ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

“อัปรีย์” แล้วทำไมต้องมี “สีกบาล” พ่วงต่อจนเป็น “อัปรีย์สีกบาล”?

“อัปรีย์” แล้วทำไมต้องมี “สีกบาล” พ่วงต่อจนเป็น “อัปรีย์สีกบาล”?

(ซ้ายบน) เศียรของประติมากรรมรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบที่ปราสาทพระขรรค์กำปงสวาย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์พนมเปญ (ฉากหลัง) สเปียงปราโต สะพานโบราณที่ชาวเขมรยังใช้สัญจรถึงปัจจุบัน

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2546
ผู้เขียน
ศานติ ภักดีคำ
เผยแพร่
วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2563

 

สำนวนที่ว่า “อัปรีย์สีกบาล” มักใช้เป็นสำนวนด่าว่าผู้ที่ทำอะไรไม่เหมาะสม คำว่า “อัปรีย์” คงไม่น่าสงสัยแต่อย่างใด เพราะแปลว่า “ไม่น่ารัก” เหตุที่แปลอย่างนี้ด้วยเป็นคำภาษาสันสกฤตที่สมาสกันระหว่างคำว่า “อัป” แปลว่า “ไม่” กับคำว่า “ปรียะ” (หรือที่ภาษาบาลีใช้ว่า “ปิยะ”) แปลว่า “น่ารัก”

เพราะฉะนั้น “อัปรีย์” จึงมีความหมายตามศัพท์ว่า “ไม่น่ารัก”

แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยความหมายของคำนี้เปลี่ยนไปในทางลบมากขึ้น เพราะเรานำมาใช้เป็นคำด่า

ส่วนคำว่า “สีกบาล” แปลว่าอะไร

“สี” เป็นคำภาษาเขมร ออกเสียงตามภาษาเขมรว่า “ซี” แปลว่า “กิน” เป็นคำเขมรที่มีใช้มาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกลาง (คือสมัยหลังพระนครลงมา ร่วมสมัยกับกรุงศรีอยุธยา) เพราะไม่พบในภาษาเขมรโบราณสมัยพระนคร แต่ในปัจจุบันคำนี้ชาวไทยเชื้อสายเขมรแถบจังหวัดสุรินทร์ ยังคงพูดกันอยู่ในวลีที่ว่า “สีบาย” (ซีบาย) แปลว่า “กินข้าว”

แม้แต่ในพจนานุกรมเขมรฉบับ พ.ศ. 2511 คำนี้ยังหมายถึง “กิน” ที่ใช้กับคนอยู่ ดังนี้ “สี, บริโภคโภชนาหาร พูดเฉพาะคนบริโภค, ใช้ตามชั้นบุคคล ดังนี้…” (วจนานุกฺรมแขฺมร : 2511, 1356)

แต่ในภาษาเขมรปัจจุบันที่มีใช้อยู่ในประเทศกัมพูชา คำว่า “สี” ถูกลดระดับการใช้ จากเดิมที่ใช้กับ “คน” ไปเป็นคำที่ใช้กับสัตว์ เช่น หมา หรือแมว เช่น “ฉแกร์ซีปาย” แปลว่า “หมากินข้าว” เป็นต้น แต่ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับ “คน” (ตามความเปลี่ยนแปรของภาษาเขมรเมื่อไม่นานมานี้)

อย่างไรก็ตามคำว่า “สี” ที่แปลว่า “กิน” ยังมีใช้อยู่ในสำนวนภาษาเขมร เช่น “รกสี” (โรก-ซี) แปลว่า “หากิน, ทำมาหากิน” เป็นต้น

“กบาล” เป็นคำที่ไทยรับมาจากภาษาเขมรว่า “กฺบาล” ซึ่งอาจจะรับผ่านภาษาสันสกฤตมาอีกทอดหนึ่ง หมายถึง “หัว, ศีรษะ” ใช้กับคำว่า “ศีรษะ” โดยทั่วไปไม่เจาะจงใช้กับคำหยาบเหมือนในภาษาไทยที่กลายความไปแล้ว

คำว่า “หัว” หรือ “ศีรษะ” ในภาษาเขมรแต่เดิมน่าจะใช้คำว่า “ตฺบูง” (ตฺโบง) แปลว่า “หัว” คำนี้ยังปรากฏอยู่ในภาษาเขมรบ้าง เช่น “ขางตฺบูง” (คาง-ตฺโบง) หมายถึง “ทิศหัว (นอน) คือ “ทิศใต้” และภาษาไทยเรารับคำนี้มาใช้ในคำว่า “ทบวง” อย่าง “ทบวงมหาวิทยาลัย” ที่ถูกยุบไปรวมกับกระทรวงศึกษาธิการแล้ว

ดังนั้นเมื่อรวมความคำว่า “สี” กับ “กบาล” เข้าด้วยกัน ก็จะแปลว่า “กินหัว” และประกอบกับคำว่า “อัปรีย์” จะได้สำนวนที่ว่า “อัปรีย์สีกบาล” ซึ่งหมายถึง “อัปรีย์กินหัว” นั่นเอง

 

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 มีนาคม 2560

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_7346

The post “อัปรีย์” แล้วทำไมต้องมี “สีกบาล” พ่วงต่อจนเป็น “อัปรีย์สีกบาล”? appeared first on Thailand News.