ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง “แสนแสบ”

วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง “แสนแสบ”

วัดเทพลีลา ในปัจจุบัน (ภาพจาก เพจวัดเทพลีลา)

ที่มา
ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2557
ผู้เขียน
รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ
เผยแพร่
วันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2562

แผนที่แสองเส้นการทางขุดคอลงแสนแสบ ที่จะใช้แทนคลองสำโรงที่มีอยู่เดิม แต่เป็นทางที่อ้อมใช้เวลาและระยะทางมากกว่า (ภาพจาก เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 27 พฤศจิกายน 2557)

 

หลังจากขุดคลองบางขนาก หรือ คลองแสนแสบแล้ว คลองเส้นนี้ก็กลายเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางและการลำเลียงยุทธปัจจัยไปยังกัมพูชา โดยเฉพาะในสงครามอานามสยามยุทธ์หลังปี พ.ศ. 2382 แล้วก็น่าจะใช้เส้นทางนี้ในการยกทัพลำเลียงผู้คน ยุทธปัจจัย และยุทโธปกรณ์ ไปยังปากน้ำโยทะกาแทนเส้น

ทางเดิมที่ต้องอ้อมไปทางคลองสำโรง

วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา

นอกจากเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จะได้เป็นผู้ดูแลการขุดคลองแสนแสบแล้ว ยังมีตำนานเล่าว่า ในระหว่างที่ขุดคลองบางขนากนั้นได้พบพระพุทธรูปปางลีลา เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงให้สร้างวัดขึ้นเรียกว่า “วัดเทพลีลา” ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญว่า “วัดตึก”

ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ถึงวัดเทพลีลาไว้ตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบว่า

“…ก่อนเที่ยง 15 มินิตถึงวัดตึก อยู่ต่อแขวงคลองตันกับบางกะปิ ว่าเป็นวัดเจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้าง เห็นจะเป็นระยะกองทัพออกจากกรุงมานอนที่นี่คืนแรก อย่างวัดราชโอรสวัดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งได้ชื่อว่าตึกนั้นเพราะกุฏิเป็นตึก ลักษณะวัดปรินายก โบสถ์เล็กๆ อย่างเก่าแต่ปฏิสังขรณ์ ว่ามีพระลิลาถึง 3 องค์ แต่ไม่งาม การสร้างวัดนี้ดูน่าเสียดาย เพราะพระแกไม่ทำจริงๆ ต้นโพธิ์ขึ้นที่ฐานพระเจดีย์ก็ไม่ตัด วันนี้ได้ทำบุญตัดต้นโพธิ์หน่อยหนึ่ง ชื่อตึกเป็นชื่อใหม่เมื่อทำกะฏิตึก แต่คงเป็นวัดเดิมได้ชื่อว่า เทพาจรลิลาศ แต่ฟังดูเห็นจะไม่ใช่ชื่อเก่า จะทีหลังชื่อตึกเสียอีก กินเข้าที่นี่ พระองค์สายและพระยารองเมือง มาอยู่ด้วย…”

ในประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวถึงเรื่องการสร้างวัดเทพลีลาไว้ว่า

“…สร้างวัดเทพลิ้นลา ในคลองบางกะปิ ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดตึกบ้าง วัดตึกคลองตันบ้าง ได้ยินว่าวัดนี้สร้างในระหว่างไปทำสงครามขับเคี่ยวกับญวน เมื่อต้องขุดคลองบางกะปิและทำนาไปตลอดทางเพื่อสะสมเสบียงกองทัพ และเพื่อความสมบูรณ์ของบ้านเมืองในเวลาต่อมาด้วย จึงถือโอกาสให้ทหารในกองทัพ ได้ร่วมกันสร้างวัดเป็นที่ยึดหน่วงในการทำศึก และปลูกกำลังใจในการต่อสู้เพื่อรักษาพระศาสนาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นอีก…”

