ค้นรากชายฝั่งทะเลทวารวดี พันกว่าปีมาแล้วบนเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร
ซากเรือโบราณ จมโคลนเลนนากุ้ง ใกล้วัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ภาพนี้เป็นแหล่งขุดค้นของนักโบราณคดี กรมศิลปากร (ภาพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558)
ผู้เขียน
สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่
วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ.2564
ชายฝั่งทะเลยุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. 1000 อยู่ไม่ไกลจากย่านข้าหลวงเดิม ที่กรุงเทพฯ บนเส้นทางคลองประวัติศาสตร์ กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร
พูดอีกอย่างว่าย่านข้าหลวงเดิม บางขุนเทียน มีเส้นทางคลองประวัติศาสตร์ ยาวขนานใกล้ชายฝั่งทะเลยุคทวารวดี
พบหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีเป็นซากเรือทะเลสมุทรยุคทวารวดีจมอยู่ในท้องนาโคลนตม ลึกเข้ามาจากชายฝั่งทะเลปัจจุบัน และอยู่ใกล้คลองโคกขาม จ. สมุทรสาคร (ที่มีนิทานเรื่องพันท้ายนรสิงห์)
ไม้เนื้อแข็ง (คานและเสากระโดง?) ชิ้นส่วนเรือโบราณราวหลัง พ.ศ. 1000 (ยุคทวารวดี) คาดว่าความยาวสมบูรณ์ของเรือลำนี้ราว 30 เมตร ขดุขึ้นจากโคลนเลนนากุ้ง บริเวณนากุ้ง แล้วทำเพิงมีหลังคาคุ้มแดดฝน ใกล้วัดวิสุทธิวราวาส (วัดกลางคลอง) ต. พันท้ายนรสิงห์ อ. เมือง จ. สมุทรสาคร
แต่ประชาชนเลื่อมใสเชื่อเป็นเรือศักดิ์สิทธิ์ มีผีแม่ย่านางเรือสิงอยู่ จึงเซ่นวักด้วยเครื่องเซ่นตามความเชื่อ แล้วแขวนไว้เรียงราย (ภาพเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556)
กรงุเทพฯ ยุคทวารวดี มีป่าชายเลน ใกล้ชายฝั่งทะเล
กรุงเทพฯ ยคุทวารวดี เป็นที่ราบน้ำท่วมกว้างใหญ่ ยังไม่เหมาะสร้างบ้านแปลงเมือง
ชายฝั่งทะเลโบราณยุคทวารวดี อยู่แถวๆ บางขุนเทียน กทม. ไม่ไกลจากศาลพัน ท้ายนรสิงห์ คลองโคกขาม อ. เมือง จ. สมุทรสาคร (ใกล้ถนนพระราม 2)
มีพยานเป็นซากเรือยุคทวารวดีจมในนากุ้ง (หลังวัดวิสุทธิวราวาส ใกล้ศาลพัน ท้ายนรสิงห์) และกรมศิลปากรเคยขุดพบซากเรือยุคเก่าที่บ้านนาขอม ซึ่งอยู่ย่านไม่ไกลกัน
แผนที่แสดงขอบเขตของชายฝั่ทะเลโบราณจากการค้นคว้าใหม่ทางธรณีวิทยา พบว่าอ่าวไทยสมัย ทวารวดี ราว พ.ศ. 1100-1400 นั้น ขึ้นมาถึงเพียงตอนใต้ของพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่ไกลจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันมากนัก (ที่มา : ดร. ตรงใจ หุตางกูร)
“แนวชายฝั่งทะเลสมัยทวารวดี มีผืนป่าชายเลนอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ
ดังนั้น แนวชายฝั่งทะเลร่วมสมัยกับทวารวดี จึงมีขอบเขตไม่อยู่เหนือไปกว่าพื้นที่ กรุงเทพมหานคร”
และ “เป็นไปไม่ได้ที่น้ำทะเลจะขึ้นไปประชิดถึงที่ตั้งเมืองสำคัญของทวารวดี อาทิ อู่ทอง หรือเมืองนครปฐมโบราณ”
