ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ถึง “เจ้าพระยายมราช”

เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ถึง “เจ้าพระยายมราช”

ภาพประกอบเนื้อหา – “ทัศนียภาพของเมืองบางกอก” (View of the city of Bangkok) จากหนังสือ “บันทึกของทูตจากข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประจำสยามและโคชิน-ไชนา” (Journal of an embassy from the Governor-General of India to the courts of Siam and Cochin-China) โดย จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตอังกฤษผู้รับหน้าที่มาเจรจากับสยามก่อน เบอร์นีย์

 

ผู้เขียน
กฤษณะ โสภี
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2564

หลังการทำสนธิสัญญาเบาริ่งได้ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสยาม กล่าวคือ สยามต้องเปิดเสรีทางการค้าทำให้สยามต้องยกเลิกระบบการค้าผูกขาดของพระคลังสินค้า ร่วมถึงทำให้สยามจากเดิมที่ผลิตเพื่อยังชีพ เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบคือทำให้เจ้านายและขุนนางจากที่ผูกขาดสินค้าต้องปรับตัวทางเศรษฐกิจมาเป็นการลงทุนเพื่อหวังผลกำไรแทน

ในการลงทุนทางเศรษฐกิจนั้นได้มีเจ้านายสยามทรงหันมาลงทุนเปิดกิจการต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์, กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ, กรมหมื่นทิวากรประวัติ, พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ เป็นต้น

การลงทุนของเหล่าเจ้านายนั้นส่วนใหญ่มักไม่ค่อยประสบผลสำเร็จนัก อีกทั้งยังมีเจ้านายหลายพระองค์ล้มละลายไปกับการลงทุนในครั้งนี้[1] นอกจากเจ้านายเชื้อพระวงศ์ในราชสำนักแล้ว เหล่าขุนนางเองก็นิยมลงทุนทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังประสบผลสำเร็จในการลงทุนกันหลายท่านดังจะยกตัวอย่างให้เห็นดังต่อไปนี้

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)

พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) เกิดเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ณ บ้านปลายสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข (เชิงเลน) ปากคลองโอ่งอ่าง ตำบลจักรวรรดิ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ เรียนหนังสือกับบิดาตอนยังเด็ก

พออายุ 11 ปี เรียนกับพระอาจารย์เนียม วัดเชิงเลนได้ 1 ปีเศษก็เรียนฝึกหัดวาดเขียนที่บ้านหลวงฤทธิ์ฯ และเรียนหนังสืออังกฤษกับท่านอาจารย์ หมอ เอ.ยี.แมคฟาแลนด์ที่โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ได้ประมาณ 2 ปี โรงเรียนก็ย้ายมาสอนที่สุนันทาลัย สามารถสอบไล่ได้ที่ 1 ในทุกวิชาของโรงเรียน

และในปีพ.ศ. 2433 ได้เป็นครูสอนนักเรียนในโรงเรียนสุนันทาลัย ต่อมาก็ได้ไปเป็นครูสอนเด็กที่โรงเลี้ยงเด็กอนาถา ในปี พ.ศ. 2435 เจ้าพระยาภาสวงศ์ เสนาบดีได้ทดลองให้ทำหน้าที่ตำแหน่งเลขานุการกระทรวงธรรมการ

พระยาภิรมย์ภัคดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)

 

ความสนใจในด้านการลงทุนและแหล่งทุน

พระยาภิรมย์ภัคดี นี้กล่าวได้ว่าท่านสนใจด้านการลงทุนเป็นอย่างมากเห็นได้จาก เมื่อมีอายุ 21 ปี ได้เริ่มเปลี่ยนจากการทำงานราชการ มาทำงานที่ห้าง “กิมเซ่งหลี” (ซึ่งห้างกิมเซ่งหลี มีกิจการโรงสีไฟ ป่าไม้ และโรงเลื่อยจักร) ในตำแหน่งเสมียนมีหน้าที่เป็นล่าม แปลหนังสือภาษาอังกฤษ ตอบโต้เกี่ยวกับการสั่งสินค้าเข้าและส่งสินค้าออก

