ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?

คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”?

คลองหลอด หรือคลองคูเมืองเดิม คลองสำคัญในพระนคร เดิมเป็นคลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี (ภาพจาก “หนังสือ กรุงดทพฯ ในอดีต”)

ที่มา
หนังสือ “กรุงเทพฯ ในอดีต”
ผู้เขียน
เทพชู ทับทอง
เผยแพร่
วันพฤหัสที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

“คลองหลอด” เดิมเป็นคลองคูเมือง ในสมัยกรุงธนบุรี (กรุงธนบุรีได้เอาแม่น้ำเจ้าพระยาไว้กลางเมืองเช่นเดียวกับเมืองพิษณุโลก กำแพงเมืองกรุงธนบุรีจึงมีทั้งฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา) ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสร้างกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ (จุลศักราช ๑๑๔๕) โปรด ฯ ให้รื้อกำแพงเมืองธนบุรีฟากตะวันออกริมคลองหลอดเสีย เพื่อขยายพระนครให้กว้างออกไปอีก

คลองหลอด บริเวณวัดราชบพิธ (ภาพจาก “หนังสือ กรุงเทพฯ ในอดีต”)

 

ความจริงแต่เดิมคลองนี้ไม่ได้เรียกว่าคลองหลอด ทางด้านใต้ชาวบ้านเรียกว่าคลองตลาด เพราะที่ปากคลองมีตลาดใหญ่ ทั้งทางบกทางน้ำตั้งอยู่ (คือปากคลองตลาดในปัจจุบัน) ทางด้านเหนือที่เรียกว่าคลองโรงไหม เพราะมีโรงไหมของหลวงตั้งอยู่ (คือท่าช้างวังหน้า ซึ่งปัจจุบันสร้างเป็นสะพานพระปิ่นเกล้า)

ส่วนคลองหลอดจริงๆ ก็คือคลองที่โปรดให้ขุด ๒ คลอง จากคลองคูเมืองเดิมออกไปบรรจบกับคลองรอบกรุง (คลองโอ่งอ่าง) คือขุดคลองหลอดที่ข้างวัดบูรณศิริอมาตยาราม คลองหนึ่ง กับขุดคลองหลอดที่ข้างวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามคลองหนึ่ง

คำว่าคลองหลอดนั้น หมายความว่าเป็นคลองขนาดเล็กที่ขุดตรงไปทะลุออกคลองใหญ่แต่ตามชนบทเวลานี้ถึงจะเป็นคลองที่ขุดคดเคี้ยวไม่ตรง ชาวนาก็เรียกว่า “คลองหลอด” หรือ “ลำหลอด” หรือ “หลอด” เหมือนกัน

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_12296

The post คลองหลอด คลองคูเมืองสมัยกรุงธนบุรี ทำไมถึงเรียก “คลองหลอด”? appeared first on Thailand News.