ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

เรือยนต์ลำแรกในสยามจากบันทึกชาวสวีเดน ฝรั่งทนสภาพที่เห็นไม่ไหวจึงเอาเครื่องยนต์มาติด

เรือยนต์ลำแรกในสยามจากบันทึกชาวสวีเดน ฝรั่งทนสภาพที่เห็นไม่ไหวจึงเอาเครื่องยนต์มาติด

เรือบรรทุกน้ำมันเข้ามาขายในเมืองไทย สมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2529
ผู้เขียน
สามชาย พนมขวัญ
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2563

เรื่องราวและความเป็นมาเกี่ยวกับเรือและเรือยนต์ลำแรกในสยามเป็นการบันทึกของชาวสวีเดนคนหนึ่ง เมื่อครั้งที่เดินทางมาดูสภาพตลาดการค้าในประเทศสยามในปี ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) ตอนปลายสมัย ร.5

บันทึกนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุของสมาคมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บริษัทการค้าแห่งสต๊อคโฮม (Föreningen Stockholms Företagsminnen) สมาคมฯแห่งนี้มีหน้าที่เก็บรักษา เอกสาร หลักฐานการค้า การจ้าง การติดต่อทั้งภายในและนอกประเทศ รวมทั้งแบบแปลน รูปถ่ายและอื่นๆ อีกมากมาย จากบริษัท ห้างร้าน โรงงานในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกิจการที่เลิกล้มไปแล้วในเขตสต๊อกโฮม

เอกสารที่ว่านี้เป็นเอกสารส่วนหนึ่งที่ยังหลงเหลืออยู่ รอดพ้นจากการสูญหายตามชะตากรรมของบริษัทที่ต้องมีอันเป็นไปนอกเหนือจากนี้แล้วเอกสารบางส่วนก็อยู่กระจัดกระจายตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย

เนื่องจากความมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเอกสาร รัฐจึงเข้ามามีส่วนช่วยเหลือ โดยให้เงินอุดหนุนปีละหลายล้านบาท ชาวบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัยค้นคว้าสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้

ประโยชน์ที่ได้จากเอกสารเก่าแก่เหล่านี้เป็นคุณแก่การศึกษาอดีตของอนุชนรุ่นหลัง เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยอธิบายความเป็นมาของสังคม ของสมาชิกในสังคม ทำให้คนรุ่นต่อมาได้เข้าใจ ภูมิใจ ในการที่สังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ มีราก มีวัฒนธรรม มีเอกลักษณ์

บันทึกเรื่องเรือและเรือยนต์ในสยามนี้ ดร.อูโน่ กุสตัฟสัน (Uno Gustafson) กรรมการของสมาคมฯ ได้เรียบเรียงเผยแพร่ไว้ในรายงานประจำปีเมื่อปี ค.ศ. 1891

ผมมีโอกาสได้อ่านบทความดังกล่าวและได้เห็นต้นฉบับ คิดว่าคงพอมีประโยชน์บ้าง เลยถือโอกาสเรียบเรียงและถ่ายทอดมาเป็นภาษาไทยอีกต่อหนึ่ง

สวีเดนในสมัยนั้น คือในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 การพัฒนาอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าไปไกลมากแล้ว มีการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งสิ้นค้าอุตสาหกรรมเบาและอุตสาหกรรมหนัก นำหน้าสินค้าเกษตรกรรมที่เคยนำอยู่ในอดีต ดังนั้นตลาดรองรับสินค้าในต่างประเทศ จึงเป็นที่ต้องการเป็นธรรมดา

และแน่นอนที่สุด การล่าหาตลาดจึงเป็นงานสำคัญที่ขาดไม่ได้ของบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลาย

สำหรับสยามแล้ว สวีเดนเคยมาเยี่ยมเยือน เมียงมองหาตลาด ซึ่งหากนับดูแล้วก็หลายหน แต่เนื่องจากสินค้าสวีเดนมีคุณภาพดีและมีราคาแพง ประกอบกับสวีเดนไม่มีสินค้าให้คนสยามได้จับต้อง จึงแข่งขันสู้สินค้าเช่นจากญี่ปุ่น เยอรมันไม่ค่อยได้

