ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เบื้องหลังไทยตั้งการไปรษณีย์หนแรก เลี่ยงอิทธิพลต่างชาติและเหตุที่งดจ้าง “คนอังกฤษ”

เบื้องหลังไทยตั้งการไปรษณีย์หนแรก เลี่ยงอิทธิพลต่างชาติและเหตุที่งดจ้าง “คนอังกฤษ”

ไปรสะนียาคาร ที่่ทำการไปรษณีย์แห่งรแกของประเทศ ภาพของเอนก นาวิกมูล ถ่ายเมื่อ พ.ศ.2523 (เอนกถ่ายขาวดำBW-0511-004-จ11กพ2523)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2526
เผยแพร่
วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2564

ก่อนปี พ.ศ. 2426 นั้น ประเทศไทยยังไม่มีการไปรษณีย์ การส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ต้องอาศัยสถานกงสุลอังกฤษรับจดหมายของเราลงเรือส่งไปสิงคโปร์แล้วจึงซื้อแสตมป์ที่สิงคโปร์ ปิดซองส่งไปต่างประเทศได้

เมื่อมีการส่งจดหมายมากขึ้น สถานกงสุลอังกฤษจึงให้เจ้าหน้าที่รับฝากจดหมายขึ้น แล้วนําเอาแสตมป์จากสิงคโปร์เข้ามาจําหน่าย ทําให้ผู้ว่าราชการสิงคโปร์มีหนังสือมาถึงรัฐบาลไทยขอเปิดที่ทําการไปรษณีย์ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2426 ขอผูกขาดเป็นผู้ทําการไปษณีย์แต่เพียงผู้เดียว ให้ที่ทําการไปรษณีย์ในกรุงเทพฯ เป็นสาขาขึ้นกับสิงคโปร์

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงมองเห็นว่า การที่จะให้ต่างประเทศเข้ามาตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทยนั้น ไม่เหมาะด้วยประการทั้งปวง ต่อไปอาจจะก่อเอกสิทธิ์ก่อความยุ่งยากไม่รู้จักหยุด รัฐบาลไทยไม่สามารถทําอะไรได้ เช่น เกี่ยวกับศาลกงสุลในประเทศไทยซึ่งคนที่อยู่ในความคุ้มกันของสถานกงสุลต้องไปขึ้นศาลกงสุลให้กงสุลต่างประเทศชำระความได้เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว โดยไทยไม่มีอํานาจจะคัดค้านได้

ดังนั้น การที่จะให้ต่างประเทศเข้ามามีสิทธิ์ใดๆ ขึ้นอีก ไม่มีทางแก้ไขได้ รัฐบาลไทยจึงตอบปฏิเสธไป และแจ้งว่า รัฐบาลไทยจะตั้งที่ทําการไปรษณีย์ขึ้นเอง

เมื่อรัฐบาลไทยได้ตัดสินใจแน่วแน่แล้วในการที่จะตั้งที่ทําการไปรษณีย์ขึ้นเอง จึงได้มอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช (พระยศในขณะนั้น) เป็นอธิบดีคนแรก มีที่ทําการอยู่ที่ตึกปากคลองโอ่งอ่าง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพระปรีชากลการ เจ้าเมืองปราจีนบุรีเคยอยู่ และได้โอนเป็นของหลวง ที่ทำการแห่งแรกนี้ เรียกกันว่า “ไปรษณียาคาร” (ปัจจุบันถูกรื้อเพื่อใช้ที่สร้าง สะพานคู่ขนานกับสะพานพุทธ) เมื่อมีที่ทำการก็ได้ประกาศเปิดรับฝากส่งจดหมายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426

กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช

 

ในการจัดตั้งการไปรษณีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2426 นั้น กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ก็ไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไรดี เพราะไม่เคยรู้เรื่องไปรษณีย์มาก่อน และก็เป็นครั้งแรกที่จะได้มีการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศไทย

ที่สุดจึงเขียนหนังสือไปถึงพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ซึ่งเป็นราชทูตไทย ประจำประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา (รวม 12 ประเทศ) ที่มีสัมพันธไมตรีกับไทยในขณะนั้น ให้ช่วยสืบหาวิธีการจากรัฐบาลอังกฤษ ขอระเบียบการ ข้อบังคับและวิธีการต่างๆ เข้ามาดู และขอให้จ้างคนเยอรมันเข้ามาช่วยเหลือจัดการและแนะนำ

เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเรื่องจึงไปหา ดร. สเตฟาน (Stephan) อธิบดีไปรษณีย์เยอรมัน ให้ช่วยหาคนให้ จึงได้มิสเตอร์ พางโค (Panckow) (ไทยเรียกปังกา) และต่อมาก็ได้จ้างคนเยอรมันและออสเตรีย เพิ่มเติมเข้ามาอีก

การที่ไทยเราต้องจ้างคนเยอรมันเข้ามาช่วยการไปรษณีย์นั้น ก็เพราะได้เห็นความดื้อดึงของฝรั่งเศสมาแล้ว ซึ่งไม่ยอมฟังคำสั่งของไทย และว่ากล่าวอะไรไม่ได้เพราะมีกงสุลเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แทบทุกเรื่อง

สำหรับชาวอังกฤษนั้น ไทยเคยจ้างนายมาเรเบิล (Marable) มากํากับสาย ทางด้านกาญจนบุรีก็ปรากฏว่าขี้เกียจ ไม่ทํางาน กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ถึงกับอ้างในจดหมายถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า “เสียข้าวสุก จึงไม่อยากได้คนอังกฤษอีก” เราจึงหันไปจ้างคนเยอรมัน

เมื่อไทยได้นายพางโค แล้ว กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ทรงพอพระพระทัยมากว่าเป็นคนดี มีความรู้มาก และเอาใจใส่ในการทํางาน แต่ทางรัฐบาลเยอรมันให้ขอยืมตัวมาเพียง 1 ปี พอสิ้นกำหนดแล้ว กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ก็มีหนังสือขอให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์หาคนที่ขยันขันแข็ง มีความรู้ดีแบบนายพางโค เข้ามาแทนให้ได้

ในการส่งจดหมายและโทรเลขไปต่างประเทศ ประเทศไทยก็ต้องเป็นภาคีขององค์การโทรเลขไปรษณีย์สากล ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงสั่งให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปเข้าประชุมองค์การไปรษณีย์สากลที่กรุงลิสบอน การโทรเลขสากลที่กรุงเบอร์ลินและสั่งให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ลงนามในอนุสัญญาสหภาพไปรษณีย์สากลที่กรุงเบอนด้วย

ภาพวาดพระองค์เจ้าปฤษฎางค์

 

ครั้นตั้งการไปรษณีย์แล้ว ก็มีปัญหาที่จะต้องมีดวงตราไปรษณีย์ใช้ แต่จะพิมพ์อย่างไร รูปร่างลักษณะอย่างไร ราคาเท่าใดที่จะให้ทุกประเทศรับรอง ก็จําเป็นจะต้องศึกษากันอีก เพื่อให้เข้าระบบสากล มองดูสีแสตมป์ก็ว่าได้ติดราคาเพียงพอกับอัตราที่ได้ตกลงไว้กับสหภาพไปรษณีย์สากล

เมื่อตกลงรายละเอียดเสร็จแล้ว พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ต้องวิ่งเต้นไปถามผู้รู้จักและจากข้าราชการกรมไปรษณีย์ของอังกฤษว่าจะพิมพ์ได้ที่ไหน ราคาค่าจ้างสักเท่าใดจึงจะพอและพิมพ์อย่างไรจึงจะไม่ถูกคนปลอมได้ง่าย ฯลฯ

ต่อมาจึงได้บริษัทเดอลารู ในกรุงลอนดอนพิมพ์ให้ การพิมพ์ดวงตราไปรษณีย์ครั้งแรก ก็ไม่ทราบว่าจะพิมพ์เท่าใดจึงจะพอใช้ กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดชถึงกับทรงบ่นว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พิมพ์เสียมากมายเหลือใช้ ใช้ไปอีก 50 ปีก็ไม่หมด

แต่การไปรษณีย์ของไทยก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปตามต่างจังหวัดจนถึงจังหวัดเชียงใหม่ กรมหลวงภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ก็ทรงดีพระทัยมากที่สามารถส่งจดหมายถึงเชียงใหม่ได้รวดเร็วเกินคาดหหมาย คือใช้เวลาเพียง 15 วันเท่านั้น