[จากบทความเรื่อง การตีความใหม่เรื่องขอบเขตแนวชายฝั่งทะเลโบราณสมัยทวา รวดีบนที่ราบภาคกลางตอนล่าง ของ ดร. ตรงใจ หุตางกูร ในวารสารดำรงวิชาการ ของคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ฉบับมกราคม-มิถุนายน 2557) หน้า 11-44]
ก่อนยุคทวารวดีหลายพันปี เคยมีชายฝั่งทะเลเว้าลึกถึงสุพรรณบุรี ไม่ใช่มีในยุคทวารวดีตามที่เคยเชื่อสืบกันต่อมา
แนวชายฝั่งทะเลโบราณ มีสภาพนิเวศแบบผืนป่าชายเลน เมื่อราว 8,400 ปีมาแล้ว น้ำทะเลขึ้นไปถึงพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี ถึง จ. อ่างทอง
ต่อมาเมื่อเกิดการถดถอยของน้ำทะเลตั้งแต่ราว 7,000 ปีมาแลว้ ทำให้แนวชายฝั่ง ทะเลเคลื่อนที่ลงมาทางทิศใต้อย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ระดับปัจจุบัน
[ต้นฉบับนี้คุณขรรค์ชัย บุนปาน ให้ทำไว้เพื่อพิมพ์เป็นเล่ม ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 แต่ผมยังทำไม่เรียบร้อยทั้งหมด เลยคัดบางส่วนมาแบ่งปันก่อน]
ซากเรือทะเลสมุทร ยุคทวารวดี ที่สมุทรสาคร
ภาพและคำอธิบายเมื่อ พ.ศ. 2558 โดย นายเอิบเปรม วัชรางกูร สำนักโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร
เรือถักแบบอาหรับโบราณ เทคนิคการต่อเรือลำนี้เป็นแบบเย็บท้องเรือ ขึ้นรูปทรงก่อน แล้วจึงใส่กงเพื่อเสริมความแข็งแรง หรือเรียกว่า Plank First
เศษภาชนะดินเผาก้นแหลม เดิมเข้าใจว่าเป็นแอมฟอรา ต่อมาผู้เชี่ยวชาญด้านไหอาหรับ นาม ศ. ดร. มาร์ค ฮอร์ตัน จาก ม.บริสตัล ระบุว่าเป็นไหตอร์ปิโด มีแหล่งผลิตแถบอิรัก
ตัวอักษรที่ปรากฏบนผิวด้านนอกของเศษไหแอมฟอรา (หรือ ไหตอร์ปิโด) ใบหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญภาษาอาหรับโบราณ อ่านได้ว่า สิ่งที่ถูกผลิตในปีฮิจเราะหที่ 145 (ตรงกับพุทธศักราช 1205)
ย่านข้าหลวงเดิม บางขุนเทียน ฝั่งทะเลทวารวดี กรุงเทพฯ
ย่านข้าหลวงเดิม หมายถึง บริเวณที่เป็นหลักแหล่งเครือญาติและข้ารับใช้ ร.3 ก่อนเสวยราชย์ แต่เดิมเรียกบางขุนเทียน เป็นเส้นทางคมนาคมคลองประวัติศาสตร์ มีคลองด่าน, คลองสนามชัย, คลองมหาชัย เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำท่าจีน แล้วต่อเนื่องถึงแม่น้ำแม่กลอง ทั้งทางเศรษฐกิจ และการสงคราม
เส้นทางคลองประวัติศาสตร์ ยาวขนานชายฝั่งทะเลกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร ยุคทวา รวดี บนเส้นทางการค้าโลก
ย่านข้าหลวงเดิม บริเวณวัดราชโอรสฯ, วัดหนัง, วัดนางนอง อยู่ละแวกคลองด่าน ต่อเนื่องคลองสนามชัย สมัยก่อนเรียกย่านบางขุนเทียน ท้องที่ อ. บางขุนเทียน กรุงเทพฯ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจอมทอง กรุงเทพฯ)
ข้าหลวงเดิม
ข้าหลวงเดิม หมายถึง บุคคลระดับเครือญาติที่เคยเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิด ร.3 ลงไปถึงบุคคลทั่วไปที่เคยรับราชการสนองพระเดชพระคุณตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์
