ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วัดโพธิ์ เริ่มบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่

วัดโพธิ์ เริ่มบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่

พระอุโบสถวัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจาก ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน, 2544)

 

เราได้ยินกันมาบ่อยจนคุ้นว่า “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ได้รับการยกย่องว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ เพราะมีจารึกวิชาความรู้ต่างๆ จำนวนมาก องค์การยูเนสโกก็รับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แล้ววัดโพธิ์เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เก็บรวบรวมวิชาอะไร

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ “กรุงเทพฯ มาจากไหน” (สนพ.มติชน, กุมภาพันธ์ 2548) ว่า บทบาทของวัดโพธิ์ในฐานะแหล่งรวบรวมภูมิปัญญาความรู้ของประเทศเริ่มขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระองค์ทรงสร้างบทบาทใหม่ให้แก่วัดโพธิ์ นอกเหนือไปจากการเป็นวัดคู่พระนคร ทรงทำให้วัดโพธิ์มีส่วนสัมพันธ์กับสังคมมากขึ้น เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐและราษฎร ยิ่งกว่าเพียงปูชนียวัตถุ และมหาสังฆาวาสแห่งพระภิกษุสงฆ์ของสังคมเท่านั้น แต่ให้เป็นเสมือน “อาศรมทางปัญญา” ปลูกฝังความรู้ด้านต่างๆ ให้แก่สังคมของสยาม ที่กำลังเปิดประตูการค้ากับต่างชาติ จนรายได้ทางการค้าเป็นเศรษฐกิจหลักแก่บ้านเมืองขณะนั้น

สุจิตต์กล่าวว่า “เรารู้จักคนต่างชาติต่างภาษา นอกไปจากจีนและบรรดาประเทศเพื่อนบ้านอื่นซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ดังเห็นได้จากคำจารึกเป็นโคลงประกอบรูปหล่ออยู่ตามศาลาราย 16 หลังของวัดโพธิ์ ว่าด้วยชนชาติต่างๆ 32 ภาษาด้วยกัน ใจความสำคัญกล่าวถึงเชื้อชาติ เครื่องแต่งตัว ถิ่นที่อยู่ ลักษณะพิเศษบางอย่างเกี่ยวกับธรรมเนียมประเพณีของมนุษยชาติเหล่านั้น”

รัชกาลที่ 3 ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์อย่างมากมาย ทั้งกุฎีสำนักสงฆ์ รวมศาลา และหอสวดมนต์ พร้อมทั้งทรงสร้างซ่อมแซมพระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง พระมหาธาตุ พระเจดีย์รายและพระเจดีย์หย่อม ศาลารายรอบกำแพงวัด ฯลฯ ส่วนวิชาการสาขาต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้บันทึกไว้ที่วัดโพธิ์นั้น จำแนกเป็นวิชาการ 6 แขนงด้วยกันคือ

พุทธศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้ช่างเขียนที่มีฝีมือจารึกเรื่องราวทางพุทธศาสนา ทั้งคำสอนและชาดกพุทธประวัติ ไว้ตามผนัง พระอุโบสถ และที่อื่นภายในวัด เช่น ผนังระหว่างหน้าต่างในพระอุโบสถ เขียนเรื่องในอรรถกถา อังคุตรนิกาย ผนังเหนือหน้าต่างขึ้นไป เขียนเรื่องมโหสถ ผนังของพระวิหารทิศทั้งสี่ เขียนภาพอศุภ 10 ญาณ 10 ฎีกาพาหุง เรื่องพระพุทธบาท เรื่องธุดงค์ ผนังที่ศาลาทิศพระมณฑป เขียนภาพรามาวตาร ต้นเรื่องรามเกียรติ์ และภาพอื่น ฯลฯ

อักษรศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้จารึกตำรับตำราวรรณคดี กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ พร้อมทั้งแสดงแบบฉันทลักษณ์ไว้ตามเสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ เช่น จารึกเพลงยาวกลบท 50 ฉันท์ วรรณพฤติ 50 รวม 100 เป็นต้น หรือที่เสาเฉลียงด้านนอกพระอุโบสถ ประดับศิลาลายสลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ มีโคลงจารึกบอกเรื่องติดไว้ข้างล่าง แบบฉันท์มาตราพฤติและโคลงกลบท 40 บท ที่ระเบียงพระอุโบสถ

แพทยศาสตร์ โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมนายแพทย์แผนโบราณทั่วพระราชอาณาจักร ให้จารึกตำรายาที่ใช้ได้ผลดีมาแล้ว มีทั้งตำราแก้โรค ตำราหมอนวด จับเส้น มีภาพและรูปหล่อประกอบรูปฤาษีดัดตนแก้โรคต่างๆ มีถึง 82 รูป อธิบายถึงพันธุ์ไม้สมุนไพรสรรพคุณต่างๆ สำหรับใช้เป็นยา พร้อมทั้งให้ปลูกต้นสมุนไพรทั่วบริเวณอีกด้วย

สถาปัตยกรรมศาสตร์ โปรดเกล้าฯ สนับสนุนช่างฝีมือที่มีความสามารถตามแบบแผนต่างๆ เห็นได้ว่าเจดีย์วัตถุสถานและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดโพธิ์มีมากแบบ และแสดงถึงคุณภาพของศิลปินสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้น

วิจิตรศิลป์ วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นที่ประชุมนายช่างทางด้านนี้ ไม่ว่าจะในด้านการแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง ลายเขียนแบบต่างๆ การเขียนลายรดน้ำ ปิดทองลายฉลุ ปิดทองประดับกระจก ลงรักปิดทองประดับกระจก ประติมากรรมตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ รูปหล่อดีบุก การจัดสวนไม้ประดับ

ความรู้รอบตัว โปรดให้จารึกเรื่องเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ขบวนแห่กฐินพยุหยาตราสถลมารค เช่น ที่ศาลาบริเวณพระมหาเจดีย์ติดศิลาจารึกฉันท์ กฤษณาสอนน้อง ปริศนาพานรแปด กลอนพาลีสอนน้อง คำทายโพธิบาท สุภาษิตพระร่วง รูปหล่อคนต่างชาติ พร้อมจารึกโคลงดั้นบาทกุญชรบอกลักษณะเพศชาติ และทำเนียบสมณศักดิ์ ฯลฯ

บทบาทของวัดโพธิ์ในฐานะแหล่งความรู้อันจำเป็นของคนสมัยนั้น ได้ให้ความรู้ทั้งทางโลก ทางธรรม วัฒนธรรม ประเพณีศิลปวิทยาการต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะถูกสั่งสอนอบรมกันเฉพาะครอบครัวและตระกูลวงศ์ที่มีความถนัดเฉพาะ นับว่าเป็นการวางรากฐานและเผยแพร่ความรู้แก่ราษฎรทั่วไป

 

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มิถุนายน 2564

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_69825

The post วัดโพธิ์ เริ่มบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่ appeared first on Thailand News.