ความพยายามบุกเบิกตลาดการค้าในสยามของสวีเดน ความจริงแล้วเคยมีมานานพอสมควร ดังจะเห็นได้ เช่นในปี ค.ศ. 1845 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่สยามจะเซ็นสัญญาการค้าที่เสียเปรียบกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก จอร์จ ลินแบร์ก (George Lindberg) ถูกส่งมาให้ดูสภาพตลาดการค้าในสยามมานานถึง 10 เดือน รายงานของเขาจะพบได้ในภาคผนวกในหนังสือ Chinas handel ซึ่งเขียนโดยลิลเยอวาลซ์ (C.F Liljevalch) พิมพ์ที่สต็อคโฮม ปี ค.ศ. 1848

ในปี ค.ศ. 1885 อั๊กเซล ยูนสัน (Axel Johnson) เจ้าของกิจการใหญ่ ซึ่งต่อมา ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลสยามประจำกรุงสต็อคโฮมในปี ค.ศ.1904 ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดแสดงสินค้าสวีเดนที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่ามีบริษัทต่างๆ ส่งสินค้าเข้าร่วมแสดงถึง 714 รายการ

ต่อมาระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. 1905 ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1906 บเยิร์น ลุนด์แบร์ก (Björn Lundberg) ได้รับทุนมาศึกษาการค้าโดยเฉพาะ รายงานของลุนด์แบร์ก มีอยู่ในวารสาร “การค้าส่งออกของสวีเดน” (Svensk export) ของสมาคมส่งออกแห่งสวีเดน (Sveriges allmanna exportförening) ฉบับปี 1906

ความพยายามในการขยายตลาดสินค้าสวีเดน หาได้ลดน้อยถอยลงไป แม้จะมีอุปสรรคสู้สินค้าจากประเทศอื่นไม่ได้ก็ตาม บริษัทในสวีเดนยังคงเดินหน้าต่อไป ดังในเรื่องเกี่ยวกับกิจการเรือและเรือยนต์ในสยาม แม้คนบันทึกไม่ได้ตั้งใจที่จะเดินทางมาสยามแต่แรกก็ตาม

คาร์ล ยูอัน อัลเบิร์ต อีซักสัน (Carl Johan Albert Isakson) แต่เดิมได้รับมอบหมายจากสองบริษัทใหญ่ในสวีเดนให้ไปสำรวจการค้าหาตลาดในประเทศจีนและญี่ปุ่น (สินค้าที่ต้องการขายมากเป็นพิเศษก็คือ “เรือ” ไม่ว่าจะเป็นเรือรบ เรือดำน้ำ เรือโดยสาร ตลอดจนเครื่องยนต์สำหรับติดตั้งกับเรือ)

แต่ในระหว่างการเดินทาง เขาเปลี่ยนแผนใหม่ โดยมาแวะที่สยามก่อน ก่อนที่จะเดินทางไปจีนและญี่ปุ่นตามหมายกำหนดการเดิม สาเหตุที่สำคัญที่ทำให้อีซักสัน ผู้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเรือในสยามเปลี่ยนใจ เพราะว่า เขาได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับความโชติช่วงชัชวาลของเศรษฐกิจในสยาม เป็นต้นว่า โครงการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – ปีนัง และสภาพความต้องการซื้อสิ้นค้าอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิตและด้านบริการ, ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้น เมื่อประเมินคร่าว ๆ ดูแล้ว ความเป็นไปได้มีสูงมาก ซึ่งสยามเองก็ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าเพื่อให้หลุดพ้นจากความเป็นอนารยธรรมที่ต่างชาติเคยกล่าวดูหมิ่นไว้

