ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ข้อสันนิษฐานเรื่อง ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองบุรีรัมย์ที่ “คลุมเครือ”

ข้อสันนิษฐานเรื่อง ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองบุรีรัมย์ที่ “คลุมเครือ”

ขนวนแห่งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษของบุรีรัมย์

ผู้เขียน
บรรณษรณ์ คุณะ
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2564

หากจะพูดถึงเรื่องราวของการก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์นั้น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ถือเป็นที่ประจักษ์ในการรับรู้และความเชื่อทางประวัติศาสตร์ของชาวบุรีรัมย์ ที่เชื่อว่าท่านคือผู้ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ (ในอดีตเรียกเมืองแปะ) โดยอนุสาวรีย์สร้างขึ้นในเมื่อปี พ.ศ. 2539 มีนายชัย ชิดชอบ สมัยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสมัยนั้น ได้มีส่วนร่วมกับจังหวัดบุรีรัมย์ และกรมศิลปากร นำเสนอโครงการให้รัฐบาลจัดสร้าง 

ข้อสันนิษฐานที่ว่า “รัชกาลที่ 1 (ไม่ได้) ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์” 

ข้อสันนิษฐานที่ 1 คือ ในปี พ.ศ. 2319 เป็นช่วงเขตพื้นเมืองอีสานทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของการขยายอำนาจสยามในสมัยธนบุรี ภายใต้พระราชอำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) ตามหลักฐานพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า 

“…ณ วัน 6 4 ค่ำ หล่อปืนพระพิรุณ ณ สวนมังคุด อนึ่ง แต่ ณ ปีวอกอัฐศก (พ.ศ. 2319) นั้นพระยานางรอง คบคิดการกบฏกับเจ้าโอ้ เจ้าอิน อรรคฮาด กระทำการกำเริบขึ้น จึงดำรัสให้ เจ้าพระยาจักรี เป็นจอมทัพ ขึ้นไปจับพระยานางรองฆ่าเสีย เจ้าโอ้ เจ้าอิน อรรคฮาด นั้นหนีไปเมืองป่าสัก จึงจัดทัพฝ่ายเหนือให้เจ้าพระยาสุรศรีเป็นแม่ทัพ ยกขึ้นไปบรรจบกองเจ้าพระยาจักรี กระทำแก่เมืองป่าสัก, เมืองโขง, เมืองอัตปือได้ ครั้นปีระกา นพศก (พ.ศ. 2320) จึงเลิกทัพกลับมากรุงธนบุรี…” (ประชุมพงศาวดารฉบับที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม))

ภาพสลักรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประทับบนหลังช้าง ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย บรรณษรณ์ คุณะ-ผู้เขียน)

 

การตั้งเมืองภายใต้อิทธิพลของราชธานีกรุงธนบุรี เอกสารการปกครอง ใบบอก สารตราตั้ง ไม่ปรากฎหลักฐานหรือร่องรอยที่เกี่ยวกับการตั้งเมืองแปะ (ชื่อเมืองบุรีรัมย์ในอดีต) อาจจะเป็นเพราะเอกสารการปกครองนั้น ส่วนใหญ่เป็นเอกสารการปกครองตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ลงมา ทำให้เอกสารการปกครองในสมัยธนบุรีมีอยู่น้อยชิ้น ในหอสมุดแห่งชาติ 

อีกทั้ง รัชกาลที่ 1 (ในขณะนั้นดำรงพระยศเจ้าพระยาจักรี) พระองค์มีอภิสิทธิ์หรือมีอำนาจในการสถาปนาการตั้งเมือง จึงแต่งตั้งบุตรเจ้าเมืองผไธสมันต์ (บันเตียชมาร์) ให้เป็นเจ้าเมืองคนแรก ได้จริงหรือไม่? ในแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดูไม่มีความสมเหตุสมผล และคลุมเครือ 

ข้อสันนิษฐานที่ 2 เมืองแปะ (ชื่อเมืองบุรีรัมย์ในอดีต) เกิดขึ้นจากการกวาดต้อนกำลังคนจากฝั่งลาวให้อยู่ภายใต้นโยบายทางการเมืองของรัชกาลที่ 1 หลังเปลี่ยนแผ่นดินเพื่อสร้างความชอบธรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในหัวเมืองลาว กล่าวคือ ราชสำนักพยายามสร้างความเข้มแข็ง เพื่อลดอำนาจของหัวเมืองประเทศราชของลาว ซึ่งก็คือ เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์

โดยรัชกาลที่ 1 เริ่มนโยบายในฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้เข้มแข็งโดยสนับสนุนกลุ่มเจ้าเมืองใหม่ โดยใครพาสมัครพรรคพวกไปตั้งถิ่นฐานแห่งใดเป็นหลักแหล่งจนเป็นชุมชนก็โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้น จากหลักฐานการชี้แจ้งเกี่ยวกับการตั้งเมืองในสมัยรัชกาลที่ 1 ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สาส์นสมเด็จ ภาค 2 (คลังวิทยา 2499) หน้า 696 ว่า 

“… ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองลาวและเมืองเขมรบ่าตงซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นเมืองนครราชสีมาอยู่ระหว่างแดนประเทศราชเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เกลี้ยกล่อมพวกท้าวพระยาในท้องที่ให้ไปตั้งภูมิลำเนาตามที่ซึ่งสมควรจะบำรุงให้เกิดประโยชน์ได้ ใครพาสมัครพรรตพวกไปอยู่เป็นหลักแหล่งจนเป็นประชุมชนขึ้น ณ ที่ใด ก็โปรดเกล้าฯ ตั้งที่นั่นขึ้นขั้นเป็นเมืองมีอาถาเขตในการปกครอง ทรงตั้งผู้เป็นหัวหน้าให้เป็นพะยาหรือพระที่เจ้าเมือง และทรงตั้งญาติวงศ์ซึ่งได้ช่วยกันทำนุบำรุงท้องที่นั้น เป็นตำแหน่งอุปราช ราชวงศ์ และราชบุตรตามทำเนียมที่นิยมกันในหัวเมืองลาว…” 

ข้อสันนิษฐานที่ 3 ชื่อเมือง “บุรีรัมย์” เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ การปฏิรูปการปกครองเป็นระบอบมณฑลเทศาภิบาลเริ่มในปี พ.ศ. 2435 ทรงปรับปรุงหัวเมืองลาวกลางเป็นมณฑลนครราชสีมา โดยจัดให้เมืองบุรีรัมย์ไปขึ้นกับบริเวณเมืองนางรอง ในปี พ.ศ. 2444 พระยาสุริยเดช ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา ได้มีใบบอกถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวกับการตั้งเมืองบุรีรัมย์ว่ามีความไม่สอดคล้องกันระหว่างชื่อเมือง ที่ตั้งของเมือง และตราตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง อันเป็นผลมาจากการจัดระเบียบการปกครองมณฑลเทศาภบาล

และในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้มีพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนนามเมืองจากเมืองนางรองและตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองนางรอง มาเป็นเมืองบุรีรัมย์และตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบุรีรัมย์ นับเป็นการเริ่มต้นให้ที่ตั้งและนามเมืองมีความสอดคล้องกัน

ข้อสันนิษฐานที่ 4 พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ. 2520 คือ ชุดความรู้ที่สร้างขึ้นใหม่ เกี่ยวกับการตั้งเมืองบุรีรัมย์ในบริบททางการเมืองท้องถิ่นช่วงทศวรรษ 2540 ผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์

รูปปั้นคชสีห์ รูปปั้นราชสีห์ บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย บรรณษรณ์ คุณะ-ผู้เขียน)

 

คำอธิบายที่ฐานรูปปั้นคชสีห์ รูปปั้นราชสีห์ บริเวณฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย บรรณษรณ์ คุณะ-ผู้เขียน)

 

โดยเฉพาะรูปปั้นคชสีห์ รูปปั้นราชสีห์ บริเวณฐานอนุสาวรีย์ ถือใช้สัญลักษณ์สื่อถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ในการชำระกฎหมายตราสามดวง ในการรับรู้ของประชาชนทั่วไปว่า รัชกาลที่ 1 คือ ผู้ก่อตั้งเมืองบุรีรัมย์ ที่ข้อเท็จจริงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่มีข้อพิสูจน์จากหลักฐานการตั้งเมืองและยังมีความคลุมเครืออยู่ เพราะในบริบทสถานภาพทางการเมืองในช่วงการตั้งเมืองนั้น อยู่ในช่วงสมัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี (พระยศของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะนั้น) มีอภิสิทธิ์หรือมีอำนาจในการสถาปนาการตั้งเมืองได้จริงหรือไม่?

อ้างอิง :

ประชุมพงศาวดารฉบับที่ 65 พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบบพันจันทนุมาศ (เจิม)

นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. สาส์นสมเด็จ ภาค 2. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา, 2499

กรมศิลปากร.ประชุมพงศาวดารภาคที่ 7. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร้อยโท เชื้อ ทรัพยสาร, 2525

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดบุรีรัมย์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2544

ณัฏฐ์พร บุนนาค. สถานะทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พ.ศ. 2310-2497, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545

บัญชา นวนสาย. ประวัติศาสตร์การขยายตัวของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ระหว่างปี พ.ศ. 2468-2550 วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2556

พิบูล หัตถกิจโกศล. อนุสาวรีย์ไทย เชิงการเมือง, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526

สุรวุฒิ ปัดไธสง. อำนาจและทรัพยากรทางการเมือง : ศึกษากรณีในรัชกาลที่ 1 (พ.ศ. 2325-2352), วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533

อุราลักษณ์ สิถิรบุตร. มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์, วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526

 

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_78687

The post ข้อสันนิษฐานเรื่อง ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองบุรีรัมย์ที่ “คลุมเครือ” appeared first on Thailand News.