น้อมรำลึก “พระอัจฉริยภาพด้านภาษาต่างประเทศ” ของในหลวง รัชกาลที่ 9
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสตอบนักข่าวที่สหรัฐอเมริกา
วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทย นอกจากเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในบทความนี้จึงขอนำพระอัจฉริยภาพด้านภาษาต่างประเทศมาบอกเล่าให้คนไทยได้รับรู้ถึงพระอัจฉริยภาพ การแก้ปัญหาและพระอารมณ์ขันของพระองค์
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปี 2470 ที่นครบอสตันในรัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา ครั้นพระองค์ในวัย 2 พรรษา ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ จนถึงปี 2475 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงพาพระธิดาและพระโอรสไปประทับที่กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงรับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษาที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในกรุงโลซานน์ ซึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาหลายภาษา ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน ซึ่งความสามารถทางด้านภาษาอย่างเชี่ยวชาญที่ทรงศึกษามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์นี้ จะส่งผลให้การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในปี 2510 ทั้งใน สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย เพื่อกระชับมิตรกับนานาชาติประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จนิวัติประเทศไทย ทรงดำรงพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์และพระประมุขแห่งราชอาณาจักร พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ เพื่อกระชับมิตรกับนานาชาติ ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนแต่ละประเทศ พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์ด้วยภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมันตามความเหมาะสม แต่ที่สำคัญคือ โดยมากจะพระราชทานพระราชดำรัสสดไม่ทรงอ่านจากกระดาษเพื่อจะได้โต้ตอบตรงคำถาม ทันเหตุการณ์ เพิ่มพระอารมณ์ขัน และเลือกคำที่ประทับใจและกินใจผู้ฟัง
ดังเช่น การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา นักข่าวถามพระองค์ว่า การมาเยือนสหรัฐอเมริกาพระองค์รู้สึกอย่างไร ซึ่งพระองค์ตอบสั้น ๆ ว่า “ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่…ที่นครบอสตัน…”
เมื่อพระราชดำรัสนี้เผยแพร่ออกไปในหนังสือพิมพ์และข่าววิทยุเกือบทุกสถานีได้สร้างความประทับใจให้กับคนอเมริกันทั่วไป เพราะพระองค์ไม่ใช่คนอื่นไกล ทรงมีความใกล้ชิดกับคนอเมริกันเพราะเสด็จพระราชสมภพที่นครบอสตัน และก่อนที่จะยุติการสัมภาษณ์มีนักข่าวหนุ่มคึกคะนองได้ถามคำถามสุดท้ายว่า “เหตุใดพระองค์จึงดูเคร่งขรึมมาก…ไม่ทรงยิ้มเลย” พระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปทางสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับอยู่ด้วย และมีพระราชดำรัสตอบนักข่าวคนนั้นว่า “นี่ไงล่ะ…ยิ้มของฉัน”
นอกจากพระราชดำรัสภาษาอังกฤษแล้ว ยังพระราชทานพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศสอย่างเชี่ยวชาญดังปรากฏในการเยือนประเทศประเทศแคนาดา ณ งานเลี้ยงอาหารค่ำที่ศาลาเทศบาล ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเตรียมพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษ แต่กงสุลกิตติมศักดิ์ นายเบสโซและภรรยามาขอเข้าเฝ้าและทูลขอให้ทรงใช้ภาษาฝรั่งเศส เพราะพลเมืองมอลทรีออลเป็นคนฝรั่งเศส พระองค์จึงพระราชดำรัสเป็นภาษาฝรั่งเศสจนเป็นที่ชื่นชมของผู้ร่วมงาน
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอิตาลี พระองค์สนทนากับพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ด้วยภาษาฝรั่งเศส ดังความในบันทึกของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถว่า “พระสันตปาปารับสั่งกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาฝรั่งเศส ทรงคุยกันอยู่นานเกือบชั่วโมง”
ส่วนความเชี่ยวชาญทางภาษาเยอรมัน เห็นได้จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศออสเตรีย ณ สถาบันดนตรีและศิลปะที่มีชื่อเสียงของกรุงเวียนนา ซึ่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาและรับพระองค์เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งสร้างคามประทับใจและเป็นที่ชื่นชมของนักดนตรีและชาวเวียนนา
นอกจากนี้ในการเยือนประเทศออสเตรเลีย ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ ได้มีนักศึกษาแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสม แสดงกริยาที่ไม่สุภาพส่งเสียงรบกวนพระองค์ในช่วงถวายปริญญา พระองค์ไม่ได้ทรงโกรธ แต่ทรงใช้ภาษาสยบกลุ่มคนเหล่านั้น
โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวทีด้วยพระพักตร์ที่สงบเฉย รอจนคนในหอประชุมหยุดปรบมือ พระองค์ทรงเปิดพระมาลาที่ใส่คู่กับฉลองพระองค์ หันไปคำนับกับกลุ่มคนที่เสียงดังข้างนอก พระพักตร์ยิ้มนิด ๆ พระราชทานพระราชดำรัสด้วยพระสุรเสียงราบเรียบว่า “ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน” เพียงพระราดำรัสไม่กี่ประโยคแฝงด้วยถ้อยคำกระทบใจ สามารถสยบคนกลุ่มนั้นได้
จากเรื่องราวที่กล่าวข้างต้นล้วนแต่เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านภาษาต่างประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนในนานาประเทศ และความสามารถในการใช้ภาษาแก้ปัญหาตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ที่มา :
กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ. เดชะพระบารมีปกเกล้าฯ, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์กรมศิลปากร, 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ธันวาคม 2562
Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_42431
The post น้อมรำลึก “พระอัจฉริยภาพด้านภาษาต่างประเทศ” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 appeared first on Thailand News.