ด้วยเหตุเหล่านี้เอง ทำให้ในหัวของอีซักสัน โชติช่วงและชัชวาลตามไปด้วยตามข้อมูลที่ได้รับจากอดีตนายทหารเรือแห่งราชนาวีสวีเดน นายเลนนาร์ท กรุ๊ท (Lennart Grut) ที่เขาพบโดยบังเอิญบนเรือโดยสารกลไฟ พริ๊นซ ไฮน์ริช (Prinz Heinrich) ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศเยอรมัน (Norddeutscher Lloyd)

กรุ๊ท ผู้ให้ความรู้สภาพการค้าในสยามแก่อีซักสัน ไม่ใช่เป็นคนธรรมดา แต่มีตำแหน่งเป็นถึงผู้จัดการบริษัทการไฟฟ้าสยาม ซึ่งเป็นของบริษัทจากเดนมาร์ก ที่นอกจากจะผูกขาดการส่งกระแสไฟฟ้าแล้ว บริษัทฯ ยังได้รับสัมปทานให้ดำเนินกิจการรถราง หรือรถไอ ในกรุงเทพฯ “เมืองที่มีประชากรอยู่ประมาณครึ่งล้าน และค่อนข้างจะมีอารยธรรม” อีกด้วย

กรุ๊ทได้ให้ข้อมูลทางการค้าที่น่าสนใจ ซึ่งพอที่ให้อีซักสัน เปลี่ยนแผนมาแวะสยามอย่างกะทันหัน ในครั้งแรกอีซักสัน รับทราบว่า สยามกำลังมีโครงการสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-ปีนัง และยังทราบอีกต่อไปว่า วาเลนแบร์ก (K.A. Wallenberg) นายธนาคารใหญ่ชาวสวีเดนเช่นเดียวกับเขา เป็นนายหน้าจัดหาเงินกู้ให้รัฐบาลสยาม

อีซักสันเห็นว่าถ้าหากเขาได้จดหมายแนะนำตัวจากนายธนาคารคนนี้ ไปถึงเจ้านายสยามแล้วเขาอาจได้งานชิ้นโตๆ เช่นการสั่งต่อรถไฟ และอื่นๆ กลับไปยังบริษัทที่สวีเดนบ้าง

แต่แล้วในที่สุดแผนการนี้ต้องเลิกล้มเนื่องจากเหตุขัดข้องในการติดต่อ รวมทั้งความลังเลใจของบริษัที่สวีเดน

ความพยายามของอีซักสัน ยังไม่หมดเมื่อได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับกิจการเรือในสยาม เขาก็เริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะเปิดตลาดการค้าขายเครื่องยนต์สำหรับเรือขึ้นมาอีกเพราะเขาได้ยินว่า “เรือทั้งหลายตามท้องน้ำย่านกรุงเทพฯ ประเภทเรือโดยสารก็ดี เรือลากจูงก็ดี รวมทั้งเรือประมงจากปากอ่าวก็ดี ยังไม่ติดเครื่องยนต์เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือประมง ไม่มีทั้งเครื่องยนต์และกลไฟ ถ้าหากเรือประมงที่ว่านี้ติดเครื่องยนต์แล้ว การขนปลาจากปากอ่าวมายังท่าปลาที่กรุงเทพฯ จะทำได้เร็วขึ้นและได้ปลาที่สดอีกด้วย”

นอกจากนั้น อีซักสัน ยังได้รับการบอกเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งคือเรื่องความเป็นมาของเรือยนต์โดยสารลำแรกในสยามอีกว่า สภาพตามแม่น้ำลำคลองในกรุงเทพฯ ก่อนปี ค.ศ. 1908 ประมาณปีหรือสองปี เรือโดยสารส่วนใหญ่จะเป็นเรือกลไฟขนาดเล็ก ๆ ซึ่งแต่ละเที่ยวก็แน่นขนัดไปด้วยผู้คน จนวันหนึ่ง กรุ๊ท ผู้เล่า(นี้เอง) ทนดูต่อไปไม่ไหวเลยยกเอาเครื่องยนต์มอเตอร์ยี่ห้อดอน (Dan) ที่ทำในประเทศเดนมาร์กใส่เข้ากับเรือเปิดประทุนลำหนึ่ง ยาว 25 ฟุต พร้อมกับกระเป๋าชาวมาเลย์อีกสองคนแล้วก็ออกแล่นรับผู้โดยสารตามท่าต่างๆ เช่นเดียวกับเรือกลไฟ เมื่อได้คนเต็มแล้วก็แล่นเข้าไปจอดเทียบท่าใกล้สถานีรถราง เสร็จแล้วก็แล่นต่อไป

