สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กับคุณค่า 3 ประการ ทำให้เป็น “มิวเซียม” ที่มีชีวิต
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ภาพจาก ห้องสมุดภาพ มติชน, สงวนลิขสิทธิ์)
สโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ในหัวข้อ “หัวลำโพง” สเตชั่น วิทยากรโดย ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร เสวนาแลกเปลี่ยนหลากมุมมองเกี่ยวกับสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ “หัวลำโพง”
รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร เริ่มการเสวนาโดยอธิบายถึงสถานที่ตั้งสถานีรถไฟกรุงเทพ ระบุว่า นับแต่การขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อสอดรับกับการขยายตัวของกรุงเทพฯ ไปทิศตะวันออก ทำให้ย่านการค้าเจริญเติบโตและขยายตัวออกไปนอกกำแพงเมืองทางด้านนั้นมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นย่านการค้าที่สำคัญเรื่อยมาถึงปากคลองผดุงกรุงเกษม หรือบริเวณตลาดน้อย
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙
การสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพขึ้นละแวกนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่กายภาพสามประการ คือ หนึ่ง อยู่ใกล้กับแหล่งเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายในการขนถ่ายสินค้าและผู้คน, สอง เป็นทุ่งโล่งกว้างขวาง เหมาะสมต่อการวางโครงสร้างขนาดใหญ่ และสาม สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายปากน้ำ ซึ่งเชื่อมโยงทั้งพื้นที่ภายในและภายนอก ทั้งในแง่อาณาจักรและนอกอาณาจักร ดังนั้น จึงเลือกเอาบริเวณชายคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งตะวันออก ในการก่อสร้างสถานีรถไฟกรุงเทพ
รศ.ดร.ประภัสสร์ ระบุว่า ที่ตั้งสถานีรถไฟกรุงเทพจึงเป็น “โลจิสติกส์ที่สะดวกสบายที่สุดในสมัยนั้น”
“รถไฟ” ถือเป็นสิ่งที่แสดงความเจริญก้าวหน้าแห่งยุคสมัย เป็นระบบการคมนาคมและการขนส่งที่สำคัญ และยังเป็นการขยายอำนาจจากเมืองหลวงไปสู่หัวเมือง ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ กล่าวสรุปว่า ทางรถไฟเป็นการคมนาคมที่มีเป้าหมายหลักในการขนส่งทางเศรษฐกิจและการคมนาคมของผู้คน การรถไฟเกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของสยามเข้าสู่สมัยใหม่ ที่ยังเอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ ขนส่งคนและทรัพยากรเข้าสู่ส่วนกลาง และนำส่วนกลางเข้าปกครองสู่ท้องถิ่น
ศ.ดร.ชาตรี เปรียบเทียบกับกรณีการเร่งพัฒนาถนนในยุคทศวรรษ 2500 ที่รัฐบาลกำลังต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยระบุว่า การคมนาคมที่สะดวกสบายในด้านหนึ่งมีประโยชน์ต่อด้านเศรษฐกิจ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการเมืองและการปกครอง สำหรับสถานีรถไฟกรุงเทพนั้น มีฟังก์ชันการทำงานในลักษณะเช่นนี้ด้วย โดยนอกเหนือจากการแสดงความ “ศิวิไลซ์” ของสยาม และประโยชน์ใช้สอยทางด้านการคมนาคมขนส่งแล้ว ชนชั้นนำสยามก็ใช้ประโยชน์ของรถไฟในการนำอำนาจของรัฐส่วนกลางไปสู่หัวเมืองได้อย่างรวดเร็ว
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง สร้างและเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2459 ถือเป็นสถาปัตยกรรมในกิจการขนส่งสาธารณะที่มีความเก่าแก่ที่สุดที่ยังใช้งานอยู่ของประเทศไทย ภาพถ่ายราวสมัยรัชกาลที่ 6 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
