ติดตามผ่านช่อง : Siammongkol Youtube Channel

สมัยที่ไม่มี “นาฬิกา” อยากรู้เวลาต้องคอยฟังเสียงอะไร??

สมัยที่ไม่มี “นาฬิกา” อยากรู้เวลาต้องคอยฟังเสียงอะไร??

หอกลองที่หน้าหับเผย เป็นหอก่อิฐถือปูน 4 ชั้น (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกรมการรักษาดินแดน) ตึกที่เห็นเป็นแถวทางซ้ายมือของหอกลอง คือตึกแถวถนนเจริญกรุง ภาพนี้ถ่ายจากพระที่นั่งภูวดลทัศไนย (หอนาฬิกา) ในพระบรมมหาราชวัง (ภาพจากหนังสือกรุงเทพฯในอดีต)

 

“ที่ตะแลงแกงนั้น มีหอกลองมีซุ้มหอทาสีแดง หอกลองนั้น 3 ชั้นสูง 1 เส้น 10 วา แลชั้นยอดนั้นคอยดูข้าศึกศัตรูชื่อ มหาฤกษ์ ชั้นกลางนั้นคอยดูแลเพลิงไหม้ ชื่อพระมหาระงับดับเพลิง ถ้าเพลิงไหม้ปากแม่น้ำนอกกรุงคาดกลอง 3 ที ถ้าเพลิงเชิงกำแพงแลในกำแพงกรุงฯ คาดกลองกว่าเพลิงจะดับ ชั้นต้นใส่กลองใหญ่สำหรับตีย่ำเที่ยงย่ำสันนิบาตเพลาตะวันยอแสง พลค่ำตามประเวณีกรุง แต่ก่อนมาชื่อพระทิวาราตรีแลกรมพระนครบาลได้รักษา ผู้รักษานั้นเลี้ยงวิลากันมิให้มุสิกะกัดกลอง ครั้นเวลาเช้าเย็นเก็บเบี้ยร้านตลาดหน้าคุก แต่ในจำหล่อจนหอกลองเข้าไปร้านละ 5 เบี้ย สำหรับซื้อปลาให้แมวกิน…”

ข้อความกล่าวถึงหอกลองข้างบนนี้ได้มา จากหนังสือเก่าพรรณาว่า ด้วยภูมิสภาพพระนครศรีอยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าผู้แต่งเกิดทันสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาแต่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

หอกลองอย่างนี้ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้มีเหมือนกัน ปรากฏว่าสร้างขึ้นตั้ง แต่รัชกาลที่ 1 หอกลองดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้คุกเก่าที่หน้าหับเผย (ปัจจุบันเป็นกรมการรักษาดินแดน) ตรงข้ามวัดพระเชตุพน มี 3 ชั้น และแขวนกลองสําหรับตี 3 ใบเถา คือ

กลองใบใหญ่ชื่อย่ำพระสุรสีห์ แขวนอยู่ในหอกลองชั้นล่าง สําหรับดีเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงอาทิตย์ตก เพื่อเป็นสัญญาณให้เปิดและปิดประตูพระนคร

กลองใบกลางชื่ออัคคีพินาศ แขวนอยู่ในหอกลองชั้นกลาง สําหรับตีเวลาเกิดไฟไหม้ เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ไปช่วยดับไฟ

กลองใบเล็กชื่อพิฆาตไพรี หรือพิฆาตไพรินทร์ แขวนอยู่ในหอกลองชั้นบนสุด สําหรับตีเวลามีข้าศึกศัตรูมาประชิดติดพระนคร เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ตระเตรียมผู้คน ป้องกันรักษาพระนคร

แต่หอกลองครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้จะได้ ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาลและเจ้าหน้าที่จะเก็บเงิน ตามร้านค้าบริเวณหอกลองเพื่อเอามาซื้อปลาย่างให้แมวที่เลี้ยงไว้สําหรับป้องกันไม่ให้หนู กัดกลองหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะไม่มีหลักฐาน ที่ไหนกล่าวไว้

หอกลองซึ่งสร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 นั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 ชํารุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯ ให้ซ่อมแซมแล้วให้แก้ทรงหลังคาจากยอดเกี่ยวเป็นยอด ทรงมณฑป

หอกลองนี้ มีมาจนกระทั่งถึงรัชกาสที่ 5 จึงได้ถูกรื้อลงเมื่อคราวสร้างสวนเจ้าเชต เนื่องจากหมดสมัยและหมดความจําเป็นจะต้องใช้กลองอย่างแต่ก่อน

ธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นของคู่กันกับการตีกลอง มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาก็คือ การยิงปืน สําหรับกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมที่ เดียวที่ป้อมมุมพระราชวังมีปืนใหญ่อยู่ป้อมละกระบอก เอาไว้สําหรับยิงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ตั้งแต่เวลาเช้าตรู่ทุกวันเป็นสัญญาณให้เจ้าหน้าที่เปิดประตูวัง นอกจากนั้นยังใช้ยิงบอกสัญญาณเวลาเกิดไฟไหม้ด้วย คือถ้าไหม้นอกพระนคร ยิง 3 นัด ถ้าไหม้ในพระนครยิงมากกว่านั้น หรือจนกว่าไฟจะดับ การยิงนี้ยิงพร้อมกันทุกป้อมเพื่อให้ได้ยินกันทุกด้านทั่วมุมเมือง

