จุดกำเนิดเครือข่ายการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ
สถานีขนส่งไม่ทราบสถานที่ สันนิษฐานว่าถ่ายในช่วงปี 2502-10 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558)
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558
ผู้เขียน
ผศ. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
เผยแพร่
วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2565
รถยนต์โดยสารประจำทาง การเดินทางภายในประเทศไทย
กิจการขนส่งทางบกนั้น อาจแบ่งประเภทหยาบ ๆ ได้ 2 ส่วน นั่นคือ ส่วนรับส่งสินค้า และส่วนรับส่งผู้โดยสาร ในกรณีส่วนรับส่งสินค้านั้นจะละไว้ไม่กล่าวถึง เนื่องจากในที่นี้เน้นความสำคัญของประสบการณ์เดินทางของคนเป็นหลัก และการขนส่งมวลชนดังกล่าวก็ต้องอาศัยรถยนต์โดยสารประจำทาง หรือที่เรียกกันอย่างลำลองว่า รถโดยสารประจำทาง
ซึ่งการเดินรถดังกล่าวไม่ว่าจะโดยรัฐในนามบริษัท ร.ส.พ. เดินรถ หรือในนามบริษัทเอกชน กลับปรากฏหลักฐานว่ามีการกำหนดสายการให้บริการเดินรถอย่างช้าที่สุดคือในปี 2498 [1] ประกาศดังกล่าวในตอนนั้นเป็นเพียงการประกาศควบคุมเส้นทางเดินรถภายในจังหวัดพระนครและธนบุรี
ทศวรรษต่อมา รัฐมีนโยบายเดียวกันที่จะควบคุมเส้นทางเดินรถที่เชื่อมไปยังส่วนภูมิภาคในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย พ.ศ. 2502 มีการประกาศเส้นทางระยะไกลในเขต 30 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 5 สาย [2] คือ สายใต้ สายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออก และสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล
แต่ระยะทางดังกล่าวมานั้นไม่ครอบคลุมอาณาเขตทั่วทั้งประเทศ ในปีถัดมาก็มีการกำหนดเพิ่มเติมด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้เหมาะสม ประกาศนี้ทำให้เส้นทางเดิมทั้ง 5 สายที่จำกัดอยู่เฉพาะ 30 จังหวัด ได้แผ่ขยายออกไปมากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทั้งประเทศ [3]
สายเหนือไปถึงเพียงจังหวัดนครสวรรค์ สายตะวันออกเฉียงเหนือไปหยุดที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่สายใต้ก็ลงไปถึงแค่จังหวัดชุมพร จะมีก็เพียงสายตะวันออกและสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเลที่เดินรถไปจนสุดเส้นทาง คือ จังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดตราด
กว่าจะประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงระบบควบคุมการเดินรถได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศก็ล่วงมาถึงปี 2507 พบว่ามีประกาศถึง 2 ฉบับ [4] ที่กำหนดเส้นทาง 2 ส่วน กล่าวคือ เส้นทางที่เริ่มต้นจากจังหวัดพระนคร (หรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) ที่มีจุดเริ่มต้นที่สถานีขนส่งกรุงเทพฯ ไปสู่สถานีขนส่งจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางการเดินทางระดับชาติโดยอาศัยกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเครือข่าย และประกาศเส้นทางระหว่างสถานีขนส่งจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง นับเป็นเครือข่ายการเดินทางในภูมิภาค [5]
จัดตั้งสถานีขนส่ง ณ ศูนย์กลางประเทศ
ปลายปี 2498 มีการตั้งสถานีขนส่งที่สนามหน้าวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) อำเภอพระนคร และบริเวณข้างสถานีตำรวจจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ ในปีต่อมา แต่ลักษณะสถานีขนส่งดังกล่าวมีเส้นทางจำกัดอยู่เพียงสายใต้ ได้แก่ นครปฐม ราชบุรี โพธาราม สุพรรณบุรี หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ มิเพียงเท่านั้น พื้นที่ดังกล่าวยังรองรับรถขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) กับบริษัทเอกชนบางบริษัทเท่านั้น [6]
และยังพบว่าไม่มีหน่วยงานใด ๆ เข้าไปควบคุมการเดินรถอย่างจริงจัง จึงมีผู้ประกอบการเดินรถอย่างไร้การควบคุม มีการจอดรถรับส่งผู้โดยสารบนผิวจราจรตามอำเภอใจในเขตกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณวงเวียน 22 กรกฎาคม หัวลำโพง และเสาชิงช้า ทั้งยังพบว่ามีบริษัทเดินรถเอกชนยังมีการแข่งขันกันโดยมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลังอยู่ ซึ่งกลายเป็นปัญหาความปลอดภัยในการเดินทาง… [7]
ในทศวรรษต่อมา รัฐได้สร้างจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างกรุงเทพฯ กับภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบด้วยการจัดตั้งสถานีขนส่งที่รับส่งผู้โดยสารระดับประเทศ โดยมีการจัดแบ่งสัดส่วนสถานีตามเส้นทางการขนส่งไปสู่ภูมิภาคต่างๆ เมื่อปี 2503 [8] จำแนกเป็น 3 แห่ง ได้แก่
