ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เปิดเบื้องหลังถิ่นฐานของเจ้านายลาวที่บางยี่ขัน ชุมชนลาวอพยพในบางกอก

เปิดเบื้องหลังถิ่นฐานของเจ้านายลาวที่บางยี่ขัน ชุมชนลาวอพยพในบางกอก

อุโบสถ วัดดาวดึงษาราม บางยี่ขัน (ภาพจากเว็บไซต์วัดดาวดึงษาราม)

ที่มา
ก่อร่างเป็นบางกอก (สนพ.มติชน)
ผู้เขียน
เอ็ดวาร์ด แวน รอย-เขียน, ยุกติ มุกดาวิจิตร-แปล
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

ในปี ค.ศ. 1779 (พ.ศ. 2322) จากการยึดครองเวียงจันทน์ ซึ่งปกครองโดยพระโอรสองค์โตของพระเจ้าศิริบุญสาร ได้แก่ พระเจ้านันทเสน พระราชธิดาองค์โตคือเจ้านางเขียวค้อม และพระโอรสองค์รองลงมาคือเจ้าอนุวงศ์ เชลยเจ้านายลาวได้มาถึงธนบุรีราวปี ค.ศ. 1780 (พ.ศ. 2323)

พระบรมวงศานุวงศ์เหล่านี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากกําแพงเมืองธนบุรีราว 1 กิโลเมตรด้านเหนือลําน้ำที่บางยี่ขัน ภายใต้การควบคุมใกล้ชิดจากฐานทัพของนายพลผู้ยึดครองเวียงจันทน์ ได้แก่ เจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา ภายหลังได้เลื่อนเป็นกรมพระสุรสิงหนาท อุปราชแห่งรัชกาลที่ 1) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำบริเวณบางลําพู

พระเจ้านันทเสน ไม่ได้ประทับที่บางยี่ขันนานนัก หลังจากที่พระเจ้าศิริบุญสารสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1781 (พ.ศ. 2324) พระองค์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นกษัตริย์เมืองขึ้นแห่งเวียงจันทน์ และทรงย้ายกลับภูมิลําเนาไปดํารงตําแหน่งดังกล่าว เมื่อพระองค์เสด็จถึงเวียงจันทน์ ในปี ค.ศ. 1782 (พ.ศ. 2325) พระอนุชาของพระองค์หรือ เจ้าอินทวงศ์ (อุปราชองค์ใหม่) และ เจ้าพรหมวงศ์ ต่างก็ถูกส่งตัวมารวมกับเจ้าอนุวงศ์ที่บางกอกในฐานะตัวประกันหลวง

เนื่องด้วยเหตุนั้นสืบมาอีกหลายรัชกาล วังลาวในฐานะถิ่นฐานของเจ้านายลาวที่บางยี่ขัน ซึ่งเคยเป็นกลุ่มที่พักซึ่งสร้างเป็น “พระราชวัง” อย่างดีด้วยไม้สักของเจ้านายและบริวารเมื่อเวลาผ่านไป รายล้อมด้วยบ้านเรือนฐานะรองลงมาของเหล่าข้าราชบริพารชั้นผู้น้อย สถานที่แห่งนี้ยังคงเป็นย่านที่พักของตัวประกันหลวงจากเวียงจันทน์ในบางกอก (ส. พลายน้อย, 2545: 101)

เจ้าอินทวงศ์พร้อมด้วยเจ้าพรหมวงศ์เสด็จถึงบางกอกในปี ค.ศ. 1783 (พ.ศ. 2326) หลังจากพระเจ้านันทเสนทิวงคต เจ้าอินทวงศ์ก็สืบราชสมบัติที่เวียงจันทน์ต่อในปี ค.ศ. 1797 (พ.ศ. 2340) ส่วน เจ้าอนุวงศ์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นอุปราช หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) พระเจ้าอินทวงศ์ก็ถึงแก่ทิวงคต และเจ้าอนุวงศ์ก็ครองราชย์สืบมา ดังนั้นพระโอรสทั้ง 3 พระองค์ ของพระเจ้าศิริบุญสารซึ่งต่างได้ดํารงตําแหน่งอุปราชของเวียงจันทน์แล้วนั้น ก็ได้สืบราชสมบัติขึ้นเป็นกษัตริย์เป็นลําดับกันมาเพียงในชั่วระยะอันรวดเร็ว