ทำอยู่อย่างนี้ได้สองสามวัน กรุ๊ทก็มอบหมายให้ลูกน้องชาวมาเลย์จัดการโดยลำพัง ผลปรากฏว่าได้รายได้ คิดเห็นกำไรสุทธิถึงวันละ 75 เปอร์เซ็นต์ กำไรงามอย่างนี้ก็มีแต่ต้องขยายกิจการอย่างเดียว ดังนั้น จากเรือเพียงหนึ่งลำจึงกลายเป็นแปดลำ กำไรก็ยังไม่ตกต่ำไปไหน

ความก้าวหน้าของเรือยนต์คือหายนะของเรือกลไฟ ผลประโยชน์ของเรือกลไฟจึงถูกกระทบกระเทือนเป็นธรรมดา บรรดาลูกเรือและกระเป๋าของเรือกลไฟซึ่งเป็นชาวมาเลย์เช่นกันต่างไม่พอใจ จนเกิดเรื่องปะทะกันระหว่างลูกเรือทั้งสองฝ่าย กัปตันเรือยนต์ซึ่งเคยฝึกหัดใช้ปืนรีวอลเวอร์ บราวนิ่งของเจ้านายคือนายกรุ๊ทมาก่อน เลยงัดเอาอาวุธร้ายเข้าแก้ปัญหา เรื่องวิวาทผลประโยชน์ในครั้งนั้นจึงจบลง ด้วยการที่กัปตันเรือยนต์ถูกจับเข้าคุก โทษฐานใช้อาวุธทำร้ายผู้อื่นแล้วความสงบก็กลับคืนสู่ปกติ

ต่อมาไม่นาน ชาวมาเลย์คนอื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บ เมื่อได้รับเงินค่าทำขวัญจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็ให้การเป็นพยานที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายเรือยนต์

เมื่อเดินทางมาถึงสยาม หลังจากเปลี่ยนเรือที่เมืองโคลัมโบ ประเทศลังกา อีซักสัน ยังได้ข้อมูลใหม่ๆ อีกว่า ทางกองทัพเรือสยามมีโครงการที่จะหาเรือรบเช่น เรือพิฆาต เรือตอร์ปิโด และเรือดำน้ำ มาประจำการเพิ่มเติม เพื่อป้องกันประเทศโดยเฉพาะจาก “ฝรั่งเศสที่สยามจงเกลียดจงชังเอามากๆ”

ภายหลังที่ายามเคยถูกข่มเหงมาแล้วเมื่อครั้งปีค.ศ. 1893 อีซักสัน มองเห็นว่าเรือที่ผลิตในสวีเดนน่าจะมีลู่ทางแข่งขันกับเรือจากญี่ปุ่นได้ ทั้งนี้เพราะว่า สยามไม่ค่อยพอใจเรือรบที่เคยสั่งต่อในญี่ปุ่นนัก และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ อาวุธยุทโธปกรณ์ ที่บางครั้งญี่ปุ่น ส่งกระสุนดินปืนที่เก่าคร่ำคร่าอายุนานถึงสิบปีมาให้สยามก็เคยมีปรากฏ ประกอบกับสยามเอง เริ่มมีความระแวงมหาประเทศ ไม่อยากผูกติดให้ใกล้ชิดเกินไป นอกจากนี้ อีซักสันก็รู้จักนายกรุ๊ท และกรุ๊ทก็รู้จักสนิทสนมกับนายทหารเรือระดับสูงชาวเดนมาร์กที่รับราชการในราชนาวีสยามเป็นอย่างดี หากสวีเดนสนใจต้องการเปิดตลาดการค้าในสยามแล้ว ความเป็นไปได้นั้นย่อมมีแน่

