วังนางเลิ้ง ของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นที่โล่งก่อนตั้งวัง ไฉนกลายเป็นสถานที่ซึ่งถูกลืม?
ภาพถ่ายทางอากาศช่วงหลังสงคราม มองเห็นวังนางเลิ้งและทำเนียบรัฐบาล ซึ่งแต่เดิมคือบ้านนรสิงห์ของเจ้าพระยารามราฆพ
ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม กันยายน 2544
ผู้เขียน
สุรินทร์ มุขศรี
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2565
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงเป็นศิษย์ที่เลื่อมใสในวิชาไสยศาสตร์ของหลวงปู่ศุข แห่งวัดปากคลองมะขามเฒ่า และมีความสนิทสนมกันมาก จนถึงขนาดให้สร้างกุฏิขึ้นในวังนางเลิ้งสำหรับหลวงปู่นาพำนักเวลามากรุงเทพฯ
วังนางเลิ้งนั้นตั้งอยู่ตรงไหน ปัจจุบันมีสภาพเป็นอย่างไร และกุฏิของหลวงปู่ศุขที่ในวังยังมีอยู่หรือไม่
ราวปี พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯ ให้จัดเตรียมที่แปลงหนึ่งบริเวณปาก คลองเปรมประชากรต่อกับคลองผดุงกรุงเกษมทางฝั่งตะวันออก เพื่อสร้างวังใหม่พระราชทานพระราชโอรสสองพระองค์คือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ครั้งดํารงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์
ที่แปลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นของหลวงตกอยู่ในกระทรวงนครบาลมาแต่เดิม บางส่วนต้องซื้อเพิ่มจากราษฎรที่ตั้งบ้านเรือนอยู่แถวนั้นมาก่อน รวมเงินซึ่งพระคลังข้างที่ต้องจ่ายเป็นค่าที่ดินและค่ารื้อเรือนโรงเป็นเงินทั้งสิ้น 244 ชั่ง 60 บาท 40 อัฐ
แล้วโปรดฯ ให้แบ่งที่เป็นสองส่วน โดยด้านติดทําเนียบรัฐบาลพระราชทานให้เป็นวังสําหรับพระองค์เจ้าอาภากร ต่อ มาชาวบ้านเรียกว่า “วังนางเลิ้ง” ส่วนด้านตะวันออกที่ติดกับชุมชนบ้านญวนและบ้านพิษณุโลกในปัจจุบัน พระราชทานให้พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธุ์ พระอนุชาของพระองค์เจ้าอาภากร ซึ่งต่อมารู้จักกันในชื่อ “วังไชยา”
วังนางเลิ้งมีเนื้อที่ประมาณ 22 ไร่เศษ ทิศเหนือจรดถนนพิษณุโลก ทิศใต้จรดถนนลูกหลวง ทิศตะวันออกจรดถนนนครสวรรค์ ทิศตะวันตกจรดถนนพระราม 5 ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นที่ตั้งของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตพณิชยการพระนคร
ตําหนักใหญ่ปลูกค่อนไปด้านเหนือ หันหน้าไปทางหัวมุมถนนพระราม 5 ตัดกับถนนพิษณุโลก บริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือประตูใหญ่ของวังนางเลิ้ง
เล่ากันว่าเมื่อกรมหลวงชุมพรฯ สําเร็จวิชาการทหารเรือจากยุโรป และเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2443 นั้น พระตําหนักในวังนางเลิ้งยังสร้างไม่เสร็จ พระองค์จึงเสด็จประทับอยู่ในเรือรบหลวงมูรธาวสิคสวัสดิ์ ซึ่งได้รับพระราชทานตําแหน่งให้เป็นผู้บังคับการเรือ ประทับอยู่ประมาณ 6-7 เดือนจึงได้ย้ายเข้าวัง
ช่วงเวลาที่เริ่มสร้างวังและเสด็จประทับในวังแห่งนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ปรากฏหลักฐานจากคําบอกเล่าของพลเรือตรีพระยาหาญกลางสมุทร ซึ่งเคยรับราชการใกล้ชิดกับกรมหลวงชุมพรฯ ตั้งแต่เสด็จกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ และมีโอกาสเห็นวังนางเลิ้งในครั้งนั้นเล่าไว้ว่า
