ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ความเป็นมาของพระที่นั่งสำคัญในราชสำนักไทย

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ความเป็นมาของพระที่นั่งสำคัญในราชสำนักไทย

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ภาพจาก หนังสือประมวลองค์ความรู้พระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

 

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลางทางฝั่งตะวันตก ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการ ต่อมาเมื่อพระบรมวงศ์ฝ่ายในชั้นสูงสิ้นพระชนม์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพระศพมาตั้งประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงรูปจัตุรมุข หลังคาทรงปราสาท มีมุขลด 4 ชั้นทั้ง 4 ด้าน ยกเว้นด้านหน้ามีมุขเด็จเป็นมุขลดอีกชั้น รวมด้านหน้าเป็น 5 ชั้น มุขเด็จด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นมุขโถง

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อโปรดเกล้าให้บูรณะพระมหามณเฑียร ก็ได้เสด็จมาประทับและเสด็จออกว่าราชการที่พระที่นั่งหมู่นี้เช่นเดียวกับสมัยรัชกาลที่ 1 และเคยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นที่ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อมีการพระราชพิธีต่างๆ โปรดเกล้าฯ ให้จัดมุขเหนือ มุขตะวันออกและมุขตะวันตกเป็นท้องพระโรงสำหรับฝ่ายหน้า จัดมุขใต้สำหรับฝ่ายในและเสด็จฯ ประทับที่พระบัญชรบุษบกมาลา ซึ่งตั้งอยู่กลางผนังด้านทิศใต้ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ เป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในเฝ้าฯ นอกจากนั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำฉากลงรักปิดทองเป็นภาพพิธี “อินทราภิเษก” เพื่อกั้นมุขใต้แทนม่าน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4 รัชกาลก่อนอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนหน้าที่จะสร้างพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปดังกล่าว

ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเฉลิมราชมณเฑียรที่พระมหาปราสาทนี้เมื่อ พ.ศ. 2465 ได้ตั้งพระแท่นบรรทมที่มุขด้านทิศตะวันออก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ต่อเติมห้องสรงขึ้นที่มุมพระมหาปราสาทระหว่างมุขตะวันออกกับมุขใต้

ส่วนที่มุขเด็จของพระมหาปราสาทนั้น พระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ได้เสด็จออกให้เฝ้าฯ เนื่องในโอกาสต่างกัน หรือบางครั้งเป็นที่ประดิษฐานปูชนียวัตถุที่สำคัญ เช่น สมัยรัชกาลที่ 1 ได้เสด็จออกให้เจ้าประเทศราช เช่น ทูตเมืองทวายเข้าเฝ้าฯ โดยประทับเหนือพระที่นั่งบุษบกมาลาซึ่งตั้งอยู่กลางมุข

นอกจากนั้น ในรัชกาลต่อมา ที่มุขเด็จแห่งนี้ยังเป็นที่เสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธี หรือโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ในรัชกาลที่ 9 ได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมาประดิษฐานที่พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็จแห่งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้สักการะบูชา เนื่องในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี

พระที่นั่งบุษบกมาลาตั้งอยู่กลางมุข เป็นที่สำหรับเสด็จออกมหาสมาคม หรือเสด็จออกให้ประชาชนเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท มุขด้านทิศใต้ของพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีมุขกระสันเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยา ส่วนมุขด้านทิศตะวันออกมีทางเดินเชื่อมกับพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท และมุขทางด้านทิศตะวันตกมีทางเดินเชื่อมกับศาลาเปลื้องเครื่องมีอัฒจันทร์ทางขึ้นพระที่นั่งสองข้างมุขเด็จ และทางขึ้นด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกด้านละ 1 แห่ง ซึ่งสร้างเพิ่มเติมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

อ้างอิง

หนังสือ “สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง” เล่ม 1

หนังสือ “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดพิมพ์โดย กระทรวงวัฒนธรรม

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_32460

The post พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ความเป็นมาของพระที่นั่งสำคัญในราชสำนักไทย appeared first on Thailand News.