บทบาทสตรี สมัยรัชกาลที่ 4-5 นอกจากเป็นแม่ เป็นเมีย ยังเป็นอะไรอีกบ้าง?
สตรีสมัยต้นรัชกาลที่ 5 (ภาพจาก “วิวัฒนาการการแต่งกาย สมัยกรุงรัตนโกสินทร์” กรมศิลปากร)
ช่วงรัชกาลที่ 4-5 (พ.ศ. 2394-2453) ขณะที่ผู้ชายทั่วไปส่วนใหญ่ ยุ่งกับการทำมาหากิน ผู้ชายที่เป็นผู้นำกำลังยุ่งกับการบ้านการเมือง แล้วสตรีไทยหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับผู้นำ นอกเหนือจากการเป็น “แม่” และ “ภรรยา” ยังมีบทบาทอื่นในสังคม ตามความสามารถไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา, อาหาร, ศิลปินการแสดง, สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ ดังเช่นตัวอย่างต่อไปนี้
พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินินาฏ
พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฏ ทรงตั้ง “โรงเลี้ยงเด็ก” เมื่อเดือนเมษายน ปี 2443 เพื่อเป็นที่ระลึกและอุทิศส่วนพระราชกุศลพระราชทานแก่พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านภาจรจำรัศศรี โดยโรงเลี้ยงเด็กเปิดรับเด็กอ่อน จนถึงอายุปี 13 ปี (ถ้าเป็นเด็กชายรับแค่อายุ 11ปี) ที่เป็นเด็กกำพร้า, เด็กที่พ่อแม่ยากจน, เด็กที่ทุพพลภาพ, เด็กไร้ญาติอุปถัมภ์ มาอบรมและฝึกมีความรู้ประกอบอาชีพ แต่ภายหลังนักเรียนส่วนใหญ่กลับกลายเป็นลูกผู้มีฐานะดีซึ่งไม่ตรงกับวัตุประสงค์ จึงยุบโรงเลี้ยงเด็กไปในปี 2454
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตรมงคล ทรงสนพระทัยในงานด้านศิลปะ การแสดง และทรงริเริ่มในการฝึกละครข้าหลวง ตั้งเป็นคณะนาฏดุริยศิลปิน โดยทรงเสียสละทุนทรัพย์ส่วนพระองค์, ทรงออกแบบประดิษฐ์สร้างเครื่องโขนละครด้วยฝีมือพระองค์เอง รวมทั้งกำหนดเรื่องโขนละคร การฝึกซ้อมและการแสดง
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ว่า ท่านเป็นผู้หญิงที่ปรับตัวเร็ว และผู้นำด้านการแต่งกาย เช่น เมื่อเลิกไว้ผมปีกมาไว้ผมยาวประบ่า, เมื่อรัชกาลที่ 5 ตรัสรับสั่งให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์นำนางสนมขี่ม้าตามเสด็จ เจ้าคุณจึงแก้ไขเครื่องแต่งกายจากห่มแพรสไบเฉียง มาเป็นสะพายแพรและใส่หมวก ฯลฯ จนได้ฉายาว่า Leader of Fashion
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ที่ทรงมีความสามารถในด้านอาหารคาวหวาน เพราะได้เสด็จอยู่ในสำนักของพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี จึงทำให้พระองค์ทรงมีฝีมือด้านอาหารเป็นที่ยอมรับทั้งจากเจ้านายไทยและต่างชาติ
หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อเสด็จยุโรปปี 2473 ทรงส่งลายพระหัตถ์จากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มาถึงท่านหญิงจงจิตรถนอม ความว่า “ชื่อเสียงของเธอมาดังในประเทศเดนมาร์ก ด้วยคราวน์ปริ๊นซ์กับปริ๊นซ์แอกเซลมาเที่ยวโจษเล่าว่า ฝีมือทำกับข้าวไม่มีใครสู้…”
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เคยเสวยเครื่องซึ่งท่านหญิงทรงทำไปถวาย และพระราชทานลายพระหัตถ์ชมเชยคราหนึ่งว่า “…กับเข้าของเธอทุกอย่างที่ทำมา อร่อยทุกสิ่ง…แม้แต่กะปิพล่า ซึ่งเป็นของทำอย่างง่ายที่สุด เธอก็ปรุงอร่อยกลมกล่อมดี ถูกปากฉันนัก ฉันลองทำดูบ้าง กว่าจะปรุงได้ที่เหมือนมือเธอ ชิมไปชิมมากว่าจะได้ที่ก็อิ่มพอดี แต่อย่างนั้นก็ยังไม่อร่อยเหมือนเธอทำ…”
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา
หม่อมสุ่น คัคณางค์ ณ อยุธยา ในพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าคัคณางค์ (ภายหลังทรงกรมเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร) ที่ติดตามพระสวามีที่ทรงประจำการทางภาคอีสานและภาคพายัพ เมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 หม่อมสุ่นเป็นแนวหลังที่ช่วยจัดส่งเสบียงอาหาร ยาเวชภัณฑ์ไปยังสมรภูมิ และเป็นผู้นำภรรยาข้าราชการภาคอีสานทำหน้าที่ตัวแทนสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาด)
ในส่วนของตัวแทนสภาอุณาโลมแดง นอกจากหม่อมสุ่น ที่ประจำอยู่จังหวัดจำปาศักดิ์ แล้วก็ยังมีหม่อมจันทร์ และหม่อมนวม ทองใหญ่ ณ อยุธยา ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ที่ประจำอยู่จังหวัดหนองคาย, ท่านผู้หญิงพุ่ม ภริยาเจ้าพระสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ประจำจังหวัดหลวงพระบาง, คุณหญิงบัว ภริยาพระยาอรรคราชนาถภักดี (สวาท บุนนาค) ประจำจังหวัดจันทบุรี ฯลฯ ซึ่งจังหวัดชายแดนเหล่านี้มักมีการสู้รบ จึงต้องการผู้ช่วยเหลือและดำเนินการช่วยพยาบาลทหารที่บาดเจ็บ
ข้อมูลจาก
จิตรลดา ศิริรัตน์. “บทบาทสตรีในสมัย ร.4-ร.5 ที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ” ใน, เอกสารการประชุมทางวิชาการ เรื่อง “ภาษากับประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวในวิชาประวัติศาสตร์ไทย” , โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 16-18 กุมภาพันธ์ 2533
พนิดา สงวนเสรีวานิช. “อาหารชาววังเบื้องหลังโต๊ะเสวย” ใน, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2541
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2563
The post บทบาทสตรี สมัยรัชกาลที่ 4-5 นอกจากเป็นแม่ เป็นเมีย ยังเป็นอะไรอีกบ้าง? appeared first on Thailand News.