ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง

ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง

รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ (ซ้าย) อุ้ม “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง (ภาพจาก พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6))

 

พระราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 6 มีข้าบาทบริจาริกาถวายงานรับใช้กษัตริย์เป็นมหาดเล็กชายหนุ่มที่พระองค์ทรงคัดเลือกไว้มากกว่าจะเป็นหน้าที่ของข้าราชสำนักฝ่ายในเพศหญิง ในบรรดานายในที่ทรงโปรด เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) คือบุคคลที่ว่ากันว่า เป็นนายในที่ทรงรักใคร่เชื่อถืออย่างมากแต่ไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุใด (นอกเหนือจากการเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยอย่างยิ่ง)

จากบันทึกของม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล นามสกุลว่า “พึ่งบุญ” นั้นอ้างอิงพระราชดำรัสว่า สกุลนี้อยู่มาได้ก็เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงชุบเลี้ยงต่อกันมา

เจ้าพระยารามราฆพ เกิดเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2433 เป็นบุตรเจ้าพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว. ละม้าย) และพระนมทัด พึ่งบุญ ณ อยุธยา

สายตระกูล

สายตระกูลของเจ้าพระยารามฯ มาจากกรมหลวงรักษ์รณเรศร์ (พระองค์เจ้าไกรศร) พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ซึ่งในเวลาต่อมามีอำนาจไม่ใช่น้อย ม.จ. พูนพิศมัย ดิศกุล เล่าเรื่องที่เจ้านายทรงบอกกันต่อๆ มาว่า กรมหลวงรักษ์ฯ ทรงปราดเปรื่อง มีอำนาจมากในรัชกาลที่ 3 ว่าการหลายแผนกซึ่งรวมขึ้นอยู่ในกระทรวงวัง อีกทั้งยังเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดกรณีขุนนางถวายฎีกาเรื่องลูกชายถูกกรมหลวงรักษ์ฯ ทรงตัดสินประหาร รวมถึงคดีเรื่องพฤติกรรมทางเพศกับพวกโขนละครชาย ต่อมาจึงถูกลดพระยศเป็นหม่อมไกรศร จากนั้นก็ถูกประหารในพ.ศ. 2391 ผลกระทบถึงวงศ์วานเพราะถูกลดอิสริยศักดิ์ผู้สืบสาย

หม่อมไกรศร (หม่อมไกรสร) มีลูกหลายคน โดยคนหนึ่งคือหม่อมเจ้ากัมพล (อำพล) ซึ่งมีลูกคนหนึ่งคือหม่อมราชวงศ์ละม้าย นั่นเอง

ส่วนฝั่งมารดา พระนมทัด ม.จ. พูนพิศมัย บรรยายว่า “เป็นคนดีเรียบร้อย, เป็นคนมีสาสนา (สะกดตามต้นฉบับ), ไม่หลงไหลในบุญบาระมีจนเกินควร. และเป็นคนตรงนิ่งๆ ไม่พลิกแพลงยุ่งยิ่งกับใคร.”

พระนมทัดมีลูกกับ พระยาประสิทธิ์ศุภการ (ละม้าย พึ่งบุญ) เป็นบุตรชื่อเฟื้อ ดังกล่าว และบุตรอีกคนชื่อฟื้น ซึ่งก็คือ “พระยาอนิรุทธเทวา” นายในคนโปรดในรัชกาลที่ 6 เช่นกัน ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ “นายใน” เล่าว่า สายตระกูลของกรมหลวงรักษ์ณเรศร์ที่ต้องโทษอยู่อย่างไม่ค่อยสง่างามในราชสำนัก จนกระทั่งรุ่นเหลน นั่นคือ เจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา เมื่อมีพระราชบัญญัติขนามนามสกุล จึงพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “พึ่งบุญ” เนื่องจากพึ่งบุญบารมีในรัชกาลที่ 6 จนยกระดับทางสังคมมีบารมีอีกครั้ง

เจ้าพระยารามฯ สมัยเยาว์ เคยเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังในสำนักพระพันปีหลวงกับพี่สาวมาแล้ว ได้เรียนหนังสือที่วัดบพิตร์ภิมุข ชานันท์ ยอดหงษ์ บรรยายว่า เข้ามาถวายตัวเมื่ออายุ 14 ปี แต่บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย ลงอายุว่าถวายตัวเมื่ออายุ 13 ปี

