ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยสมัยสงครามที่กลายเป็นตัวช่วยสำคัญเวลาเกิดอุทกภัย

“สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยสมัยสงครามที่กลายเป็นตัวช่วยสำคัญเวลาเกิดอุทกภัย

รถบรรทุกของกองทัพที่ 8 ของอังกฤษ กำลังข้ามแม่น้ำซานโกรในอิตาลี ใช้สะพานเบลีย์ที่วางพาดบนเรือท้องแบนที่จอดเรียงกัน (ภาพจาก 101 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2)

 

น้ำท่วม ถนนขาด สะพานทรุด ฯลฯ คือปัญหาในฤดูฝนที่มีให้เห็นเสมอ ๆ หนึ่งในบรรดาตัวช่วยชั้นดีคงหนีไม่พ้น “สะพานแบริ่ง” ที่คนไทยเรารู้จักดี เพราะเส้นทางคมนาคมที่ถูกกระแสน้ำตัดขาด ก็ได้สะพานแบริ่ง ช่วยเชื่อมต่อชั่วคราว เพื่อให้ผู้คน, ผลิตผล และความช่วยเหลือเข้าไปถึงพื้นที่ได้ หากชื่อจริงของมันนคือ “สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยหนึ่งจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งวันนี้เป็นตัวช่วยสำคัญในยามที่เกิดอุทกภัย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเยอรมนีและฝ่ายสัมพันธมิตร มีความจําเป็นต้องสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหรือ หุบเขาลึกอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสะพานที่มีอยู่เดิมถูกทําลาย หรือเป็นเพราะส่วนหนึ่งของกองทัพต้องการจะสร้างความประหลาดใจให้ศัตรู ด้วยการข้ามไปยังสถานที่ที่ไม่มีสะพาน ยิ่งมีการสร้างสะพานในบริเวณที่มีการสู้รบเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี และทหารช่างหรือวิศวกรมักพยายามอย่างหนักที่จะบรรลุการออกแบบสะพานที่ทั้งสร้างได้เร็ว และสามารถรองรับยานพาหนะที่หนักที่สุดให้ขับข้ามไปได้ ทั้งนี้ มีความคืบหน้าอย่างมากในการออกแบบเพื่อให้ บรรลุความต้องการทั้ง 2 ประการดังกล่าวในช่วงสงคราม ปี 1939-1945

ตัวอย่างที่โดดเด่นของเรื่องนี้ และถือว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ทางวิศวกรรม ก็คือการสร้างสะพานเบลีย์ (Bailey Bridge) โดยโดนัลด์ เบลีย์ แห่งสถาบันทดลองวิศวกรรมทางทหารของอังกฤษ ที่ไครสต์เชิร์ช ในดอร์เส็ต เมื่อต้นปี 1942 คานของสะพานเบลีย์ สร้างจากแผ่นเหล็กที่เหมือนกันนำมาขัดกันเป็นตารางและยึดไว้ด้วยหมุดโลหะ คานสะพานแต่ละชิ้นสามารถเสริมเข้าไปอีก 2 เท่าหรือ 3 เท่า เพื่อเพิ่มความยาวและความแข็งแรงเป็นพิเศษ อีกทั้งสามารถเพิ่มขึ้นไปอีก 2 ชั้นเพื่อยืดขยายพื้นที่ของสะพานให้ใหญ่ขึ้น คานด้านล่างจะทำหน้าที่รับน้ำหนักบนสะพาน โครงสร้างที่เสร็จสมบูรณ์แล้วสามารถปล่อยลงโดยการใช้รอกเหนือช่องว่างเพื่อเชื่อมสะพานเข้าด้วยกันโดยใช้หลักการถ่วงน้ำหนัก

สะพานเบลีย์ถูกนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกเพื่อข้ามแม่น้ำเม็ดเจอร์ดา ใกล้กับเม็ดเจซในตูนิเซีย ในคืนวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1942 ทั้งนี้ ระหว่างการสู้รบในแอฟริกาเหนือ มันกลายเป็นอุปกรณ์หลักสำหรับข้ามแม่น้ำของกองทัพสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และต่อมากองทัพโซเวียตก็ใช้สะพานนี้ด้วย ในการข้ามแม่น้ำที่มีความกว้าง

กองทัพทั้งหมดจะใช้ระบบทุ่นลอยน้ำหรือเรือที่ทอดสมอ เคียงข้างกันตลอดความกว้างของแม่น้ำ จากนั้นวางสะพานเบลีย์พาดลงบน “สะพานจากเรือ” หรือเรือที่ทอดสมออยู่เหล่านั้น อังกฤษและโซเวียตใช้ทุ่นลอยที่ทำด้วยไม้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้อุปกรณ์ที่เปราะบางกว่าแต่ง่ายต่อการขนส่ง นั่นคือเรือยางเป่าลม กรณีต้องการให้สะพานเบลีย์รับน้ำหนักบรรทุกได้ 9 ตัน อังกฤษจะใช้เรือไม้พับได้ที่เบาและขนส่งง่ายสำหรับวางสะพานเบลีย์ หากต้องการให้รับน้ำหนักได้ 70 ตัน จะใช้ทุ่นลอยน้ำเป็นที่พาดสะพาน