1. สถานีขนส่ง ณ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (ที่เรารู้จักกันอย่างลำลองว่า สถานีขนส่งหมอชิต) ให้รถยนต์โดยสารประจำทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายตะวันออก ใช้เป็นที่หยุด หรือจอดเพื่อทำการขนส่ง
2. สถานีขนส่ง ณ ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง (สถานีขนส่งเอกมัย) สำหรับสายตะวันออกเลียบชายฝั่งทะเล
3. สถานีขนส่ง ที่ตั้งอยู่ริมถนนจรัญสนิทวงศ์ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี สำหรับสายใต้
ทำให้เห็นว่าเครือข่ายการเดินทางโดยรถยนต์โดยสารประจำทางโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างจริงจังยิ่งขึ้น แม้ในปี 2503 เส้นทางการเดินรถยังไม่ครอบคลุมทั้งหมดทั่วประเทศ แต่สถานีขนส่งทั้งหลายก็ได้กลายเป็นหมุดหมายและสัญลักษณ์สำคัญของการเดินทางระดับประเทศจวบถึงปัจจุบัน
ควรกล่าวด้วยว่าสถานีขนส่งประจำจังหวัดนั้นเริ่มต้นประกาศอย่างเป็นทางการอย่างล่าช้า เชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียวที่จัดให้มีสถานีขนส่งเมื่อปี 2509 จากนั้นตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นไป จึงได้มีการทยอยจัดตั้งสถานีขนส่งตามจังหวัดต่าง ๆ [9]
เชิงอรรถ :
[1] “ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 22, 22 มีนาคม 2498, น. 693-706. และปรากฏว่าเส้นทางการเดินรถยังมีการปรับเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง
[2] “ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารประเภทระยะทางไกลในเขต 30 จังหวัด” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 76 ตอนที่ 107, 16 พฤศจิกายน 2502, น. พิเศษ 1.
[3] “ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางต่างจังหวัด” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอนที่ 15, 23 กุมภาพันธ์ 2503, น. 457.
[4] “ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2507) เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด (เฉพาะที่เริ่มต้นจากจังหวัดพระนคร)” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 112, 25 พฤศจิกายน 2507, น. พิเศษ 1-22.
[5] “ประกาศคณะกรรมการควบคุมการขนส่ง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2507) เรื่อง กำหนดเส้นทางสำหรับการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด (จังหวัดในส่วนภูมิภาค)” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 112, 25 พฤศจิกายน 2507, น. พิเศษ 22-66.
[6] “ประกาศกระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 21, 18 มีนาคม 2498, น. พิเศษ 1-2 และ “ประกาศกระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เรื่องกำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 27, 12 เมษายน 2498, น. 815-816. รวมถึง “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดเพิ่มเติมให้รถยนต์ประจำทางบริษัทยานยนต์นครปฐมขนส่ง จำกัด เข้าจอดในสถานีขนส่งได้อีก 3 สาย” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 72 ตอนที่ 59, 9 สิงหาคม 2498, น. 1891. รวมถึง “ประกาศกระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 30, 3 เมษายน 2499, น. 1100. อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าการเดินรถจะมีสายการเดินรถเพียงเท่านั้น การเดินรถอาจมีกระจายอยู่ทั่วไป แต่ไม่ได้ถูกนับให้เป็นระบบมาตรฐานเดียวกันที่รัฐควบคุมได้
[7] บริษัทขนส่ง. บริษัทขนส่ง จำกัด. กรุงเทพฯ : บขส., 2524, น. 46.
[8] “ประกาศกระทรวงคมนาคมและมหาดไทย เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอนที่ 15, 23 กุมภาพันธ์ 2503, น. 455-457. และ “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่ง” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 77 ตอนที่ 47, 3 มิถุนายน 2503, น. 1508.
[9] “ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง กำหนดสถานที่ใช้เป็นสถานีขนส่งและกำหนดประเภทหรือชนิดของยานพาหนะที่จะต้องหยุดหรือจอดเพื่อการขนส่งในจังหวัดเชียงใหม่” ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 83 ตอนที่ 59, 12 กรกฎาคม 2509, น. 2256.
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาบางส่วนจากบทความ ระบอบทางหลวงแผ่นดินในยุคเผด็จการ พลังของระบบขนส่งทางบกใหม่ ในฐานะอภิมหาโครงการที่สร้าง “พื้นที่ประเทศไทย” ทศวรรษ 2500 เขียนโดย ผศ. ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ตุลาคม 2564
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_76036
The post จุดกำเนิดเครือข่ายการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ appeared first on Thailand News.