เข้าถวายตัว

การถวายตัวครั้งนั้นเป็นการอยู่กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร หลังพระองค์เสด็จนิวัติกลับพระนคร ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า ถวายตัวพร้อมกับพระยาอนิรุทธเทวา ผู้เป็นน้องชาย

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาขนบธรรมเนียมราชการที่โรงเรียนมหาดเล็กของรัชกาลที่ 5 (โรงเรียนมหาดเล็กหลวง) จนถึงอายุ 18 ปี เมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการในพระองค์ตำแหน่งสำรองราชการนายเวรขวา ดูแลเครื่องเสวยและปฏิบัติราชกิจทั่วไป

ในบันทึกของม.จ. พูนพิศมัย ยังเสริมว่า เป็นผู้รับใช้อยู่ในห้องบรรทม เจ้าพระยารามฯ เป็นผู้ได้ปรนนิบัติใกล้ชิดตั้งแต่ตื่นบรรทมจนถึงเข้าบรรทม ซึ่งม.ล. เฟื้อ ก็ไม่ขาดเฝ้าขาดงาน และสร้างความประทับใจได้อย่างรวดเร็ว ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยอย่างมาก ความนี้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาในวันครบรอบ 21 ปี ขณะเป็นจ่ายง ใจความส่วนหนึ่งว่า “…เป็นอุปถากอันถูกใจหาผู้ใดจะเสมอเหมือนได้โดยยาก…” และ “…นับว่าเป็นคนหนุ่มที่อัศจรรย์ไม่เหมือนคนหนุ่มทั้งหลาย…”

ที่สามารถเป็นที่ประทับใจได้นั้น ไม่เพียงต้องมาจากลักษณะส่วนบุคคลแล้ว อีกประการหนึ่งคือ เจ้าพระยารามฯ เป็นผู้ได้ใกล้ชิดพระองค์มากที่สุด ตั้งแต่ตื่นบรรทมถึงเข้าบรรทม ร่วมโต๊ะเสวยแทบทุกมื้อ เป็นผู้ตามเสด็จ จนถึงแทบทุกกิจกรรมที่พระองค์ทรงริเริ่ม แม้แต่ในเวลาที่พระองค์ไม่สบพระราชหฤทัย ก็มีเจ้าพระยารามราฆพที่อยู่ข้างๆ ขณะที่ข้าราชการไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อรุ่นหนุ่มก็ได้เป็นตัวละครผู้หญิงในละครพูด ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เนื่องเพราะหน้าตาดีและเหมาะสมกับอายุ จึงมักได้เป็นนางเอกเสมอ

บันทึกของ ม.จ. พูนพิศมัย เล่าถึงตำแหน่งของเจ้าพระยารามฯ ว่า

“ถึงเวลาเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน, เจ้าพระยารามได้เป็นนายขันหุ้มแพรกรมมหาดเล็กหลวงเป็นคั่นแรก แล้วเลื่อนขึ้นเป็นจ่ายง-พระนายสรรเพ็ชร์-แล้วเป็นพระยาประสิทธิ์ศุภการ ถึง พ.ศ. 2464 ได้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ อันเป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา, และเป็นผู้ส่งสาตราวุธถวายตามพระราชประสงค์, จนทรงช้างชนะในยุทธหัตถีเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว…”

เมื่อพ.ศ. 2457 ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เจ้าพระยารามราฆพ ยังได้เป็นอธิบดีกรมมหาดเล็ก ซึ่งปกติแล้วตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่ให้เชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดและไว้วางพระราชหฤทัย จากนั้นยังได้รับราชการตำแหน่งสมุหราชองครักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2460 สามารถตามเสด็จโดยลำพัง

บทบาทอำนาจของเจ้าพระยารามราฆพขยายออกมานอกเหนือจากกรมมหาดเล็กด้วย โดยเป็นผู้ช่วยกระทรวงวังใน พ.ศ. 2456 ปีถัดมายังได้เป็นองคมนตรี เมื่อถึงปีพ.ศ. 2467 ยศทหารของเจ้าพระยารามฯ ยังขึ้นถึงตำแหน่งพลเอกกองทัพบก จากที่เริ่มต้นด้วยร้อยเอกกรมทหารรักษาวัง ว.ป.ร. เมื่อยังอยู่ในตำแหน่งจ่ายง

