เบื้องหลังธรรมเนียม “ชาววัง” เมื่อจะออกเดินตอนค่ำก็ต้องเคร่งครัด
พระราชฐานชั้นในในอดีต
ธรรมเนียมสำคัญหนึ่งที่ในพระราชสำนักฝ่ายในถือปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดเมื่อจะต้องเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างตำหนักในเวลากลางคืน เรียกว่า การส่องโคม คือการถือโคมไฟส่องให้เห็นทางและเห็นหน้ากันในเวลาค่ำคืน
ถ้าเป็นขบวนเจ้านายจะต้องมีเจ้าพนักงานถือโคมนำหน้า เรียกว่า “คนนำโคม” และมีพนักงานถือเทียนใหญ่สองข้างหลัง เรียกว่าคนนำเทียน ถ้าเป็นคนสามัญก็จะต้องถือไฟให้ความสว่างเวลาเดิน ตามทางจะมีพนักงานดูแลรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่า โขลน เฝ้าอยู่เป็นจุด ๆ ที่อยู่ของโขลนเป็นป้อมไม้เล็ก ๆ หน้าป้อมแขวนโคมรั้วให้ความสว่างและสำหรับต่อไฟ กรณีไฟของผู้เดินทางดับ ถ้าไฟของใครดับ ผู้นั้นต้องยืนอยู่กับที่ระยะห่างจากป้อมพอควร แล้วตะโกนว่า ไฟดับ ๆ จนกระทั่งโขลนตอบอนุญาตให้มาต่อไฟได้ จึงเดินมาต่อไฟที่ป้อมโขลนแล้วเดินทางต่อ
ในนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดิน บรรยายเรื่องธรรมเนียมการเดินในเวลากลางคืนของชาววังไว้ว่า
“—พอผ่านประตูวังมา ช้อยก็รีบเตือนให้รีบกลับตำหนัก บอกว่าเดี๋ยวค่ำลงจะลำบาก เพราะไม่ได้เอาเทียนมาด้วย พลอยก็สงสัยถามขึ้นว่า “เทียนอะไรกันช้อย” “อ้าว” ช้อยตอบ “เดินในวังกลางคืนต้องจุดไฟจำไว้นะพลอยเดินมืด ๆ เป็นเกิดเรื่อง” “เกิดเรื่องอะไรจ๊ะช้อย” “โขลนจับ!? ช้อยตอบอย่างเด็กอีกเหมือนกันเพราะช้อยเองก็ไม่รู้ว่ามีระเบียบวางไว้ในพระราชฐานชั้นในว่า ผู้ใดเดินตามถนนหนทางในวังในเวลากลางคืนจะต้องถือไฟ ช้อยรู้แต่เพียงว่า ถ้าใครไม่ถือเทียนหรือโคมไฟเวลาไปไหนมาไหนกลางคืนเป็นต้องถูกโขลนจับ—“
โดยเหตุผลที่แท้จริงก็คือ เพื่อป้องกันภัยอันเกิดจากผู้คิดร้ายที่อาจแปลกปลอมเข้ามาโดยอาศัยความมืด ดังนั้นแต่ละคนจึงต้องมีโคมส่องเพื่อให้เห็นหน้ากันชัดเจน และเมื่อไฟเกิดดับนั้น การออกเสียงก็เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ว่ามิใช่ผู้ชายหรือผู้ร้ายแปลกปลอมเข้ามา
การส่องโคมจึงได้ถือเป็นระเบียบที่ต้องปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดสืบมา แม้จะไม่มีเหตุร้ายใด ๆ และผู้ปฏิบัติรุ่นหลัง ๆ อาจไม่รู้ถึงเหตุผล แต่ปฏิบัติเพราะถือเป็นธรรมเนียม
ธรรมเนียมการเสด็จของเจ้านายและชาววังในพระราชสำนักฝ่ายใน การเสด็จออกนอกพระตำหนักของเจ้านายภายในพระราชสำนักฝ่ายในนั้น ถือเป็นธรรมเนียมว่าจะต้องมีขบวนข้าหลวงตามเสด็จด้วยจำนวนหนึ่ง ข้าหลวงแต่ละคนจะมีหน้าที่เชิญเครื่องใช้จำเป็นประจำพระองค์ เช่น พานพระศรี บ้วนพระโอษฐ์ และพระกลด เป็นต้น
ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ บรรยายถึงขบวนเสด็จของพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎฯ ภายในพระราชสำนักฝ่ายในวังสวนสุนันทาว่า
“ครั้งหนึ่งพระวิมาดาเธอท่านเสด็จมาเงียบ ๆ ที่จริงก็ไม่ควรจะเงียบ ข้าหลวงติดตามมานับสิบ ข้าหลวงรุ่นกลางตามมา 3 คน ม.ร.ว.อำภา อุไรพงษ์ เชิญหีบทองรองโต๊ะทองใส่หมากพลูเรียกพานพระศรี ม.ร.ว.ศรีคำ ทองแถม เชิญบ้วนพระโอษฐ์ทอง (กระโถน บ้วนน้ำหมาก) ม.ร.ว.วงศ์สินธุ์ สิงหรา เชิญพานทองรองผ้าซับพระพักตร์ (ผ้าเช็ดหน้า) แล้วยังมีรุ่นเด็ก ๆ ม.ร.ว.วัฒนพันธุ์ ชมพูนุท เชิญพระกลด (ร่ม) ตามมาด้วยเด็กรุ่นเล็กอีกหลายคน ไม่มีใครพูดจากันเลย บรรยากาศจึงเงียบกริบ ”
ถ้าเป็นเจ้านายเล็ก ๆ เสด็จก็จะต้องมีขบวนเสด็จเช่นกัน เรื่องนี้พระพี่เลี้ยงหวน หงสกุล เล่าไว้ว่า
“ในวังนั้นต้องใช้ลูกผู้ดีถวายพระกลด คือร่มใหญ่มีครุยทอง ตัวร่มนั้นสีดำ ไม่ว่าจะเสด็จไปข้างไหน ค่ำมืดหรือกลางวันอะไร ต้องมีคนอุ้ม เรียกว่ารับเสด็จ แล้วกั้นร่มใหญ่คือพระกลดนี่แหละทุกครั้งไป แต่ไม่มียอดแหลมเหมือนของพระเจ้าแผ่นดิน คนถือโคมนำหน้า เรียกว่าคนนำโคม คนถือเทียนใหญ่ส่องข้างหลังเรียกว่าคนนำเทียน คนถือร่มเล็กเรียกว่าเชิญพระกลดสั้น”
สำหรับข้าราชสำนักฝ่ายในคนอื่น ๆ หากมีหน้าที่สำคัญหรือเป็นหัวหน้ามีลูกน้องอยู่ในบังคับบัญชาจึงจะมีผู้ถือเครื่องอำนวยความสะดวกส่วนตัวตามหลัง อย่างเช่น หม่อมเจ้าสะบายมีหน้าที่ควบคุมห้องเครื่องจะลงไปทำงานที่ห้องเครื่องก็จะมีเด็กถือกระบุง หมากเงิน กระโถนบ้วนน้ำหมาก และกระบุงเงินใส่กาน้ำร้อนตามหลังมาด้วย เป็นต้น
(คัดลอกส่วนหนึ่งจากบทความ “ธรรมเนียมและความเชื่อในพระราชสำนักฝ่ายใน” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มกราคม 2548)
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 21 มีนาคม พ.ศ.2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_21673
The post เบื้องหลังธรรมเนียม “ชาววัง” เมื่อจะออกเดินตอนค่ำก็ต้องเคร่งครัด appeared first on Thailand News.