได้เดินทางกลับสงขลา รวมเวลาในการเดินทางเพื่อไปจาริกแสวงบุญครั้งนี้ ทั้งไปและกลับเป็นเวลาถึง 6 เดือน

เส้นทางการจาริกแสวงบุญของสำหรุดปาน

ด้วยแรงศรัทธาแห่งพระพุทธศาสนาและความมุ่งมั่นตั้งใจจะไปนมัสการพระบรมธาตุที่เมืองพม่า สำหรุดปานพร้อมพระบุตรชายพากเพียรรอนแรมเดินทางไปและกลับใช้เวลาทั้งสิ้นร่วม 6 เดือน ค่อย ๆ เดินทางจากที่หนึ่งไปที่หนึ่ง เดินเท้าบ้าง โดยสารเรือบ้าง รถไฟบ้าง และอาศัยร่มกาสาวพัสตร์ขอแวะพักตามวัดต่าง ๆ ตลอดทาง หากลากเส้นจะเห็นได้ว่าเส้นทางการจาริกแสวงบุญของคณะสำหรุดปานวนเป็นวง เริ่มต้นด้วยการนั่งเรือจากปีนังไปย่างกุ้ง ขากลับนั่งเรือจากย่างกุ้งมาลงที่มะริด และใช้เส้นทางด่านสิงขรต่อลงมายังทางตอนใต้ของคาบสมุทร

กล่าวคือ ขาไปจากวัดบ้านใหม่ สะเดา สู่ไทรบุรี ปีนัง ย่างกุ้ง หงสาวดี มัณฑเลย์ และกลับลงมาย่างกุ้งขากลับไปทางมะริด ตะนาวศรี ปราณบุรี ชุมพร หลังสวน ไชยา นครศรีธรรมราช เมืองสงขลา จนวนกลับมาถึงวัดบ้านใหม่ในที่สุด เส้นทางที่คณะสำหรุดปานใช้ในการเดินทางเป็นสองเส้นทางสำคัญในการเดินทางข้ามคาบสมุทร ทั้งเพื่อไปยังพม่าและเพื่อที่จะเดินทางต่อไปหัวเมืองภาคใต้ฝั่งตะวันตกของไทย

วัดบ้านใหม่ที่พระแก้วพระเนียมจำวัดและที่สำหรุดปานอาศัยนั้น ปัจจุบันนี้ตั้งอยู่ในตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พื้นที่อำเภอสะเดาแต่เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองไทรบุรีและเมืองปะลิส ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 เมื่อไทยทำสนธิสัญญากับอังกฤษลงวันที่ 10 มีนาคม ร.ศ. 127 เพื่อมอบไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิสให้อังกฤษ จึงได้มีการกำหนดเขตแดนใหม่ รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยกตำบลสะเดา รวมกับกิ่งปริก อำเภอเหนือแขวง เมืองสงขลา ตั้งเป็นอำเภอสะเดา ขึ้นอยู่กับเมืองสงขลา ในมณฑลนครศรีธรรมราช

ภาพลายเส้นเมืองสงขลา-ช่องเต็นตามเล็ม (ภาพจาก“ชีวิตความเป็นอยู่ในกรุงสยามในทรรศนะของชาวต่างประเทศ ระหว่างพ.ศ. 2383-2384 (ค.ศ. 1840-1841)” )

 

อําเภอสะเดานี้จึงเป็นเขตเมืองสงขลาที่ต่อแดนเมืองไทรบุรีโดยตรง เป็นหนึ่งในเส้นทางสำคัญตั้งแต่สมัยโบราณในการเดินทางข้ามคาบสมุทรจากฝั่งอ่าวไทยไปสู่ฝั่งอันดามัน คณะของสำหรุดปานเดินเท้าจากวัดบ้านใหม่ ใช้เวลาประมาณครึ่งเดือนจึงถึงตัวเมืองไทรบุรี