“…ในวังนางเลิ้ง บางที่ท่านตรัสว่าหญ้ารก ไปช่วยกันหน่อย นักเรียนนายเรือก็ยกพวกไปกันทีเดียว ฉันเป็นหัวหน้าใหญ่ มีหน้าที่ไปโค่นต้นไม้ ต้นไผ่ ขุดตอ ตอนนั้นยังไม่เป็นวังเป็นบ้านเดิมมีป่าไผ่ ป่ากระถิน มะขามเทศ แรก ๆ ที่ไปสร้างไม่มีกําแพง เป็นที่โล่งๆ เหมือนชาวบ้านธรรมดานี่แหละ แล้วต่อมาตีสังกะสีล้อมเสียหน่อย กําแพงรูปใบเสมาอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้มาทําทีหลังตอนขึ้นวังใหม่”
ซึ่งตอนขึ้นวังใหม่ตามที่เจ้าคุณหาญว่านี้ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาว่า “… ด้วยการก่อสร้างตําหนักที่วังพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์นั้น ช่างได้กระทําการก่อสร้างเสร็จบริบูรณ์แล้ว สมควรจะกระทําการมงคลขึ้นตําหนัก
ในเดือนนี้ได้ จึงโปรดให้โหรหาฤกษ์มีกําหนดในวันที่ 20 มีนาคม (พ.ศ. 2449) เป็นกําหนดพระฤกษ์การขึ้นตําหนักใหม่ และโปรดให้จัดการตกแต่งในวังด้วยใบไม้ ธงช้าง และโคมไฟดูสว่างไสวไปทั้งจังหวัดวัง…”
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดําเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้า ราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในไปร่วมในงานนี้จํานวนมาก
ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรต และทรงเจิมพระเจ้าลูกยาเธอ และหม่อมเจ้าทิพยสัมพันธุ์ พระชายา และพระราชทานพระพร
พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าของวังได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระรูป และธารพระกรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกับถวายและแจกมีดพับสําหรับเหลาดินสอซึ่งมีอักษรจารึกเป็นของชําร่วยสําหรับผู้ไปร่วมงานครั้งนี้
ตําหนักใหญ่ของวังนางเลิ้งเป็นตึก 2 ชั้น ทรงยุโรป หน้าตาคล้ายกับตําหนักใหญ่ที่วังบูรพาภิรมย์ แวดล้อมด้วย สวนหย่อม ศาลาและสระน้ำ บริเวณรอบนอกเป็นสวนผลไม้ และบ้านเรือนของข้าราชบริพาร
ท่านหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาในกรมหลวงชมพรฯ พระองค์หนึ่ง ที่เติบโตมาในวังแห่งนี้ บรรยายภาพของวังนางเลิ้งไว้ในหนังสืออนุสรณ์ท่านหญิงเริง ซึ่งกองทัพเรือเป็นผู้จัดพิมพ์ความว่า
“… เนื้อที่วังนางเลิ้งมีประมาณ 20 ไร่เศษ ทรงขุดคลองเอาดินขึ้นถม มีคลองลดเลี้ยว ทําสะพานเชื่อมเดินถึงกันจากเกาะนี้ไปเกาะโน้น ทุกๆ เกาะมีหม่อมคนหนึ่งเป็นเจ้าของรับมอบดูแลความสะอาด ปลูกไม้ดอกไม้ต้น กลางวันเดินเที่ยวและพายเรือสนุกดี แต่ตกกลางคืนเงียบและมืด เสียงนกร้องน่ากลัว มีศาลาทุกแห่ง ศาลาใกล้ตําหนักใหญ่พอควรทาสีดํา มีคนตายในวังจะตั้งศพบําเพ็ญกุศลที่นั้น…”
สําหรับกุฏิของหลวงปู่ศุขในวังนางเลิ้งนั้น เคยมีอยู่จริง ปลูกเป็นศาลาอยู่ในสวนด้านทิศใต้ ใกล้คลองผดุงกรุงเกษม ท่านหญิงเริงเล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกับที่ยกมาข้างต้นว่า
“…หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จะลงมาพักอยู่ที่วัง ณ ศาลาที่ปลูกไว้ท้ายสวนแทบทุกปี (มักจะลงมา พักช่วงเดือนธันวาคม ซึ่งตรงกับวันประสูติของกรมหลวง ชุมพรฯ) ได้มาช่วยกันทําพระไว้แจกที่วังนางเลิ้ง มีแม่พิมพ์แกะด้วยอะไรจําไม่ได้ เอาตะกั่วมาใส่กระทะ แล้วเอาจอกตักใส่พิมพ์
พระที่นิยมเป็นพระปิดตา รูปสี่เหลี่ยมมีจั่วแหลมเป็นวิมาน หลวงปู่เป็นคนคุมทําต่อหน้าท่าน เสด็จพ่อท่านทอดพระเนตร ท่านไม่ได้ทําด้วย ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน ข้าพเจ้าช่วยตักใส่แม่พิมพ์ด้วย สนุกดีเหมือนทําขนมคุกกี้ ทําเสร็จใส่ไว้เต็มบาตร นํามาไว้หน้าที่บูชา มีดอกไม้ธูปเทียน ทําพิธีสวดชยันโต มีพระสวด 4 องค์ (รวมหลวงปู่ เป็นห้าองค์) ทำพระไว้แจกเยอะแยะ….”
