ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?

วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?

วัดปทุมวนาราม ในสมัยรัชกาลที่ 4 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

 

ปัจจุบันในเทศกาลบุญอย่าง “เข้าพรรษา” ที่วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จะมีประเพณี “ตักบาตรข้าวเหนียว” ซึ่งธรรมเนียมการตักบาตรด้วยข้าวเหนียวที่วัดแห่งนี้มานานแล้ว และดูเหมือนอาจจะมีการปฏิบัติมาช้านานแล้ว

เมื่อ พ.ศ. 2495 ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ก็เคยแปลกใจเมื่อสุภาพสตรีท่านหนึ่งทักว่า “ทำไมไม่ตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?” เพราะพระจากวัดปทุมวนารามที่ท่านตักบาตรจนคุ้นเคยก็ไม่ได้พูดสำเนียงอีสานเลย  คำถามดังกล่าวก็กลายมาเป็นบทความชื่อ “วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?”

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับถึงที่มาของการสร้างวัดปทุมวนาราม

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะสร้าง “พระอภิเนาว์นิเวศน์” ที่ประทับของพระองค์ในสวนขวา ณ บริเวณพื้นที่ที่ถูกทิ้งร้างไป แต่พระบรมวงศ์ฝ่ายในและสนมกำนัลต่างกราบบังคมทูลขอให้สร้าง “สวนขวา” แบบรัชกาลที่ 2 ให้กลับคืนเหมือนเดิม แต่พระองค์ปฎิเสธ เพราะเป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงรื้อไปถวายวัดเป็นพุทธบูชา จึงไม่สามารถทำได้

หากมีพระบรมราชโองการสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ จัดหาทุ่งนาภายนอกพระนคร จะได้สร้างเป็นสระและสถานที่ประพาสขึ้นใหม่แทนสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง ตามแบบอย่างในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่เคยทรงไว้แต่ก่อน ตามความประสงค์พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายในที่กราบทูลขอมา

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติได้ไปสำรวจสถานที่ต่างๆ พบว่า ที่นาในทุ่งบางกะปิ ริม“คลองบางกะปิ” (คลองแสนแสบในปัจจุบัน) เหมาะที่จะสร้างเป็นสวนหรืออุทยานที่ตรงกับความประสงค์ของฝ่ายในที่ทูลขอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทูลเชิญรัชกาลที่ 4 เสด็จฯ ทอดพระเนตร ก็เป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการสั่งการก่อสร้างจึงเกิดขึ้น

ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ให้รายละเอียดไว้ว่า “…จ้างจีนขุดสระกว้างใหญ่ ขนมูลดินขึ้นทำเป็นกำแพงโดยรอบในสระให้ปลูกบัวต่างสีต่างชนิดและสร้างเกาะใหญ่ไว้ท่ามกลาง มีเกาะเล็กเกาะน้อยลดเลี้ยวไปตามทิศต่างๆ นอกจากนั้นโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งใหญ่น้อยลงไปในเกาะ บนเกาะนั้นปลูกพันธุ์ผักชนิดต่างๆ รวมทั้งไม้ดอกชนิดต่างๆด้วย เมื่อถึงเดือนยี่ (เดือนธันวาคม-มกราคม) ให้เปิดไขน้ำเข้าไปไว้ให้เปี่ยมสระจะได้เสด็จไปประทับและให้ฝ่ายในได้สำราญกับสวนอย่างเต็มที่ แล้วให้เรียกสถานที่ทรงสร้างใหม่ทั้งบริเวณว่า ‘ปทุมวัน’

ในส่วนที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งที่ประทับแรมขึ้นองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่า ‘พระที่นั่งปทุมมาภิรมย์’ มีพลับพลาที่เสด็จออก มีโรงละคร มีที่พักข้าราชการฝ่ายในล้อมรอบด้วยเขื่อนเพชร (กำแพงเตี้ย) กั้นเป็นสัดส่วน มีโรงครัวของฝ่ายใน (หญิง) และฝ่ายหน้า (ชาย) แยกจากกันมีกำแพงล้อมรอบกั้นเป็นอาณาเขต

นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอารามขึ้นหมู่หนึ่งเพื่อเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลในวาระต่างๆ เมื่อเสด็จมาประพาสที่พระราชวังนี้ พระราชทานนามว่า ‘วัดปทุมวนาราม’ และเตรียมนิมนต์พระสงฆ์จากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาส พระราชทานนามว่า ‘พระครูปทุมธรรมธาดา’ จะเห็นได้ว่านามต่างๆ ที่ปรากฏนั้นตั้งแต่ นามพระที่นั่ง นามวัด และนามพระสงฆ์ ล้วนขึ้นต้นด้วย ‘ปทุม’ ทั้งสิ้นนอกจากนั้นยังพระราชทานให้วัดปทุมวนารามแห่งนี้เป็นวัดของสมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ พระมเหสี”

ที่ได้นิมนต์พระสงฆ์มาจำพรรษาตั้งแต่แรกสร้าง นอกจากนั้นยังมีพระบรมราชานุญาตให้ราษฎรได้เข้าไปทำบุญและเล่นสักวาที่สระใหญ่หน้าพระอุโบสถได้อีกด้วย

คราวนี้ก็มาถึงที่มาการ “ตักบาตรข้าวเหนียว”

จากที่มาของวัดปทุมวนารามดังที่กล่าวข้างต้น วัดปทุมวนารามจึงเป็น “วัดเคียงวัง” เพียงแต่ “สถานที่ตั้งวัด” อยู่ใกล้กับชุมชนชาวลาวที่รัชกาลที่ 3 กวาดต้อนมาเมื่อครั้งปราบกบฏเจ้าอนุเวียงจันทน์ ถึงรัชกาลที่ 4 ชุมชนเหล่านี้กลับใจที่จะไม่กลับเมืองลาว แต่จะตั้งรกรากอยู่ที่ริมคลองแสนแสบ

นอกจากนี้รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่า เมื่อวัดนี้ตั้งอยู่ใกล้ชุมชนชาวลาวจึงน่าจะนำพระพุทธรูปจากเมืองลาวที่เชิญเข้ามาในเมืองไทยในรัชกาลของพระองค์ มาประดิษฐานที่วัดนี้เพื่อให้ชาวลาวได้เคารพบูชา พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์คณะลาวจากวัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นเจ้าอาวาสด้วย

จึงโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์จากคณะลาว วัดบวรนิเวศวิหารมาจำพรรษาที่วัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2400 พระสงฆ์ที่นิมนต์มาให้เป็นเจ้าอธิการพระราชทานนามว่า “พระครูประทุมธรรมธาดา” เพื่อให้สัมพันธ์กับชื่อวัดประทุมวนาราม เจ้าอธิการท่านนี้เคยรับใช้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวชเป็น “วชิรญาณภิกขุ” จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอันมาก

พร้อมกันนั้นก็ได้อัญเชิญ “พระใส” หรือ พระสายน์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเพื่อการขอฝน ซึ่งขณะนั้นฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล และ “พระแสน”  ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองหนองคายพร้อมกันแล้วพักไว้ที่วัดเขมาภิรตาราม ซึ่งเป็นวัดในความดูแลของสมเด็จพระบรมราชชนนีของพระองค์ ขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปทุมวนารามเมื่อ พ.ศ. 2400 ภายหลังอัญเชิญพระเสริมจากพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส มาประดิษฐานที่วัดปทุมวนารามแทน เพราะว่าพระใส และพระเสริม เคยเป็นพระพุทธรูปคู่กันมาตั้งแต่เมืองลาว จึงน่าจะเชิญมาประดิษฐานไว้ในวัดเดียวกัน

นอกจากนี้ผู้เขียน (ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี) ค้นข้อมูล และสำรวจกุฎิพระสงฆ์ในวัดปทุมวนารามแล้ว ได้พบกุฎิของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตั้งอยู่ในหมู่กุฎิด้านใน จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมท่านจึงจำพรรษาที่วัดนี้ และพบคำตอบว่า ท่านเป็นสหธรรมิกกับพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญโญ) [อดีตเจ้าอาวาสวัดปทุมวนารามรูปหนึ่ง]

ทั้งหมดนั้นคือคำตอบว่าทำไมวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว

 

ข้อมูลจาก :

หม่อมราชวงศ์ แน่งน้อย ศักดิ์ศรี. “วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว?”ใน, ศิลปวัฒนธรรม, ตุลาคม 2557

เผยแพร่ข้อมูลในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤษภาคม 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_49457

The post วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ทำไมต้องตักบาตรด้วยข้าวเหนียว? appeared first on Thailand News.