และต่อมาพระยาภิรมย์ภักดีได้สมัครเข้าทำงานที่ “ห้างเด็นนิม็อต แอนด์ ดิกซัน” ซึ่งดำเนินกิจการโรงเลื่อยทำให้มีความรู้ด้านการติดต่อต่างประเทศเพิ่มเติมขึ้น และมีความสามารถในด้านการคิดคำนวนหน้าไม้และพิมพ์เป็นหนังสือออกจำหน่าย

อายุได้ 30 ปี ได้รับโอกาสจากเจ้าของห้างกิมเซ่งหลี ที่ท่านเคยทำงานด้วย ในการหาทุนให้ไปทำการค้าขาย จึงเริ่มทำธุรกิจค้าไม้ โดยซื้อไม้ซุงของห้างกิมเซ่งหลีไปขายต่อให้โรงเลื่อยในคลองบางหลวง คลองบางลำภู และโรงเลื่อยริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเก็บเงินค่าไม้ส่งภายหลังพร้อมทั้งรับซื้อไม้เหลี่ยมและไม้ตับส่งไปขายกับห้างเด็นนิม็อต แอนด์ ดิกซัน ห้างสยามฟอเรสและต่างประเทศ จนกระทั่งเริ่มมีกำไรและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แหล่งทุนของท่านก็ได้จากการทำสิ่งเหล่านี้นั้นเอง ก่อนที่จะเห็นลู่ทางธุรกิจจึงมาเริ่มมาเป็นเจ้าของกิจการค้าไม้

รายการที่ลงทุน

นอกจากกิจการค้าไม้แล้ว ในปี 2453 พระยาภิรมย์ภักดีเล็งเห็นว่าการข้ามไปมาระหว่างฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ มีปัญหามาก จึงริเริ่มทำธุรกิจเดินเรือเรียกว่า “เรือเมล์ขาว” โดยตั้งเป็น บริษัทบางหลวง จำกัด กิจการดำเนินไปด้วยดี จนเริ่มมีคู่แข่งมาก

ต่อมาเมื่อปี 2471 ทางราชการจะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาตรงท่าโรงยางเก่าไปฝั่งธนบุรี และตัดถนนใหม่เชื่อมตลาดพลู ประตูน้ำภาษีเจริญ ตามแนวทางที่เรือยนต์เดินอยู่ พระยาภิรมย์ภักดีจึงเบนเข็มหาธุรกิจอื่นในช่วงระยะเวลานั้น พระยาภิรมย์ภักดีได้พบมิสเตอร์ไอเซนโฮเฟอร์ ผู้จัดการห้างเพาส์ปิกเคนปัก และได้ลิ้มรสเบียร์เยอรมันจนถูกใจ จึงคิดว่าน่าจะทำขายในเมืองไทยได้ ดังนั้นท่านได้ยื่นหนังสือขออนุญาตตั้งโรงต้มกลั่นเบียร์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2473[2]

เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่เคยมีนโยบายเรื่องการจัดตั้งโรงงานผลิตเบียร์มาก่อน ดังนั้นความง่ายในการอนุมัติโรงเบียร์แห่งแรกจึงเกิดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 6 แสนบาท รัฐบาลไทยอนุมัติให้พระยาภิรมย์ภักดีผลิตเบียร์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2476 (ทางบริษัทบุญรอดฯ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของบริษัท)

การก่อสร้างโรงเบียร์แล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2477 บริษัทบุญรอดฯ เปิดตัวเบียร์ยี่ห้อโกลเด้นไคท์ และสิงห์ ขายราคาขวดละ 32 สตางค์ ด้วยความเพียรพยายามของพระยาภิรมย์ภักดี บริษัทฯ สามารถครองตลาดเบียร์ได้ถึงร้อยละ 40 หลังก่อตั้งบริษัทได้หนึ่งปีครึ่ง

