ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

ตำนานตลาดบางน้อย และค้นที่มาบ้านกำนันจันซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นหนแรก

ตำนานตลาดบางน้อย และค้นที่มาบ้านกำนันจันซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นหนแรก

ภาพถ่ายตลาดบางน้อยในอดีต จะเห็นว่าภาพนี้กำลังมีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดบางน้อย และมีเรือขนโอ่งอ่างกระถางครกมาขายจากทางราชบุรี

ที่มา
นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม ๒๕๕๙
ผู้เขียน
ภานุพงศ์ สิทธิสาร
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

คำว่า “ชาวบ้านร้านตลาด” คำนี้เห็นจะจริงสำหรับทุกพื้นถิ่นท้องที่ เพราะทั้งชาวบ้าน ร้าน และตลาด ย่อมเป็นของที่มีอยู่ด้วยกันในที่แห่งหนึ่งแห่งใดอันเจริญและขยายตัวขึ้นเป็นชุมชน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ตามปัจจัยต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยในแต่ละพื้นถิ่น แล้วคนแต่ครั้งอดีตมักนิยมใช้คำคล้องจองหรือมีความหมายไปในทางเดียวกัน จึงเกิดเป็นคำว่าชาวบ้านร้านตลาดขึ้นมาฉะนี้

ในวัยเด็กของผู้เขียนเองเติบโตมากับชุมชนที่เป็นตลาด เพราะที่บ้านของผู้เขียนเป็นร้านขายของโชห่วยหรือของชำ ขายตั้งแต่ของใช้ในครัวเรือน ของอุปโภคบริโภค และของจำเป็นใช้ในทางการเกษตร สารพัดจะจัดหามาตามความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสสภาพชีวิตที่มีสีสันสนุกสนานไปกับบรรยากาศของการค้าขาย และด้วยวิถีชีวิตริมคลองที่มีเรือแพซื้อขายวายล่องอยู่ตลอดวัน ยิ่งทำให้ภาพในความทรงจำงดงามอยู่ไม่น้อย

เรื่องที่ผู้เขียนจะได้เล่าความต่อไปนี้ เมื่อดำริตริตรองดู เห็นว่าจะเป็นอย่างตำนาน แต่ตำนาน (myth/legend) ในที่นี้หาประสงค์จะเล่าอย่างที่เป็นเรื่องอันมีมาแต่ครั้งกระโน้นอันบุราณกาลนานจนต้องคาดเดาคาดสุ่มเอาไม่ หากทว่าหมายจะเล่าถึงเรื่องราว (story) ความเป็นมาในทางอดีต ครั้นแล้วจึงคิดหาวิธีรวบรวมเก็บเนื้อความมาเล่าสู่กันฟัง ติดก็แค่เรื่องราวในที่นี้เป็นเรื่องราวที่จำกัดขอบเขตของความรับรู้อยู่เพียงคนในชุมชนพื้นถิ่นท้องที่เท่านั้น เป็นสภาพชีวิตของคนธรรมดาสามัญหาเช้ากินค่ำ มีขนบธรรมเนียมและอัตลักษณ์จำเพาะถิ่นสืบทอดส่งต่อกันมา มีประเพณีในชีวิตประจำวันอย่างไม่ได้สำคัญอะไรกับประวัติศาสตร์อันยิ่งยงของชาติ

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุกคนอาจเกิดขึ้น มีชีวิตอยู่ และตายจากไปโดยไม่มีประโยชน์ใดสำหรับคนจำนวนมากจะต้องจดจำทำความเข้าใจนัก แต่ทั้งหมดอาจเป็นสิ่งที่ตอบเราได้ว่า “เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร” ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของพื้นถิ่นดังกล่าว

ตลาดบางน้อยในปัจจุบัน บริเวณใกล้เคียงกันกับจุดที่ถ่ายภาพที่ ๑ หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ต้นไม้สูงขึ้นปกคลุมจนแทบมองไม่เห็นอุโบสถวัดบางน้อย

 

เหตุดังนั้น เรื่องราวที่ผู้เขียนนำมาเล่า อาศัยเก็บถ้อยความทั้งจากหนังสือเรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ และจากทั้งคนเก่าคนแก่ ซึ่งเรื่องตำนานตลาดบางน้อยส่วนใหญ่ผู้เขียนได้รับการเล่าให้ฟังจากทั้งพระสงฆ์และอาม้าของผู้เขียนเป็นสำคัญ ตลอดจนนับเป็นโชคเหลือเกินที่ความทรงจำของบุคคลเหล่านี้ หาได้อยู่ในภาวะที่หลงลืมเลอะเลือน เมื่อฟังท่านเล่าแล้วทำให้นึกเห็นภาพในอดีตฉายย้อนกลับมาสู่ความรับรู้ของเราได้เป็นอย่างดี