ด้วยเหตุนี้เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาขุดคลองบางขนาก หรือ คลองแสนแสบ ซึ่งใช้เวลา 3 ปี (ระหว่าง พ.ศ. 2380-2382) จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า วัดเทพลีลา น่าจะสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2381-2382 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เดินทางกลับเข้ามาจากกัมพูชา เข้ามากรุงเทพฯ ทันงานพระบรมศพกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย แล้วได้ดูแลการขุดคลองแสนแสบ แทนพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เนื่องจากพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษาต้องคุมทัพไปช่วยราชการเมืองไทรบุรี

(ซ้าย) พระวิหารหลังเก่าของวัดเทพลีลา (ขวา) ซุ้มประตูพระวิหารมีลายปูนปั้นรูปสิงห์ ซึ่งเป็นตราตำแหน่งสมุหนายก

 

สอดคล้องกับจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่า พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด) ทำการขุดคลองอยู่ได้ไม่นาน ประจวบกับมีเหตุการณ์ขบถเมืองไทรบุรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัด) เป็นแม่ทัพยกไปปราบ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงรับผิดชอบในด้านการขุดคลองบางขนากนั้นแทน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นผู้ควบคุมการขุดคลองแสนแสบ ดังความในจดหมายหลวงอุดมสมบัติว่า

“…ครั้น ณ วันเดือน 3 แรม 5 ค่ำ เพลาค่ำ ท้าวพระกรุณากลับมาแต่ราชการขุดคลอง ทรงตรัสถามว่า เป็นกระไรออกไปดูที่ขุดคลองได้เห็นแล้วหรือ ท้าวพระกรุณากราบทูลว่า ที่ข้างบางขนากนั้นได้เห็นแล้ว ทรงตรัสว่า ให้ไปดูแลจะให้จัดแจงทำก็จะไม่ได้อยู่ทำ คิดจะเล่นแร่ให้สนุกก็จะไม่ได้เล่น มีการจะต้องไปเสียแล้ว แล้วรับสั่งสั่งท้าวพระกรุณาด้วยราชการเมืองไทรว่าออกไปสักทีหนึ่งเถิด…”

ดังนั้นวัดเทพลีลา หรือ วัดตึก จึงน่าจะสร้างขึ้นในช่วง พ.ศ. 2381-2382 ก่อนหน้าที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จะยกทัพไปเมืองพระตะบองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2382

วัดเทพลีลา ปรากฏใน “บัญชีหางว่าวจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษาที่ขึ้นคณะกลาง 20 วัด” สมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวว่า

ที่ 9 วัดเทพจรลิ้นลา อยู่ในคลองแสนแสบ แขวงกรุงเทพฯ ขึ้นในวัดพระเชตุพนฯ คณกลาง พระสงฆ์เปนมหานิกาย เจ้าอธิการฃำ เจ้าอธิการไม่ได้เปนพระอุปัชฌาย์ รองอธิการไม่มี ในพรรษารัตนโกสินทร์ศก 109ฯ พระสงฆ์ เก่า, ใหม่ รวม..รูป…”

โบราณสถานสำคัญในวัดเทพลีลา หรือ วัดตึก ที่น่าจะสร้างขึ้นในสมัยที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างได้แก่ พระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองทรงเครื่อง ด้านหน้าพระวิหารหลังเก่า ซึ่งมีลักษณะรูปแบบเป็นพระเจดีย์ศิลปะร่วมสมัยรัชกาลที่ 3 และมีความคล้ายคลึงกับเจดีย์ที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สร้างไว้ที่วัดพระพุทธโฆสาจารย์ กรุงพนมเปญ

นอกจากนี้ยังมีวิหารเก่า ที่มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งผสมผสานศิลปะจีน หน้าบันประดับกระเบื้องถ้วย คล้ายกับสถาปัตยกรรมที่วัดจักรวรรดิราชาวาส ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ปฏิสังขรณ์เช่นเดียวกัน

สถานที่พักทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

อนุสาวรีย์เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดเทพลีลา

 