สภาพการสัญจรทางน้ำในกรุงเทพฯ อีซักสัน บรรยายว่า เรือต่างๆ ที่แล่นไปมาตามแม่น้ำลำคลอง หากนับตามหมายเลขที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จะมีจำนวนถึงกว่าแสนลำเรียกได้ว่า การจราจรทางน้ำขวักไขว่และจอแจมาก

เมื่อพูดถึงเรือประมงที่อีซักสัน เคยคิดจะเจาะตลาดหาทางนำเครื่องยนต์เรือเข้ามา เขาต้องเปลี่ยนใจเมื่อมาถึงสยามและได้ยินว่า มีคนเคยพยายามนำเรือกลไฟมาใช้จับปลาเหมือนกัน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ปลาที่จับได้เมื่อมาขึ้นที่ท่ากรุงเทพฯ ไม่มีใครกล้าซื้อ เพราะสมาคมอั้งยี่มีอิทธิพลมาก

ถึงแม้ว่าอีซักสัน มีเวลาอยู่กรุงเทพฯได้ไม่กี่วัน เขายังอุตส่าห์มีเวลาออกตระเวนเก็บเกี่ยวข้อมูลเกี่ยวกับเรือในสยามได้ไม่น้อย เขายังเล่าอีกว่า ราชสำนักแห่งสยามและเชื้อพระวงศ์นิยมเล่นเรือเหมือนเจ้านายในสวีเดน

เรือของเจ้านายในสยามมีรวมกันไม่น้อยกว่า 150 ลำ มีหลายแบบหลายขนาด ทั้งเรือยนต์ เรือกลไฟ จอดเรียงรายเป็นแถว นอกกำแพงพระราชวัง ส่วนพวกผู้ดีชาวสยามกับชาวต่างประเทศก็นิยมเล่นเรือเช่นกัน และมีเรือรวมกันกว่า 350 ลำ

นอกจากนี้ เขายังมีเวลาศึกษาลักษณะรูปแบบขนาดและโครงสร้างของเรือที่วิ่งอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง แล้วส่งรายละเอียดกลับบริษัทที่สวีเดน เผื่อว่าบริษัทฯ สนใจต่อเรือมาขายอีกทีหนึ่ง

พร้อมกันนี้ เขายังเรียกร้องให้บริษัทฯ ส่งตัวอย่างเครื่องยนต์พร้อมกับนายช่างเพื่อมาบุกเบิกตลาดในสยาม แต่ความพยายามของอีซักสันไม่ได้รับการตอบสนอง บริษัทไม่มีความสนใจอย่างจริงจัง ประกอบกับความกลัวว่าเดนมาร์กจะแอบลอกเลียนแบบเครื่องยนต์ เขาจึงถูกเรียกตัวให้เดินทางไปจีนโดยด่วนตามแผนการเดิมที่วางไว้แต่แรก

บริษัทหนึ่งในสองที่ส่งอีซักสัน เดินทางไปดูตลาดการค้าในจีนและญี่ปุ่นในครั้งนั้น ถ้าหากได้ลงทุนลงแรงมุ่งหาตลาดในสยามอย่างที่อีซักสันแนะนำ อนาคตอาจจะมีโฉมหน้าเป็นอย่างอื่น

ไม่เป็นอย่างในปี 1929 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทล้มละลายปิดตัวเองไปพร้อมๆ กับเครื่องยนต์ที่หวงแหนยิ่งนัก

 

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_42923

The post เรือยนต์ลำแรกในสยามจากบันทึกชาวสวีเดน ฝรั่งทนสภาพที่เห็นไม่ไหวจึงเอาเครื่องยนต์มาติด appeared first on Thailand News.