ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

แรกใช้ “น้ำมัน” ในสยาม เมื่อ 130 ปีก่อน สั่งซื้อจากไหน?

แรกใช้ “น้ำมัน” ในสยาม เมื่อ 130 ปีก่อน สั่งซื้อจากไหน?

เรือบรรทุกน้ำมันลำแรกของโลก ชื่อ “มิวเร็กซ์” ของบริษัท เชลล์ ทรานสปอร์ต แอนด์ เทรดดิ้ง ขนส่งน้ำมันก๊าด “ตรามงกุฎ” เข้ามายังประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2435 จำนวน 1,250 ตัน

 

ไทยสั่งซื้อน้ำมันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยซื้อ “น้ำมันก๊าด” จากประเทศรัสเซีย เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทาง แทนการใช้น้ำมันพืช และไขสัตว์

แต่น้ำมันก๊าดได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ก็มีข้อเสียคือ “ไวไฟ”

พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนย้าย การจำหน่าย และการจัดเก็บน้ำมันก๊าด โดยห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเก็บไว้ในสถานที่เดียวกันเกิน 80 แกลลอน

พ.ศ. 2434 การใช้น้ำมันเป็นพลังงานเริ่มหลายขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา (คือ กรมทรัพยากรธรณี ในปัจจุบัน) ให้มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องถ่านหินและน้ำมันดิบ มีพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้บังคับบัญชาคนแรก

รถขนน้ำมันสมัยแรกๆ

 

พ.ศ. 2435 มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือบริษัท รอยัลดัทช์และเซลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด)  โดยน้ำเข้านำมันก๊าดจากสิงคโปร์เข้ามาจำหน่าย

พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา(ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) เข้ามาเปิดทำธุรกิจค้าน้ำมันก๊าดเป็นบริษัทที่ 2 โดยมีการก่อสร้างคลังน้ำมันขึ้นด้วย

ระหว่าง พ.ศ. 2452-55 เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (ม.ร.ว. สท้าน สนิทวงศ์) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและผู้บังคับบัญชากรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา มีดำริจะออกสัมปทานให้ชาวต่างชาติมาทำบ่อน้ำ แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง

ห้างในเลิศ เป็นร้านขายน้่ำมันรถยนต์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ช่วงต้นรัชกาลที่ 6

 

พ.ศ. 2461 ชาวบ้านฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบน้ำมันไหลซึมขึ้นมาจากพื้นดิน เชื่อว่าเป็นน้ำมันศักดิ์สิทธ์นำมาใช้ทาตัวเพื่อรักษาโรคต่างๆ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐทราบเรื่องจึงบัญชาให้ขุดเป็นบ่อตื้นๆ เพื่อกักน้ำมันไว้เรียกว่า “บ่อเจ้าหลวง”

พระเจ้าบรมวงศ์กรมพระยากำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บังคับบัญชากรมการรถไฟหลวงทรงทราบเรื่องจึงทรงปรารภให้มีการสำรวจขุดเจาะน้ำมันดิบที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นครั้งแรก โดยทรงสั่งเครื่องเจาะและจ้างชาวต่างชาติมาดำเนินการ คือ นายวาย บัวแยร์ เป็นนายช่างแร่ และนายอุดม เลิศวณิช ไปเจาะตรวจน้ำมันในบริเวณบ่อเจ้าหลวง นอกจากนี้ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจหาน้ำมันที่จังหวัดปัตตานี โดยได้ติดต่อกับ บริษัท เอเชียติค ปิโตรเลียม (ไม่ทราบว่ารายงานผลการสำรวจทั้ง 2 แห่ง อยู่ที่ใด

พ.ศ. 2464 กรมรถไฟหลวง ได้ว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกัน สำรวจน้ำมันที่อำเภอกุฉินารายร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีโครงสร้างลักษณะภูมิประเทศเป็นแหล่งสะสมปิโตรเลียมอยู่ใต้ดิน

พ.ศ. 2466 กรมรถไฟหลวง ได้เจาะสำรวจพบน้ำมันดิบในเขตอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็ยังไม่ทราบปริมาณน้ำมันที่พบแน่นอน