จำเดิมคลองบางน้อยจะเป็นคลองเก่าอันชาวจีนเป็นผู้ขุดขึ้น หรืออย่างที่คนในพื้นถิ่นเรียกว่า “คลองขุดเจ๊ก” หมายถึงพวกจีนเป็นแรงงานในการขุด คลองบางน้อยจึงเป็นคลองไม่กว้างขวางห่างระหว่างกันมากนัก สังเกตได้พอเวลาน้ำแห้งลงจะปรากฏหินก้อนใหญ่โผล่พ้นขึ้นเป็นแนวตลิ่งตลอดไปทั้งคลอง เพราะเกิดจากแรงงานชาวจีนเป็นผู้ขุดแล้วนำหินเหล่านั้นมาถมไว้เป็นพื้นแลตลิ่ง

ความข้อนี้ผู้เขียนใคร่จะเล่าเสริมว่า ใน พ.ศ. นี้เมื่อคนเห็นน้ำลงแห้งคลองก็อาจกล่าวโทษว่าเป็นภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ ที่จริงจะถูกอยู่ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือประเดี๋ยวนี้รู้จักน้ำขึ้นน้ำลงก็เพราะเขื่อนกักน้ำตามแห่งต่างๆ หากไม่ทราบว่าครั้งยังไม่สร้างเขื่อนน้ำนั้นมีขึ้นมีลงตามข้างขึ้นข้างแรม น้ำเกิดน้ำตาย และกอปรด้วยอิทธิพลของน้ำเค็มในทะเล จึงหาใช่เรื่องแปลกหากน้ำจะแห้งขอดคลอง หรือท่วมท้นล้นขั้นกระได ตลาดน้ำตลาดนัดบางแห่งจึงมีการนัดหมายกันในช่วงน้ำเกิดหรือน้ำขึ้นเพื่อลดปัญหาอุปสรรคของการสัญจรบนท้องคลอง

เรือเครื่องและเรือพายจอดเทียบท่าวัดบางน้อยในเช้าวันอังคารที่มีตลาดนัด

 

หลักฐานแต่ก่อนเมื่อคราวที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นหนแรก โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์ขึ้นเป็น “จดหมายนายทรงอานุภาพ” ด้วยคำพราง (ตัว) ที่มีถึงพ่อประดิษฐ์ หรือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ดังมีความลงในจดหมายฉบับที่ ๔ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ตอนหนึ่งว่า “…ประพาสคลองอัมพวาแล้ว จึงได้ออกเรือเลยไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงส์ เสร็จแล้วแจวต่อไปบางน้อยประพาสที่บ้านกำนันจัน แล้วกลับทางคลองแม่กลองมาถึงที่ประทับเวลา ๒ ทุ่ม…”

ความข้อนี้ทำให้นึกเห็นไปว่าจะเสด็จฯ จากอัมพวามาวัดดาวดึงส์แล้วมาทางคลองท่าคา (ขุดเจ๊ก) วกกลับมาออกทางบางน้อย และออกไปยังแม่กลองได้ในที่สุด ข้อพึงสังเกตมีอยู่ว่ามิได้กล่าวถึงตลาดบางน้อยและวัดบางน้อย หากพิเคราะห์ดูเห็นว่าเวลานั้นตลาดบางน้อยคงยังไม่เกิดตลอดจนวัดบางน้อยเป็นวัดเล็กไม่สำคัญนัก อีกทั้งอาจจะต้องเร่งเสด็จฯ ไม่ให้กลับถึงแม่กลองค่ำมืด คงแวะตรวจตราแต่จำเพาะที่บ้านกำนันจัน ตรงนี้เองที่ผู้เขียนจักตั้งข้อสงสัยถึงกำนันจันผู้นี้ว่าเป็นใคร เมื่อสืบดูได้ความว่าตัวแกนั้นได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่หมื่นปฏิคมท่าคา หรือหมื่นปฏิคมคุณวัติ (?) แล้วยังว่าเป็นต้นสกุลจันทรประภา ซึ่งสกุลนี้จะมีต้นเค้าคราล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานแก่ขุนพหลภักดี (สมนึก) ยกกระบัตรเมืองพิษณุโลก แต่จะเป็นวงศ์วานว่านเครือกันกับตัวกำนันจันผู้นี้หรือไม่ ผู้เขียนยังสืบไปไม่ทราบความ

ตลาดนัดบางน้อยในปัจจุบัน ตั้งอยู่บริเวณลานวัดบางน้อย ซึ่งมีนัดกันทุกเช้าวันอังคาร ชาวสวนนำผลผลิตที่ตนปลูกได้มาวางขาย ชาวบ้านมาเลือกซื้อหาตามอัธยาศัย