เส้นทางข้ามคาบสมุทรจากสงขลาสู่ไทรบุรียิ่งสำคัญมากขึ้น เมื่อเกาะหมากหรือเกาะปีนัง ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการเดินเรือของอังกฤษในทางตอนบนของช่องแคบมะละกา เกาะปีนังนั้นแต่เดิมอยู่ใต้อำนาจการปกครองของสุลต่านไทรบุรี หรือเคดะห์ ในปี พ.ศ. 2329 อันตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ฟรานซิส ไลท์ (Francis Light) พ่อค้าชาวอังกฤษได้รับมอบอำนาจจากบริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เจรจาเช่าเกาะปีนังจากสุลต่านเพื่อจัดตั้งนิคมทางการค้า และเปิดเป็นท่าเรือเสรีของอังกฤษ

นับแต่นั้นมาเกาะปีนังได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเดินเรือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองก็เพียงแต่สิงคโปร์ที่ต่อมาอังกฤษได้สถาปนานิคมขึ้นในปี พ.ศ. 2362 ปีนังเป็นเสมือนประตูเข้าสู่ตลาดการค้าตะวันตก มีการเดินเรือขนส่งสินค้าและผู้คนครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางตั้งแต่อาณานิคมอินเดียของอังกฤษ (British India) อาณานิคมพม่าของอังกฤษ (British Burma) อาณานิคมช่องแคบ หรือสเตรทส์เซ็ตเทิลเมนต์ส (The Straits Settlements) ตลอดจนเมืองท่าต่าง ๆ ที่มิใช่อาณานิคมของอังกฤษในอ่าวเบงกอล ทะเลอันดามัน ทะเลจีนใต้ และทะเลจีนตะวันออก

จากเมืองไทรบุรี คณะสำหรุดปานได้นั่งเรือข้ามไปยังเกาะปีนังเพื่อจะโดยสารเรือสินค้าฝรั่งไปยังเมืองย่างกุ้ง การเดินทางจากไทยสู่ย่างกุ้งเมืองหลวงของพม่าในเวลานั้นเส้นทางที่สะดวกที่สุดคือการเดินทางโดยเรือ กล่าวคือ หากมาจากกรุงเทพฯ โดยสารเรือจากกรุงเทพฯ มายังสิงคโปร์ และต่อเรือมายังปีนัง จากนั้นโดยสารเรือจากปีนังสู่ย่างกุ้ง หรือหากมาจากหัวเมืองในอ่าวไทยตอนล่างอาจจะใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรเพื่อมาขึ้นเรือที่ปีนังอย่างคณะสำหรุดปานได้…

เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสพม่าในปี พ.ศ. 2478 พระองค์ได้ประทับเรือเมล์ชื่อกะระโคลา (Karacola) ของบริษัทบริติชอินเดีย (British India) ออกเดินทางวันเสาร์ที่ 18 มกราคม ถึงย่างกุ้งวันอังคาร ที่ 21 มกราคม พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า “…มีเรือของบริษัทนี้สายเดียวที่รับคนโดยสารไปมาระหว่างเมืองปีนังกับเมืองร่างกุ้ง โดยมีวันกำหนดแน่นอน คือ ออกจากเมืองปีนังวันเสาร์ถึงเมืองร่างกุ้งวันอังคาร และกลับจากเมืองร่างกุ้งวันพฤหัสบดีถึงเมืองปีนังวันอาทิตย์เสมอเป็นนิตย์ นอกจากเรือสายนี้รู้ไม่ได้แน่ว่าจะมีเรือบริษัทไหนไปเมืองร่างกุ้งเมื่อใด เรือของบริษัทบริติชอินเดียจึงเหมือนผูกขาดรับส่งคนโดยสารทางที่ว่ามา…”

