สมุทรสงคราม มาจากไหน? ค้นหลักฐานเมืองจากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
คลองอัมพวา (ภาพโดย สาวิตรี ถิตตยานุรักษ์ จากหนังสือชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม)
สมุทรสงคราม มาจากคำ 2 คำ คือคำว่า สมุทร กับ สงคราม สมุทร เป็นคำมาจากภาษาสันสกฤต ว่า สมุทฺร ส่วนบาลีว่า สมุทฺท แปลว่า ทะเล ตรงกับภาษาอังกฤษว่า sea มีใช้ในวรรณคดีโบราณมาแต่แรก ๆ เช่น คำสรวลสมุทร (รู้จักทั่วไปในชื่อกำสรวจศรีปราชญ์) เขมรก็ใช้สมุทรที่ตรงกับ sea ในภาษาอังกฤษ คำว่า ทะเล ไทยขอยืมคำเขมรว่า ตอนเล (ton-le) แปลว่า แม่น้ำ มาให้ความหมายใหม่ตรงกับคำอังกฤษว่า sea สงครามแปลว่า ต่อสู้ รบ มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า สํคฺราม ในภาษาบาลีว่า สงฺคราม
สรุปลำดับวิวัฒนาการของเมืองได้ดังนี้
1. เมืองแม่กลองมีชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ครองราชย์ พ.ศ. 1991-2031) เจ้าเมืองมีชื่อตำแหน่งว่า พระสมุทรสงคราม (ต่อไปข้างหน้าจะเปลี่ยนชื่อเมืองแม่กลอง ตามนามบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองว่า เจ้าเมืองสมุทรสงคราม)
เมืองแม่กลองตั้งอยู่ปลายน้ำแม่กลอง หรือทางลุ่มน้ำแม่น้ำกลองตอนล่าง ในคราวเดียวกันนี้มีชื่อเมืองอยู่ทางลุ่มน้ำแม่กลองตอนบนอีก 3 เมือง คือเมืองกาญจนบุรี, เมืองไทรโยค และเมืองศรีสวัสดิ์ แสดงให้เห็นความสำคัญของลำน้ำแม่กลองตลอดสาย ทั้งด้านการสงครามและคมนาคมค้าขาย
2. ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. 2133-2148) มอญบางพวกตั้งแหล่งพำนักถาวรอยู่ในบริเวณที่ทุกวันนี้คือ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เช่น บ้านนครชุม บ้านม่วง ฯลฯ นานเข้าก็กระจายลงไปทางปากน้ำแม่กลอง แล้วตั้งหลักแหล่งเป็นคนแม่กลอง ดังปรากฏในเอกสารจากหอหลวงสมัยพระเจ้าอุทุมพรว่า
“เรือมอญใหญ่ปากกว้าง 6-7 ศอก พวกมอญบรรทุกมะพร้าวห้าว ไม้แสมทะเล และเกลือขาวมาจอดขาย”
“เรือปากใต้ปากกว้าง 6 ศอก 3 ศอก ชาวบ้านยี่สาร บ้านแหลม เมืองเพชรบุรี บ้านบางตะบูน และบ้านบางทะลุ บรรทุกกะปิ น้ำปลา ปูเค็ม ปลากุเรา ปลากะพง ปลาทู ปลากะเบนย่าง มาจอดเรือขาย…”
คำว่า “ปากใต้” ในข้อความข้างต้นหมายถึง บริเวณโดยรอบปากอ่าวไทย ซึ่งอยู่ทางใต้ของพระนครศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ว่าบริเวณปากใต้ มีเมืองนนทบุรี, เมืองนครชัยศรี, เมืองราชบุรี, เมืองสมุทรสงคราม, เมืองสมุทรสาคร และเมืองสมุทรปราการ เป็นต้น
3. หลัง พ.ศ. 2230 ปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ (ครองราชย์ พ.ศ. 2199-2231) มีป้อมเมืองแม่กลอง เป็นป้อมขนาดเล็กเกิดขึ้นแล้ว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเมืองแม่กลอง ดังมีบันทึกของมองซิเออร์เซเบเรต์ ที่อยู่ในคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ บันทึกว่า
“ณ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2230 ข้าพเจ้าได้ออกจาก (เมือง) ท่าจีน เพื่อไป (เมือง) แม่กลอง ตามทางระหว่างที่ท่าจีนกับแม่กลองนี้มีบางแห่งน้ำตื้น ต้องใช้กระบือลากเรือเหมือนวันก่อน แต่ตอนที่ตื้น… เมืองแม่กลองนี้เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองท่าจีนและ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซึ่งเรียกกันว่าแม่น้ำแม่กลอง และอยู่ห่างทะเลประมาณ 1 ไมล์ น้ำรับประทานในเมืองนี้ เป็นน้ำที่ดี
เมืองแม่กลองนี้หามีกำแพงไม่ แต่มีป้อมเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมอยู่ 1ป้อม มุมป้อมนั้นมีหอรบอยู่ 4 แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมากก่อด้วยอิฐ คูหาก็หามีไม่ แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม…”