ทั้งตัวตําหนักใหญ่และกุฏิของหลวงปู่ศุข รวมทั้งอาคารส่วนใหญ่ในวังแห่งนี้ถูกรื้อไปนานแล้ว แม้แต่ภาพถ่ายก็หาดูได้ยากมาก มีภาพถ่ายทางอากาศอยู่ภาพหนึ่งที่มองเห็นวังนางเลิ้ง และทําเนียบรัฐบาลอยู่ไกลๆ พอให้นึกสภาพวังได้บ้าง ส่วนอีกภาพเป็นภาพร่างตัวตําหนักใหญ่ในพิมพ์เขียว ทําไว้คราวที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคิดจะซ่อมตึกวังนางเลิ้งและเช่าเป็นที่ทําการ แต่มีงบไม่พอจึงระงับไป
ท่านผู้อ่านท่านใดที่มีภาพของวังนางเลิ้งที่ดีกว่านี้กรุณาเผยแพร่แบ่งกันชมบ้าง ถือว่าช่วยกันเชิดชูพระเกียรติคุณของท่าน
หลังจากที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. 2466 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ดินของวังนางเลิ้งได้ถูกแบ่งเป็นส่วน ๆ ในหมู่พระชายา พระโอรส พระธิดา และผู้ใกล้ชิด
ต่อมาที่ดินผืนใหญ่สุด บริเวณตัวตําหนักซึ่งมีเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 34 ตารางวา ถูกขายให้สํานักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์
ประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2482 สํานักงานทรัพย์สินฯ ได้ให้นายอุบล (ไม่ทราบนามสกุล) เช่าที่ดินผืนนี้เดือนละ 200 บาท เพื่อใช้เป็นที่ทําการของโรงเรียนสุวิชพิทยาลัย
พ.ศ. 2485 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 กรมยุวชนทหารย้ายจากวังบางขุนพรหมมาอยู่ที่วังนางเลิ้ง และช่วงนี้เองที่วังนางเลิ้งถูกภัยทางอากาศ ตําหนักใหญ่ถูกเพลิงไหม้เสียหายมากจนใช้การไม่ได้
หลังจากนั้นสํานักงานทรัพย์สินฯ ได้ให้นายสวน เกาะสุวรรณ์ เช่าที่ดินในราคาเดือนละ 80 บาท เพื่อเป็นที่เก็บรถเมล์แดง โดยทําสัญญาเช่าเป็นรายเดือน
ระหว่างปี พ.ศ. 2485-2487) ซึ่งจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายที่จะปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณวังนางเลิ้งทั้งหมดให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย เป็นระเบียบสวยงาม เพราะเป็นพื้นที่ที่ต่อเนื่องกับทําเนียบรัฐบาล
โดยสิ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการสร้างขึ้นใหม่และให้ออกแบบไว้แล้วคือ ตึกแถวสามชั้น สอง ชั้น และชั้นเดียวตามริมถนนรอบบริเวณวัง ลักษณะคล้ายกับตึกแถวริมถนนราชดําเนิน
ขณะนั้นที่ดินของวังนางเลิ้งนอกเขตตําหนักใหญ่ถูกแบ่งเป็นแปลง ๆ มีผู้ถือกรรมสิทธิถึง 14 ราย จึงสร้างความยุ่งยากในการต่อรองให้ปรับปรุงพื้นที่ตามความต้องการของรัฐบาลอย่างมาก จนกระทั่งมีการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติเวนคืน
ที่สุดโครงการนี้ก็ถูกยกเลิก เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากตําแหน่ง
ปลายปี พ.ศ. 2490 นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ต้องการเช่าตึกใหญ่ในวังนางเลิ้งเป็นที่ทําการกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่จะต้องลงทุนซ่อมแซมเป็นวงเงิน 460,000 บาท ซึ่งรัฐบาลยังไม่มีเงินเพื่อการนนี้จึงให้ระงับไว้”
ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 ทางกระทรวงศึกษาฯ ขอเช่าวังนางเลิ้งเพื่อขยายการศึกษาวิชาชีพตามนโยบาย รัฐบาล โดยจะขอเช่าเป็นเวลา 20 ปี และจะดําเนินการก่อสร้างซ่อมแซมอาคารเรียนด้วยงบประมาณของกรมอาชีวศึกษาเอง