สะพานเบลีย์จะถูกขนส่งมาด้วยรถบรรทุกในลักษณะเป็นชิ้น ๆ เมื่อเกิดอุปสรรค ชิ้นส่วนต่าง ๆ จะถูกส่งไปล่วงหน้าและประกอบเป็นสะพาน มันดีกว่าที่จะมีคำเตือนว่า การเชื่อมต่อสะพานต้องทำเป็นลำดับ โดยรถบรรทุกที่ทำหน้าที่ประกอบสะพานต้องอยู่ในตำแหน่งนำหน้าในขบวนยานพาหนะ

เรื่องนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ในกรณีของ ยุทธการมาร์เก็ต การ์เด้น ซึ่งเป็นปฏิบัติการเพื่อพยายามยึดสะพานข้ามแม่น้ำและคลองหลายแห่ง รวมทั้งสะพานข้ามแม่น้ำไรน์ที่อาร์เน็ม เนเธอร์แลนด์ เดือนกันยายน ปี 1944 ในเช้าวันที่ 18 กันยายน เยอรมนีได้ระเบิดสะพานข้ามคลองที่ซอน ทางเหนือของเอนด์โฮเฟน เพื่อยับยั้งการรุกคืบของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ปรากฏว่า รถบรรทุกที่ขนชิ้นส่วนสะพานเบลีย์อยู่ท้ายขบวนยานพาหนะที่กำลังรุกคืบบนถนนแคบ ๆ ยิ่งกว่านั้นพวกเขายังต้องขับรถผ่านเข้าไปในเมืองใหญ่อย่างเอนด์โฮเฟน ซึ่งบนท้องถนนแออัดไปด้วยชาวดัตช์ที่กำลังเฉลิมฉลองการได้รับอิสรภาพ

ในที่สุดรถบรรทุกชิ้นส่วนสะพานก็มาถึง สะพานถูกสร้างขึ้นและรถถังของกองพลยานเกราะคุ้มกันได้ข้ามคลองไป แต่ความล่าช้าในการสร้างสะพานข้ามคลองที่ซอน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กองพลส่งกำลังทางอากาศที่ 1 ของอังกฤษล้มเหลว ไม่สามารถยึดสะพานอาร์เน็มที่มีความสำคัญยิ่งยวดเอาไว้ได้นานพอเพื่อให้กองกำลังสับเปลี่ยนเดินทางมาถึง

ปฏิบัติการสะพานเบลีย์ครั้งใหญ่ที่สุดดำเนินการโดนอเมริกาเกิดขึ้นระหว่างการข้ามแม่น้ำไรน์ในเดือนมีนาคม 1945 แต่ที่จริงสะพานเบลีย์ถูกนำไปใช้ในทุกสนามรบในช่วงสงคราม บางครั้งก็ใช้เป็นเรือขนส่งสินค้าข้ามฟากโดยวางส่วนต่าง ๆ ของสะพานลงบนทุ่นลอยน้ำ สิ่งนี้มีประโยชน์เป็นพิเศาในการนำรถหุ่มเกราะข้ามน้ำในขั้นต้น ขณะที่กำลังสร้างสะพานหลัก

อังกฤษและสหรัฐอเมริกาสร้างสะพานเบลีย์กว่า 3,000 แห่งในอิตาลีและซิซิลี สะพานที่ยาวที่สุดก็คือสะพานข้ามแม่น้ำซานโกร อิตาลีซึ่งมีความยาว 343 เตร (1,126 ฟุต) อีกหลายแห่งสร้างข้ามแม่น้ำชินด์วินระหว่างกองทัพที่ 14 รุกคืบไปยังแม่น้ำอิรวดีและมัณฑะเลย์ในพม่า มันมีความยาว 352 เมตร (1,154 ฟุต)

 

ข้อมูลจาก

พลลตรีจูเลียน ทอมป์สัน และดร.แอลแลน อาร์. มิลเลตต์ เขียน, นงนุช สิงหะเดชะ แปล. 100 สิ่งของสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, มีนาคม 2556

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกในเมื่อ 22 ตุลาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_40618

The post “สะพานเบลีย์” ยุทธปัจจัยสมัยสงครามที่กลายเป็นตัวช่วยสำคัญเวลาเกิดอุทกภัย appeared first on Thailand News.