พ.ศ. 2476 กระทรวงกลาโหมจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิงขึ้นเพื่อกำเนินการจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจัดตั้งถังเก็บน้ำมัน และโรงกลั่นน้ำมัน ตลอดจนการว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวสวิส สำรวจหาแหล่งน้ำมันในประเทศ  จากนั้นก็มีการสร้างคลังน้ำมันขึ้นที่ช่องนนทรี กรุงเทพฯ มีถังบรรจุนำมัน 9 ถัง รวมความจุ 5 ล้านแกลลอน และมีการสั่งต่อเรือบรรทุกสำหรับน้ำมันและถ่ายน้ำมัน จากประเทศญี่ปุ่น 1 ลำ ชื่อ “สมุย” ระวางขับน้ำ 1,854 ตัน ความเร็ว 12 น็อต

ภาพร่างเรือบรรทุกน้ำมัน “สมุย”

 

พ.ศ. 2480 แผนกเชื้อเพลิง กระทรวงกลาโหม ยกฐานะขึ้นเป็น กรมเชื้อเพลิง โดยเริ่มจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน

พ.ศ. 2489 หลังสงครามครั้งที่โลกยุติ รัฐบาลยุบกรมเชื้อเพลิงโดยขายกิจการและสินทรัพย์ให้เอกชน

พ.ศ. 2481 กรมทางหลวงแผ่นดินได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับช่วงการสำรวจน้ำมันแทนกรมรถไฟหลวง โดยเจาะหลุมตื้น 15-25 เมตร ในบริเวณที่พบน้ำมันดิบลุ่มแอ่งฝ่าง พบน้ำมันดิบในสภาพของทรายน้ำมัน กรมทางหลวงแผ่นดินทดลองกลั่นทรายน้ำมันได้ 310 บาเรล โดยดำเนินงานถึงพ.ศ. 2487 เห็นว่าไม่ได้รับผลสำรวจเพิ่มเติม จึงระงับโครงการ

พ.ศ. 2497 รัฐบาลว่าจ้างบริษัทเอกชนจากประเทศอังกฤษ บินสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแถบจังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการเจาะหลุมสำรวจ 3 แห่ง การสำรวจดำเนินต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2502 ก็ยังไม่พบร่องรอยใดๆ รัฐบาลจึงเลิกล้มการสำรวจน้ำมันเองเพราะต้องใช้เงินลงทุนและเทคโนโลยีสูง มาเป็นการร่วมลงทุน โดยเชิญต่างประเทศมาลงทุนและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย

พ.ศ. 2499 รัฐบาลมีมติจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังผลิตสูงสุด 1,000 บาเรล/วัน

พ.ศ.2502  ตั้งโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เป็นโรงกลั่นแห่งที่ 2 กำลังการผลิต 5,000 บาเรล/วัน

พ.ศ. 2505 รัฐบาลเชิญต่างประเทศมาร่วมลงทุนสำรวจและและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย มีบริษัท ยูเนียน ออยล์ ออฟ ไทยแลนด์ จำกัด ได้รับอนุญาตเป็นบริษัทแรก โดยเข้ามาทำการสำรวจที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พ.ศ. 2508 จัดตั้งองค์การเชื้อเพลิงเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงกลาโหม เพื่อดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมของประเทศ

พ.ศ. 2516 บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด เจาะสำรวจพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นครั้งแรกที่ แหล่งเอราวัณ

พ.ศ. 2520 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี จัดตั้งองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย

พ.ศ. 2521 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี จัดตั้ง ปตท. (การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) ขึ้นโดยรวมองค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งตรงกับระยะที่ทั่วโลกกำลังเกิดภาวะน้ำมันขาดแคลน

แต่ประเทศไทย กำลังเข้าสู่ยุค “โชติช่วงชัชชวาล” เพราะ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในอ่าวมีก๊าซ”

 

ข้อมูลจาก

ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์. “100 ปี ‘น้ำมัน’ ในสยาม” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนธันวาคม 2532.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤษภาคม 2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_15580

The post แรกใช้ “น้ำมัน” ในสยาม เมื่อ 130 ปีก่อน สั่งซื้อจากไหน? appeared first on Thailand News.