ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ที่มาชื่อวัดชนะสงคราม และเรื่องเล่าทัพวังหน้าพระยาเสือถวาย “เสื้อยันต์” บูชาพระ

ที่มาชื่อวัดชนะสงคราม และเรื่องเล่าทัพวังหน้าพระยาเสือถวาย “เสื้อยันต์” บูชาพระ

ภาพถ่ายทางอากาศ แสดงบริเวณวัดชนะสงครามเมื่อ พ.ศ. 2489 (ภาพจาก หนังสือประวัติวัดชนะสงคราม)

 

ธรรมเนียมไหว้พระ 9 วัด ในโอกาสสำคัญต่างๆ ที่นิยมในปัจจุบัน มักมี “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” รวมรายการอยู่ด้วย เพราะยึดเอาชื่อของวัดที่เรียกว่า “ชนะสงคราม” เป็นความหมายมงคลให้ผู้ไปกราบไหว้ “ชนะ” หรืออย่างน้อยผ่านเรื่องต่างๆ ไปด้วยดี ซึ่งเป็นนามที่พระราชทานภายหลังชนะศึกสงคราม

วัดชนะสงครามราชวรวิหาร เป็นวัดเก่าแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกกันว่า “วัดกลางนา” สมัยกรุงธนบุรีเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตองปุ” สันนิษฐานว่าเลียนแบบชื่อวัดของพระสงฆ์รามัญในสมัยอยุธยา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงการให้อุปถัมภวัดตองปุ และได้สถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ส่วนชื่อ “วัดชนะสงคราม” นั้นรัชกาลที่ 1 พระราชทานเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (หรือ วังหน้าพระยาเสือ) สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าที่ทรงชนะศึกกับพม่าถึง 3 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนั้นคือศึกใหญ่กับพม่าที่เรียกว่า “สงครามเก้าทัพ”

เมื่อได้ชัยชนะศึกดังกล่าวกับมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และแม่ทัพนายกองในทัพของพระองค์ได้ถวาย “เสื้อยันต์” ที่ทรงสวม/สวมออกศึก ถวายแก่พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถเป็นพุทธบูชา ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“เดิมนั้น ทั้งองค์พระ[พระประธาน-พระพุทธนรสีห์ฯ ] และฐานพระประธานมีขนาดเล็ก ภายหลังได้ซ่อมแซมให้สูงขึ้นอีกดังที่ปรากฏทุกวันนี้ ด้านหน้ามีพระอัครสาวกซ้ายขวา 2 องค์ เป็นพระปูนปั้นเช่นกัน เดิมนั่งประนมมือ มาเปลี่ยนภายหลังให้ยืนประนมมือ และรอบๆ พระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย 15 องค์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก 5 องค์ ทิศตะวันตก 4 องค์ ทิศเหนือ 3 องค์ ทิศใต้ 3 องค์ เหนือพระประธานมีฉัตร 7 ชั้นกางกั้นอยู่ อันหมายถึงพระสัตปฎลเศวตฉัตรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้านหลังพระประธานประดิษฐานพระสังกัจจายน์ 1 องค์

พระประธาน 16 องค์ภายในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม ภาพถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2506 (ภาพจาก หนังสือประวัติวัดชนะสงคราม)

 

คติพระประธาน 16 องค์นี้สันนิษฐานว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงนําแบบอย่างมาจากวัดชุมพลนิกายาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามคติโบราณนับถือกันมาก ถือว่าทรงพระคุณในการประสิทธิประสาทชัยชนะเหนือศัตรู ถึงกับบัญญัติอักษรย่อขึ้นแทนพระนามเรียกว่าหัวใจคือ นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออ นอกะ นะอะกะอัง ผูกเป็นยันต์เรียกว่า ยันต์พระเจ้า 16 พระองค์ ด้านหลังพระประธานมีพระพุทธรูปอยู่ในคูหา 4 ช่อง เป็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติ 2 องค์ ปางห้ามญาติทรงเครื่อง 2 องค์ รวมเป็น 4 องค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง

ในเรื่องของพระประธานนี้มีเรื่องกล่าวกันว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท หลังจากเสด็จกลับจากศึกสงครามเก้าทัพครั้งนั้นได้ทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์ ทรงถวายฉลองพระองค์ลงยันต์ (เสื้อยันต์) คลุมองค์พระประธาน และโปรดให้แม่ทัพนายกองทําเช่นนั้นเหมือนกัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้โบกปูนทับอีกชั้นหนึ่งทําให้พระองค์ใหญ่ขึ้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เป็นเจ้าอาวาสได้พอกปูนเพิ่มปรับองค์พระองค์ให้งดงามและใหญ่โตยิ่งกว่าเดิม แล้วยกฐานชุกชีให้สูงขึ้นดังเช่นปัจจุบันนี้” [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำใหม่ – กองบก.ออนไลน์]

 

ข้อมูลจาก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ, นางสาวอุไร คนึงสุขเกษม พิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2555 พระราชวิมล (กฤช กิตฺติวํโส น.ธ.เอก ป.ธ.3) เจ้าอาวาสวัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพในราชทินามที่ พระเทพวิมลมุนี ศีลาจารโสภณ โกศลวิหารกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆารามคามวาสี

พระมหาปกรณ์ กิตฺติธโร ป.ธ.9. ประวัติวัดชนะสงครามราชวรวิหาร, บมจ. มติชน จัดพิมพ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะ ในวโรกาสพระราชพิธีศุภมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2553 พระมหาฤทธิ์หิรัญ ฐิตสาโร ป.ธ.9 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินามที่ พระศรีภัททิยบดี, สำนักพิมพ์มติชน

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_64873

The post ที่มาชื่อวัดชนะสงคราม และเรื่องเล่าทัพวังหน้าพระยาเสือถวาย “เสื้อยันต์” บูชาพระ appeared first on Thailand News.