ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแบบอย่างอยุธยายุคต้น

พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแบบอย่างอยุธยายุคต้น

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2548
ผู้เขียน
ติ๊ก แสนบุญ
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2563

 

พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ที่ริมคลองสระบัว จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากหลักฐานข้อมูลและพงศาวดารต่างๆ แสดงให้เห็นว่าวัดนี้น่าจะสร้างขึ้นก่อน พ.ศ. 2106 หรืออาจสร้างก่อนสมัยอยุธยาตามข้อมูลของพงศาวดารเหนือ

พระอุโบสถหลังนี้ได้ผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาหลายสมัยจนถึงปัจจุบัน ภายหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 วัดแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างไปด้วย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้นมาใหม่โดยพระยาไชยวิชิต (เผือก) ดังมีจารึก 3 แผ่น อยู่ภายในพระอุโบสถ

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปรางมารวิชัย จากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างในคติการปราบท้าวมหาชมพู สร้างในรัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๒-๙๙ (ภาพจากหนังสือจักรพรรดิราช ที่พึ่งของมหาชนชาวสยาม)

 

รูปแบบทางศิลปะสถาปัตยกรรมไทย โบสถ์หลังนี้มีลักษณะรูปแบบอย่างที่เรียกว่า “แบบอย่างอยุธยายุคต้น” ซึ่งมีเอกลักษณ์สำคัญคือ นิยมทำเสาร่วมในประธานเป็นเสาแปดเหลี่ยมหรือเสากลม มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถหรือบัวกลุ่ม

ผังพื้นนิยมทำแบบมีมุขเด็จด้านสกัดตลอดจนการทำเสานางเรียงหรือเสาพาไล โดยมีการทำช่องหน้าต่างเป็นช่องแสง (น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสุโขทัย ซึ่งอาจมีพัฒนาการมาจากช่องแสงของช่างขอม) แบบลูกฟักมะหวดเหลี่ยม (ซึ่งพบมากในงานก่อสร้างสมัยพระเจ้าปราสาททอง เช่น วัดไชยวัฒนาราม ปราสาทนครหลวง เป็นต้น) ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของช่างอยุธยาในยุคต้นถึงยุคกลาง

หน้าบันพระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ

 

มีองค์ประกอบอื่นๆ เป็นงานจำหลักไม้ฝีมือชั้นครู ส่วนฐานทำเป็นฐานปัทม์ (ไม่ตกท้องสำเภาเหมือนในยุคหลัง) พนักระเบียงโดยรอบเป็นกระเบื้องปรุแบบศิลปะจีนที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังคาจั่วทางเข้าเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ในสมัยหลัง โบสถ์หลังนี้ยังสามารถนำไปเปรียบเทียบได้กับวิหารวัดธรรมิกราชซึ่งมีลักษณะรูปทรงที่คล้ายกัน

โบสถ์วัดหน้าพระเมรุเดิมอาจเป็นวิหารมาก่อน เพราะด้วยขนาดตลอดจนคติในยุคต้นจะนิยมสร้างพระวิหารเป็นประธานของวัดมากกว่าพระอุโบสถ ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย คุณค่าทางศิลปะสถาปัตยกรรมของงานช่างแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นเพชรน้ำเอกทางสถาปัตยกรรมไทยสกุลช่างอยุธยาที่ยังมีลมหายใจอยู่

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 เมษายน 2560
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_8205

The post พระอุโบสถ วัดหน้าพระเมรุ ศิลปะสถาปัตยกรรมไทยแบบอย่างอยุธยายุคต้น appeared first on Thailand News.