พระองค์ได้ทรงอธิบายเพิ่มเติมว่า “…บรรดาเรือของบริษัทบริติชอินเดีย พอเห็นก็รู้ได้ด้วยปล่องไฟทาสีดำมีแถบขาวคาดเส้นดำเป็นสำคัญ เหมือนกันหมดทุกลำ ลำชื่อกะระโคลาที่พวกเราไปขนาด 7,000 ตัน อยู่ในประเภทที่เรียกว่า ‘เรือรับส่งคนโดยสารกับสินค้า’ Passenger and Cargo-Boat ตามที่กำหนดลักษณะเรือเดินทางระหว่างประเทศ ยังมีเรือที่เรียกว่า ‘เรือรับคนโดยสาร’ Passenger Boat รับคนโดยสารเป็นสำคัญ เช่นเรือเมล์ของบริษัทปีแอนด์โอ P.&O. เป็นต้นอีกประเภทหนึ่ง กับ ‘เรือรับสินค้ากับคนโดยสาร’ Cargo and Passenger-Boat คือเรือสำหรับรับสินค้า แต่มีห้องสำหรับคนโดยสารไปเพียงสี่ห้าคนอีกประเภทหนึ่ง เรือทั้ง 3 ประเภทนี้ผิดกันที่เรือรับคนโดยสารถึงเร็วแต่เรียกค่าโดยสารแพงหน่อย เรือรับคนโดยสารกับสินค้าถึงช้ากว่าเพราะต้องใช้เวลาจอดรับสินค้าด้วย แต่เรียกค่าโดยสารถูกลงเป็นปานกลาง ส่วนเรือรับสินค้ากับคนโดยสารนั้นมีสินค้าที่ไหนก็หยุดรับทุกแห่ง ไปถึงช้ากว่าเพื่อนแต่เรียกค่าโดยสารก็ถูกกว่าเพื่อน…”

ท่าเรือที่ปีนัง ในทศวรรษ 1910

 

สันนิษฐานว่าคณะของสำหรุดปานน่าจะโดยสารเรือประเภท “เรือรับส่งคนโดยสารกับสินค้า” เขาได้พรรณนาให้เห็นภาพชาวเรือที่กำลังขนสินค้าขึ้นเรือ และผู้คนนานาชาติจำนวนมากที่โดยสารเรือนี้ จากปีนังถึงเมืองพังงาใช้เวลา 3 วัน เดินทางต่อถึงย่างกุ้งใช้เวลาอีก 5 คืน ดังความว่า

“รีบเร่งไปสรงนาวา  ฝากชาวเภตรา

สารพันนานาทุกสิ่ง

มากเพื่อเหลือหลายชายหญิง   มีครบทุกสิ่ง

เทศแขกไทยจีนนานา

พวกชาวสำเภาเภตรา   จัดทุกสินค้า

จิมจวนเวลาตะวันบ่าย…

…เรือล่องออกจากหน้าท่า   คนในนาวา

นับมาได้ห้าร้อยคน

เทศแขกไทยจีนวุ่นวน   นายเรือตรวจคน

แจกตั๋วให้ทุกภาษา

เรือล่องกลางท้องสมุทรทา   ครบสามวันตรา

ถึงเมืองโพงาบุรี

จากแต่นั้นไปไม่มี  อยู่กลางนที

ไม่มีได้เห็นสิ่งใด…

…หวางจะถึงย่างกุ้งประไพ  อยู่กลางสมุทรไทย

นับมาครบห้าราตรี…”

เมื่อเดินทางมาถึงพม่าคณะสำหรุดปานมิได้อยู่นมัสการแต่พระเจดีย์ชเวดากองที่เมืองย่างกุ้งเท่านั้น ยังได้โดยสารรถไฟพม่าจากย่างกุ้งแวะไหว้พระที่เมืองหงสาวดี และนั่งต่อไปจนถึงเมืองมัณฑเลย์ ตลอดจนโดยสารรถไฟจากมัณฑเลย์กลับสู่เมืองย่างกุ้ง รถไฟ หรือ “ม้าเหล็ก” คือหนึ่งในประดิษฐกรรมอันทรงพลังแห่งยุคอาณานิคม เป็นวิธีการเดินทางขนส่งทางบกแบบใหม่ที่ช่วยย่นย่อเวลาและระยะทาง ตลอดจนสามารถขนส่งผู้คนและสินค้าจำนวนมากได้ในคราวเดียวกัน

