ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“จามจุรี” ไม้สัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย

“จามจุรี” ไม้สัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย

จามจุรี กลุ่มนี้ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2540 ข้างหอประชุมจุฬาฯ

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมีนาคม 2560
ผู้เขียน
พานิชย์ ยศปัญญา
เผยแพร่
วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2564

แต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็มีไม้ประจำสถาบันเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ไล่มาจากทางเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ ต้นทองกวาว มหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ ต้นกัลปพฤกษ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คือ ต้นนนทรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ ต้นจามจุรี

จามจุรี ไม่ใช่ไม้ท้องถิ่นของไทย

เข้าใจว่า มิสเตอร์ เอช. สเลด (Mr. H. Slade) เจ้ากรมป่าไม้หรืออธิบดีกรมป่าไม้คนแรกของไทย ได้นำพันธุ์จากประเทศพม่ามาปลูกเป็นครั้งแรกที่ที่ทำการป่าไม้เขตเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2443 ต่อมาจึงได้นำไปปลูกตามริมถนนกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นไม้โตเร็ว เรือนยอดแผ่กว้างให้ร่มเงาเป็นอย่างดี ทางภาคเหนือนิยมปลูกเลี้ยงครั่ง อาจกล่าวได้ว่าวัตถุประสงค์ของการนำไม้จามจุรีเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดิมนั้นมาในลักษณะไม้ประดับและให้ร่ม ตลอดจนปลูกเพื่อใช้เลี้ยงครั่งเท่านั้น

จามจุรีเป็นพืชตระกูลถั่ว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Samanea saman

ชื่ออื่นๆ ได้แก่ ก้ามกราม จามจุรีแดง ก้ามปู ก้ามกุ้ง ฉำฉา สารสา สำลา ตุ๊ดตู่ ลัง

ในภาษาอังกฤษชื่อที่เรียกกันแพร่หลาย คือ rain tree ซึ่งน่าจะมาจากนิสัยของต้นไม้ชนิดนี้โตเร็วผิดกับต้นไม้อื่นๆ คือเมื่อฤดูฝนผ่านไปครั้งหนึ่งต้นไม้นี้จะโตขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้ชัด

จามจุรี กลุ่มนี้ปลูกเมื่อ พ.ศ. 2540 ข้างหอประชุมจุฬาฯ

 

จามจุรีเป็นไม้ผลัดใบโตเร็ว เรือนยอดแผ่กว้างคล้ายรูปร่ม เรือนยอดสูงได้กว่า 25 เมตร ทรงพุ่มขยายได้กว่า 30 เมตร เปลือกสีดำ แตกและล่อน ลักษณะเนื้อไม้มีลวดลายสวยงาม แก่นสีดำคล้ำคล้ายมะม่วงป่าหรือวอลนัท เมื่อนำมาตกแต่งจะขึ้นเงาเป็นมันแวววาว นับเป็นพรรณไม้ที่มีลักษณะสวยงามตามธรรมชาติ กำลังของไม้มีความแข็งแรงเท่าเทียมไม้สมพง แต่มีลักษณะพิเศษคือมีกำลังดัดงอสูงมาก และความชื้นในเนื้อไม้สูง

ทั้งต้นของจามจุรีมีสารพวกแอลคาลอยด์ ชื่อพิธทิโคโลไบ (piththecolobine) ที่มีพิษใช้เป็นยาสลบ

ใบ เป็นใบผสมแบบขนนกสองชั้น ทั้งใบยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร ใบประกอบด้วยช่อใบ 4 คู่ ใบย่อย 2-10 คู่ต่อ 1 ใบ ใบย่อยเกิดบนก้านใบซึ่งแยกจากก้านใหญ่ ใบย่อยรูปขนานเปียกปูนแต่เบี้ยว ใบย่อยด้านปลายใบใหญ่ที่สุด ใบย่อยหนาปานกลาง ด้านหน้าใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านหลังใบสีเขียวนวล และมีขนเล็กน้อย

ดอก เป็นช่อดอกทรงกลม แต่ละช่อรวมกันเป็นช่อใหญ่ ช่อดอกเกิดที่ปลายกิ่ง กลีบดอกเล็กมาก แต่ละช่อดอกมีดอกตัวเมียดอกเดียว และล้อมรอบด้วยดอกตัวผู้เป็นจำนวนมาก ดอกบานมีสีชมพูซึ่งเป็นสีของเกสรตัวผู้ จามจุรีออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม

ผล เป็นฝักแบน เมื่อแก่ก็จะไม่แตก ฝักแก่จะมีสีน้ำตาลดำ ขนาดกว้าง 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 12-20 เซนติเมตร ภายในฝักมีเนื้อนิ่มรสหวาน ฝักหนึ่งๆ มีเมล็ด 15-25 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลดำ ยาว 0.5-0.8 เซนติเมตร ฝักแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม

จามจุรี เมื่อเข้ามาอยู่ในเมืองไทย สามารถเจริญเติบโต สร้างประโยชน์ได้มากมาย

ริมถนนหลายสายปลูกจามจุรีไว้อย่างสวยงาม

แถบภาคเหนือ เมื่อก่อนมีการเลี้ยงครั่งบนต้นจามจุรีอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

งานแกะสลักของช่างทางภาคเหนือ เดิมทีหาไม้สักได้ง่าย ต่อมาเมื่อหาไม้สักยากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนมาใช้ไม้จามจุรี ซึ่งก็ทำได้สวยงามดี เดิมช่างแถวบ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ หาไม้จามจุรีได้ตามท้องถิ่น เมื่อปริมาณมีน้อย ต้องลงมาซื้อถึงภาคกลาง

ถึงแม้จามจุรีเป็นไม้โตเร็ว แต่ก็โตไม่ทันกับความต้องการใช้ ที่เห็นอยู่ต้นใหญ่ๆ อยู่ในเขตของหน่วยงานที่เขาอนุรักษ์ไว้

เนื่องจากเป็นไม้ตระกูลถั่ว ใบให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง ในวงการไม้ดอกไม้ประดับ นิยมนำใบจามจุรีมาผสมดินปลูก ทำให้ต้นไม้งอกงามดีมาก เดิมทีแหล่งใหญ่ของใบจามจุรีอยู่ตามค่ายทหารในเขตภาคกลาง ต่อมาการเข้าไปเก็บกวาดยากขึ้น จึงมีเกษตรกรปลูกจามจุรีขึ้นเป็นแปลงใหญ่ พื้นที่ 20-30 ไร่ เพื่อเก็บใบขาย ถึงแม้รายได้ไม่มากนัก แต่ต้นทุนการผลิตต่ำ

จามจุรีถูกนำมาปลูกครั้งแรกที่เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ง่าย จึงมีการกระจายพันธุ์ไปทุกพื้นที่ของประเทศไทย สถานที่ราชการบางแห่งถึงกับปลูกประดับ

กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาญจนบุรี อนุรักษ์จามจุรีต้นขนาดใหญ่ไว้ ซึ่งทรงพุ่มกินพื้นที่กว่า 1 ไร่

คนรุ่นเก่าบอกว่า ถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี สมัยก่อนสองข้างทางปลูกจามจุรีร่มรื่นดี แต่เพราะต้องขยายถนนจึงต้องโค่นทิ้ง

ที่ตั้งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีจามจุรีขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันจึงนำต้นจามจุรีมาเป็นไม้ประจำมหาวิทยาลัย แต่เริ่มสมัยใดนั้นไม่เป็นที่แน่ชัด

จามจุรี ถือเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะวัฏจักรของจามจุรีสอดคล้อง
กับวิถีชีวิตชาวจุฬาฯ คือมีสีเขียวชะอุ่มให้ความสดชื่น ในช่วงภาคต้นของการศึกษายุคก่อน เปรียบเสมือนนิสิตปีที่ ๑ ที่ยังคงเริงร่าสนุกสนานกับการเป็นน้องใหม่ เมื่อเวลาผ่านไปในภาคปลายของการศึกษา ทั้งใบและฝักย้ำเตือนให้นิสิตเตรียมตัวสอบภาคปลาย ไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะสอบตกได้

คนกรุงเทพฯ สมัยก่อนจะไปติดต่องานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือนักเรียนที่จะไปสอบเรียนต่อสถาบันแห่งนี้ หากไปไม่ถูกจะได้รับคำแนะนำว่า ตรงไหนมีต้นจามจุรีมากตรงนั้นแหละจุฬาฯ

ศิษย์เก่าจุฬาฯ รุ่นก่อน พ.ศ. 2481 เล่าไว้ว่า สมัยก่อนชาวบ้านทุ่งพญาไทนำควายมาเลี้ยงในพื้นที่บริเวณนี้ จึงสันนิษฐานว่าวัวควายที่นำมาเลี้ยงนั้นกินฝักจามจุรีเป็นอาหาร เมื่อถ่ายมูลออกมาก็ยิ่งขยายพันธุ์มีจำนวนต้นมากขึ้น

ถึงแม้จะเป็นไม้ที่อยู่คู่กับจุฬาฯเป็นสัญลักษณ์ของสถาบัน แต่เนื่องจากจามจุรีเป็นไม้กิ่งเปราะหักง่าย ยามมีลมฟ้าลมฝนจึงหักมาทับถนน ฝักที่แก่ร่วงหล่นลงพื้น ทำให้ถนนไม่สะอาด บางคณะต้องการสร้างตึก สร้างถนนเชื่อมต่อ ก็ต้องโค่นจามจุรี ด้วยเหตุนี้ ช่วง พ.ศ. 2480-2500 ประชากรของจามจุรีในจุฬาฯ จึงลดลงอย่างฮวบฮาบ