ในปี พ.ศ. 2477 พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้นำเอาเบียร์สดใส่ถังไปเปิดให้ผู้คนดื่มฟรีในงานสโมสรคณะราษฎร ปรากฏว่าเป็นที่พอใจกันยิ่งนัก ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มีลูกค้าจับจองสินค้าออกสู่ตลาด จนได้จำหน่ายเบียร์รุ่นแรกเมื่อ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มีตรายี่ห้อต่างๆ กัน ทั้งตราว่าว ตราพระปรางค์ ตรากุญแจ ตรารถไฟ ตราหมี ปรากฏว่าเบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุด ต่อมาจึงค่อยๆ หยุดผลิตยี่ห้ออื่นไป จนเหลือเพียงเบียร์สิงห์

ผลการลงทุน

การลงทุนของพระยาภิรมย์ภัคดีนี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เป็นโรงเบียร์แห่งแรกในประเทศไทยที่พัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพอยู่เสมอ จนได้ชื่อว่าเป็นโรงเบียร์ที่มีศักยภาพในการผลิตสูงที่สุดคือ พันล้านลิตรต่อปี และเป็นโรงเบียร์ที่ใช้เครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดเพื่อผลิตเบียร์คุณภาพออกสู่ตลาดดจนถึงปัจจุบัน

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

มหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เกิดเมื่อวันอังคารที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2405 บิดาชื่อกลั่น มารดาชื่อ ผึ้ง นามเดิมของท่านคือ ปั้น สุขุม มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 5 คน (ท่านเป็นคนสุดท้อง)

เจ้าพระยายมราชเป็นบุคคลสำคัญของประเทศไทยอีกบุคคลหนึ่ง เนื่องจากท่านได้สร้างคุณงามความดีแก่บ้านเมือง รวมระยะเวลาที่รับราชการ 43 ปี เป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล อภิรัฐมนตรี เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล ทั้งยังเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง การประปานครหลวง การไฟฟ้ามหานคร ถนนและสะพานในกรุงเทพมหานครอีกด้วย[3] (เนื่องจากประวัติท่านยาวมากจึงขอกล่าวสั้นๆ แต่เพียงเท่านี้)

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

 

ความสนใจในการลงทุน แหล่งทุน และรายการที่ลงทุน

สืบเนื่องมาจากในปีพุทธศักราช 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง “บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด” ขึ้น ด้วยพระราชประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยผลิตปูนซีเมนต์ใช้เอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพื่อจัดสรรการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างคุ้มค่า

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ในฐานะเสนาบดีกระทรวงนครบาล ได้สนองพระราชกระแส ทั้งนี้เห็นว่าขณะนั้นคนไทยยังขาดความรู้ในด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการ ควรมีชาวต่างชาติมาร่วมทุนด้วยโดยได้แต่งตั้ง มร.ออสการ์ ชูลท์ซ ชาวเดนมาร์กเป็นผู้จัดการใหญ่คนแรกของบริษัท (โดยได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2457-2468)

บริษัทแหล่งนี้มีผู้ร่วมลงทุน คือ พระคลังข้างที่, ชาวเดนมาร์กและเจ้าพระยายมราช เริ่มทำการผลิตเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2458 มีกำลังการผลิต 20,000 ตันต่อปี นอกจากผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ในปี พ.ศ.2460 ยังได้เริ่มส่งออกปูนซีเมนต์ไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสิงคโปร์ ปีนัง และตอนเหนือของมาเลเซีย

ผลการลงทุน

กิจการปูนซีเมนต์นี้ดำเนินไปได้ด้วยดี และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย ได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องตลอดมา ผ่านร้อนผ่านหนาวมาตามสถาณการณ์ทางเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนไป จนกระทั่งพัฒนาการเป็น “เครือซิเมนต์ไทย”(SCG) กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีประวัติยาวนานที่สุด และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ (เจ้าสัวยิ้ม)

ท่านผู้นี้เป็น บิดาของเจ้าจอมมารดา “อ่วม” ซึ่งเป็นพระมารดาของ “พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์” พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยบรรพบุรุษของท่านผู้นี้คือ “หลวงบรรจงวานิช (เหล่าบุ่นโข่ย)” เป็นพ่อค้าที่มาจากจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และพระองค์ได้ทรงชุบเลี้ยงไว้

พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์นั่น ได้ทำความดีความชอบ ได้สร้างประโยชน์ให้แก่แผ่นดินหลายประการ เช่น ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ท่านมียศเป็น “พระภาษีสมบัติบริบูรณ์” เจ้าภาษีฝิ่น ท่านเป็นผู้ยอมซื้อโรงน้ำตาลที่เรียกว่า “โรงน้ำตาลปล่องเหลี่ยม” ที่เมืองนครชัยศรีจากนายทุนชาวยุโรป เพื่อตัดปัญหาที่เจ้าของโรงน้ำตาลชาวยุโรปโกงเงินค้าอ้อย[4]

และนอกจากนี้ยังได้ขุดคลองขึ้นโดยชื่อว่า “คลองภาษีเจริญ” ขุดเมื่อรัชกาลที่ 4 แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 5 และพระองค์ก็ได้ถวายนามตามชื่อผู้ขุด

ความสนใจในการลงทุนและแหล่งทุน

ท่านผู้นี้สนใจในด้านการลงทุนนานแล้วไม่ต่างกับพระยาภิรมย์ภักดี ส่วนแหล่งทุนของท่านก็ได้มาจากทรัพย์ส่วนตัวที่ได้สะสมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็น ขุนปักษาไสยวานิชนาย อากรรังนกในสมัยรัชกาลที่ 4 และเลื่อนเป็นพระภาษีเจริญ จะเห็นได้ว่าพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ เป็นเจ้าสัวมาแต่เดิมแล้ว เนื่องจากท่านเป็นเจ้าภาษีมาก่อน ดังนั้นจึงอาศัยทุนจากภาษีและทรัพย์ของท่าน เช่น ภาษีฝิ่น รายได้จากโรงน้ำตาล เป็นแหล่งทุนในการลงทุนเปิดกิจการต่างๆ ของท่าน

รายการที่ลงทุน

การลงทุนของท่านมี โรงน้ำตาล ที่ท่านซื้อมาจากนายทุนชาวยุโรป และเรือไฟเจ้าพระยา ที่ถือเป็นเรื่องเด่นของท่านในการลงทุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ในสมัยนั้น กล่าวว่า

“…อนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นว่า เรือกลไฟในกรุงเทพนี้เป็นเรือเล่นโดยมาก, มิได้มีประโยชน์ตามที่สมควรจะมี, แต่เรือไวกองต์แกนลำหนึ่ง, เรือเจ้าพระยาลำหนึ่ง, เรือสองลำนี้ได้การดีมีประโยชน์แก่เมืองมาก. แต่เรือเจ้าพระยาได้การยิงนัก. ทำให้เมืองสิงคโปร์เข้ามาใกล้กับกรุงเทพ เป็นทางแค่ 4 วัน 5 วันเสมอ. แต่ก่อนเป็นทาง 15 วันบ้าง 30 วันบ้าง 20 วันบ้าง, หากำหนดการแน่นอนไม่ แต่ทุกวันนี้เป็นที่กำหนดได้แม่นยำดีนัก, ชาวประเทศยุโรปและประเทศอเมริกา, ที่ได้มาพึ่งอาไสยกรุงเทพ มีใจขอบคุณ ท่านเจ้าของเรือเจ้าพระยาเป็นอันมาก. ขอให้การของท่านนี้ได้จำเริญยิ่งขึ้นไป, มิได้หยุด. เทอญ.”[5]

จะเห็นได้ว่าเรือกลไฟของท่านมีประโยชน์ในการคมนาคมอย่างมาก นอกจากนั้นก็มีการขุดคลองดังที่กล่าวมาแล้ว

ผลการลงทุน

ตลอดการลงทุนในช่วงชีวิตท่านนั้นถือได้ว่าประสบความสำเร็จในระดับดี แต่เรื่องราวของพระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ์ ในช่วงหลังนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการลงทุนใดในบั้นปลายชีวิต รู้แต่ว่าผู้ที่สืบทอดกิจการคือ หลวงสาทรราชายุกต์ (ยม พิศลยบุตร) กรมท่าซ้าย บุตรของท่านเอง และเรื่องราวของสายตระกูลท่านเองซึ่งไม่ค่อยจะเกี่ยวกับการลงทุนเท่าใดจึงขอไม่กล่าวถึงในที่นี้