ในปีเดียวกันยังได้เป็นพลเรือโท ต่อมาใน พ.ศ. 2468 ยังได้เป็นผู้ช่วยราชการกระทรวงทหารเรือ เมื่อเปลี่ยนรัชกาลในปีนั้นเองจึงได้ออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญปีละ 8,000 บาท ขณะนั้นเป็นอัตราสูงสุดสำหรับผู้ไม่ใช่เสนาบดีจึงพ้นจากหน้าที่ในกรมมหาดเล็กหลวงและหน้าที่ด้านการทหารทั้งหมด

ม.จ. พูนพิศมัย เล่าเพิ่มเติมว่า

“ในตอนปลายรัชกาลนี้, เจ้าพระยารามฯ มีอำนาจสูงสุด … จะไปไหนก็ปักธงตราของตัว (พื้นแดงมีมานพยืนเชิญพระขรรค์สีขาว) ที่หน้ารถ, โปลิศก็เป่านกหวีดบอกกันให้ดูหนทาง-อย่างในหลวงเสด็จ, เวลามีการงานที่บ้านคนเต็มหมดและปูพรมทาง พอเจ้าพระยามรามฯ เดินมาคนก็ลุกขึ้นยืนพรึ้บพร้อมๆ กัน. ทำให้พวกที่ถูกหาว่าจะเป็นขบถพูดนินทาในหลวงกันว่า-‘เที่ยวสงสัยคนอื่นว่าเขาจะเป็นขบถ, อ้ายขบถจริงๆ อยู่ข้างๆ…’ ที่จริง, ก็เป็นคำค่อนที่ค่อนจะแรงไป, แต่เห็นได้ว่าน้ำใจคนภายนอกปั่นป่วน-เพราะเหตุเล็กน้อยได้เป็นอันมาก…”

ทรัพย์สิน

เจ้าพระยารามฯ ยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จำนวนมาก พร้อมกับขึ้นเงินเดือน อีกทั้งยังได้รับพระราชทานสิ่งของต่างๆ เมื่อครั้งอายุครบ 24 ปี รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์คำร้อยกรองพระราชทานพรและพระบรมราโชวาท เจ้าพระยารามฯ ได้รับพระราชทานคฤหาสน์ “นรสิงห์” (ยังสร้างไม่สมบูรณ์) พระองค์มีพระราชหัตถเลขายืนยันการพระราชทานที่ดินแปลงนี้ ใจความดังนี้

“ที่ดินซึ่งได้ทำเปนสวนเพาะปลูกพรรณไม้ต่างๆ อันอยู่หลังโรงทหารราบที่ 1 (มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ตำบลสวนดุสิตแปลงหนึ่งนี้เปนที่ของพระคลังข้างที่ มีจำนวนกว้างยาวคือ ทิศเหนือยาวไปตามถนนคอเสื้อ 4 เส้น 15 วา 2 ศอกคืบ ทิศใต้ยาวไปตามถนนลูกหลวง 4 เส้น 11 วา ทิศตวันออกยาวไปตามถนนฮก 6 เส้น 7 วา 2 ศอกคืบ ทิศตวันตกจดคลองแลยาวไปตามคลอง 6 เส้น 3 วาศอก…