เมื่อครั้งแต่ละพระองค์ยังคงดํารงตําแหน่งอุปราชลาว โดยมากแล้วพระองค์มักใช้เวลาประทับอยู่ที่บางยี่ขัน ซึ่งนับว่าแสดงถึงความสําคัญที่บางกอกมอบต่อเวียงจันทน์ ธรรมเนียมปฏิบัตินี้ดําเนินต่อเนื่องมาด้วยการแต่งตั้งพระโอรสของเจ้าอนุวงศ์ คือ เจ้าคลี่ เป็นอุปราชในปี ค.ศ. 1804 (พ.ศ. 2347) อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าอนุวงศ์ได้เริ่มแผนการกบฏต่อรัชกาลที่ 3 เมื่อราวปี ค.ศ. 1825 (พ.ศ. 2368) เจ้าคลี่จึงสละตําแหน่งอุปราชอย่างเงียบๆ ก่อนตําแหน่งได้ถูกแทนที่ด้วยพระอนุชาต่างมารดาของเจ้าอนุวงศ์ คือ เจ้าติสสะ

สงครามไทย-ลาวในปี ค.ศ. 1827 ถึง 1828 (พ.ศ. 2370 ถึง 2371) ซึ่งมักเรียกกันว่ากบฏเจ้าอนุวงศ์ เจ้าอนุวงศ์ได้พ่ายแพ้ ไปก่อนจะสืบเนื่องมาด้วยผลลัพธ์ที่น่าเศร้า ไม่เพียงแต่เวียงจันทน์จะถูกปล้นสะดมและถูกเผาจนวอดวาย ทว่าชาวนาลาวจำนวนมากก็ถูกขจัดออกจากภูมิลําเนาตนเองอย่างโหดเหี้ยม และถูกบังคับให้ย้ายถิ่นมายังจังหวัดต่างๆ ของไทยในฐานะเชลยสงคราม พระเจ้าอนุวงศ์ที่ถูกถอดจากตําแหน่งพร้อมทั้งสมาชิกของครอบครัวพระองค์ รวมทั้งพระมเหสี พระสนม และพระโอรสพระธิดา 23 พระองค์ ก็ถูกจองจําและปลิดชีพที่บางกอก

ในบรรดาทรัพย์สมบัติที่ถูกนํามาบางกอกในปี ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) หนึ่งในนั้นคือพระบาง ซึ่งเคยถูกส่งคืนไปยังเวียงจันทน์เมื่อครั้งมีการแต่งตั้งพระเจ้านันทเสน ขึ้นเป็นผู้ปกครองอาณาจักรล้านช้างในปี ค.ศ. 1782 (พ.ศ. 2325) การที่รัชกาลที่ 3 ทรงนําพระบางไปประดิษฐาน ณ ศาลาพิเศษที่วัดสามปลื้ม (หรือวัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร) ซึ่งเป็นที่ใกล้กันกับบริเวณซึ่งพระเจ้าอนุวงศ์ถูกปลงพระชนม์ ยิ่งเป็นเสมือนการทาเกลือลงบนบาดแผลชาวลาว

เจ้าติสสะ ผู้ทรงเป็นอุปราชและเป็นพระอนุชาต่างมารดาของพระเจ้าอนุวงศ์ ทรงรับผิดชอบดูแลกองพันทหารทางตะวันออกของการศึกลาว และได้ตัดสินใจในห้วงสุดท้ายว่าจะยอมจํานนต่อฝ่ายไทย การจํานนของพระองค์เป็นการปล่อยให้พระเจ้าอนุวงศ์ตกอยู่ในความเสียเปรียบจนถึงตายได้ในชั่วขณะของการปะทะกันอย่างแตกหักที่ส้มป่อยและเขาสาร (ปัจจุบันอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ไม่ไกลจากหนองคาย)