จากการยกตัวอย่างการลงทุนของขุนนางสยาม เราอาจสรุปว่าจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น ทำให้เกิดการผลิตเพื่ออุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นที่สนใจในการลงทุนต่างๆ ดังที่กล่าวมา การลงทุนของขุนนางนั้นบางท่านก็มีความชำนาญในการลงทุน หรือบางท่านก็มีชาวต่างชาติและบุคคลอื่นร่วมลงทุนด้วย ดังกรณีของ เจ้าพระยายมราช วิธีการดังกล่าวมีผลให้ธุรกิจของท่านเหล่านี้ไม่ประสบกับภาวะขาดทุนและสามารถดำรงอยู่ได้ และสุดท้ายกิจการของท่านทั้งหลายก็ประสบผลสำเร็จเจริญเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน

 

เชิงอรรถ 

[1] ดูเพิ่มที่ ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (2555). การลงทุนทางเศรษฐกิจของเจ้านายไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2411-2477). มหาสารคาม : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์.

[2] ข้อมูลจาก เว็บไซต์ บริษัทสิงห์ คอเปอเรชั่น. เข้าถึงได้ที่ https://www.boonrawd.co.th

[3] ดูเพิ่มที่ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) พุทธศักราช 2405-2428. พิมพ์ที่โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

[4] เล็ก พงษ์สมัครไทย. (2556). พระญาติราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : มติชน. หน้า 6.

[5] หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ด ปีที่ 1 หน้า 238 ลงเรื่องเรือกลไฟฟ้าในกรุงเทพฯและเอ่ยถึงเจ้าพระยา

อ้างอิง

เจมส์ ซี อินแกรม(James C. Ingram) (แต่ง). ชูศรี มณีพฤกษ์ และ เฉลิมพจน์ เอี่ยมกมลา (แปล). (2552). การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย 1850-1970. กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

จุลจักรพงษ์, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. (2505). เจ้าชีวิต. พระนคร : คลังวิทยา.

ชัย เรืองศิลป์. (2522). ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช.

เซอร์ จอห์น เบาว์ริง. (2547) ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม. กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2538). ปากไก่และใบเรือ. กรุงเทพ : อัมรินทร์.

สิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกร. (2521). ต้นกำเนิดชนชั้นนายทุนในประเทศไทย (พ.ศ.2398-2453). กรุงเทพ : สร้างสรรค์.

สุนทรี อาสะไวย์. (2530). ประวัติคลองรังสิต: การพัฒนาที่และผลกระทบต่อสังคม พ.ศ.2431-2457. กรุงเทพ : ธรรมศาสตร์

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. (2555). โครงการวิจัย การลงทุนทางเศรษฐกิจของเจ้านายไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5 ถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 (พ.ศ.2411-2477). มหาสารคาม : คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์.

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ. “บทบาทของกรมพระคลังข้างที่ต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจในอดีต (พ.ศ. 2433-2475)” วารสารธรรมศาสตร์ 4, 2 (มิถุนายน 2528): 122-159

หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ด ปีที่ 1 หน้า 238 ลงเรื่องเรือกลไฟฟ้าในกรุงเทพฯและเอ่ยถึงเจ้าพระยา

เล็ก พงษ์สมัครไทย. (2556). พระญาติราชสกุล กรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : มติชน.

เอนก นาวิกมูล. (2549). ขุนนางชาวสยาม. กรุงเทพ : แสงดาว.

เว็บไซต์

บริษัทสิงห์ คอเปอเรชั่น. เข้าถึงได้ที่ https://www.boonrawd.co.th

 

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 10 มิถุนายน 2562 จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการ

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_8022

The post เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ถึง “เจ้าพระยายมราช” appeared first on Thailand News.