เหตุอัศจรรย์เมื่อร.5 ประสูติ เรียกลมฝนแก้ “ภัยแล้ง” กับตำนานพระคันธารราษฎร์ พุทธรูปขอฝน
“เมื่อปีฉลูเบญจศก ซึ่งข้าพเจ้าเกิดนั้น ฝนแล้งมาแต่ปีชวดจัตวาศก ครั้นถึงปีฉลูต้นปีฝนก็แล้งนัก จนข้าวก็ขึ้นราคา ข้าวในนาก็เสียมาก เวลาเมื่อประสูติข้าพเจ้า ในทันใดนั้นฝนตกมาก ตามชาลาในพระราชวังท่วมเกือบถึงเข่า เห็นกันว่าเป็นการอัศจรรย์อยู่”
ความตอนหนึ่งจาก “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงอธิบายถึงเหตุที่จะเลือกเอา “พระคันธารราษฎร์” มาสร้างเป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงต้องกับ “ฝน” ตามที่ทรงอธิบายไว้ และพระคันธารราษฎร์ก็เป็นพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องกับฝน
พระคันธารราฐ ปางขอฝน สมัยรัชกาลที่ 1 ในหอพระคันธารราฐ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายต่อว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้เป็นพระราชบิดา “ก็พอพระทัยรับสั่งประภาษถึงเรื่องนี้เนืองๆ รับสั่งให้ข้าพเจ้า (รัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน) เป็นหน้าที่สำหรับทำพิธีฝนแต่เล็กมา ท่านผู้ใหญ่จึงได้ตกลงกันให้ใช้พระคันธารราษฎร์เป็นพระชนมพรรษา” และในการหล่อพระคันธารราษฎร์นั้นกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์โปรดพระคันธารราษฎร์นี้มาก จึงได้ขอหล่อขึ้นอีกองค์หนึ่งต่างหาก และพระองค์ได้นำไปตั้งพิธีฝนหลายครั้ง “ก็ว่าขลังดีวิเศษ”
รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายถึงพระคันธารราษฎร์ว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งต้นกรุงเพื่อไว้ขอฝน และทรงกล่าวถึงตำนานพระคันธารราษฎร์กับเรื่องฝนแล้งในยุคพุทธกาลว่า
“เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันในเมืองสาวัตถี ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาแห้งทั่วทั้งเมือง น้ำในลำธารห้วยคลองหนองบึงทุกแห่งก็แห้ง จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคน้ำก็แห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายก็ได้ความลำบากด้วยฝูงกามาจิกกินเป็นอาหาร ต้องมุดซ่อนอยู่ในตม
ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงบิณฑบาตเห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระหฤทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทําภัตกิจแล้วจึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอุทกสาฎกมาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคําอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ชายส่วนหนึ่งนั้นทรง ส่วนหนึ่งนั้นตระหวัดขึ้นบนพระอังสประเทศ เสด็จยืนที่ฝั่งสระแสดงพระอาการ พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองน้ำฝน ขณะนั้นฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็มีความชื่นชมยินดีกล่าวคําสรรเสริญต่างๆ”
พระคันธารราษฎร์ สร้างขึ้นตามแบบศิลปะคันธาระอินเดียโบราณ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ สร้างขึ้น พ.ศ. 2453
นอกจากนี้ รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายต่อว่า ราวสองร้อยปีภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ในแผ่นดินคันธารราษฎร์ ดินแดนที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา นับถือสืบต่อกันมาหลายชั่วแผ่นดิน ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราษฎร์องค์หนึ่งได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกนั้น ก็ทรงเลื่อมใส โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธปฏิมากรมีอาการอย่างจะสรงน้ำ มีพระวรกายปริศนาเรียกฝนเช่นนั้น ครั้นเมื่อปีใดฝนแล้งก็โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธปฏิมากรมาตั้งบูชาเพื่อขอฝน จากนั้นฝนก็ตกลงมาตามพระราชประสงค์
ภายหลังมาผู้ที่นับถือพระพุทธรูปองค์นั้นก็นิยมสร้างต่อกัน จึงนิยมเรียกพระพุทธรูปลักษณะนั้นว่า พระพุทธคันธารราษฎร์
อ้างอิง :
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562, จาก เว็บไซต์ โครงการห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ : 23 กรกฎาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_36099
The post เหตุอัศจรรย์เมื่อร.5 ประสูติ เรียกลมฝนแก้ “ภัยแล้ง” กับตำนานพระคันธารราษฎร์ พุทธรูปขอฝน appeared first on Thailand News.