 

หมุดหมายสำคัญสำหรับชุมชนตลาดบางน้อยนั้น คือวัดบางน้อย อันจะสร้างมาแต่ราวปลายกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกวัดโคกมะนาว/ต้นมะนาว เป็นชุมชนที่คงไม่ใคร่มีผู้คนอาศัยอยู่มากเท่าใด ชะรอยเมื่อมีการเบิกร่องสวนทำการเกษตร มีทั้งชาวไทย มอญ และจีน ที่นับถือทั้งพุทธ ผี และคริสต์ เข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่มากทุกที เป็นธรรมดาอยู่เองที่มนุษย์เราย่อมต้องรู้จักการแบ่งปันแลกเปลี่ยน การขยายตัวขึ้นของชุมชนที่ต่างชาติต่างภาษาก็วิวัฒน์ขึ้นเป็นตลาดที่มีการนำสินค้าต่างๆ นานามาแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน อย่างที่บางน้อยนี้เป็นชุมชนริมแม่น้ำลำคลอง พาหนะที่ใช้ก็หนีไม่พ้นเรือที่ต้องมีอยู่ทุกบ้านทุกหลังคาไป จึงเกิดเป็นตลาดน้ำ บริเวณไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดบางน้อยนัก

ส่วนวันเวลาที่นัดกันก็เป็นเช้าของทุกๆ วัน ดังความที่หลวงตาพิณ แห่งวัดสอนประดิษฐ์วราราม (เม็ง) อายุ ๘๕ ปี ได้เล่าให้แก่ผู้เขียนฟังว่า เมื่อก่อนนัดกันทางเรือ เช้าก็มีนัด คนสวนพายเรือออกไปซื้อขายกัน ทั้งมะพร้าว หอม พริก กระเทียม ยาจืด ฯลฯ ใครปลูกได้อะไรก็นำมาขายนำมาแลกเปลี่ยนกลับไปบ้าน ในขณะที่อาม้าของผู้เขียนเอง เมื่อแต่งงาน (ราวทศวรรษสุดท้ายก่อนกึ่งพุทธกาล) และต้องย้ายมาอยู่ ณ บางน้อยนี้ ท่านได้เล่าความว่า เวลานั้นตลาดได้ซบเซาลงแล้ว จะมีเรือแพมาขายก็น้อยเต็มที ไม่ครึกครื้นเหมือนดังแต่ก่อน นัดกันอยู่อย่างนี้อีกสี่ห้าปีก็เลิกนัดกันในที่สุด ตรงนี้ผู้เขียนจักได้เล่าแทรกไว้เสียหน่อย ว่าก่อนนี้เมื่อการค้าขายเจริญขึ้น มีเรือสินค้ามาจากต่างถิ่นเข้ามามากมาย โดยเราเรียกชื่อเรือสินค้าเหล่านี้ตามชื่อถิ่นฐานบ้านเมืองที่เขามา เป็นต้นว่าเรือสุพรรณฯ เรือนครปฐม ส่วนสินค้าหรือก็มีพวกข้าวสาร ใบยาสูบ ผ้าชิ้น ผ้าเมตร หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป (เสื้อกุยเฮงคอกลมสำหรับสวมใส่เวลาทำสวน)

แต่ที่ได้รับความนิยมในชุมชนบางน้อยและละแวกใกล้เคียงมากที่สุดคือข้าว เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็ด้วยคนสวนแถบบางน้อยปลูกข้าวอยู่บนขนัดสวนก็จริง แต่ผลิตผลจักเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็หาไม่ มักหักท่อนล่อนรวงไป สู้นาแถวสุพรรณบุรีหรือนครชัยศรีหาได้ไม่ ส่วนเหตุที่ตลาดนัดทางน้ำมีอันต้องเลิกไปเสีย ผู้เขียนจะเล่าความต่อไปข้างหน้า

ผู้เขียนต้องขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อแรกที่เหล่าก๋ง (ตาทวด) ของผู้เขียนย้ายออกมาจากข้างในสวนทางคลองบ้านใต้มาอยู่ที่คลองบางน้อย เดิมทีเดียวก็มาเช่าบ้านที่เป็นโรงเลี้ยงหมู แล้วปรับปรุงจนกลายเป็นร้านขายของโชห่วย บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ทางสามแพร่ง หากมองตรงเข้าไปในคลองหน้าบ้านก็คือคลองบ้านใต้และคลองท่าคา เลี้ยวซ้ายก็ไปคลองบ้านเหนือและคลองเม็ง เลี้ยวขวาก็ไปออกปากคลองบางน้อยเข้าสู่แม่กลอง วกกลับข้างหลังก็ไปคลองวัดปรกและคลองดำเนินสะดวกเป็นลำดับ