นอกจากวัดเทพลีลา หรือ วัดตึก จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประวัติการขุดคลองแสนแสบและเส้นทางเดินทัพในสงครามอานามสยามยุทธ์แล้ว ในบริเวณใกล้เคียงโดยเฉพาะพื้นที่บริเวณฝั่งตรงข้ามของวัดเทพลีลา หรือ วัดตึก ก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นบริเวณที่กล่าวกันว่าเป็นที่ตั้งทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)

สอดคล้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องเสด็จประพาสคลองแสนแสบว่า “…วัดตึก อยู่ต่อแขวงคลองตันกับบางกะปิ ว่าเป็นวัดเจ้าพระยาบดินทรเดชาสร้าง เห็นจะเป็นระยะกองทัพออกจากกรุงมานอนที่นี่คืนแรก อย่างวัดราชโอรสวัดเฉลิมพระเกียรติ…”

ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตั้งอยู่บนที่ดิน ซึ่งเดิมเป็นที่ดินของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แล้วตกทอดมาจนถึงคุณหญิงนครราชเสนี (เจือ สิงหเสนี) ผู้เป็นทายาทได้มอบที่ดินผืนนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษา

มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่า ในบริเวณโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เคยมีสระน้ำซึ่งใช้เลี้ยงช้างในกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วย

ระหว่างคลองและปากคลองบางขนาก

คลองแสนแสบหรือคลองบางขนาก ในระยะแรกหลังจากขุดคลอง คงมีชุมชนไม่มากนัก เนื่องจากเป็นคลองขุดใหม่ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2382 พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) ได้ยกทัพไปจัดการหัวเมืองมลายูแล้วยกทัพกลับมา ได้กวาดต้อนชาวมลายูเมืองกลันตันและไทรบุรีมาตั้งชุมชนอยู่ริมคลองบางขนาก หรือ คลองแสนแสบ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวถึงที่อยู่ริมคลองแสนแสบ หรือ คลองบางขนาก ว่า “…แถบนี้เป็นบ้านแขก คือ แขกพวกหลวงอุดมทีเดียวมิใช่อื่นไกลเลย…” แขกหลวงอุดมในที่นี้หมายถึง แขกมลายูที่เข้ามาเมื่อคราวสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นพระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา ออกไปปราบกบฏเมืองไทรบุรี ในรัชกาลที่ 3 ดังปรากฏในจดหมายหลวงอุดมสมบัติ

ในเวลาต่อมาจึงได้มีการตั้งชุมชนมากขึ้น และมีการสร้างวัดต่างๆ ขึ้นด้วย ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสคลองแสนแสบหลายวัด เช่น วัดศรีบุญเรือง ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกะปิ วัดทรัพย์สโมสรนิกรเกษม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นต้น นอกจากนี้ที่ปากคลองบางขนาก ปัจจุบันมีวัดชื่อว่า “วัดปากคลอง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่คลองแสนแสบ หรือ คลองบางขนาก ออกแม่น้ำบางปะกง ก่อนหน้าที่จะเดินทางทวนน้ำขึ้นไปที่ปากน้ำโยทะกานั่นเอง

 

บรรณานุกรม

ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2538.

บัญชีหางว่าวจำนวนพระสงฆ์ที่จำพรรษาที่ขึ้นคณะกลาง 20 วัด. สมุดไทยดำ เส้นดินสอ เลขที่ 003. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร,2549.

ศิลปากร, กรม. จดหมายหลวงอุดมสมบัติ พร้อมด้วยอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระนคร: ศิวพร, 2505.

เสด็จประพาสคลองแสนแสบ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโคลงนิราศฉะเชิงเทราพระนิพนธ์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์. กรุงเทพฯ กรมศิลปากร, 2546.

http://www2.bodin.ac.th/home.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_39250

The post วัดเทพลีลา วัดของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สร้างคราวขุดคลอง “แสนแสบ” appeared first on Thailand News.