ข้าพเจ้าเห็นว่าพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เปนผู้ที่ได้รับใช้ใกล้ชิดกราดกรำมาด้วยความจงรักภักดีอันมั่นคงต่อข้าพเจ้ามาช้านาน บัดนี้สมควรจะให้ที่บ้านอยู่เพื่อความศุขสำราญจะได้เปนกำลังที่จะรับราชการสืบไป จึงทำหนังสือสำคัญฉบับนี้ยกที่ดินอันกล่าวมาแล้วข้างต้นให้เปนสิทธิเปนทรัพย์แก่พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) สืบไป พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) จะปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงในที่รายนี้ ฤๅจะซื้อขายให้ปันแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามแต่ใจพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ทุกประการ แต่ข้าพเจ้าขอคงอำนาจไว้ว่า ถ้าข้าพเจ้าเห็นว่า พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ประพฤติตนไม่สมควรจะปกปักรักษาที่นี้ได้เมื่อใด ฤๅข้าพเจ้าเห็นสมควรจะแลกเปลี่ยนอย่างหนึ่งอย่างใด ข้าพเจ้ามีอำนาจจะเรียกคืนที่รายนี้ฤๅแลกเปลี่ยนได้ทุกเมื่อทุกเวลา เว้นแต่ผู้หนึ่งผู้ใดจะมาถือเอาอำนาจอันนี้ เพื่อคืนฤๅแลกเปลี่ยนเอาที่รายนี้จากพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ฤๅจากผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับทรัพย์มรฎกของพระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ไม่ได้เปนอันขาด ถ้าพระเจ้าแผ่นดินฤๅผู้ใดผู้หนึ่งที่มีอำนาจจะต้องประสงค์ที่รายนี้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใด ก็ขอให้พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้รับพระราชทานราคาตามสมควรแก่ที่นี้เถิด

หนังสือสำคัญฉบับนี้ ได้ลงชื่อแลประทับพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินแลสำหรับตัวข้าพเจ้ามอบให้ พระยาประสิทธิศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) รักษาไว้ แลได้คัดสำเนาความต้องกันมอบให้เจ้าพนักงานกรมพระคลังข้างที่รักษาไว้เปนพยานด้วยฉบับหนึ่ง”

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระรูปคู่กับเจ้าพระยารามฯ บนพระรูปมีพระราชหัตถเลขาว่า “ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นพยานแห่งความสเนหา”

พระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานพระยารามราฆพ (ภาพจาก ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) พ.ศ. 2510)

 

ลักษณะนิสัยและชีวิตส่วนตัว

สำหรับเรื่องส่วนตัวแล้ว บันทึกของม.จ. พูนพิศมัย อธิบายเสริมว่า เจ้าพระยารามฯ มีผู้หญิงหลงใหลมากมายมาตั้งแต่วัยหนุ่ม ไม่เพียงเป็นเพราะได้เป็นนายโรงเอกของละครแล้ว เจ้าพระยารามฯ ก็เป็นผู้มีบารมีอีกประการหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เจ้าพระยารามฯ มักสนุกในการ “ทำให้คนสงสัยว่าติดคนนั้นบ้างคนนี้บ้างอยู่เสมอ” แต่ไม่ได้ชอบใครจริงจัง ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เจ้าพระยารามฯ เคยพูดว่า

“ใครเขาจะรักหม่อมฉันจริง, นอกจากอยากเป็นท่านผู้หญิงใส่สายสะพายกลัดเข็มพระบรมนามาภิธัยให้เต็มไหล่!”

วิทยานิพนธ์ของชานันท์ ยอดหงษ์ บรรยายว่า รัชกาลที่ 6 และเจ้าพระยารามฯ ใกล้ชิดกันมาก มาเริ่มห่างกันเมื่อก่อนพระองค์สวรรคตเพียงปีเดียว เมื่อช่วงเวลานั้นเจ้าพระยารามฯ แต่งงานกับประจวบ ลูกสาวเจ้าพระยายมราช (ตลับ สุขุม) ข้าราชการผู้ใหญ่ที่รัชกาลที่ 6 ทรงเคารพนับถือ ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า แต่งงานเมื่อ “ประจวบ” อายุ 10 ปี ในพ.ศ. 2467 เมื่อประจวบอายุ 14 ปีก็มีลูกผู้หญิงชื่อรุจิรา และมีบุตรชื่อมานน “และมีลูกกับเมียน้อยอีกหลายคน”

เจ้าพระยารามราฆพ และคุณหญิงรามราฆพ (ประจวบ พึ่งบุญ) ภาพจาก พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6)

 

การแต่งงานครั้งนั้นยังทำให้ได้รับพระบรมราชานุญาตไม่ต้องร่วมในเวลาทรงกีฬาขณะที่ประทับในพระนคร

ความในบันทึก ม.จ. พูนพิศมัย ยังบอกเล่าอีกว่า เมื่อครั้งที่โปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงนครบาลเข้ากับมหาดไทยนั้น เจ้าพระยายมราช ทูลกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า “รับไว้ชั่วคราว, ข้าพระพุทธเจ้าคิดจะให้พระยารามฯ เขารับต่อไป.” ภายหลังเจ้าพระยายมราชมาทูลว่า “เจ้าพระยารามฯ เขาไม่เอา. เขาบอกว่าราชสำนักไกลไม่ได้, ถ้าไปไกลก็หลุดเลย!”

