ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

2469 รถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ ความเจริญ-ของอร่อย ของแปลกที่มาพร้อมกัน

2469 รถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ ความเจริญ-ของอร่อย ของแปลกที่มาพร้อมกัน

ชาวบ้านเดินเลียบทางรถไปที่อยู่บนเนินดินสูง (ภาพจาก หนังสือ100 เรื่องเมืองสุรินทร์)

 

เรื่องการเดินรถไฟถึงจังหวัดสุรินทร์เป็นครั้งแรกนั้นเป็นอย่างไร ไพบูลย์ สุนทรารักษ์ เขียนไว้ในบทความชื่อ ข่าวรถไฟ เมื่อปี 2469 ว่าเมื่อ 90 กว่าปีก่อน ความเจริญก็ดี, ของใหม่แปลกก็ดี ที่มาพร้อมกับรถไฟจากกรุงเทพมหานครมีอะไรบ้าง

ไพบูลย์ สุนทรารักษ์ นั้นเป็นชาวสุรินทร์ เกิดในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 (พ.ศ. 2454-2467) เริ่มเรียนหนังสือในปี 2469 ซึ่งในปีนั้นรถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับรถไฟนี้จึงเป็นประสบการณ์ตรงของเขา ซึ่งในที่นี้ขอสรุปบางส่วนมานำเสนอ

ไพบูลย์เล่าว่า เมื่อรถไฟมาถึงจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้คนในเมือง (สุรินทร์) ต่างก็พูดคุยกันว่า อีกไม่นานรถไฟจะมาถึงจังหวัดสุรินทร์ ประเด็นสนทนาในเวลาจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับรถไฟ และสิ่งที่จะมากับรถไฟ เป็นสำคัญ

วันที่ 1 พฤษภาคม 2469 รถไฟก็แล่นมาถึงจังหวัดสุรินทร์  ผู้คนแตกตื่นไปดูกันแน่นขนัด พร้อมกับเสียงเล่าลือว่า รถไฟหลวงมีผีสิง เพราะทับคนตายบ่อย ไหนจะคนขับที่เป็นคนแขก หน้าตาน่ากลัว ในระยะแรกรถไฟจึงเป็นของน่ากลัวที่ใครๆ ก็ไม่กล้าเข้าใกล้

รถไฟหัวรถจักรไอน้ำในยุคแรกๆ ที่ลือกันว่ามีผีสิง เพราะทับคนตายบ่อย (ภาพจาก หนังสือ100 เรื่องเมืองสุรินทร์)

 

ก่อนรถไฟจะมาถึง ผู้ใหญ่บอกว่า รถไฟจะมาพร้อมกับของกินจากกรุงเทพฯ เช่น ปลาทูเค็ม ปลาทูนึ่ง ส้มโอหวาน ทุเรียนกวน ฯลฯ และเมื่อรถไฟมาถึงจริง ก็เป็นเช่นนั้น ทั้งที่จังหวัดสุรินทร์ก็มีส้มโอกิน แต่ก็ไม่หวานอร่อยสู้ส้มโอบางกอก ราคาลูกละ 10 สตางค์ ที่มาพร้อมกับรถไฟไม่ได้ หรืออาหารทะเลอย่าง ปลาทูนึ่ง เข่งละ 5 สตางค์ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันว่าอร่อยก็เริ่มให้กิน ฯลฯ

ของประหลาด หรือจริงๆ คือสัตว์หน้าตาประหลาดอีกอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้รู้จักกันเมื่อรถไฟถึงสุรินทร์ก็คือ ปูทะเล ที่ชาวจีนนำมาขาย คนพากันมุงดูปูทะเลด้วยความแปลกใจ ว่ามันคืออะไรหน้าตาดูประหลาด ยิ่งเห็นเชือกที่มัดทั้งขาและตัว ทำให้ยิ่งดูน่ากลัวมากกว่าน่ากิน ถึงกลับมีบางคนบอกว่าถ้าเชือกที่มัดขาปูขาด ต้องรีบวิ่งช้าไม่ได้ เพราะมันจะกินคน [สันนิษฐานว่าคงเป็นการพูดหยอกเด็กๆ]

รถไฟยังนำพาความเจริญอื่นๆ มาด้วย เช่น คนจีนเดินทางมายังจังหวัดสุรินทร์มากขึ้น, พื้นที่หลังสถานีรถไฟเดิมเป็นท้องนา ก็กลายเป็นตลาด มีห้องแถวไม้ปลูกสร้างขึ้นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอื่นๆ ที่ตามมากับรถไฟ เช่น โสเภณี, ร้านกาแฟ, ร้านขายสินค้าต่างๆ, โรงแรม มีการขุดดินตัดถนน (เป็นถนนดินไม่ลงหิน) จากสถานีรถไฟเข้าไปในเมือง ถนนสายนี้ปัจจุบันคือ ถนนธนสาร

ผู้คนจำนวนมากยืนอยู่หน้าเรือนแถวไม้ที่สร้างเป็นแถวยาวซึ่งเป็นบ้านและร้านค้า สองฟากถนนธนธนสาร ที่ปลายทางเป็นสถานีรถไฟ (ภาพจาก หนังสือ100 เรื่องเมืองสุรินทร์)

 

สุรินทร์กลายเป็นเมืองคึกคักอยู่นาน เพราะเป็นชุมทางรถไฟชั่วคราว หลายจังหวัดในภาคอีสานต้องเดินทางมาขึ้นรถไฟที่จังหวัดสุรินทร์เพื่อเดินทางไปโคราชหรือกรุงเทพฯ รถไฟเป็นเรื่องใหญ่ของคนยุคนั้นอยู่นาน มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับรถไฟมากมาย จนเมื่อทางรถไฟผ่านเมืองสุรินทร์ไปแล้ว ความสนุกสนาน ความตื่นเต้นต่างๆ ก็ลดลง เพราะปลายทางรถไฟไปอยู่ที่เมืองศรีสะเกษและอุบลราชธานี

ข้อมูลจาก: ไพบูลย์ สุนทรารักษ์. “ข่าวรถไฟ เมื่อปี 2469” ใน, 100เรื่องเมืองสุรินทร์ (1), สำนักพิมพ์เมืองสุรินทร์, เมษายน 2551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2563
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_53930
 

 

The post 2469 รถไฟมาถึงจังหวัดสุรินทร์ ความเจริญ-ของอร่อย ของแปลกที่มาพร้อมกัน appeared first on Thailand News.