4. พ.ศ. 2308 สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ โปรดให้ยกทัพเรือไปตั้งค่ายรับพม่า เรียก “ค่ายบางกุ้ง” (ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม)
5. พ.ศ. 2309 หลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี (นามเดิม ทองด้วง ภายหลังปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ 1 ของกรุงรัตนโกสินทร์) แต่งงานกับ นาค ธิดาคหบดีมอญ ตำบลอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม พ.ศ. 2310 มีบุตรชื่อฉิม (ต่อไปข้างหน้าคือรัชกาลที่ 2) เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ตรงกับขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน จ.ศ. 1129 ที่บางช้าง อัมพวา เมื่อรัชกาลที่ 2 ขึ้นครองราชย์ บรรดาพระญาติของสมเด็จพระราชชนนี (นาค) ก็เป็นราชนิกุลตั้งแต่นั้นมา เรียกกันว่า “ราชนิกุลบางช้าง”
6. ปลาย พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราช รวบรวมไพร่พลจากเมืองจันทบุรีขับไล่กองทัพพม่าพ้นจากพระราชอาณาเขตแล้ว ให้ไพร่พลชาวจีนจากหัวเมืองชายทะเลทางเมืองชลบุรี, ระยอง กับเมืองอื่น ๆ ในลำน้ำแม่กลองมารวมอยู่รักษาค่าย จึงเรียกกันว่า ค่ายจีนบางกุ้ง
7. พ.ศ. 2444 สมุทรสงครามเป็นจังหวัด แบ่งออกเป็น 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม, อำเภอบางคนที และอำเภออัมพวา
อำเภอเมืองสมุทรสงคราม โยกย้ายสถานที่และเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง เริ่มจากชื่ออำเภอลมทวน ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดจวน, พ.ศ. 2444 สร้างที่ว่าการอำเภอใหม่เป็นครั้งแรกที่ริมแม่น้ำแม่กลอง (ระหว่างปากคอลงแม่กลอง-คลองลัดจวน) ,พ.ศ. 2465 เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอแม่กลอง, พ.ศ. 2481 เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอเมืองสมุทรสงคราม
อำเภอบางคนที สมัยกรุงศรีอยุธยา อำเภอบางคนทีขึ้นกับเมืองราชบุรี ปลายกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยกรุงธนบุรีมีเมืองแม่กลองแล้วได้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม และบ้านบางกุ้ง (ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น), ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พื้นที่อำเภอบางคนทีรวมอยู่กับอำเภอดำเนินสะดวก ตั้งเป็นอำเภอริมคลองแพงพวย เรียกอำเภอแพงพวย ขึ้นอยู่กับจังหวัดราชบุรี, ครั้น พ.ศ. 2440 ให้ยุบอำเภอแพงพวย ตั้งเป็นอำเภอใหม่ 2 อำเภอ คืออำเภอสี่หมื่น และอำเภอดำเนินสะดวก, พ.ศ. 2454 ให้ยุบอำเภอสี่หมื่น แล้วย้ายที่ว่าการอำเภอใหม่ไปตั้งที่ริมแม่น้ำแม่กลองด้านตะวันออก ตำบลกระดังงา ใต้ปากคลองบางคนที เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นอำเภอบางคนที ตั้งแต่นั้น
อำเภออัมพวา เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยา ที่ทำการอำเภอยุคแรกอาศัยศาลาการเปรียญของวัดอัมพวันเจตาราม ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญวัดท้ายตลาด ตำบลบางกะพ้อม ครั้งสุดท้ายได้ย้ายมาอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองจนถึงปัจจุบัน แต่คงใช่ชื่ออัมพวา เพราะบริเวณนี้เดิมเป็นเรือกสวน มีมะม่วงอยู่เป็นจำนวนมาก
ข้อมูลจาก
สุจิตต์ วงษ์เทศ. ชื่อบ้านนามเมือง ลุ่มแม่น้ำแม่กลองจังหวัดสมุทรสงคราม, กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม, 2549
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ : 15 ตุลาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_40313
The post สมุทรสงคราม มาจากไหน? ค้นหลักฐานเมืองจากสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ appeared first on Thailand News.