ซีพีเอฟสานต่อโครงการ “ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ปีที่ 8 ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารคุณภาพ
นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นผู้แทนนายเฉลิมพล มั่งคั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร รับมอบ “โครงการซีพีเอฟ อิ่มสุข ปลูกอนาคต” จาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชน แก่โรงเรียนป่าไร่ป่าชาดวิทยา ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร พร้อมสร้างกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารคุณภาพ ปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการแก่เยาวชน สนับสนุนสู่การพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชนต่อไป โดยมี นายดำริห์ แสงสินธุ์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เป็นผู้แทนส่งมอบ ร่วมด้วย นายพิเชษฐ มหาวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร
นายวลัยพรรณ น้อยสันเทียะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวขอบคุณซีพีเอฟ ที่ได้แบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป การดำเนินงานของ “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” เพื่อให้เกิดความสำเร็จนั้นจะต้องประกอบด้วยภาคส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกคือซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชนผู้ส่งมอบองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมด้านโภชนาการ ส่วนที่สองคือโรงเรียน ในฐานะภาครัฐ โดยมีคณะครูและนักเรียนเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ส่วนที่สามคือภาคประชาสังคม ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองและชุมชนรอบข้าง ที่ต้องมาช่วยกันผลักดันให้เกิดความสำเร็จ
“ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคม คือ 3 ภาคส่วนที่มีความสำคัญในการดำเนินโครงการฯ นี้อย่างมั่นคง และทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปได้ในอนาคต ขอขอบคุณซีพีเอฟอีกครั้ง ที่ร่วมสร้างโภชนาการที่ดีให้กับเด็กๆ และสร้างโอกาสที่ดีให้กับโรงเรียนและนักเรียน ที่ทุกคนมีความต้องการในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นแหล่งสร้างอาหารปลอดภัย และแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียน ครู และผู้ปกครองต่อไป” รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าว
ด้านนายพิเชษฐ มหาวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามุกดาหาร เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ผนึกกำลังกับซีพีเอฟ และมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ดำเนิน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างโภชนาการที่ดีและการเติบโตสมวัยทั้งด้านร่างกายและสติปัญญา ให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและในถิ่นทุรกันดาร จากความสำเร็จของโครงการฯ ดังกล่าว ในปี 2558 สพฐ. และซีพีเอฟได้ร่วมกันดำเนิน “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” เพื่อต่อยอดความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างโภชนาการที่ดีในเด็กและเยาวชนอย่างไม่สิ้นสุด
“การดำเนินโครงการฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 บนพื้นฐานความร่วมมือเชิงบูรณาการ 3 ประสาน เป็นการขยายผลกระบวนการเรียนรู้และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัย และเหมาะสมตามหลักโภชนาการไปยังเด็กนักเรียน พร้อมสนับสนุนการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต้นแบบในโรงเรียนและชุมชน โดยโรงเรียนป่าไรป่าชาดวิทยา ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของโครงการฯ จากการพัฒนาพื้นที่ภายในโรงเรียน เกิดเป็น 7 ฐานเรียนรู้ ทั้งการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน อุโมงค์ผักและศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา การเลี้ยงปลา หลุมพอเพียง ไม้ผลแบบผสมผสาน แปลงผักปลอดสาร ปลูกเห็ดในโรงเรือน ปลูกมะนาวในบ่อซีเมนต์ และร้านค้าอิ่มสุขโรงเรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมทั้งทักษะวิชาการและพัฒนาสู่พื้นฐานการประกอบอาชีพในอนาคตของเยาวชนได้เป็นอย่างดี” นายพิเชษฐ กล่าว
ด้านนายดำริห์ แสงสินธุ์ชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธุรกิจสุกร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่” พร้อมทั้งสร้างความตระหนักและส่งเสริมพนักงานมีส่วนร่วมตอบแทนสังคม ดูแลชุมชนรอบสถานประกอบการ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเสาหลักด้าน “อาหารมั่นคง” เป็นเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารแก่เด็กและเยาวชน ผ่าน “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ตลอดระยะเวลา 34 ปี จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 905 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนมากกว่า 180,000 คน และยังเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการอาชีพเกษตรเชิงธุรกิจให้กับครู 12,000 คน และชุมชน 1,900 แห่งได้รับประโยชน์จากโครงการฯ กระทั่งต่อยอดสู่ “โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต” ไปยังโรงเรียนในพื้นที่รอบโรงงานและฟาร์มของบริษัท มากกว่า 80 แห่ง สู่น้องๆนักเรียนรวมกว่า 16,000 คน ที่ชาวซีพีเอฟจิตอาสาร่วมกันเข้าไปช่วยสร้างแหล่งอาหาร แหล่งเรียนรู้ และพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมการสร้างอาหารในชุมชน
“ซีพีเอฟเชื่อมั่นว่า “หากให้ปลาหนึ่งตัว จะมีกินหนึ่งวัน แต่การสอนจับปลา จะมีกินตลอดไป” เมื่อเด็กและเยาวชน “อิ่มท้อง” จากการเรียนรู้วิธีการผลิตอาหาร ควบคู่ไปกับวิถีการบริโภคอย่างมีสุขโภชนาการ ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการมีจิตใจแจ่มใส พร้อมเล่นและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียกได้ว่า “สุข” ทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญา ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการ “ปลูกอนาคต” เพื่อเด็กและเยาวชน และจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าและมั่นคงต่อไป” นายดำริห์ กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูล https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220705193028440
Credit : ข่าวประชาสัมพันธ์กรมประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร : Read More