ด้วยความภักดีต่อราชบัลลังก์สยาม เจ้าติสสะจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าตัวแทนลาวในบางกอก แม้ว่าพระองค์จะถูกรังเกียจจากประชาชนของพระองค์เองและโดยมากแล้วจะไม่ถูกเอ่ยถึงในประวัติศาสตร์ ท้ายที่สุดพระองค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “นายอากร” ผูกขาดสุราของบางกอก โดยมีสมาคมนักลงทุนชาวจีน ดูแลสัญญาและข้อตกลงทางธุรกิจว่าด้วยการผูกขาดของพระองค์ กระทั่งในที่สุดได้ก่อตั้งโรงกลั่นสุราบริเวณริมน้ำที่บางยี่ขัน บริเวณ ที่ตั้งเดิมของวังลาว (ประมวญ วิชาพูล, 2482: 78) (ปัจจุบันพื้นที่นี้กลายมาเป็นสวนหลวงพระราม 8 และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา)

บุคคลสําคัญหลายคนในนิวาสสถานลาวที่บางยี่ขันได้ถูกถอดตําแหน่งเมื่อครั้งมีการสําเร็จโทษหลังการล่มสลายของเวียงจันทน์ เมื่อปี ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) ในกลุ่มผู้รอดชีวิตจากพระราชอาญาประหารชีวิต พระธิดาจํานวนหนึ่งจากบางยี่ขันได้ผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเจ้านายไทยในฐานะภรรยาหรือภรรยาน้อย บรรดาโอรสที่รอดมาได้จํานวนมากก็หาลู่ทางเข้าไปรับราชการในรัชกาลที่ 4 และ 5 บางคนได้รับตําแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ ตําแหน่งเจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

ด้วยเหตุนั้น ฐานที่ตั้งของเจ้านายลาวที่บางยี่ขันจึงเสื่อมถอยลง ส่วนหนึ่งของผู้ที่รอดชีวิตนั้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อันเนื่องมาจากการเป็นราชวงศ์เวียงจันทน์ใต้อาณัติสยาม ปัจจุบัน ได้แก่ ตระกูลชาลีจันทร์ จันทนากร และสิทธิสาริบุตร (ประมวญวิชาพูล, 2482 : 78-80) ทว่าไม่มีร่องรอยหลักฐานของชาวลาวหลงเหลือที่บางยี่ขัน อีกเลย

ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24-25) ชุมชนเจ้านายที่บางยี่ขันธํารงการมีอยู่ได้อย่างเข้มแข็งในราชสํานักสยาม ผ่านสตรีคนสําคัญจํานวนมาก พระธิดาองค์โตของพระเจ้าศิริบุญสาร คือเจ้านางเขียวค้อม กลายเป็นต้นตอของความร้าวฉานระหว่างเวียงจันทน์กับสยาม เมื่อครั้งการต่อรองเกี่ยวกับการแต่งงานข้ามราชวงศ์ต้องติดหล่มในปี ค.ศ. 1771 (พ.ศ. 2314) และอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) (Wyatt, 1994b: 187, 190-191) เมื่อเกิดการยึดครองเวียงจันทน์ในปี ค.ศ. 1779 (พ.ศ. 2322) พระนางเป็นหนึ่งในพระบรมวงศานุวงศ์ลาวที่ถูกจับแล้วถูกโยกย้ายที่พํานักมายังบางกอก และถูกส่งไปประทับในเขตพระราชฐานชั้นในเมื่อช่วงรัชกาลที่ 1 ทว่าก็ไม่มีสิ่งใดบ่งชี้ให้เห็นว่ามีความปฏิพัทธ์เกิดขึ้นระหว่างพระนางกับรัชกาลที่ 1

สมาชิกอีกพระองค์หนึ่งของพระบรมวงศานุวงศ์ลาวคือเจ้านางทองสุข ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวงศ์ ได้ประสูติบุตรแด่รัชกาลที่ 1 ด้วยการมีเชื้อสายเจ้านายจากทั้งสองฝ่าย พระธิดาของพระนางคือเจ้านางกุณฑลทิพยวดี จึงได้รับการเลี้ยงดูในฐานะ “เจ้าฟ้า” พระนางถูกอบรมเลี้ยงดูเป็นพิเศษ เพื่อให้เติบโตขึ้นเป็นพระราชินีในรัชกาลที่ 2 (ผู้เป็นพระเชษฐาต่างมารดาของพระนาง) โดยเฉพาะ และได้ประสูติโอรสและธิดารวม 4 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือกรมพระยาบําราบปรปักษ์ (กลาง) ผู้เป็นที่ รู้จักกันในนามเจ้าฟ้ามหามาลา และเป็นต้นราชสกุลมาลากุล ซึ่งภายหลังมีบทบาทสําคัญในฐานะผู้อุปถัมภ์หลวงของชุมชนลาวในบางกอกและสระบุรี