ปลายรัชกาลที่ 6 

ในช่วงที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระประชวร เจ้าพระยารามฯ ก็มาเข้าเฝ้าทุกคืน งานเขียนของชานันท์ ยอดหงษ์ ยังเล่าโดยอ้างอิงบทความชื่อ “I lost a king” โดย ราล์ฟ วาลโด เมนเดลสัน ซึ่งบรรยายว่า เมื่อใกล้สวรรคต เจ้าพระยารามราฆพเป็นผู้ที่รัชกาลที่ 6 ทรงวางพระราชหัตถ์ที่มือจนกระทั่งสวรรคต หลังสวรรคต มีบันทึกว่า พระราชสมบัติส่วนพระองค์ที่พระองค์ทรงซื้อมาด้วยทุนส่วนพระองค์เองก็มักตกเป็นของเจ้าพระยารามฯ และพระยาอนิรุทธเทวา

ครั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาล สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ภายหลังมีการตัดทอนรายจ่ายในพระราชสำนัก ม.จ. พูนพิศมัย เล่าว่า เจ้าพระยารามฯ กราบถวายบังคมลา ทูลว่าจะไปหาวิชาความรู้ในยุโรป พร้อมด้วยครอบครัว

“…ความเจริญรุ่งเรืองของยุโรปประเทศมิได้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกหรือนึกคิดของเจ้าพระยารามได้แต่อย่างหนึ่งอย่างใด. แม้ผู้หญิงฝรั่งซึ่งน้อยคนนักจะหนีพ้นกลับมาได้, เจ้าพระยารามฯ ก็ไม่ชอบ. การได้อยู่ในยุโรป 7 ปีกว่านั้น, เจ้าพระยารามก็คงคลุกคลีอยู่กับคนไทยด้วยกันเป็นส่วนมาก และนอกจากเที่ยวเตร่แล้วก็เล่นไพ่ตองเป็นงานประจำ. ผิดกับคนไทยทั้งปวดหมด, แม้หม่อมราโชทัยผู้เป็นล่ามของราชทูตไทยไปยุโรปใน พ.ศ. 2400 ก็ยังเขียนรำพรรณอยากให้เมืองไทยมีสิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง, และแม้นักเรียนที่เรียนตก, ก็เก็บเอาความชั่วต่างๆ ของยุโรปกลับมาฝากบ้านด้วย. แต่-เจ้าพระยารามฯ ไม่รับมาทั้งชั่วและดี, จึงควรยกให้เป็นคนพิเศษ, เพราะยุโรปประเทศก็ต้องแพ้เจ้าพระยารามฯ เหมือนกัน!”

เจ้าพระยารามฯ กลับมาเมืองไทยในช่วงที่รัชกาลที่ 7 เสด็จไปยุโรป พ.ศ. 2477 ใช้ชีวิตอย่างสงบ ดำรงตำแหน่งในบริษัทจำกัดบ้าง เป็นประธานหรือกรรมการบ้าง เมื่อถึงพ.ศ. 2506 ในสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารามราฆพดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวังและประธานกรรมการพระราชวัง โดยยังไปปฏิบัติหน้าที่ฉลองพระเดชพระคุณตามที่สุขภาพอำนวย

เอกสารประวัติของเจ้าพระยารามฯ บรรยายว่า ท่านเริ่มป่วยเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2510 เข้ารับการรักษาในเดือนเดียวกัน และถึงอสัญกรรมในวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2510 รวมอายุ 77 ปี 16 วัน

 

อ้างอิง:

พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้า. พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6). กรุงเทพฯ : มติชน, 2561.

ชานันท์ ยอดหงษ์. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.

อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก กองเรือใหญ่ เจ้าพระยารามราฆพ ร.ว., ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 19 กันยายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_39095

The post ชีวิตและความรักของเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) คนโปรดของร.6 ที่สตรีหลง appeared first on Thailand News.