ต้นจามจุรีทรงปลูกในปัจจุบัน

 

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระราชทานต้นจามจุรีแก่มหาวิทยาลัยจำนวน 5 ต้น ซึ่งพระองค์ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวล หัวหิน และทรงปลูกด้วยพระองค์เอง บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ ฝั่งด้านสนามฟุตบอล ทางด้านขวาจำนวน 3 ต้น ด้านซ้ายจำนวน 2 ต้น และยังได้พระราชทานพระราชดำรัสถึงความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับจามจุรีว่ามีมานานตั้งแต่สร้างมหาวิทยาลัย ทรงเน้นว่าดอกสีชมพูเป็นสัญลักษณ์สูงสุดอย่างหนึ่งของจุฬาฯ พระองค์ทรงเห็นว่าจามจุรีที่นำมานั้นโตขึ้นสมควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที และสถานที่นี้เหมาะสมที่สุด “จึงขอฝากต้นไม้ไว้ห้าต้นเป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อชาวจุฬาฯ

จามจุรีพระราชทานทั้ง 5 ต้น ยืนต้นเจริญเติบโต เป็นศรีสง่า เป็นสิริมงคลแก่ชาวจุฬาฯ มาถึงปัจจุบัน

คุณสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

คุณสุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร บรรณาธิการนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ในฐานะศิษย์เก่าภาควิชาหนังสือพิมพ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงจามจุรีที่จุฬาฯ ว่า ต้นจามจุรีเป็นสัญลักษณ์นิสิตปีแรกๆ มีความสดใสเหมือนจามจุรีช่วงต้นฤดูฝน เพลงเกี่ยวกับจามจุรีก็มี

“มาจากต่างจังหวัด มาอยู่กรุงเทพฯมีแต่ตึก เมื่อเข้าไปมหาวิทยาลัยมีต้นจามจุรีขึ้นอยู่รู้สึกเย็น จึงมีความประทับใจและผูกพัน” คุณสุวพงศ์บอก

คุณอนันต์ มากน้อยแถม เจ้าหน้าที่บริการวิทยาศาสตร์ สำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหา
วิทยาลัย พูดถึงจามจุรีว่า เมื่อก่อนแถบนี้เป็นดงจามจุรี ทางมหาวิทยาลัยได้อนุรักษ์ไว้ เพราะเป็นไม้ประจำสถาบัน แต่การปลูกที่มีหลักฐานชัดเจนมี 2 ครั้ง คือ พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูก และอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2540 ในวาระสถาบันอายุครบ 80 ปี ผู้บริหารร่วมกันปลูกจำนวน 80 ต้น ส่วนอื่นๆ ก็ขึ้นตามธรรมชาติ รวมแล้วประชากรของจามจุรีที่นี่ไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000 ต้น

คุณอนันต์บอกว่า ผู้รับผิดชอบดูแลจามจุรีอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ย ตัดแต่งกิ่ง ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง หนอนเจาะลำต้น บางครั้งก็ต้องศัลยกรรมต้นจามจุรีกันเลยทีเดียว

งานศัลยกรรมจามจุรี

 

การทำศัลยกรรม เป็นการตัดแต่งต้นไม้ที่มีลำต้นผุ เป็นแผล อันเนื่องมาจากการตัดแต่งก็ดี การถูกโรคแมลงรบกวนก็ดี ปัจจุบันใช้อุดโพรงขนาดใหญ่ด้วยโฟมโพลียูรีเทน

วิธีทำศัลยกรรม เริ่มจากทำความสะอาดโพรง จากนั้นทำแบบปิดช่องโพรงและเทโพลียูรีเทนที่ผสมของเหลวตัวทำปฏิกิริยาลงไปในโพรงตามปริมาณที่กำหนด โฟมจะขยายตัวเต็มหรืออาจล้นโพรงแล้วเริ่มแข็งตัว ตัดโฟมส่วนเกินออก แต่งผิวให้เรียบด้วยมีด ทาฉาบผิวด้วยปูนซีเมนต์ จากนั้นทาสีให้กลมกลืนกับเปลือกไม้ ก่อนหน้านี้ศัลยกรรมด้วยซีเมนต์ล้วนๆ ปรากฏว่าเนื้อเยื่อของไม้ไม่เจริญเติบโต ต่างจากการใช้โพลียูรีเทน

วิธีการอื่นๆ เพื่อให้ต้นจามจุรีสมบูรณ์ก็นำมาใช้ เช่น การเสริมรากและการป้องกันกำจัดศัตรูของต้นจามจุรี

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_9207

The post “จามจุรี” ไม้สัญลักษณ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ดอกไม้ท้องถิ่นของไทย appeared first on Thailand News.