ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีธนาคารของตัวเองจริงหรือ?

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีธนาคารของตัวเองจริงหรือ?

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์และการเมือง ถ่ายจากอีกฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจาก หนังสือ “ปรีดี ป๋วย กับธรรมศาสตร์และการเมือง”)

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อครั้งยังใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาตร์และการเมือง (มธก.) เคยมีธนาคารเป็นของตัวเองคือ ธนาคารธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสากรรมและพาณิชยกรรม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารเอเชีย)

เนื่องจากในปี 2482 มหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาการบัญชี นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มีความคิดว่า เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดสอนวิชาบัญชี ก็ควรจัดให้นักศึกษาฝึกงานบัญชีการเงิน ซึ่งในเวลานั้นมีธนาคารดังกล่าวประสบมีปัญหาการดำเนินกิจการ นายปรีดีซึ่งเป็นรัฐมนตรีคลังอยู่ด้วย จึงแก้ปัญหาด้วยการซื้อกิจการของธนาคารมาดำเนินกิจการ และให้นักศึกษาได้ใช้ฝึกงานด้วย

การซื้อกิจการดังกล่าวของ มธก. ครั้งนั้น นายบุญเกิด งอกคำ ได้เรียบเรียงไว้ใน “ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งความหวัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนดีที่โลกต้องการ” พอสรุปได้ดังนี้

ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสากรรมและพาณิชยกรรม ตั้งอยู่ที่สามแยกลำพูนไชย ถนนเจริญกรุง ซึ่งในเวลานั้น (ช่วงปี 2482) ญี่ปุ่นได้เข้ายึดครองแมนจูเรียและมีอิทธิพลเหนือเซี่ยงไฮ้ ชาวจีนโพ้นทะเลจึงพลอยถูกดึงเข้าไปต่อต้านญี่ปุ่นด้วย

ผู้บริหารธนาคารนี้เป็นคนจีนทำผิดกฎหมาย เนื่องจากที่ส่งเงินตราออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำลังถูกรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศจีน จึงได้สั่งถอนใบอนุญาต ทำให้ลูกค้าของธนาคารได้รับความเดือดร้อน

นายปรีดีที่เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ประศาสน์การ มธก. มีความเห็นให้ซื้อกิจการของธนาคาร ในนามของ มธก.ๆ จึงส่งนายเสริม วินิจฉัยกุล คณบดีคณะบัญชี และนายเดือน บุนนาค เลขาธิการ มธก. ไปเจรจาขอซื้อหุ้นของธนาคารเป็นผลสำเร็จ และได้ถือหุ้น 7,300 หุ้น (ในราคาหุ้นละ 100 บาท) จากหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น และเป็นหุ้นสามัญทั้งสิ้น โดย นายเดือน บุนนาค นำเงินสวัสดิการของ มธก. ไปชำระค่าหุ้นดังกล่าว

สำหรับที่มาเงินสวัสดิการนั้น นายบุญเกิดบันทึกไว้ว่า ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย มธก.ได้รับซื้อดีบุกจากจำนวนมากไว้ในราคาถูก และคิดว่าจะขายต่อแต่ไม่ใครรับซื้อเพราะราคาดีบุกกำลังตกต่ำมาก มธก.จึงนำดีบุกไปเก็บไว้สถานที่ที่เป็นหอประชุมใหญ่ในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อสงครามใกล้ยุติราคาดีบุกกลับปรับสูงขึ้น มธก. จึงขายและนำชำระค่าหุ้นธนาคารที่ซื้อครั้งนี้

คณะผู้บริหารระยะแรกประกอบด้วย 1. นายปรีดี พนมยงค์ 2. นายเดือน บุนนาค 3. หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภชน์ อัศวนนท์) 4. นายยู่หมิน จูตระกูล 5. หลวงบรรณากรโกวิท 6. นายโลวเตี้ยกชวน 7. พระยาพิพัฒนากร (ซิม โปษยานนท์) 8. พระสุธรรมวินิจฉัย 9. หลวงอรรถกิติกําจร (หลุยส์ พนมยงค์) 10. นายใหญ่ เศรษฐบุตร 11. หลวงสวัสดิชาตรี 12. นายจุลินทร์ ล่ำซำ

เมื่อ มธก. เข้าไปดำเนินกิจการ กิจการของธนาคารก็ดีขึ้นโดยลำดับ ทำให้ มธก. มีฐานะทางการเงินดีขึ้นด้วย เนื่องจากการเก็บค่าเล่าเรียนจากนักศึกษา (ที่เริ่มจากปีละ 20 บาท เป็นปีละ 400 บาท ก่อนจะเก็บตามหน่วยกิตเช่นปัจจุบัน) ไม่เพียงพอ รัฐบาลเองก็มีงประมาณที่จะอุดหนุนมหาวิทยาลัยค่อนข้างจำกัด

ต่อมา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีช่วยคลังในปี 2491 ได้สั่งถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของธนาคารธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสากรรมและพาณิชยกรรม เนื่องจากเห็นว่า ธนาคารมีทุนสำรองไม่เพียงพอ ซึ่งสืบเนื่องจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 บรรดารัฐวิสาหกิจต่างก็พากันถอนเงินออกจากธนาคารทั้งหมด ทำให้ฐานะการเงินของธนาคารตกต่ำลง พร้อมกับสั่งถอนใบอนุญาต ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่มีนายหลุยส์ พนมยงค์ (น้องชายนายปรีดี) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย

ในครั้งนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีเหตุผลเพื่อล้มอำนาจของนายปรีดีและคณะแฝงอยู่ เพราะหลังจากนั้นไม่นานธนาคารทั้ง 2 แห่งก็เปิดทำการอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2491 โดยหุ้นของ มธก. ในธนาคารเอเชียฯ ที่เคยมีอยู่ 7,300 หุ้น ถูกลดลงเหลือ 6,210 หุ้น ต่อมาปี 2493 พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และคณะได้ซื้อกิจการธนาคารดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งนายบุญเกิดเรียบเรียงไว้ว่า

“พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยผ่านองค์การทหารผ่านศึกได้เข้าซื้อหุ้นนี้ของ มธก. ทั้งหมด และ พล.ต.ท. เผ่า ศรียานนท์ ก็เข้าถือหุ้นใหญ่ [ธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา] แทนนายหลุยส์ พนมยงค์ ต่อมาสฤษดิ์จึงได้ซื้อหุ้นต่อจากองค์การทหารผ่านศึกในนามบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นบริษัทของตนเอง เมื่อมีข่าวการยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ในปี 2507 ท่านผู้หญิง วิจิตรา ธนะรัชต์ ภริยา และนายทองดุลย์ ธนะรัชต์น้องชายจึงได้ขายหุ้นทั้งหมด…”

 

ข้อมูลจาก

บุญเกิด งอกคำ. ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งความหวัง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คนดีที่โลกต้องการ, วิจิตรศิลป์การพิมพ์ , 2526

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กันยายน 2563

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_55549

The post มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีธนาคารของตัวเองจริงหรือ? appeared first on Thailand News.