เจดีย์ชเวดากอง ภาพถ่ายราวปี คงศ. 1895-1915

 

เจ้าอาณานิคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ต่างใช้ทางรถไฟเป็นเครื่องมือในการควบคุมทางการเมืองและทำประโยชน์ทางเศรษฐกิจในดินแดนอาณานิคมของตน อังกฤษได้เริ่มสร้างทางรถไฟในพม่าสายแรกในปี พ.ศ. 2420 คือจากเมืองย่างกุ้งถึงเมืองแปร ในปี พ.ศ. 2428 ได้เปิดเส้นทางรถไฟเมืองย่างกุ้งจนถึงเมืองตองอู และต่อมาในปี พ.ศ. 2432 ได้เดินรถไฟจากย่างกุ้งไปถึงเมืองมัณฑเลย์

ส่วนในไทยนั้นทางรถไฟหลวงสายแรก คือ กรุงเทพฯ-อยุธยา เปิดเป็นทางการในปี พ.ศ. 2440 ต่อมาในปี พ.ศ. 2443 ได้เปิดตลอดเส้นทางถึงเมืองนครราชสีมา ทางรถไฟสายเหนือเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2440 โดยแยกจากสายโคราชที่บ้านภาชี กว่าจะสร้างเสร็จโดยสิ้นสุดที่ลำปางในปี พ.ศ. 2459

ส่วนทางรถไฟสายใต้นั้น นับว่าเริ่มสร้างช้ากว่าภาคอื่น ๆ ด้วยเหตุว่าคาบสมุทรมลายูเป็นบริเวณที่ติดต่อกับกรุงเทพฯ อย่างสะดวกรวดเร็วที่สุดด้วยการขนส่งทางน้ำการเดินเรือทะเล ด้วยเหตุผลทางความมั่นคงในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงเร่งรัดการสร้างทางรถไฟไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือก่อน

เส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงแรกคือ กรุงเทพฯ-เพชรบุรี เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2442 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2446 จากเงื่อนไขในสนธิสัญญาที่ทำกับอังกฤษ ร.ศ. 127 นั้น ในปี พ.ศ. 2452 รัฐบาลไทยจึงได้กู้เงินจากสหพันธรัฐมลายูเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ เริ่มสร้างจากเพชรบุรี กันตัง และสงขลา เชื่อมต่อจากกรุงเทพฯ ถึงสงขลาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ส่วนทางรถไฟที่เชื่อมกับทางรถไฟสายมลายูนั้นเริ่มสร้างปี พ.ศ. 2461 แล้วเสร็จและเปิดเดินรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ-ไปร (ตรงข้ามเกาะปีนัง) อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2465

ช่วงที่คณะสำหรุดปานเดินทางนั้น สันนิษฐานว่าการสร้างทางรถไฟสายใต้ของไทยยังอยู่ในช่วงดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ ด้วยสำหรุดปานมิได้กล่าวถึงรถไฟสายใต้ไว้ในงานประพันธ์ของเขา จากสำนวนการเขียนของเขามิได้แสดงความตื่นเต้นหรือประหลาดใจกับการได้โดยสารรถไฟมากนัก กล่าวเพียงแต่การเปรียบเทียบความรวดเร็วในการเดินทาง อาทิ หากเดินเท้าจากย่างกุ้งไปยังเมืองหงสาวดีต้องใช้เวลา 5 คืน แต่สำหรับรถไฟใช้เวลาเพียงแค่ 2 ยาม หรือประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น ส่วนจากหงสาวดีต่อไปยังมัณฑเลย์ใช้เวลาอีกหนึ่งวันหนึ่งคืน สำหรุดปานบันทึกว่าค่าโดยสารจากย่างกุ้ง “…สำมรับที่จะขึ้นรถไฟ พอถึงเข้าไป ปราศรัยว่าซัวมันทเล… เสียคนหกบาทไม่ผ่อน…”

