ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สำเพ็ง เป็นภาษามอญ? สำรวจความเป็นมาของชื่อที่มีหลายข้อสันนิษฐาน

สำเพ็ง เป็นภาษามอญ? สำรวจความเป็นมาของชื่อที่มีหลายข้อสันนิษฐาน

ภาพถ่ายทางอากาศย่าน สำเพ็ง บริเวณวัดปทุมคงคา โดย นายปีเตอร์ วิลเลียมส์ ฮันต์ เมื่อ พ.ศ. 2489

 

สำรวจความเป็นมาของชื่อ สำเพ็ง ฤาจะเป็นภาษามอญ? แต่ก็มีข้อสันนิษฐานถึงที่มาของคำนี้หลายประการ

“บางจีน” ย่านคนจีนก่อนย้ายไป สำเพ็ง

“บางจีน” เป็นย่านคนจีนสมัยอยุธยา-ธนบุรี น่าจะมีตั้งแต่หลังขุดคลองลัดบางกอกในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชา ราว พ.ศ. 2080 พื้นที่บางจีนน่าจะมีอาณาบริเวณตั้งแต่ท่าช้างวังหน้า, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ท่าพระจันทร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร (วังท่าพระ), ท่าช้างวังหลวง, ท่าเตียน

หัวหน้าชุมชนจีน ชื่อตำแหน่งว่า “พระยาราชาเศรษฐี”

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะสร้างพระราชวังใหม่ ฝั่งตะวันออกกรุงธนบุรี จึงให้พวกคนจีนไปอยู่ที่ใหม่เรียก สำเพ็ง มีในพระราชพงศาวดารว่า

“ให้พระยาราชาเศรษฐี ยกพวกจีนลงไปตั้งบ้านเรือนใหม่ ณ ที่สวนตั้งแต่คลองใต้วัดสามปลื้ม ลงไปจนถึงคลองเหนือวัดสามเพ็ง” [พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์ พ.ศ. 2542 หน้า 231]

ชาวจีนที่ถูกย้ายจากบางจีนไปอยู่ย่านใหม่ ปัจจุบันรู้จักทั่วไปชื่อ “สำเพ็ง เป็นบริเวณกว้างตั้งแต่วัดจักรวรรดิ [วัดสามปลื้ม] วัดสัมพันธวงศ์ [วัดเกาะ] ถึงวัดปทุมคงคา [วัดสำเพ็ง]

แผนที่กรุงเทพฯ สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงชุมชนคนจีนสมัยอยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์

 

ชื่อ “สำเพ็ง” หลายข้อสันนิษฐาน

สำหรับชื่อ “สำเพ็ง” มีหลายข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อนี้ เช่น เชื่อว่าเป็นชื่อที่เพี้ยนมาจากคำว่า “สามเพ็ง” ซึ่งเป็นชื่อวัดและชื่อคลองที่อยู่ละแวกนั้น คนจีนในย่านเดียวกันชินกับการออกเสียงสั้น จึงทำให้จาก “สามเพ็ง” กลายเป็น “สำเพ็ง” ในทุกวันนี้

หรืออีกข้อสันนิษฐานเชื่อว่า เพี้ยนมาจาก “สามแผ่น” ที่หมายถึงลักษณะภูมิประเทศของย่านที่มีคลองขวาง 2 คลอง ได้แก่ คลองเหนือวัดสำเพ็ง และคลองวัดสามปลื้ม ทำให้ตัดแผ่นดินเป็นสามตอน หรือสามแผ่น ต่อมาจึงเพี้ยนไปตามสำเนียงคนจีนกลายเป็น “สำเพ็ง” หรืออาจเพี้ยนมาจากคำว่า “สามแพร่ง” ที่เป็นลักษณะของภูมิประเทศเช่นกัน

หรืออีกข้อสันนิษฐานว่า มาจากชื่อพืชตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายใบโหระพา เรียกว่า “ลำเพ็ง” ซึ่งพบเห็นมากในบริเวณนี้ ผู้คนจึงเรียกกันว่า “ลำเพ็ง” และเพี้ยนมาเป็น “สำเพ็ง” ในภายหลัง

“สำเพ็ง” เป็นภาษามอญ

จิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่า สำเพ็งเป็นภาษามอญ หมายถึง เจ้าขุนมูลนาย เจ้าใหญ่นายโต, ผู้มีอำนาจวาสนาบารมี, เสนาบดี [ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2519]

น่าเชื่อว่าเดิมสมัยอยุธยา “สำเพ็ง” เป็นชุมชนมอญ-เขมร

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ.2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_44692

The post สำเพ็ง เป็นภาษามอญ? สำรวจความเป็นมาของชื่อที่มีหลายข้อสันนิษฐาน appeared first on Thailand News.