ผู้คนในชุมชนข้าหลวงเดิม บางขุนเทียน เป็นเครือญาติข้างแม่ และแม่นมของ ร.3 เพราะมีนิวาสสถานเดิมอยู่ย่านนี้ (ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดนางนอง, วัดหนัง, วัดราช โอรสฯ) สืบย้อนตั้งแต่ยุคกรุงธนบุรี
ชุมชนข้าหลวงเดิม
คนในชุมชนบางนางนอง ใกล้ชิดระดับ “เครือญาติข้างแม่” ของ ร.3 ดังนี้
ท่านเพ็ง เป็นธิดาคนโต (ของแม่ซึ่งเป็นชาวสวนบางนางนอง กับพ่อซึ่งเป็นมุสลิมปากคลองบางกอกใหญ่) ได้แต่งงานกับพระยานนทบุรี แล้วมีธิดาคนเดียวคือท่านเรียมที่เป็นพระราชชนนีของ ร.3
ฉะนั้นท่านปล้องและท่ารอดที่เป็นน้องสาวท่านเพ็ง ก็จะต้องมีศักดิ์เป็นพระญาติวงศ์ในลำดับน้าสาวของท่านเรียม และอยู่ในลำดับยายของ ร.3
ท่านปล้อง (น้องสาวคนรองของท่านเพ็ง) แต่งงานกับพระยาพัทลุง (ทองขาว) มีบุตรธิดาทั้งหมด 9 คน ธิดาคนโตชื่อท่านผ่อง แต่งงานกับพระอักษรสมบัติ (ม.ร.ว. ทับ) มีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน
ธิดาคนที่ 3 ของท่านผ่องกับพระอักษรสมบัติ ชื่อทรัพย์ ถวายตัวแล้วได้เป็นเจ้าจอมมารดารใน ร.3 ประสูติพระโอรสนามว่าพระองค์เจ้าศิริวงศ์ ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (ต้นราชสกุล ศิริวงศ์ ณ อยุธยา)
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์นี้ ร.3 โปรดให้เป็น “นายด้าน” ปฏิสังขรณ์วัดหนังจนสำเร็จ แต่สิ้นพระชนม์เมื่อยังทรงพระเยาว์ด้วยไข้ป่วง เมื่อ พ.ศ. 2382 พระชันษาได้ 26 ปี
ท่านรอด (น้องสาวคนเล็กของท่านเพ็ง) แต่งงานกับพระยาศรีสรราช (เงิน) บุตรพระยารามัญวงศ์ (มะโดด) ซึ่งเป็นมอญเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาที่เรียกกันว่า “จักรีมอญ”
ที่สำคัญก็คือ ท่านรอด เป็น “พระนม” ของ ร.3
ท่านรอดมิได้ตัดขาดจากบางนางนอง และอาจจะ “ขึ้น” หรือ “อุปัฏฐาก” แต่ครั้งบรรพชนให้วัดใดวัดหนึ่ง ระหว่าง 2 วัด คือวัดจอมทองและวัดนางนอง
แม้จะไม่มีหลักฐานอื่นใดมายืนยันให้เด็ดขาดลงไป แต่ความเกี่ยวดองที่ผูกกันไว้หลายชั้นดังที่ได้ลำดับย่อๆ มานี้ ก็คงจะพอเป็นเค้ามูลสำคัญที่แสดงความผูกพันอันลึกซึ้งที่ ร.3 ทรงมีต่อบางนางนองที่บางขุนเทียน
โดยเฉพาะกรณีความผูกพันต่อพระญาติวงศ์ผู้ใหญ่อย่าง “ท่านรอด” หรือ “พระนมรอด”
คลองด่าน มองจากสะพานบางขุนเทียน เห็นหลังคาศาลาการเปรียญและเจดีย์ของวัดนางนองอยู่เบื้องหลัง (ภาพเมื่อ พ.ศ. 2530)
คลองด่าน ย่านข้าหลวงเดิม จากสะพานข้ามคลองด่านปัจจุบัน (ฝั่งซ้าย) วัดนางนอง (ฝั่งขวา) วัดหนัง (อยู่ต่อเนื่อง) วัดราชโอรสฯ อยู่ริมคลองด่านฝั่งขวา (ภาพขวา) ภาพเก่า พ.ศ. 2530
ที่มา : “ชายฝั่งทะเลทวารวดี พันกว่าปีมาแล้ว กรุงเทพฯ-สมุทรสาคร”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2561
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2561
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_14283
The post ค้นรากชายฝั่งทะเลทวารวดี พันกว่าปีมาแล้วบนเส้นทางกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร appeared first on Thailand News.