ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

จับได้ “คาหนังคาเขา” สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร?

จับได้ “คาหนังคาเขา” สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร?

ภาพเด็กชายขี่ควายที่จังหวัดสุโขทัย ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1936 (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

 

ปศุสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นแรงงานและบริโภคอย่าง “วัว” และ “ควาย” มีความสำคัญต่อสังคมเกษตรกรรมมาแต่โบราณ มันจึงเป็นสัตว์ที่มีค่ามาก โจรผู้ร้ายจึงมักลักวัวควายไปขาย-เชือด จนเป็นที่มาของสำนวน “คาหนังคาเขา”

“คาหนังคาเขา” เป็นสำนวนที่ใช้เมื่อจับผู้ร้ายลักวัวควายไปเชือด เจ้าทรัพย์ตามจับได้ขณะเชือดพร้อมทั้ง “หนัง” และ “เขา” จึงเป็นที่มาของสำนวนดังกล่าว บ้างใช้ผิดว่า “คาหลังคาเขา” ที่ถูกคือ “คาหนังคาเขา” ใช้สำนวนนี้กันมาตั้งแต่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ [1]

สำหรับเรื่องการลักวัวควายนั้น ในหนังสือ “ชาติเสือไว้ลาย” [2] ที่ศึกษาเรื่อง “เสือ” หรือ “โจร” ในสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อธิบายว่า มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การปล้นในเวลากลางวัน และการปล้นในเวลากลางคืน ดังนี้

การปล้นในเวลากลางวัน จะกระทำกันในตอนที่เจ้าทรัพย์ต้อนวัวควายไปเลี้ยงนอกบ้าน มีการเตรียมตัวเหมือนกับการปล้นเรือน ต่างกันที่เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว โจรจะยิงปืนให้คนเลี้ยงตกใจหนีไป ผู้เป็นสายจะหลบอยู่ในป่าในพงข้างทาง เมื่อได้วัวควายแล้วจะต้อนไปในเส้นทางที่นิยมต้อนฝูงเดิน เพื่อไม่ให้ใครตามรอยเท้าได้ อาจมีการวางกับดักขวากหนามไว้คอยสกัดผู้ติดตาม เมื่อแน่ใจว่าไม่มีผู้ใดตามทันแล้ว โจรจะปันส่วนควายกัน ส่วนใหญ่การปล้นในเวลากลางวันนี้จะปล้นในเวลาบ่าย ทั้งนี้เวลาต้อนวัวควายหนี วัวควายจะไม่หอบและเหนื่อยมาก

การปล้นในเวลากลางคืน จะปล้นวัวควายที่ขังคอกบริเวณบ้าน เนื่องจากวัวควายอยู่ใกล้เจ้าทรัพย์จึงต้องปล้นในเวลาดึก เจ้าทรัพย์จะได้ไม่เห็นหน้าโจร เมื่อไปถึงบริเวณคอก โจรจะยิงปืนให้เจ้าทรัพย์หรือคนเฝ้าหนีไป จากนั้นก็ถอดคอกแล้วต้อนวัวควายหนีไป บางครั้งอาจแสร้งทำอุบายอย่างอื่นให้เกิดความโกลาหลทำให้สะดวกในการปล้น เช่น การลอบวางเพลิง เป็นต้น

ส่วนวัวควายที่ปล้นได้จะต้องขายทอดไปโดยเร็ว เพราะเจ้าทรัพย์มักออกติดตาม เมื่อได้วัวควายแล้วโจรมักขายต่อกันเป็นทอด ๆ รีบขายโดยไวเพื่อไม่ให้เจ้าทรัพย์ติดตามได้ทันการณ์ ก่อนที่จะเอาวัวควายมาใช้แรงงานหรือเชือดสำหรับบริโภค วัวควายลักษณะนี้เป็น “ของร้อน” ดังนั้น ก่อนการปล้นจึงต้องติดต่อผู้ซื้อไว้ก่อน

หากเมื่อเจ้าทรัพย์ไปเจอวัวควายของตน (ทั้งมีชีวิตหรือเป็นซาก) อยู่กับโจรผู้ร้ายหรือโรงเชือด จับได้ขณะกำลังทำผิด หรือมีของกลางอยู่ที่ตัว จึงเรียกตามสำนวนที่ว่า (จับได้) “คาหนังคาเขา”

 

อ้างอิง :

[1] ความหมายของคำ. (2516). ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางสว่าง เจริญวิทย์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันพฤษหัสบดีที่ 5 เมษายน พุทธศักราช 2516. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม.

[2] ชาติเสือไว้ลาย. (2551). พีรศักดิ์ ชัยได้สุข. กรุงเทพฯ : มติชน.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_82929

The post จับได้ “คาหนังคาเขา” สำนวนนี้มีที่มาอย่างไร? appeared first on Thailand News.