ครั้งนี้สํานักงานทรัพย์สินฯ ตกลง โดยคิดค่าเช่าเพียงเดือนละ 300 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าอาคารที่ซ่อมสร้างแล้วทุกหลังต้องยกให้เป็นสมบัติของสํานักงานทรัพย์สินฯ ทันที
จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจึงมีดําริให้ขอพระราชทานที่แปลงนี้แบบให้เปล่า ซึ่ง ทางสํานักงานทรัพย์สินฯ ไม่เห็นด้วย แต่ยินดีจะขายให้แก่องค์การรัฐบาลสําหรับใช้เพื่อการศึกษาเป็นกรณีพิเศษ ในราคา 700,000 บาท
กระทรวงศึกษาฯ ตกลงรับซื้อที่ดินและตัวตึกวังกรมหลวงชุมพรฯ ในราคาดังกล่าวเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนพณิชยการพระนคร
กรมอาชีวศึกษาได้เริ่มทําพิธีก่อสร้างอาคารเรียน เมื่อวัน ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2491 และช่วงนี้เองที่น่าจะมีการรื้อตึกใหญ่ของวังนางเลิ้ง เนื่องจาก ณ เวลานั้นคงชํารุดทรุดโทรมไปมาก เกินกําลังที่กรมอาชีวศึกษาจะหาทุนมาบูรณะไว้ได้
เรือนหมอพร แต่เดิมเป็นที่พำนักของหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา
เมื่อไม่เหลือพระตําหนักให้เห็น นานวันเข้าชื่อวังนางเลิ้งก็ถูกลืม หลายคนที่ผ่านไปมาแถวทําเนียบรัฐบาล บ่อย ๆ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวังนางเลิ้งตั้งอยู่ตรงนั้น
คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่หน้าวิทยาเขตพณิชยการพระนคร เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2519 ได้มีรับสั่งถามผู้อํานวยการขณะนั้นว่า ยังมีสิ่งใดที่ในสมัยเป็นวังหลงเหลืออยู่บ้าง เมื่อทรงทราบว่ามีเรือนเก่าหลังหนึ่งเหลืออยู่ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ให้อนุรักษ์ไว้”
เรือนหลังนั้นต่อมาเรียกกันว่า “เรือนหมอพร” เพราะช่วงหนึ่งได้ถูกใช้เป็นเรือนพยาบาลของวิทยาลัย มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น เจ้าของเรือนเดิมคือหม่อมเมี้ยน อาภากร ณ อยุธยา ตั้งอยู่ไม่ห่างจากตําหนักใหญ่นัก ทางวิทยาเขตได้บูรณะซ่อมแซมเรือนหลังนี้มาตลอด และปัจจุบัน (2544-กองบก.ออนไลน์)ได้จัดให้เป็น “ศูนย์วัฒนธรรม วิทยาเขตพณิชยการพระนคร สถาบันราชมงคลเฉลิมพระเกียรติ”
ภายในเรือนหมอพรมีตู้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้สมัยกรมหลวงชุมพรฯ อยู่หลายชิ้น เช่น เครื่องยศ เครื่องปรุงยา เครื่องดนตรี โต๊ะทรงงาน ฯลฯ ตามผนังประดับพระฉายาลักษณ์และป้ายบอกพระประวัติและกรณียกิจของพระองค์ที่สําคัญต่อบ้านเมือง
อนุสรณ์ที่เหลือให้เห็นว่าตรงนี้เคยเป็นวังอีกอย่างคือ กําแพงขาวที่มีใบเสมาอยู่หน้าวิทยาเขตด้านถนนพิษณุโลก ซึ่งเป็นกําแพงของเดิม กําแพงแบบนี้ปกติจะใช้กับวังของสมเด็จเจ้าฟ้าเท่านั้น แสดงว่าพระองค์เจ้าอาภากรทรงได้รับการยกย่องเสมอในเจ้าฟ้าด้วยเช่นกัน…
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เผยแพร่ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2544 เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2563
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_44390
The post วังนางเลิ้ง ของกรมหลวงชุมพรฯ เป็นที่โล่งก่อนตั้งวัง ไฉนกลายเป็นสถานที่ซึ่งถูกลืม? appeared first on Thailand News.