อย่างไรก็ตาม นับจากการคมนาคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากทางรางมาเป็นทางถนน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กระทั่งมาเข้มข้นมาขึ้นในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาพร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ทางรถไฟค่อย ๆ ถูกพับแผนการก่อสร้างหรือแผนพัฒนาลงเรื่อย และถนนได้กลายเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นที่ฐานที่สำคัญมากกว่ารถไฟ รัฐบาลในสมัยนั้นมุ่งพัฒนาถนนมากยิ่งขึ้น เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทุรกันดารกับเมือง อันมีปัจจัยเรื่องภัยคอมมิวนิสต์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้การคมนาคมทางราง และสถานีรถไฟกรุงเทพเสื่อมลงอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา จากย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ แปรเปลี่ยนกลายเป็นย่านที่เสื่อมโทรม และมีความสำคัญทางเศรษฐกิจน้อยลง
ศ.ดร.ชาตรี ระบุถึงการพัฒนาการรถไฟในสมัยจอมพลสฤษดิ์ว่า เป็นไปในลักษณะการซ่อมเสริม ไม่ใช่การพัฒนา ขณะที่ รศ.ดร.ประภัสสร์ ชี้ให้เห็นว่า ในสมัยนั้นมีแผนหรือโครงการสร้างทางรถไฟหลายเส้นทาง แต่หลายโครงการถูกยุบ แสดงให้เห็นถึงการลดลงของความสำคัญของเส้นทางรถไฟ ซึ่งชะงักลงในสมัยจอมพลสฤษดิ์
สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) (ภาพจาก ห้องสมุดภาพ มติชน)
ในสมัยต่อมา จึงมีความพยายามจากหลายรัฐบาลและการรถไฟเองที่จะย้ายสถานีรถไฟกรุงเทพออกจากพื้นที่ใจกลางเมือง และเปลี่ยนพื้นที่เดิมไปสู่การอนุรักษ์ แต่นั่นได้ทำลายคุณค่าของสถานีรถไฟกรุงเทพเสียเอง
รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวสรุปเกี่ยวกับคุณค่า 3 ประการของสถานีรถไฟกรุงเทพไว้ดังนี้ หนึ่ง คือ คุณค่าด้านศิลปกรรม เป็นคุณค่าที่จับต้องได้ คือ มีการตกแต่งสถานีด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตก มีสุนทรียะ มีภูมิปัญญา อันสะท้อนวิศวกรรมการก่อสร้างของสยามในยุคนั้น ที่ได้รับมาจากอิทธิพลของตะวันตก สอง คือ คุณค่าสำคัญในด้านฐานะที่เป็นหลักทางประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมสมัยใหม่ยุคแรกของไทย เป็นหมุดหมายสำคัญของหลายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และยังเป็นภาพสะท้อนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เห็นจากรูปแบบศิลปกรรมของสถานี
ทหารญี่ปุ่น ขณะกำลังถูกนำไปยังพื้นที่ควบคุม หลังถูกปลดอาวุธ สันนิษฐานว่า ถ่ายเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 และสันนิษฐานว่า ภาพนี้ถ่ายที่สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) (ภาพจาก เว็บไซต์ Imperial War Museums)
และสาม คือ คุณค่าในฐานะที่ยังเป็นสถานีรถไฟในการขนส่งมวลชน ยังรับใช้การคมานาคมขนส่งจนถึงปัจจุบัน เป็นศูนย์ร่วมการคมนาคมชานเมืองและภูมิภาค รศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ถ้าสถานีรถไฟกรุงเทพยังถูกใช้งานอยู่ ทั้งสามข้อนี้จะทำให้เป็นหัวลำโพงเป็นมิวเซียมที่มีชีวิต
ทั้ง ศ.ดร.ชาตรี และ รศ.ดร.ประภัสสร์ ได้ยกตัวอย่างการพัฒนาสถานีรถไฟในต่างประเทศ ทั้งที่ยังใช้งานอยู่และเลิกใช้งานแล้ว มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งสถานีรถไฟในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่ละสถานีมีแนวทางการพัฒนาแตกต่างกัน แต่การพัฒนาเหล่านั้นสอดรับกับบริบทและความต้องการของแต่ละท้องที่ ซึ่งวิทยากรทั้งสองท่านต่างชี้ให้เห็นแนวทางและประโยชน์ของการพัฒนาสถานีรถไฟในต่างประเทศเหล่านั้น อันสามารถนำมาเป็น “โมเดล” ปรับใช้กับสถานีรถไฟกรุงเทพได้
Source: https://www.silpa-mag.com/
The post สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) กับคุณค่า 3 ประการ ทำให้เป็น “มิวเซียม” ที่มีชีวิต appeared first on Thailand News.