ด้วยเหตุดังนั้น บ้านหลังนี้จึงตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะแก่การค้าขาย เพราะเพียงมองข้ามฝั่งไปก็เป็นวัดบางน้อยและตลาดบางน้อยแล้ว ส่วนมูลเหตุที่ทำให้ตลาดทางน้ำมีอันเลิกนัดไปนั้น ต้องไม่ลืมว่าในชั้นต้นผู้คนต่างสัญจรไปมาด้วยทางน้ำ เรือแพได้ทำหน้าที่นำพาใครต่อใครไปได้ทุกหนทุกแห่ง ครั้นเมื่อทางบกหรือถนนได้ขยายตัวมาถึงแต่ละชุมชนในยุคของการพัฒนาหลังกึ่งพุทธกาล ใครๆ ก็ต่างย้ายที่ชุมนุมของการซื้อขายไปยังที่สะดวกสบายกว่า หรือสร้างผลกำไรได้มากกว่า ตลาดนัดทางน้ำจึงมีอันเลิกไปขึ้นบกเสียสิ้น

เรือที่มาจอดเทียบท่าเพื่อซื้อหาสิ่งของยังตลาดนัดเช้าวันอังคาร ตรงข้ามกันนั้นคือสภาพชุมชนบางน้อยในปัจจุบัน จากซ้ายมือคือห้องแถวให้เช่า ร้านขายยา (บ้านสองชั้น) และร้านโชห่วย

 

ในช่วงที่ตลาดนัดบางน้อยเลิกนัดกันไปนั้น ผู้คนส่วนใหญ่นอกจากจำต้องเดินทางออกไปตลาดนัดที่อื่นแล้ว หากไม่ได้ไปก็ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีอะไรให้ซื้อหา ตรงนี้เองที่เป็นช่องให้เกิดเรือขายของเรียกขานซื้อขายถึงหน้าบ้านชานเรือนขึ้น ในชั้นแรกก็คงเป็นเรือที่เคยมาค้าแต่ครั้งยังมีตลาดนัด สืบมาชั้นหลังได้กลายเป็นอาชีพ เช่น ขายหมู ผักปลา ผลหมากรากไม้ และอาหารการกินอย่างก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ขนมนมเนย มาบริการกันถึงที่ หากตระเวนขายใกล้ก็ใช้เรือพาย ไกลเข้าหน่อยก็ขับเรือเครื่อง

จวบกระทั่งราวทศวรรษ ๒๕๓๐ ราคาเนื้อหมูเกิดมีราคาแพงขึ้น บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเขียงหมูได้รวมตัวมาขายบริเวณลานหน้าวัดบางน้อยในราคาถูก ผู้คนก็เกิดฮือฮาขึ้นว่าหมูที่ตลาดนัดบางน้อยนี้ถูก ทั้งเรือทั้งรถพากันแห่แหนมาแน่นขนัด จากขายหมูก็เริ่มมีอย่างอื่นมาขายจนเรียกว่าติดตลาด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าตลาดบางน้อยได้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง และมีนัดกันทุกเช้าของวันอังคาร ใครสะดวกสัญจรทางน้ำก็ถอยเรือจากอู่พายหรือขับเครื่องมาแต่เช้าตรู่ ใครสะดวกทางบกก็ถอยรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์รีบเร่งมากันไม่แพ้ทางน้ำ

ภาพชีวิตของผู้คนในชุมชนตลาดบางน้อย/วัดบางน้อย ถือว่ายังคงมีลมหายใจอยู่ มีห้องแถวให้เช่า ทั้งร้านรวงค้าขายกันมิได้ขาด มีร้านโชห่วย ร้านทำขนม ร้านขายยา ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า และร้านตัดผม ชั่วแต่ในช่วงหลังมานี้เมื่อรุ่นหนึ่งหมดไป รุ่นต่อมาจะรับทอดสืบต่อไปหรือไม่คงเกินวิสัยของผู้เขียนจะกล่าวถึง ส่วนเรื่องเรือแพยิ่งไม่ต้องพูดกัน จะให้คนรุ่นใหม่พายไปตลาดนัดมิพักต้องวนอยู่กับที่กันหลายราย

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในชุมชน ผ่านการกำหนดวิถีนั้นด้วยพิจารณ์ตรองที่ผิดแผกกัน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่ควรหลงลืมไปในเวลาก็คือ เราต่างมีตัวตนอยู่ในความทรงจำที่แสนงดงามของการรำลึกนึกถึงเสมอ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_17185

The post ตำนานตลาดบางน้อย และค้นที่มาบ้านกำนันจันซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นหนแรก appeared first on Thailand News.