ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

หมูสายพันธุ์ต่างชาติ? ที่นำเข้าในไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5

หมูสายพันธุ์ต่างชาติ? ที่นำเข้าในไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพประกอบบทความจากห้องสมุดภาพมติชน

 

การเลี้ยงหมูในอดีตของไทย เป็นการเลี้ยงแบบปล่อยตามบ้าน โดยใช้เศษอาหาร, เศษผัก และหยวกกล้วย เป็นต้น หรือเลี้ยงเพื่อให้มันช่วยกำจัดอาหารเหลือกินจากครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ หมู ที่เลี้ยงจะเป็นเพศเมีย เพราะสามารถให้ลูกไว้เลี้ยงต่อไปได้อีก โดยหมูที่เลี้ยงมักจะเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่แตกต่างกันไปในแต่ภูมิภาค

ตัวอย่างเช่น ภาคเหนือ หมูที่เลี้ยงมักเป็นพันธุ์ควาย บ้างเรียกว่า หมูตาขาว เพราะมีสีขาวรอบๆ ขอบตา เป็นหมูที่ลำตัวและโครงใหญ่ อาจมีน้ำหนักถึง 160-180 กิโลกรัม ภาคอีสานตอนล่างเลี้ยง “หมูราด” หรือ “หมูกระโดน” ที่มีขนาดเล็ก ตัวหนึ่งมีน้ำหนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม หาอาหารเองได้เก่ง กระดูกเล็ก เนื้อแน่น ส่วนภาคกลาง, ภาคตะวันออก, ภาคตะวันตก และภาคใต้ ส่วนใหญ่เลี้ยงหมูพันธุ์ไหหลำ ซึ่งมีลักษณะที่สันนิษฐานว่า เป็นสายพันธุ์จากประเทศจีน เป็นต้น

แต่หมูพื้นเมืองก็เจริญเติบโตช้า ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าจะขายหรือนำมาบริโภคได้ จึงมีการนำเข้าพันธุ์จากต่างประเทศ

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้นำหมูจากประเทศอังกฤษ 2 สายพันธุ์ เข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยได้แก่ พันธุ์ลาร์จแบล็ค (Large Black) และพันธุ์เอสเสก (Essex) ถึง พ.ศ. 2461 หมูทั้ง 2 สายพันธุ์ ได้นำไปเลี้ยงที่โรงเรียนเกษตรกรรมนครปฐม แต่ก็สูญพันธุ์ไปในที่สุด

พ.ศ. 2482 พระนรราชจำนงและคณะทูต นำเข้าพันธุ์หมูจากประเทศออสเตรเลีย และนำไปเลี้ยงที่สถานีกสิกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ พันธุ์เบอร์กเชียร์ (Berkshire), ลาร์จไวท์ (Large White), มิดเดิลไวท์ (Middle White) และพันธุ์แทมเวอร์ท (Tam Worth) เมื่อมีการจัดตั้งสถานีเกษตรกรรมกลางบางเขน จึงได้ถูกแบ่งมาเลี้ยงที่สถานีเกษตรกรรมกลางบางเขน แต่ได้สูญพันธุ์ไประหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2492 กองสัตวบาล กรมปศุสัตว์ สั่งซื้อสุกรทั้ง 4 สายพันธุ์ดังกล่าว จากประเทศออสเตรเลีย

พ.ศ. 2497 กรมปศุสัตว์ได้รับความช่วยเหลือขององค์การยูซ่อม (USOM) ได้ส่งเจ้าหน้าที่ของกรมไปซื้อสุกรพันธุ์ดูรอค เจอร์ซี่ (Duroc Jersey) เบอร์กเชียร์ และแฮมเชียร์ (Hampshire) จากประเทศสหรัฐอเมริกา

พ.ศ. 2500 โดยการช่วยเหลือของแผนโคลัมโบ ประเทศไทยได้มีการจัดซื้อหมูพันธุ์ลาร์จไวท์ ซึ่งเป็นหมูที่มีลักษณะการให้เนื้อดี ลำตัวยาว ฯลฯ จากประเทศอังกฤษ

พ.ศ. 2505 กรมปศุสัตว์ให้เจ้าหน้าที่จัดซื้อหมูพันธุ์ดูรอคซึ่งมีลักษณะที่ดี มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม เพื่อเปลี่ยนสายเลือดจำนวนหนึ่ง ต่อมามีบริษัทเอกชนนำเข้าพันธุ์หมูอีกเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งปัจจุบัน หมูที่นำเข้ามาเลี้ยงส่วนใหญ่มี 4 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ลาร์จไวท์ แลนด์เรซ ดูรอค และเพียแตรง

ขณะที่การเลี้ยงหมูก็มีพัฒนาการเป็นลำดับ จากการเลี้ยงแบบปล่อยตามบ้านก็เริ่มขยายเป็นการเลี้ยงแบบการค้า มีการพัฒนาทั้งในด้านพันธุ์, การให้อาหาร และวิธีการจัดการฟาร์ม ฯลฯ สถิติการเลี้ยงหมู พ.ศ. 2560 จากกรมปศุสัตว์ทั้งประเทศมี 10,191,748 ตัว เป็นหมูขุน [หมูพันธ์ หรือหมูพื้นเมืองที่เลี้ยงในระบบเพื่อสร้างเนื้อแดง] 84.44%, หมูพันธุ์ [หมูพันธุ์ต่างๆ จากต่างประเทศ] 9.17% และหมูพื้นเมือง [หมูพันธุ์ท้องถิ่นของไทย] 6.39%

ส่วน 10 จังหวัดที่มีการเลี้ยงหมูมากที่สุดในปี 2560 กรมปศุสัตว์ จัดลำดับไว้ดังนี้ ราชบุรี, ชลบุรี, ลพบุรี, กำแพงเพชร, พัทลุง, นครราชสีมา, เชียงใหม่, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, ชัยภูมิ

 

ข้อมูลจาก

วรรณพร ทะพิงค์แก. การผลิตสุกร, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. พ.ศ. 2561

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มกราคม 2565

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_80299

The post หมูสายพันธุ์ต่างชาติ? ที่นำเข้าในไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 appeared first on Thailand News.