ท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการในพระราชวังมัณฑะเลย์

 

ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า อันที่จริงในวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้เขียนระบุว่าเดินทางด้วยรถไฟจากเมืองย่างกุ้งเพื่อจะไปเมืองอังวะ… แต่จากการบรรยายในรายละเอียดที่ระบุว่า รถไฟเข้าไปจอดที่ชานชาลากลางตัวเมือง เดินจากสถานีรถไฟไปยังวัดที่ตั้งใจมานมัสการพระพุทธรูปใหญ่ก็ไม่ไกลนัก สามารถมองเห็นวิหารของวัดนี้ได้เมื่อรถไฟแล่นผ่าน เมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปตรวจสอบกับข้อเท็จจริง พบว่าลักษณะของเมืองและวัดที่สำหรุดปานบรรยายและเรียกว่า “เมืองอังวะ” นั้น แท้ที่จริงแล้ว คือเมืองมัณฑเลย์ เมืองหลวงสุดท้ายของอาณาจักรพม่าก่อนจะเสียเอกราชให้กับอังกฤษจนหมดสิ้น

ทั้งนี้เนื่องจาก ประการแรก รถไฟสายย่างกุ้ง-มัณฑเลย์ มิได้แล่นผ่านเข้าไปในเขตตัวเมืองอังวะ แต่รถไฟจะแล่นผ่านเมืองตะดาอู (Tadau) ซึ่งในสมัยอาณานิคมเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการประจำเมืองอังวะ มณฑลสะกาย ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองอังวะห่างกันประมาณ 3 ไมล์ หรือเกือบ 5 กิโลเมตร และแล่นผ่านเมืองอมรปุระ ก่อนที่จะถึงเมืองมัณฑเลย์

ประการที่ 2 พุทธสถานเก่าแก่ในเมืองอังวะมีเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง และสันนิษฐานว่าไม่ได้รับความสำคัญมากนัก หากเทียบกับพุทธสถานในเมืองอื่น ๆ อาทิ ย่างกุ้ง หรือมัณฑเลย์ เนื่องด้วยวัดเก่าในเมืองอังวะมิได้เป็นวัดที่สร้างโดยพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระพุทธรูปองค์สำคัญแต่อย่างใด เมื่อครั้งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จประพาสเมืองพม่าในปี พ.ศ. 2478 มิได้ทรงแวะเยี่ยมชมเมืองเก่าอังวะ วัดในเมืองอังวะจึงมิน่าจะเป็นจุดหมายสำคัญในการจาริกแสวงบุญของคณะสำหรุดปานครั้งนี้

ประการสุดท้าย จากคำพรรณนาถึงลักษณะพระพุทธรูปและวิหารแล้ว มีความใกล้เคียงกับวัดยะไข่ที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของพม่าที่ได้มาจากรัฐยะไข่ วัดพระมหามัยมุนีอยู่ทางตอนเหนือของเมืองอมรปุระ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองมัณฑเลย์ไปทางใต้เพียง 4-5 กิโลเมตรเท่านั้น นอกจากนี้แล้ว วัดพระมหามัยมุนีนี้ตั้งอยู่ใกล้ทางรถไฟและสถานีรถไฟมัณฑเลย์

เมืองย่างกุ้งในปี ค.ศ. 1941

 