มีการยิงปืนอยู่อีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่ายิง ปืนเที่ยง คือยิงเวลาเที่ยงเพื่อบอกให้ทราบเวลา นั่นเอง ธรรมเนียมนี้เราไปจํามาจากสิงคโปร์ครั้ง แรกโปรด ฯ ให้ทหารเรือยิงที่ท่าพระตําหนักแพก่อนต่อมาเมื่อกรมหลวงพระจักษ์ศิลปาคม จัดให้มีทหารปืนใหญ่ในกรมทหารล้อมวังขึ้นแล้ว จึงขอมายิงที่ป้อมทัศนากรอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งมีไฟฟ้าทางโรงไฟฟ้าจึงรับที่จะขยิบไฟฟ้าเวลา 20.00น. เพื่อบอกเวลาแทน การยิงปืนเที่ยงจึงได้เลิกไป

เรื่องการบอกเวลานี้ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียและพม่าก็ใช้เป็นเครื่องมือบอกเวลา ไม่แตกต่างจากไทย โดยสมแด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรางราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ว่า

“เมื่อวันแรกไปถึงเมืองพาราณสี เวลาคําข้าพเจ้านั่งกินอาหารกัง พวกที่ไปด้วยกัน และพวกข้าราชการอังกฤษยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอเวลา ยามหนึ่ง (21.00 นาฬิกา) ได้ยินเสียงตีฆ้องโหม่งทางประตูวังย่ำลา 1 เช่น เดียวกันกับตีฆ้องระฆังย่ำยามในเมืองไทย ข้าพเจ้านึกประหลาดใจจึงถาม ข้าราชการอังกฤษที่อยู่ในเมืองนั้นว่าตีฆ้องย่ำเช่นนั้นหมายความว่าอย่างไร

เขาตอบว่า ‘เป็นสัญญาเรียกคนมาเปลี่ยนพวกที่อยู่ยาม’ พอข้าพเจ้าได้ยิน อธิบายก็จับใจแทบจะร้องออกมาว่า ‘อ้อ’ เพราะวิธีตีฆ้องระฆังยามในเมือง ไทยเมื่อถึงเวลาเช้า 6.00 นาฬิกา เวลาเที่ยงวัน เวลาค่ำ (18.00 นาฬิกา) และเวลากลางคืนยาม 1 (21.00 นาฬิกา) เวลาเที่ยงคืน เวลายาม 3 (3.00 นาฬิกา) ก็ตีทํานองเดียวกับได้ยินที่เมืองพาราณสี…”

หรือเมื่อคราวที่เสด็จเยือนประเทศพม่าก็พบ

“…ในเมืองพม่า ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปรู้เมื่อ พ.ศ.2478ต่อไป เพราะได้เค้าที่เหมือนกับไทยอีกอย่างหนึ่ง ที่ในพระราชวังเมืองมันดะเลมีหอนาฬิกาหลังหนึ่งเป็นหอสูง ข้างล่างมีห้องสําหรับไว้นาฬิกา ข้างบนเป็นห้องโถงสําหรับแขวนกลองกับฆ้องที่ตีบอกเวลา เขาว่าเคยมีหอเช่นนั้นทุกราชธานีในเมืองพม่าแต่ก่อนมา ข้าพเจ้าถามเขาว่า ฆ้องกับกลองที่แขวนไว้บนหอนั้น ที่ต่างกันอย่างไร ไม่มีใครบอกอธิบายได้ เพราะเลิกราชประเพณีพม่ามาเสียหลายสิบปีแล้ว ข้าพเจ้านึกจับหลักได้ว่า ฆ้องสําหรับกลางวัน กลองสําหรับกลางคืน หลักนั้นอยู่ในคําพูดของไทยเราเองที่เรียกเวลาตอนกลางวันว่า “โมง” เช่นว่า 4 โมง 5 โมง แต่ตอน เวลากลางคืนเรียกว่า “ทุ่ม” เช่นว่า 4 ทุ่ม 5 ทุ่ม คําโมงกับทุ่มมาแต่เสียงฆ้องและกลองนั่นเอง ในเมืองไทยแต่โบราณก็เห็นจะใช้ทั้งฆ้องและกลองตี บอกเวลาอย่างเดียวกันกับในเมืองพม่า”

 

ข้อมูลจาก

เทพชู ทับทอง. กรุงเทพฯ ในอดีต, ห้างหุ้นส่วนจำกดั อักษรบัณฑิต 2518

สมแด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรางราชานุภาพ. นิทานโบราณคดี หนังสืออนุสรณ์ในการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ นงมัณฑนา ดอศกุล ณ อยุธยา ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาสวรวิหาร วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2551

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 22 เมษายน พ.ศ.2562

Source: https://www.silpa-mag.com/history/article_31579

The post สมัยที่ไม่มี “นาฬิกา” อยากรู้เวลาต้องคอยฟังเสียงอะไร?? appeared first on Thailand News.