ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

จีนโพ้นทะเลหลักๆ ในไทย ไม่ได้มีแต่คนจีนจาก 3 มณฑล ฮกเกี้ยน-ไหหลำ-กวางตุ้ง

จีนโพ้นทะเลหลักๆ ในไทย ไม่ได้มีแต่คนจีนจาก 3 มณฑล ฮกเกี้ยน-ไหหลำ-กวางตุ้ง

เยาวราชชุมชนจีนโพ้นทะเลสำคัญในเมืองไทย

 

เมื่อกล่าวถึงจีนโพ้นทะเลในเมืองไทย ที่เป็นกลุ่มหลักๆ ส่วนใหญ่มักมาจาก 3 มณฑลใหญ่ คือ มณฑลฮกเกี้ยน (ฟูเจี้ยน) ได้แก่ คนฮกเกี้ยน, มณฑลไหหลำ ได้แก่ คนไหหลำ และมณฑลกวางตุ้ง ได้แก่ คนกวางตุ้ง, คนแต้จิ๋ว, แคะ หรือฮากกา (ที่แม้จะเป็นคนมณฑลเดียวกัน แต่ก็มีและใช้ภาษาถิ่นของตนเอง) อันเป็นที่มาของ “คนจีน 5 กลุ่มภาษา” คือ “ฮกเกี้ยน, ไหหลำ, กวางตุ้ง, แต้จิ๋ว, แคะ”

แต่ในไทย ยังมีจีนโพ้นทะเลกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มที่มาจาก “มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ๋อเจียง”

มณฑลเจียงซู และมณฑลเจ๋อเจียง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของประเทศจีน และมีพื้นที่อยู่ชายฝั่งทะเลเช่นกันกับมณฑลกวางตุ้ง, มณฑลฮกเกี้ยน และมณฑลไหหลำ โดยมณฑลเจ๋อเจียงอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลฮกเกี้ยน ถัด (จากมณฑลเจ๋อเจียง) ขึ้นไปเป็นมณฑลเจียงซู ภาษาถิ่นของทั้ง 2 มณฑล คือ ภาษาอู๋

ชาวจีนจากมณฑลเจียงซู และมณฑลเจ๋อเจียง เข้ามาเมืองไทยตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จำนวนประชากรของทั้งสองมณฑลอาจมีจำนวนไม่มากนัก และไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป แต่ก็มีผลงานที่สร้างชื่อในประเทศไทย นั่นคือ “เครื่องเรือนเซี่ยงไฮ้” ซึ่งเมื่อเทียบผลงาน โต๊ะ, เก้าอี้, ตู้, เตียง ฯลฯ ที่ผลิตจากไม้เหมือนกัน แต่เครื่องเรือนเซี่ยงไฮ้ สวยคลาสสิกกว่า, การใช้งานดีกว่า สบายกว่า เพราะขนาดเครื่องเรือนจะสอดคล้องกับสัดส่วนร่างกายคน

ชาวจีนจากมณฑลเจียงซู และมณฑลเจ๋อเจียง ก็เหมือนจีนโพ้นทะเลอื่นๆ เมื่อมาอยู่ในต่างแดนด็มีการรวมตัวกัน ก่อตั้งเป็น “สมาคมเจียงเจ๋อ” เมื่อ พ.ศ. 2466 ซึ่งก็เป็นช่วงไล่กับสมาคมอื่นๆ เช่น สมาคมกวางสิว ของจีนกวางตุ้ง (พ.ศ. 2420), สมาคมไหหลำ (พ.ศ. 2443), สมาคมฮากกา (พ.ศ. 2452) และรวดเร็วกว่าสมาคมแต้จิ๋วที่จดเทะเบียนเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2481

สมาคมเจียงเจ๋อยังมีบทบาทรวมกันสมาคมจีนอื่นๆ ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับชาวจีนโพ้นะเลในไทย เช่น เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างทหาร-ตำรวจไทย กับชาวจีนโพ้นทะเลที่ย่านทีงั่วที่เยาวราช เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (ขอไม่กล่าวรายละเอียดในที่นี้) สมาคมจึงก็รวมกับสมาคมจีนทั้ง 5 ภาษา และหอการค้าจีน ออกประกาศเรียกร้องให้ชาวจีนโพ้นทะเลช่วยกันรักษาความสงบ ตีพิพม์ในหนังสือพิมพ์ตงง้วนป่อ ฉบับวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2488 ความว่า (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

เราชาวจีนโพ้นทะเลมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย มีประวัติความเป็นมาช้านาน เราต่างประกอบสัมมาอาชีวะทั้งทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม โดยไม่มีเจตนาเป็นอื่นโดยเด็ดขาด ยังผลให้สัมพันธภาพระหว่างชาติไทยกับชาติจีนนับวันยิ่งสนิทแน่นแฟ้น มาเกิดอุบัติเหตุย่านเยาวราช กรุงเทพฯ เมื่อวันวาน เราบรรดาองค์กรข้างท้ายรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง

จึงขอประกาศร่วมกันว่า เราชาวจีนโพ้นทะเลทั้งผองพึงตั้งอยู่ในความสงบบนตำแหน่งการงานของตน รักษาระเบียบ ทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นปกติ อย่าได้มีพฤติกรรมที่ผิดทำนองคลองธรรมเป็นสำคัญ

หอการค้าจีน สมาคมแคะ สมาคมไหหลำ สมาคมแต้จิ๋ว สมาคมฮกเกี้ยน สมาคมกวางสิว และสมาคมเจียงซู-เจ้อเจียง [สมาคมเจียงเจ๋อ]

ข้อมูลจาก

อู๋จี้เยียะ. 60 ปีโพ้นทะเล, สำนักพพิมพ์โพสต์ พับลิชชิ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2553

จี.วิลเลียม สกินเนอร์. สังคมจีนในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์, พิมพ์ครั้งที่ 3 (ฉบับปรับปรุงใหม่) เมษายน 2564

ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2554

เชาวน์ พงษ์พิชิต. ลูกจีนรักชาติ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2553

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 มีนาคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_84014

 

The post จีนโพ้นทะเลหลักๆ ในไทย ไม่ได้มีแต่คนจีนจาก 3 มณฑล ฮกเกี้ยน-ไหหลำ-กวางตุ้ง appeared first on Thailand News.