จากมัณฑเลย์คณะสำหรุดปานโดยสารรถไฟกลับสู่เมืองย่างกุ้ง ในการเดินทางกลับเมืองสงขลานั้นคณะสำหรุดปานมิได้ใช้เส้นทางเดิมคือการโดยสารเรือไปปีนังเหมือนอย่างขามา แต่โดยสารเรือสินค้าของชาวอินเดียจากย่างกุ้งมายังเมืองมะริด ใช้เส้นทางข้ามคาบสมุทรที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณข้ามจากฝั่งอันดามันกลับมายังฝั่งอ่าวไทย จากมะริดมุ่งสู่เมืองตะนาวศรี ใช้เส้นทางด่านสิงขร ข้ามมายังเมืองปราณบุรี ซึ่งเส้นทางนี้เป็นเส้นทางเดียวกับที่กองทัพพม่ายกทัพมาสมัยสงครามปลายกรุงศรีอยุธยาต่อต้นรัตนโกสินทร์

จากปราณบุรีคณะสำหรุดปานอาศัยโดยสารเรือเมล์ไปยังหลังสวน จากนั้นจึงแยกกันเดินทาง สำหรุดปานโดยสารเรือเมล์ไปยังเมืองสงขลา ส่วนพระแก้ว พระเนียม และเด็กชายอินทองเดินเท้าจากหลังสวนไปยังเมืองไชยาและนครศรีธรรมราช เพื่อนมัสการพระบรมธาตุเมืองนคร แล้วจึงเดินทางกลับสงขลาในที่สุด

จากปราณบุรีถึงสงขลาด้วยระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร คงต้องใช้เวลาหลายเดือนหากต้องเดินเท้า น่าจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่สำหรุดปานเลือกที่จะใช้การคมนาคมทางน้ำ คือ การโดยสารเรือเมล์แวะพักไปแต่ละเมือง เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของภาคใต้เป็นลักษณะของคาบสมุทรยาว เมืองต่าง ๆ ส่วนใหญ่ทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันสามารถเดินทางถึงกันได้โดยการเดินเรือชายทะเล การเดินทางไกลระหว่างเมืองของชาวปักษ์ใต้ในยุคก่อนที่จะมีรถไฟสายใต้นั้น มักจะไปทางเรือมากกว่าจะเดินทางบกเนื่องจากรวดเร็วกว่า

การเดินเรือเมล์เพื่อรับส่งผู้โดยสารและขนถ่ายสินค้าระหว่างเมืองท่าของไทยนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 สำหรับภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ในปี พ.ศ. 2465 พระรัฐหิรัณยากร (สอน สุคนธะตามร์) ข้าราชการศุลกากร มณฑลนครศรีธรรมราช ได้เริ่มธุรกิจเดินเรือยนต์ประจำทางสายสงขลา-พัทลุงขึ้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 8-10 ชั่วโมง มีเรือบริการทุกวัน ออกจากต้นทางทั้ง 2 แห่งพร้อม ๆ กัน เวลาประมาณ 07.00 น. ถึงปลายทางประมาณ 16.00 น. ต่อมาได้มีเรือด่วนสงขลา-ระโนด หัวไทร-ปากพนัง หัวไทร-ชะอวด ปากพนัง-ชะอวด ระโนด-ลำปำ ระโนด-ปากคลอง ระโนด-ทะเลน้อย ระโนด-หัวไทร และบ้านดอน-เกาะสมุย การเดินเรือรับส่งคนในบริเวณนี้เป็นของเอกชนทั้งสิ้น

ประสบการณ์ของสำหรุดปานสะท้อนให้เห็นว่าก่อนหน้าจะมีทางรถไฟสายใต้ การเดินทางไกลระหว่างหัวเมืองภาคใต้ในฝั่งอ่าวไทยด้วยเรือเมล์นั้นสะดวก รวดเร็ว และน่าจะเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนมากกว่าการเดินทางเกวียนทางบก

 

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง : เมืองพม่าในสายตาคนปักษ์ใต้” เขียนโดย ดร. ภมรี สุรเกียรติ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 กรกฎาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_72285

The post ตามรอย “สำหรุดปาน” ผู้แสวงบุญจากสงขลาไปพม่า สู่นิราศพระธาตุเมืองย่างกุ้ง appeared first on Thailand News.