นอกเหนือจากพันธมิตรทางการเมืองแล้ว รัชกาลที่ 1 ยังทรงตกบ่วงความปฏิพัทธ์ต่อเจ้านางคําแว่น (ที่มักเรียกกันว่าเจ้าจอม แว่น) ผู้เป็นธิดาของขุนนางลาวผู้หนึ่ง และเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของเจ้านางเขียวค้อม แม้ว่าจะมีสถานภาพค่อนข้างต่ำสําหรับชนชนปกครองระดับบน แต่รัชกาลที่ 1 ได้ทรงยกพระนางขึ้นเป็น “เจ้าจอมชั้นเอก” พระนางทรงก้าวเข้ามามีอิทธิพลในฐานะผู้กุมความลับของกษัตริย์และเป็นผู้แทนมากความสามารถของฝ่ายลาว แม้แต่รัชกาลต่อๆ มา ก็ไม่มีเจ้านายลาวหรือขุนนางสตรีคนใดที่ได้เข้าไปยังพระราชวังและสามารถประวบความสำเร็จได้เท่าพะระยางอีกแล้ว

กระนั้นก็ตาม เจ้าจอมแว่นทรงต้องทนทุกข์กับความผิดหวังครั้งใหญ่ ที่ไม่สามารถประสูติโอรสหรือธิดาได้ พระนางทรงหาทางก้าวข้ามความอับโชคนี้ด้วยการทําบุญอย่างขนานใหญ่ (ศันสนีย์, 2550: 3-10) นั่นรวมทั้งการสร้างวัดลาวที่สําคัญ 2 แห่งในบางกอก (วัดดาวดึงษารามที่บางยี่ขัน และวัดสังข์กระจาย ที่บางไส้ไก่)

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 1 พระนาง [เจ้านางคำแว่น] ได้ทรงสร้างวัดขรัวอิน ตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางยี่ขันด้านหลังวังลาวซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้ตั้งขึ้นตามชื่อพระอาจารย์อิน พระลาวสายปฏิบัติกรรมฐาน ผู้มีชื่อเสียง ท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด หลังจากก่อตั้งขึ้นอย่างสง่างาม วัดนี้ก็ได้รับการขยายพื้นที่และได้รับการบูรณะในรัชกาลที่ 2 โดยเจ้านางกุณฑลทิพยวดี และได้นามใหม่ว่า วัดดาวดึงษาสวรรค์ (สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นสวรรค์ของพระอินทร์ ที่ซึ่งเล่ากันว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงบันไดมา) ต่อมาในรัชกาลที่ 3 วัดนี้ได้รับการบูรณะขนานใหญ่และยกระดับเป็นพระอารามหลวง ในฐานะวัดดาวดึงษาราม แต่เมื่อชุมชนเจ้าลาวตกต่ำลงวัดนี้ก็ไม่ได้รับความนิยมชมชอบอีกต่อไป

ปลายรัชกาลที่ 5 พระลูกวัดต่างออกจากวัดไปจนเหลือเพียงเจ้าอาวาสเท่านั้นที่จำวัดอยู่ (วัดดาวดึงษ์ 2547 : 54-58) ด้วยความสนับสนุนเพีงน้อยนิดจากชุมชนในช่วงรัชกาลที่ 6 และ7 พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการยากที่จะรักษาวัดให้คงอยู่ในปัจจุบันี้ ด้วยการเติบโตกลับมาอีกครั้งของบางยี่ขันในฐานะชุมชนชานเมืองกรุงเทพฯ ตามมาด้วยการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงคือสะพานพระราม 8 วัดนี้ก็กลับมีพระจำวัดอย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

 

หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจากเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือ ก่อร่างเป็นบางกอก เขียนโดยเอ็ดวาร์ด แวน รอย แปลโดย ยุกติ มุกดาวิจิตร จากสำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก กุมภาพันธ์ 2565

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_83841

The post เปิดเบื้องหลังถิ่นฐานของเจ้านายลาวที่บางยี่ขัน ชุมชนลาวอพยพในบางกอก appeared first on Thailand News.