เมื่อการไปรษณีย์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แสตมป์ที่พิมพ์ไว้ก็ไม่พอใช้ถึงกับทรงเร่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้รีบพิมพ์ขึ้นใหม่อีก

เรื่องของการไปษณีย์นี้ ประเทศไทยได้ส่งนักเรียนคนแรกไปเรียนการไปรษณีย์โดยเฉพาะ คือ นายเหม มีพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เป็นผู้ดูแลในการเรียนที่ประเทศเยอรมัน นายเหม ได้กลับมาเป็นปลัดกรมไปรษณีย์ เมื่อ พ.ศ. 2437 เมื่อไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสเรื่องประเทศลาว จนกระทั่งไทยต้องยกประเทศลาวทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ประเทศฝรั่งเศสทั้งหมด

แต่ทางฝั่งขวาตลอดแม่น้ำโขง ตั้งแต่เชียงแสนจนถึงนครจําปาศักดิ์ยังเป็นของไทย แต่ฝรั่งเศสห้ามมิให้ไทยเข้าไปตั้งกองทหารภายในเขต 25 กิโลเมตร ซึ่งข้อความในสนธิสัญญา ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2437 นั้นพูดไว้กว้างขวางมาก ทําให้ฝรั่งเศสตีความหมายเอาเองตามใจชอบโดยไม่ยอมให้ไทยแย้งได้

ด้วยเหตุที่ฝรั่งเศสไม่ต้องการให้ไทยเข้าปกครองในเขต 25 กิโลเมตร ตลอดจนที่ทําการไปรษณีย์

ฉะนั้น ฝรั่งเศสจึงไล่นายไปรษณีย์ที่เชียงแสน เชียงของ และนครจําปาศักดิ์ให้อออกมาให้พ้นเขต 25 กิโลเมตร เพื่อให้ไทยขาดการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของไทยตามริมฝั่งแม่น้ำโขง และเมื่อพระพรหมสุรินทร์ ข้าหลวงประจําที่น่านจะเข้าไปตรวจราชการที่เชียงของก็ถูกนายปาวี ส่ง ส่งม้าเร็วมาสะกัดกั้น ห้ามมิให้เดินทางเข้าไปในเขตเชียงของ จนพระพรหมสุรินทร์ต้องเดินทางกลับ

อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์จะก่อให้เกิดความกินแหนงแคลงใจกัน ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก็ตามแต่ นายเหม ว่าที่ปลัดกรมไปรษณีย์ขณะนั้น ก็ได้รายงานเหตุการณ์ให้ผู้บังคับบัญชา คือ เจ้าคุณพระยาสโมสรสรรพการ ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงโยธาธิการทราบโดยละเอียด และต่อมาพระยาสโมสรสรรพการก็ได้แจ้งความถึงพระยาพิพัฒโกษา ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ ให้ช่วยดำเนินการทางการทูตกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลให้ไทยได้เปิดดําเนินการไปรษณีย์ที่เมืองเชียงของในเวลาต่อมา

นั่นเป็นเพียงเหตุการณ์ของการไปรษณีย์ช่วงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรค และบทเรียนที่การไปรษณีย์ไทยต้องฟันฝ่ามาด้วยความอุตสาหะวิริยะ จนกระทั่งดําเนินกิจการด้านนี้เจริญก้าวหน้า…

 

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่เนื่องในโอกาสการไปรษณีย์ของไทย ได้ก่อตั้งและดำเนินการกิจการมาครบ 100 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2526  กองบรรณาธิการ “ศิลปวัฒนธรรม” จึงได้รวบรวมและเรียบเรียงแนวความคิดในการก่อตั้งการไปรษณีย์และเหตุการณ์ (บางตอน) ในระหว่างการดำเนินกิจการในระยะต้นๆ

เรียบเรียงจาก “การไปรษณีย์ระยะเริ่มแรก” ของคณะกรรมการพิจารณา และจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2523

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 2 พฤษภาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_32244

The post เบื้องหลังไทยตั้งการไปรษณีย์หนแรก เลี่ยงอิทธิพลต่างชาติและเหตุที่งดจ้าง “คนอังกฤษ” appeared first on Thailand News.