ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

จริงหรือที่ชาวกรุงศรีอยุธยาไม่ชอบต้อนรับอาคันตุกะ เพราะปิดบังว่ามีเมียหลายคน?

จริงหรือที่ชาวกรุงศรีอยุธยาไม่ชอบต้อนรับอาคันตุกะ เพราะปิดบังว่ามีเมียหลายคน?

ภาพโคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม ๑ ฉบับพิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐ พ.ศ. ๒๔๔๔) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

 

บ้านเรือนของชาว กรุงศรีอยุธยา ที่อยู่ในสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถูกบอกเล่าผ่านบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส โดยตอนหนึ่งลาลูแบร์ เล่าว่า มารยาทการต้อนรับอาคันตุกะของผู้คนในทวีปเอเชียนั้นเหมือนไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก พร้อมแสดงความคิดเห็นว่า สาเหตุของเรื่องนี้เป็นเพราะเจ้าของบ้านหวงแหนปิดบัง “เมีย ๆ” ของตัวเอง แต่จากความเห็นของนักวิชาการแล้ว ข้อเท็จจริงอาจไม่ได้เป็นแบบที่ลาลูแบร์เข้าใจ

ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศสบันทึกเรื่องราวและสภาพสังคมแวดล้อมของสยามไว้อย่างละเอียด ส่วนหนึ่งที่เล่าคือเรื่องลักษณะบ้านเรือนและการต้อนรับอาคันตุกะ ซึ่งลาลูแบร์ เล่าว่า ในสยามไม่มีเรือนแรมเหมือนประเทศอื่นในเอเชีย ขณะที่ตุรกี เปอร์เซีย มีศาลาที่พักคนเดินทาง อันเป็นศาลาสาธารณะที่ไม่มีเครื่องเรือนใด พ่อค้ากองเกวียนจะใช้ที่แห่งนี้พักอาศัย

ส่วนการค้างแรมของอาคันตุกะจากการบอกเล่าของลาลูแบร์ มีใจความว่า

“การต้อนรับอาคันตุกะให้พักอาศัยค้างแรมด้วย เป็นคุณธรรมอันหนึ่งซึ่งไม่รู้จักกันในทวีปเอเชีย ตามความเห็นของข้าพเจ้าก็ว่าคงเนื่องด้วยเจ้าของบ้านแต่ละแห่ง ต่างก็ระมัดระวังหวงแหนปิดบังพวกเมียๆ ของตนไปตามๆ กันเท่านั้นเอง”

ลาลูแบร์ ยังวิเคราะห์ติดตลกเสริมอีกพระภิกษุต้อนรับดีกว่าเจ้าของบ้านที่เป็นพลเมืองทั่วไปว่า

“แต่โดยที่พระภิกษุไม่มีภรรยา ท่านจึงแสดงความกรุณาให้ที่พักอาศัยแก่อาคันตุกะชนดีกว่าพวกพลเมือง (ซึ่งเป็นคฤหัสถ์)”

ความคิดเห็นเหล่านี้อาจเป็นมุมมองจากการสำรวจโดยคร่าวจากชนต่างแดน แต่หากพิจารณาประกอบกับองค์ประกอบทางสังคมเชิงลึกแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความคิดเห็นอีกแบบว่า สิ่งที่ลาลูแบร์สังเกตมานั้นเป็นเรือน “ขุนนาง” ในพระนครศรีอยุธยาที่ไม่ต้อนรับอาคันตุกะ แล้วนำไปคิดเองว่าคงปิดบังว่าเรื่องมีเมียหลายคน แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับสภาพสังคมเพิ่มเติม สุจิตต์ วงษ์เทศ มองว่า สาเหตุที่ไม่ต้อนรับอาคันตุกะเป็นปัญหา “การเมือง”

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ขุนนางคนใดซึ่งให้ที่พักพิงอาคันตุกะโดยเฉพาะชาวต่างชาติ ย่อมเสี่ยงถูกลงอาญาข้อหาซ่องสุมผู้คนคิดกบฏได้

ส่วนเรือนชาวบ้านทั่วไปก็ไม่มีที่นอน และมักไปอาศัยวัดเป็นสถานที่สำหรับนอน นี่จึงทำให้ลาลูแบร์ อาจเข้าใจว่าที่นอนวัดกันนั้นเพราะพระไม่มีเมียจึงไม่ต้องปิดบังเรื่องเมีย

อย่างไรก็ตาม การรับรองอัครราชทูตอย่างลาลูแบร์ ในสมัยนั้นกรุงศรีอยุธยาก็สร้างที่พักขึ้นใหม่โดยเฉพาะ ลาลูแบร์ เล่าว่า เขาได้พักที่ชายแม่น้ำ เป็นเรือนที่พักซึ่งใหญ่โตพอสมควร

“เรือนนั้นสร้างบนเสาปูฟากและลาดด้วยเสื่อกก ไม่เพียงแต่จะใช้เป็นพื้นเรือนเท่านั้น ยังเป็นพื้นเฉลียงอีกด้วย…ห้องโถงและห้องในนั้นแขวนผ้ามีดอกดวง เพดานผ้ามัสลินขาว ริมเฉลียงเพดานลาดลง พื้นเรือนในห้องน้ำลาดเสื่อกกสานลายละเอียดและเป็นมันลื่นกว่าที่ใช้ลาดพื้นเฉลียง และภายในห้องนอนของเอกอัครราชทูตพิเศษนั้น ยังลาดพรมเจียมทับเสื่อกกอีกชั้นหนึ่ง”

แต่ลาลูแบร์ ยังวิจารณ์เรื่องความโอ่โถงว่า “…มิได้โอ่โถงมีภูมิฐานอะไรเลย” หลังจากนั้น คาดว่ากรุงศรีอยุธยารับรู้สัญญาณ สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความคิดเห็นว่า น่าจะเอาใจลาลูแบร์ ด้วยการพาไปนอนเรือนที่เป็นตึกก่ออิฐถือปูน

 

อ้างอิง: 

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อยุธยา ยศยิ่งฟ้า ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม กรุงศรีอยุธยา ว่าด้วย วิถีชีวิตไพร่ฟ้าข้าไทย. กรุงเทพฯ : กองทุนแบ่งปันเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ, 2552

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_25956

The post จริงหรือที่ชาวกรุงศรีอยุธยาไม่ชอบต้อนรับอาคันตุกะ เพราะปิดบังว่ามีเมียหลายคน? appeared first on Thailand News.