ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร?

“โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร?

ภาพในอดีตของ คลองมหานาค และสะพานเฉลิมราษฎร์ 32 บริเวณตลาดโบ๊เบ๊

 

ย่าน “โบ๊เบ๊” แต่เดิมเป็นที่รู้จักว่าย่าน “ตลาดเก่า” โดยตลาดเก่านี้ตั้งอยู่บนที่ดินผืนเดียวกับวัดบรมนิวาส ซึ่งวัดเป็นเจ้าของที่ดิน ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างทางรถไฟ ทำให้วัดกับตลาดเก่าถูกแบ่งแยกโดยทางรถไฟ

วัดบรมนิวาสสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนตลาดเก่านี้ไม่ปรากฏข้อมูลแน่ชัดว่ากำเนิดขึ้นเมื่อใด รัชกาลใด แต่คงเป็นย่านการค้าที่สำคัญบริเวณคลองมหานาคมานาน เมื่อการค้าขายเจริญมากขึ้นก็ขยายตลาดออกไปด้านข้าง คือ “ตลาดกลาง” และ “ตลาดสามชั้น” ต่อมาได้ขยายออกไปฝั่งตรงข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ในแขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย หรือบริเวณโรงพยาบาลหัวเฉียว ไปจนถึงบริเวณสะพานเจริญราษฎร์ 32 และเมื่อ พ.ศ. 2535 ก็ขยายการค้าเลยสะพานเจริญราษฎร์ 32 ไปจนถึงถนนหลานหลวง หรือบริเวณโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ในปัจจุบัน

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน โดยเฉพาะเสื้อผ้า-เครื่องนุ่มห่ม จึงมีผู้นำเสื้อผ้าเก่าสภาพดีมาขาย หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าจำเป็นอื่น ๆ เช่น ไข่ น้ำตาล ฯลฯ การค้าในสมัยนั้นทำโดยการวางขายกับพื้น ยังไม่มีการตั้งร้านถาวร เมื่อสงครามยุติ จึงตั้งร้านค้าเป็นระเบียบมากขึ้น

พ.ศ. 2489 พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) ขณะยังเป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสองค์ที่ 7 ตั้งแต่ พ.ศ. 2500-2515) และพระเถรานุเถระของวัด ได้อนุมัติให้เปิด “ตลาดผ้า” ขึ้นบริเวณหน้าวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาที่ดินหน้าวัดที่เต็มไปด้วยวัชพืช และหาทุนสำหรับทำนุบำรุงวัด บูรณะเสนาสนะที่ทรุดโทรมเพราะถูกระเบิดทำลาย

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) อธิบายว่า “…การเปิดตลาดขายผ้าขึ้นในบริเวณหน้าวัดครั้งนั้นได้รับความนิยม ทำให้วัดมีรายได้วันละประมาณ 170 บาท การติดตลาดผ้าครั้งนั้น ได้รับความนิยมจากบรรดาพ่อค้าผ้าทั้งหลายเกินความคาดหมาย มีผู้สัญจรไปมาเพื่อการซื้อและการขายวันละมาก ๆ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งทำให้พระภิกษุสามเณรไม่ได้รับความสะดวกอยู่บ้าง บริเวณวัดสกปรกไม่สะอาด

ประกอบกับทั้งเมื่อ พ.ศ. 2489 เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺสเถร (เจ้าอาวาส – ผู้เขียน) จะย้ายกลับมาวัดบรมนิวาส พระเถรานุเถระในวัดจึงเห็นสมควรย้ายตลาดออกไปอยู่นอกวัด และให้ไปตั้งอยู่ตลาดโบ๊เบ๊ ซึ่งเป็นที่ดินเขตจัดผลประโยชน์ของวัดบรมนิวาส… ตลาดโบ๊เบ๊ซึ่งเป็นเขตจัดผลประโยชน์ของวัดก็ถึงซึ่งความเจริญขึ้นโดยลำดับ อันเป็นเหตุให้มีทุนสำหรับบูรณะเสนาสนะของวัดบรมนิวาสมาจนถึงปัจจุบันนี้…”

ภาพ คลองมหานาค และสะพานเฉลิมราษฎร์ 32

 

ดังนั้น ย่านโบ๊เบ๊ได้กลายเป็นย่านขายสินค้าจำพวกเสื้อผ้า-เครื่องนุ่มห่ม เมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง อย่างไรก็ตาม ย่านโบ๊เบ๊มิใช่ย่านการค้าขายแต่เพียงอย่างเดียว ยังเป็นย่านชุมชนที่อยู่อาศัยของคนหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะคนจีน และในอดีตก็เคยมีโรงงานตั้งอยู่จำนวนมาก เช่น โรงซ่อมเรือ โรงเลื่อย โรงปูนกินหมาก โรงกระทะ โรงต้มถั่ว ฯลฯ

ส่วนคำว่า “โบ๊เบ๊” นั้น เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “บ๊งบ๊ง” เนื่องจากในช่วงที่ขายเสื้อผ้าเก่านั้น ผู้คนที่มาค้าขายมักจะส่งเสียงดังหนวกหู จนคนแถบนี้เรียกว่า “ตลาดบ๊งบ๊ง” นอกจากนี้ เมื่อครั้งอดีต ตลาดโบ๊เบ๊ยังได้ชื่อว่าขายของโก่งราคา เรียกว่า “ราคาโบ๊เบ๊” คือผู้ซื้อสามารถต่อรองราคาลงมาได้อีกมาก จากราคาที่บอกไว้ ซึ่งผู้ขายมักขายแพงกว่าความเป็นจริง

 

อ้างอิง :

ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 และนิพนธ์ของพระอมราภิรักขิต (เกิด). (2516). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมดิลก (ทองคำ จนฺทูปโม) วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2516. กรุงเทพฯ : พุทธอุปถัมภ์การพิมพ์.

บุญยง ชื่นสุวิมล. (2543). สถาบันครอบครัวของกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตกรุงเทพมหานคร : ระบบครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคม ของคนไทยเชื้อสายจีนในชุมชนโบ๊เบ๊. รายงานผลการวิจัย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มิถุนายน 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_51568

The post “โบ๊เบ๊” มาจากไหน? กลายเป็นตลาดขายเสื้อผ้าเมื่อใด? เพราะใคร? appeared first on Thailand News.